สรุปหนังสือ: ศาสตร์แห่งการเขียนที่โน้มน้าวใจได้ทุกคน

Teerasak Thaluang
Daily Grow-up
Published in
1 min readAug 15, 2020

เขียนโดย ซง ซุกฮี | แปลโดย วรวุฒ ขาวเงิน
Published 2020 โดยสำนักพิมพ์อมรินทร์ฮาวทู (Frist Published 2018)
220 pages

“การเขียน” นั้น ถือเป็นทักษะในการสื่อสารและการโน้มน้าวที่ทรงพลัง งานเขียนที่สามารถถ่ายทอดแก่นของเรื่องออกมาได้อย่างรวดเร็วและสามารถชักนำให้ผู้อ่านเกิดปฏิกิริยาตามที่ผู้เขียนต้องการได้นั้น ต้องอาศัยทักษะการคิดที่เป็นระเบียบ เป็นเหตุเป็นผล จึงจะสามารถสื่อสารความคิดนั้นออกมาได้อย่างชัดเจนผ่านงานเขียนได้ และในทางกลับกัน การฝึกทักษะการเขียนให้ดียิ่งขึ้นก็เป็นการพัฒนาทักษะและกระบวนการคิดที่ลึกซึ้งมากยิ่งขึ้นด้วย

หนังสือเล่มนี้แนะนำหลักการเขียนที่เรียกว่า O-R-E-O MAP ซึ่งเป็นเฟรมเวิร์กในการเขียนแนวสารคดี (Non-Fiction) ที่ช่วยให้เราลำดับความคิดได้อย่างเป็นระบบและมีเหตุผลใน 4 ขั้นตอน ตามหลักการ “การเขียนอันทรงพลัง” ของ ดร. เจ. อี. สปาร์กส์ ที่ได้ศึกษาจุดร่วมของงานเขียนที่มีพลังในการโน้มน้าวใจเอาไว้ว่า

งานเขียนที่มีพลังโน้มน้าวจะเริ่มจากการนำเสนอแก่นของเรื่องก่อน แล้วค่อยเพิ่มรายละเอียดเพื่อสนับสนุนแก่นของเรื่องให้มีเหตุมีผลน่าเชื่อถือมากขึ้น ก่อนจะเน้นย้ำหรือสรุปแก่นของเรื่องอีกครั้งหนึ่ง แล้วจบด้วยการยื่นข้อเสนอหรือสิ่งที่อยากให้ผู้อ่านทำหรือคิดต่อ

โดยหัวใจของทักษะในการถ่ายทอดที่ดีนั้น เราต้องมีความชัดเจนว่า สิ่งที่เราต้องการถ่ายทอดคืออะไร เราต้องการถ่ายถอดไปเพื่ออะไร และปฏิกิริยาที่เราคาดหวังจากผู้อ่านคืออะไร

หลักการ O-R-E-O MAP มาจากคำว่า

“O” มาจาก Opinion หรือ “ความคิดเห็น”

หรือก็คือ แก่นของเรื่องที่เราต้องการสื่อสาร การสร้างแก่นเรื่องที่ดีและดึงดูดนั้น เราต้องตอบคำถามสำคัญ 3 ข้อนี้ให้ได้ก่อน นั้นคือ ผู้อ่านคือใคร (Target) สารที่เราจะสื่อคืออะไร (Idea) และผู้อ่านจะได้อะไร (Value Proposition) โดยแก่นของเรื่องนั้นควรมีเพียงเรื่องเดียว

“R” มาจาก Reason หรือ “เหตุผล”

เหตผลที่ดีนั้นมักจะมาคู่กับหลักฐานที่น่าเชื่อถือ ซึ่งอาจมาจากผลการทดลอง ข้อมูลสถิติ หรือคำพูดของผู้เชี่ยวชาญ โดยหากความคิดเห็นที่เราต้องการสื่อสารนั้น มีข้อมูลหลักฐานต่าง ๆ มากมาย การนำหลักฐานทั้งหมดมาเขียนอาจทำให้เนื้อหาของเราขาดความเป็นเอกภาพ เราจึงควรเลือกเพียงข้อมูลบางส่วนที่เป็นใจความสำคัญที่สุดมาใช้

“E” มาจาก Example หรือ “ตัวอย่าง”

การยกตัวอย่างประกอบจะทำให้ผู้อ่านเข้าใจง่ายขึ้น โดยตัวอย่างที่ดีนั้น ต้องเหมาะสมกับประเด็นที่เรานำเสนอ สดใหม่ไม่ล้าสมัย ไม่เหมือนใคร ยิ่งเป็นประสบการณ์ของเราเองก็ยิ่งดี และอย่าอธิบายยืดยาว ให้สรุปรวบยอดและนำใจความสำคัญมาเขียนก็พอ

“O” มาจาก Opinion/Offer หรือ “การเน้นย้ำความคิดเห็นและยื่นข้อเสนอ”

สิ่งที่ไม่ควรทำที่สุด คือการนำเสนอปัญญาแล้วไม่บอกวิธีแก้ไข เนื้อหาในส่วนนี้เป็นการสรุปแก่นเรื่องอีกครั้งพร้อมกับเสนอแนะวิธีแก้ปัญญาหรือสิ่งที่อยากชวนให้ผู้อ่านทำหรือรู้สึก

การนำเนื้อหาทั้ง 4 ส่วนข้างต้นมาเรียงต่อกัน เราก็จะได้งานเขียนที่มีเหตุมีผลครบถ้วนและมีพลังในการโน้มน้าวผู้อ่านได้ก็จริง แต่การจะทำให้ผู้อ่านติดตามอ่านงานของเราจนถึงย่อหน้าสุดท้ายได้นั้น จำเป็นต้องอาศัยการฝึกฝนครับ

ในการเขียงความเรียงหรือบทความ โดยปรกติแล้วจะมีโครงสร้างประกอบด้วย บทนำ เนื่อหา และบทสรุป เราสามารถประยุกต์ใช้หลักการ O-R-E-O MAP เข้ามาช่วยโดยการนำ O-R-E-O มาใช้เป็นส่วนของเนื่อหาและบทสรุป และเขียนบทนำเพิ่มเข้าไปอีกหนึ่งย่อหน้า เป็นทั้งหมด 5 ย่อหน้า

และเพื่อให้ผู้อ่านติดตามบทความของเราตั้งแต่ต้นจนจบ บทความของเราต้องไม่ยาวจนเกินไป ผู้อ่านควรอ่านจบด้วยเวลาไม่เกิน 180 วินาที (3 นาที) หรือไม่เกิน 1,500 ตัวอักษร และส่วนต่าง ๆ ของบทความนั้นตัองดึงดูดและต้องเอาชนะ “กฏ 0.3–4.4–180 วินาที” ให้ได้

0.3 วินาทีแรก: ผู้อ่านจะตัดสินใจว่าจะอ่านงานของเราหรือไม่โดยดูจาก “ชื่อเรื่อง” และ “คำโปรย” ที่ต้องกระตุ้นต่อมอย่างรู้อย่างเห็นของผู้อ่านให้ได้ในแว๊บแรกที่เห็น

4.4 วินาทีต่อมา: บทนำ” จะรับไม้ต่อเพื่อให้ผู้อ่านอยากรู้รายละเอียดในส่วนของเนื้อหาให้ได้ โดยการเน้นเนื้อหาในส่วนที่สำคัญเพื่อให้ผู้อ่านเข้าใจจุดมุ่งหมาย บริบท และเนื้อหาโดยรวมของงานเขียน

180 วินาทีที่เหลือ: จะเป็นหน้าที่ของ “เนื้อหาและบทสรุป” ซึ่งจะเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า เราสามารถใช้ทักษะการเขียนด้วยหลักการ O-R-E-O ได้ดีเพียงใด ในขณะที่ผลวิจัยของกูเกิลระบุว่าปัจจุบันคนส่วนใหญ่มีสมาธิจดจ่อได้เพียง 8 วินาทีเท่านั้น

สำหรับผมแล้ว หนังสือเล่มนี้เป็นอีกเล่มหนึ่ง ที่นำเสนอเทคนิคการเขียนแบบฮาวร์ทูที่น่าสนใจ และสามารถนำไปใช้ได้ทันที

ด้วยการเริ่มจากการนำเสนอแก่นของเรื่อง (O) ให้เหตุผลสนับสนุน (R) ยกตัวอย่างเพื่อยกระดับความเข้าใจ (E) ก่อนจะสรุปและให้ข้อเสนอหรือสิ่งที่อยากให้ผู้อ่านทำหรือคิดต่อ (O) ซึ่งไม่ใช่แค่เพียงใช้กับงานเขียนได้เท่านั้นครับ หลักการนี้ยังนำไปใช้กับการนำเสนอในรูปแบบอื่น ๆ ได้อีกมากมาย

ถ้าคุณเองเป็นอีกคนหนึ่งที่อยากพัฒนาทักษะในการสื่อสารแล้วละก็ ลองนำเทคนิคนี้ไปใช้และฝึกฝนกันดูนะครับ

ขอบคุณที่ติดตามครับ

--

--

Teerasak Thaluang
Daily Grow-up

Engineer | Father | Reader and Giver for daily grow-up