Find Your Red Thread: Make Your Big Ideas Irresistible

Teerasak Thaluang
Daily Grow-up
Published in
2 min readMar 9, 2023

ผู้เขียน: Temsen Webster
224 หน้า

“Red Thread” หรือ ด้ายสีแดง เป็นสำนวนของชาวสวีเดนและประเทศทางยุโรปตอนเหนือ หมายถึง “แกนความคิด” หรือ “core idea” ของเรื่องต่าง ๆ

โดยมีเรื่องเล่าของเทพนิยายกรีกโบราณ เกี่ยวกับเจ้าชายธีซีอัส ผู้สังหารมิโนทอร์อสูรครึ่งคนครึ่งวัวเพื่อช่วยเมืองเอเธนส์เอาไว้ เจ้าชายธีซีอัสอาสาไปเป็นเหยือของมิโนทอร์ในเขาวงกต และเมื่อสังหารมิโนทอร์สำเร็จ เครื่องมือเพียงอย่างเดียวที่นำเขากลับออกมาจากเขาวงกตได้ ก็คือ “ด้ายสีแดง” ที่เขานำติดตัวไปด้วย

“ด้ายสีแดง” จึงถูกเปรียบเหมือน แผนที่นำทางที่พาเราออกมาจากความคิดที่สับสนและมืดมิด เปรียบดังแกนความคิดที่ทำให้เราสื่อสารได้อย่างชัดเจน หากเรามีไอเดียเจ๋ง ๆ แต่ไม่รู้จะสื่อสารออกไปยังไง เพื่อให้ผู้คนไม่อาจปฏิเสธได้ จงหา “ด้ายสีแดง” ของคุณให้เจอครับ

หนังสือเล่มนี้เขียนโดย คุณ Tamsen Webster ซึ่งเธอทำหน้าที่เป็น Executive Producer ของ TEDxCambridge มากว่า 7 ปี แนวคิดของ “ด้ายสีแดง” คือ วิธีการนำเสนอไอเดียที่ทรงพลัง ด้วยการสร้างเรื่องราวที่ผู้ฟังสามารถเลือกและเชื่อตามในสิ่งที่เราเสนอและทำตามในสิ่งที่เราต้องการ

ในการพูด TEDx Talk ผู้พูดต้องตอบคำถามที่ถ้าทาย ด้วยการอธิบายไอเดียของเขาออกมาเป็นประโยคสั้น ๆ เพียงประโยคเดียวให้ได้ และที่น่าสนใจก็คือ คนส่วนใหญ่ไม่สามารถอธิบายความคิดของเขาออกมาได้ในประโยคเดียว แม้มันจะเป็นไอเดียที่ดี แต่หากไม่สามารถสื่อสารออกมาได้อย่างกระชับและชัดเจน ไอเดียร์เหล่านั้นก็ไม่อาจทะลุเข้าไปยังจิตใจของผู้ฟังได้

แล้ววิธีการเล่าเรื่องที่กระชับ ชัดเจนและเข้าถึงผู้ฟังได้นั้น ต้องทำอย่างไร ? มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันครับ

ก่อนอื่นเราต้องรู้จัก 3 คำนี้ก่อนครับ Application, Outcome และ Audience ในสถานการณ์ที่ต่างกัน วิธีการสื่อสารของเราอาจต้องแตกต่างกันออกไปด้วยครับ

Application
สิ่งแรกเราต้องรู้ว่า เราจะถ่ายทอดไอเดียของเราที่ไหน ด้วยวิธีไหน และในสถานการณ์ไหน เช่น การเขียนในเพจ การพูดในที่ประชุม การนำเสนอผู้บริหาร การ pitch กับนักลงทุน

Outcome
จากนั้นมาระบุสิ่งที่เราอยากได้หลังจากที่เราสื่อสารไอเดียของเราออกไป เช่น อยากให้ผู้ฟังเห็นด้วยและลองใช้ผลิตภัณฑ์ของเรา อนุมัติเงินลงทุนให้เรา หรือเป็นการเปลี่ยนมุมมองและความเชื่อตามที่เราเสนอ

Audience
ระบุผู้ฟังของเรา ทุกคนอาจไม่ใช้ผู้ฟังที่เหมาะกับไอเดียของเรา ผู้ฟังที่เหมาะสมคือผู้ฟังที่เรารู้ว่าพวกเขามีปัญหา หรือคนที่กำลังตั้งคำถามกับบางเรื่อง และไอเดียของเราคือวิธีแก้ปัญหาและเป็นคำตอบสำหรับพวกเขา ซึ่งบางครั้งอาจเป็นเรื่องยากหากผู้ฟังของเรามีความหลากหลาย วิธีการที่ง่ายที่สุดคือการ “จัดกลุ่มผู้ฟัง” เช่น กลุ่มนักลงทุน กลุ่มเจ้าของธรกิจที่กำลังจะมาเป็น partner กับเรา กลุ่มผู้บริหารที่กำลังตัดสินใจให้เราไปต่อ

Read Thread Storyline
ในการนำเสนอไอเดียที่ทรงพลัง เรื่องราวที่เราเล่านั้น ต้องประกอบไปด้วยองค์ประกอบต่าง ๆ เหล่านี้ครับ

- เป้าหมาย (Goal)
- ปัญหา (Problem)
- ความเป็นจริง (Truth)
- สิ่งที่ต้องการเปลี่ยน (Change)
- สิ่งที่เราอยากให้ผู้ฟังทำตาม (Action)

เป้าหมาย (Goal)
เริ่มจากการกำหนดเป้าหมายไอเดยของเราให้ชัดเจน ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ฟัง เพราะถ้าเรารู้ว่าผู้ฟังของเราต้องการอะไร เราจะรู้ว่าเราควรเริ่มเรื่องราวของเราอย่างไรเช่นกัน

ลองระบุสิ่งที่ผู้ฟังของเราต้องการ สิ่งที่เขาอยากทำให้สำเร็จ หรือปัญหาที่เขากำลังหาทางแก้อยู่ ลองสมมติตัวเองเป็นผู้ฟังครับ แล้วเขียนความต้องการเหล่านั้นออกมาในมุมของผู้ฟังไม่ใช่มุมของเราเอง ระบุสิ่งที่เขาต้องการ เงื่อนไขหรือสิ่งที่เขาให้คุณค่า และปัญหาที่ทำให้เขาไปไม่ถึงเป้าหมาย

ปัญหา (Problem)
ในหลาย ๆ ครั้งที่การกระทำ หรือการตอบสนองต่อปัญหาของเรา มักขึ้นกับมุมมองของเราเอง ดังนั้นเมื่อเราต้องการเปลี่ยนแปลงวิธีการตอบสนองต่อปัญหา เราต้องเปลี่ยนมุมมองของผู้ฟังของเราให้ได้ครับ ผมชอบที่ผู้เขียนเสนอแนวคิดหนึ่ง เรียกว่า “Duck Bunny” ซึ่งเป็นภาพวาดที่สามารถมองเห็นเป็นได้ทั้ง “เป็ด” หรือ “กระต่าย” ในเวลาเดียวกัน โดยภาพนี้พยายามสื่อให้เห็นว่า มุมมองต่อปัญหานั้นอาจมีได้หลายมุมมอง และปัญหาที่ผู้ฟังไม่สามารถแก้ไขได้นั้น อาจเป็นเพราะด้วยมุมมองที่มีต่อปัญหานั้น หากเราสามารถ “reframing” หรือปรับมุมมองต่อปัญหานั้นใหม่ และนำเสนอให้ผู้ฟังมองเห็นทั้งสองมุมมองได้ จะทำให้ผู้ฟังเชื่อและยอมเปลี่ยนมุมมองได้ง่ายขึ้นครับ

ความเป็นจริง (Truth)
ข้อเท็จจริง ความเชื่อ หรือเหตุผลประกอบต่าง ๆ ที่อยู่เบื้องหลัง สิ่งที่ทำให้ผู้ฟังของเราเชื่อและเห็นด้วยกับมุมมองใหม่ของปัญหาที่เรานำเสนอ ลองตอบตัวเองให้ได้ว่า ทำไมปัญหานี้จึงเป็นปัญหา การนำเสนอปัญหาโดยแสดงทั้งสองมุมมองคู่กัน (เป็ดและกระต่าย) จะกระตุ้นความขัดแย้งในใจของผู้ฟังเอง และนำไปสู่ทางเลือก ผู้ฟังจะเลือกความเชื่อเดิมหรือหันมาเห็นด้วยกับมุมมองใหม่ของเราหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับเหตุผลที่เราต้องใส่เพิ่มเติมเข้าไป เพื่อให้มุมมองใหม่น่าเชื่อถือและยอมรับได้ง่ายขึ้น

สิ่งที่ต้องการเปลี่ยน (Change)
การเปลี่ยนความคิดหรือความเชื่อของผู้ฟัง เพื่อให้พวกเขาไปได้ถึงเป้าหมายที่ต้องการได้ เราไม่ควรพูดตรง ๆ ว่าพวกเขาควรเปลี่ยนอะไร ต้องให้เขาเป็นผู้เลือกเอง และนี่คือหัวใจสำคัญ เราทุกคนล้วนต้องการควบคุมตัวเอง เราไม่ชอบให้ใครมาบอกว่าเราควรคิดหรือต้องเชื่ออย่างไร เราต้องให้ผู้ฟังของเราเป็นผู้เลือกเอง เพียงเราต้องให้ตัวเลือกกับเขา

สิ่งที่เราอยากให้ผู้ฟังทำตาม (Action)
เมื่อเราสามารถเปลี่ยนความคิดหรือความเชื่อของผู้ฟังได้แล้ว ก็ให้ระบุสิ่งที่พวกเขาต้องทำ โดยสิ่งที่เราแนะนำให้ผู้ฟังทำนั้น ต้องมีความเป็นไปได้และสามารถพาพวกเขาไปถึงยังเป้าหมายได้ เราต้องเชื่อมการกระทำกลับไปยังเป้าหมายในตอนต้นให้ได้ และอาจเพิ่มเติมข้อมูลที่เป็นตัวอย่างหรือประสบการณ์ของผู้อื่นที่อยู่ในสถานะการณ์เดียวกัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้ฟังมากขึ้น สิ่งที่ต้องทำนั้นไม่ควรมีหลายขั้นตอนจนเกินไป แนะนำว่าไม่ควรเกิน 3 ขั้นตอน เพื่อให้ผู้ฟังจดจำได้ง่าย และเพื่อให้ผู้ฟังยากที่จะปฏิเสธข้อเสนอของเรา เราอาจเพิ่มคุณค่าหรือประโยชน์ที่ผู้ฟังจะได้รับนอกเหนือจากการบรรลุเป้าหมายของพวกเขาด้วย เช่น “… เมื่อทำตามขั้นตอนนี้ นอกจากเราจะสามารถบรรลุเป้าหมายได้แล้ว เรายังสามารถ … อีกด้วย”

สรุปแล้ว Read Thread Storyline จึงเป็นการเรียงร้อยเรื่องราว เพื่อเปลี่ยนมุมมองของผู้ฟังของคุณ ตั้งแต่คำถามและสิ่งที่พวกเขาต้องการ (Goal) มาจนเข้าใจปัญหาที่แท้จริง (Problem) และตระหนักถึงความเป็นจริง ด้วยหลักฐานต่าง ๆ ที่เรานำมาอธิบาย (Truth) ซึ่งทำให้ผู้ฟังเริ่มเกิดความขัดแย้งกับความคิดหรือความเชื่อเดิม และพวกเขาต้องเป็นผู้เลือกเองว่าจะเชื่อหรือไม่ โดยเราเพียงอธิบายแนวทางใหม่ (Change) ที่สามารถทำให้พวกเขาสามารถบรรลุเป้าหมายหรือสิ่งที่พวกเขาต้องการได้ และบอกพวกเขาว่าต้องทำอย่างไร (Action) เพื่อที่จะได้ในสิ่งที่พวกเขาต้องการ รวมทั้งยังได้ผลประโยชน์อื่นนอกเหนือจากเป้าหมายที่ต้องการแล้ว ซึ่งจะทำให้พวกเขาไม่อาจปฏิเสธข้อเสนอของคุณได้ โดยรวมผมคิดว่าก็เป็นแนวทางการนำเสนอที่น่าสนใจอีกแนวทางหนึ่งครับ ลองนำไปปรับใช้กันดูนะครับ

ขอบคุณที่ติดตามครับ

--

--

Teerasak Thaluang
Daily Grow-up

Engineer | Father | Reader and Giver for daily grow-up