สรุปหนังสือ: STRETCH

ใช้ข้อจำกัดสร้างชีวิตไร้ขีดจำกัด

Teerasak Thaluang
Daily Grow-up
1 min readJul 28, 2020

--

by Scott Sonenshein | แปลโดย ฐานันดร วงศ์กิตติธร
Published 2019 โดยสำนักพิมพ์บิงโก
239 pages

คงปฏิเสธไม่ได้ครับว่า ในชีวิตของเราทุกคนนั้น มักเต็มไปด้วยข้อจำกัดมากมายแตกต่างกันไป และข้อจำกัดเหล่านี้เองก็มักถูกนำมาใช้เป็น “ข้ออ้าง” ที่ขัดขวางเราจากความสำเร็จแบบเดียวกับคนอื่น ๆ หนังสือเล่มนี้จะทำให้คุณมองข้อจำกัดเหล่านั้นในมุมที่ต่างไป และพาคุณไปยังเป้าหมายที่ตั้งไว้โดยไม่จำเป็นต้องรอให้มีครบทุกอย่างครับ

การฉลาดคิด

ส่วนใหญ่แล้วสาเหตุที่ทำให้เราพยายามไขว่ขว้าหาสิ่งต่าง ๆ เพิ่มขึ้นตลอดเวลา และคิดว่าสิ่งเหล่านั้นจะสามารถช่วยลดข้อจำกัดบางอย่างของเราได้ มาจากความเชื่อที่ว่า “ยิ่งมาก = ยิ่งดี” หรือ “ถ้าไม่เติบโต ก็มีแต่จะตกต่ำ” โดยคุณ Scott เรียกความคิดเช่นนี้ว่า “การไล่ล่า” เพราะมันทำให้เรามีความต้องการมากขึ้น เริ่งที่จะเติบโต และพยายามพุ่งไปข้างหน้า

โดยส่วนตัวแล้ว ความเชื่อเหล่านี้ก็ไม่ได้เป็นความเชื่อที่ผิดเสียทีเดียว ความคิดแบบนี้สามารถผลักดันให้เราเติบโตและก้าวหน้าได้เช่นกัน เพียงแต่เราต้องแยกให้ออกระหว่าง “ความอยาก” และ “ความจำเป็น” ความอยาก ทำให้เราพยายามสร้างและสะสมทุกอย่างแบบไร้จุดหมาย เรามักรู้สึกว่าสิ่งที่เรายังไม่มีนั้นมีความจำเป็นเสมอ โดยไม่คำนึงถึงความจำเป็นจริง ๆ และที่แย่ก็คือ เรามักประเมินค่าของสิ่งที่มีอยู่ต่ำเกินไป จนคิดว่ามันจำเป็นต้องถูกทดแทนด้วยสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ

สำหรับเรื่องนี้ คุณ Scott ได้แนะนำแนวคิดที่เขาเรียกว่า “การฉลาดคิด” ซึ่งเป็นการมองกลับมายังของที่เรามีและพยายามมองหาวิธีสร้างประโยชน์จากมันให้มากที่สุด ก่อนที่จะมองหาสิ่งใหม่ ๆ ด้วยคำถามที่ว่า “ฉันจะใช้ต้นทุนที่มีได้อย่างไรอีกบ้าง?”

การยอมรับ

สิ่งแรกที่เราต้องทำคือ การหยุดวังวนแห่งการไล่ล่า ด้วยการ “เปิดใจยอมรับ” ข้อจำกัดที่เรามีโดยไม่ยอมเอาชนะมันด้วยการหาสิ่งต่าง ๆ มาเพิ่มอีก ดึงตัวเองออกมาจากหลุมพลางของการเปรียบเทียบทางสังคม เราไม่จำเป็นต้องเหมือนคนอื่น ขอเพียงตอบตัวเองให้ได้ว่า เป้าหมายของเราคืออะไรกันแน่ แล้วหันกลับมามองสิ่งที่เรามี ละทิ้งข้อยึดติดต่าง ๆ ในรูปแบบวิธีการแก้ปัญหาแบบเดิม ๆ ลองใช้ความคิดสร้างสรรค์คิดพลิกแพลงแนวทางการแก้ปัญหาใหม่ ๆ โดยดึงศักยภาพของสิ่งที่เรามีออกมาให้ได้มากที่สุด

ประยุกต์ใช้ประสบการณ์ที่หลากหลาย

บางครั้งในการแก้ปัญหา การใช้มุมมองแบบเดิม ๆ ก็จะได้คำตอบแบบเดิม ๆ เช่นกัน สำหรับคนฉลาดคิด เขาจะพยายามมองปัญหาด้วยมุมมองจากประสบการณ์ที่หลากหลาย การเพิ่มมุมมองจะทำให้เราไม่ยึดติดและนำไปสู่วิธีการแก่ปัญหาที่หลากหลายมากขึ้น ดังนั้นการลองทำสิ่งอื่นนอกเหนือจากสิ่งที่เราเชี่ยวชาญจึงถือเป็นการติดอาวุธและเพิ่มวัตถุดิบให้กับสมอง เพื่อใช้ในการแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ได้หลายหลายมากขึ้น

แต่การพยายามเรียนรู้และหาประสบการณ์ที่หลากหลายมากจนเกินไปก็อาจส่งผลเสียครับ เพราะนั่นคือแนวคิดของผู้ไล่ล่าที่ไร้จุดหมาย เราจึงควรสร้างตัวตนหลักให้ชัดเจนก่อน แล้วค่อย ๆ หาประสบการณ์ใหม่ที่แตกต่างไปจากตัวตนหลักในบางมุมไปทีละเล็กละน้อย ก็จะสามารถก่อให้เกิดประสบการณ์ที่หลากหลายได้เช่นกัน

บางครั้งการผสมผสานประสบการณ์ที่หลากหลายจากตัวตนในด้านอื่น ๆ ที่ดูไม่เกี่ยวของกันของเรา เช่น การเลี้ยงลูก การทำอาหาร ก็สามารถนำมาปรับใช้กับการแก้ปัญหาเรื่องงานได้เช่นกัน ลองฝึกเปรียบเทียบปัญหาต่าง ๆ ในทุกด้านที่เราเจอ เราอาจเห็นความคล้ายคลึงและดึงเอาเทคนิคจากด้านอื่น ๆ มาใช้แก้ปัญหาได้แบบที่ไม่เคยคิดมาก่อน

การวางแผนและลงมือทำ

การงานแผนอย่างละเอียด จะทำให้เรามั่นใจและสามารถสร้างผลลัพธ์ที่ดีที่สุดได้ แต่การมุ่งวางแผนให้ละเอียดมากเกินไป ก็จะทำให้เราเริ่มลงมือทำได้ช้าลงไปด้วย

ในโลกที่ทุกอย่างเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว การมัวแต่วางแผนจนเรารู้สึกมั่นใจนั้น อาจกลายเป็นอุปสรรคที่ขัดขวางเราจากความสำเร็จได้ครับ บางครั้ง เมื่อเรารู้สึกว่าเราได้วางแผนอย่างละเอียดครอบคลุมแล้ว สถาณการณ์ก็อาจเปลี่ยนไป จนไม่สามารถใช้แผนการที่ต้องเสียเวลาวางไว้อย่างละเอียดนั้นได้อีก และนี้คือ “ความอันตรายของการวางแผน”

เรายังคงจำเป็นต้องวางแผน แต่แผนที่ดีนั้น ต้องสามารถยืดหยุ่นและเปลี่ยนแปลงได้ตลอดเวลาตามสถานการณ์ครับ โดยสิ่งที่จะนำเราไปสู่ความสำเร็จก็คือ “การลงมือทำ”

เติมพลังด้วยความคาดหวังทางบวก

ผู้คนมักจะเป็นอย่างที่เราเชื่อและคาดหวังเอาไว้เสมอ คนส่วนใหญ่มักพยายามทำตัวให้สอดคล้องกับความคาดหวังของผู้ที่มีอำนาจเหนือกว่า และในทำนองเดียวกัน หากเราเป็นคนที่มีอำนาจเหนือกว่า การคาดหวังในศักยภาพของคนอื่นจะช่วยเพิ่มศักยภาพของพวกเขาได้ และนี่คือ “ความคาดหวังทางบวก”

อย่างไรก็ตามพลังของความคาดหวังนี้จำเป็นต้องใช้ภายใต้ของเขตที่จำกัด หากเราใช้มากจนเกินไป มันจะกลายเป็นความกดดันและส่งผลในทางลบแทน การคาดหวังทางบวกจะใช้ได้ผลก็ต่อเมื่อสิ่งที่คาดหวังนั้นมีความท้าทายแต่ต้องสามารถทำได้จริง

สร้างกิจวัตร

การสร้างกิจวัตรของคนฉลาดคิดนั้น จะไม่ใช่กิจวัตรที่วางเอาไว้แบบแป๊ป ๆ แต่จะมีช่องว่างเอาไว้ให้สามารถสอดแทรกความเป็นตัวตนของพวกเขาลงไป เพื่อให้กิจวัตรนั้นแตกต่างออกไปจากเดิมเล็กน้อย เช่น การเขียนข้อความอวยพรลูก ๆ ใส่เข้าไปในกล่องข้าวทุกวัน หรือการปรับเปลี่ยนวิธีการบางอย่างเล็กน้อยในกิจกรรมที่เราต้องทำในทุก ๆ วัน

การปรับเปลี่ยนเพียงเล็กน้อยนี้ นอกจากจะทำให้ทุกวันของคุณมีสีสันมากขึ้น แล้วยังอาจนำไปสู้กิจวัตรแบบใหม่ที่ไม่เหมือนใครด้วยครับ

หลักการ “ฉลาดคิด” นี้ จะทำให้เรามองที่ความจำเป็นมากขึ้น ละทิ้งความอยากได้สิ่งต่าง ๆ แบบไม่รู้จบ และหันมาใช้ความคิดสร้างสรรเพื่อแก้ปัญหาภายใต้ข้อจำกัดที่เรามี มันอาจไม่ง่ายและต้องใช้เวลาในการฝึกฝน แต่เชื่อเถอะครับว่าผลลัพธ์และการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นนั้นคุ้มค่าอย่างที่คุณคิดไม่ถึงแน่นอน

ขอบคุณที่ติดตามครับ

--

--

Teerasak Thaluang
Daily Grow-up

Engineer | Father | Reader and Giver for daily grow-up