THE SWEET SPOT

Teerasak Thaluang
Daily Grow-up
Published in
1 min readMar 9, 2023

จุดแห่งความสำเร็จที่แรงต้านเป็นศูนย์

ผู้เขียน: Christine Carter | ผู้แปล: พรรณี ชูจิรวงศ์
สำนักพิมพ์ วีเลิร์น
319 หน้า

.

ในการตีเทนนิสให้ได้ผลลัพธ์ที่ทรงพลังนั้น เราไม่จำเป็นต้องใส่แรงทั้งหมดที่เรามี เพียงแต่ต้องหา “จังหวะที่เหมาะสม” เราก็สามารถใช้แรงที่ “น้อยที่สุดเท่าที่จำเป็น” เพื่อให้ได้ผลลัพธ์อย่างที่ต้องการได้ และนี่คือความหมายของ The Sweet Spot หรือ “จุดกลมกล่อม” ของ Dr. Christine Carter

.

Dr. Christine Carter เป็นนักสังคมวิทยาที่มุ่งศึกษาเกี่ยวกับเรื่องของความสุข ความฉลาดทางอารมณ์ และการลุกขึ้นสู้ใหม่ โดยจากงานวิจัยหลายชิ้นพบว่า ผู้คนมีแนวโน้มในการทำงานหนักขึ้นทุกวัน ไม่สามารถสร้างความสมดุลของชีวิตได้ และที่สำคัญ การทำงานหนักกลับลดทอนความสุข และทำให้ประสิทธิภาพการทำงานของพวกเขาลดลงในระยะยาว

.

แนวคิดเกี่ยวกับจุดกลมกล่อมนี้ เกิดจากคำถามที่ว่า “ต้องทำอย่างไรให้เรามีความสุขและประสบความสำเร็จไปพร้อม ๆ กันได้” และคำตอบของคำถามนี้ก็คือ “การหาจังหวะการดำเนินชีวิตที่ลงตัว” โดยการพัฒนา 5 ทักษะที่จำเป็น

.

1. หยุดพักให้เป็น
ต้องเข้าใจก่อนว่า การทำงานหนักไม่ใช้วิธีที่จะทำให้เรามีประสิทธิภาพสูงสุดได้ ร่างกายต้องการหยุดพักเพื่อชาร์ทพลังให้เต็มอีกครั้ง ความเคร่งเครียดยิ่งเป็นตัวลดทอนความสุขและประสิทธิภาพในการทำงาน ดังนั้นสิ่งที่เราต้องฝึกฝนก็คือ การรู้จักจังหวะนาฬิกาชีวิตของเรา ช่วงเวลาไหนที่เรามีพลังเต็มที่และช่วงเวลาไหนที่เราต้องการพักผ่อน จัดให้มีเวลาพักอย่างชัดเจน ยอมให้ตัวเองได้เล่นสนุก หัวเราะและมีความสุขกับเรื่อง เล็ก ๆ น้อย ๆ ฝึกเขียนขอบคุณและอธิบายแง่ดีของสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น

.

2. ฝึกใช้ระบบอัตโนมัติด้วยการสร้างนิสัย
การเปลี่ยนกิจวัตรประจำวันให้กลายเป็นนิสัย จะช่วยลดพลังงานที่ต้องใช้ในการคิดและตัดสินกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ และลดความพยายามในการบังคับตัวเองในแต่ละวันได้เป็นอย่างดี เราจะสามารถทำสิ่งต่าง ๆ ได้โดยแทบไม่ต้องใช้ความพยายามเลยหากเราสามารถสร้างสิ่งนั้นให้กลายเป็นนิสัย โดยเคล็ดลับในการสร้างนิสัยใหม่ ๆ ก็คือ การ “ค่อยๆ ปรับหรือเพิ่มเติ่มจากกิจวัตรเดิมของเราทีละน้อย” อย่าให้เรารู้สึกว่าต้องใช้ความพยายามมากนัก จากนั้นค่อยๆ เพิ่มขึ้นทุกวัน จนสามารถทำได้โดยที่ยังไม่รู้สึกว่าต้องใช้ความพยายามเลย

.

3. ปลดพันธนาการตัวเอง
ความรู้สึกเครียด วุ่นวาย และรู้สึกว่าเราไม่สามารถรับมือกับเรื่องต่าง ๆ ได้ สิ่งเหล่านี้คือพันธนาการที่ดึงรั้งเราเอาไว้ เราจำเป็นต้องปลดปล่อยตัวเอง โดยเราต้องหาให้เจอว่าอะไรที่ทำให้เรารู้สึกเครียดในแต่ละวัน ลองสังเกตร่างกายของเราดูครับ ช่วงเวลาที่เรารู้สึกประหม่า หายใจเร็ว หรือตอนที่เรากำลังจะดุลูกหรือหมดความอดทน ถ้าเราพอรู้ว่าอะไรเป็นตัวกระตุ้นให้เราเกิดความเครียด ลองวางแผนป้องกันไม่ให้เกิดตัวกระตุ้นนั้นดูครับ

.

4. บ่มเพาะความสัมพันธ์
ความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคนไม่เพียงแต่ทำให้เราพึงพอใจกับชีวิตมากขึ้นเท่านั้น แต่ยังมีผลต่อสุขภาพและความสำเร็จของเราด้วย การบ่มเพาะความสัมพันธ์ที่ดี คือการพัฒนาทักษะ 2 อย่าง คือ ทักษะการเสริมสร้างอารมณ์เชิงบวกต่อผู้คนรอบตัวด้วยการเป็นผู้ให้ ส่งมอบความรักและความปราถนาดี สบตาและทักทายผู้คนรอบตัว และทักษะในการประสานรอยร้าว ด้วยการลดพฤติกรรมที่อาจก่อนให้เกิดรอยร้าว หรือเนื้อร้ายในความสัมพันธ์ โดยเริ่มที่ตัวเราก่อน เช่น ลดความอิจฉาด้วยการร่วมฉลองความสำเร็จของผู้อื่น ลดการคาดหวังจากคนอื่นและฝึกการแสดงความรู้สึกขอบคุณ หยุดความรำคาญและอาการหงุดหงิดด้วยการยอมรับ ฝึกตั้งสติด้วยการผ่อนลมหายใจเข้าออก และถามตัวเองว่าทำไม่คนที่ทำให้เราหงุดหงิดนั้นเขาถึงทำแบบนั้น การพยายามยอมรับและเข้าใจจะทำให้เราหงุดหงิดน้อยลง รวมถึงการลดความไม่เข้าใจกันด้วยการรู้จักขอโทษและให้อภัย

.

5. อดทนต่อความรู้สึกอึดอัด
ทุกเส้นทางยอมเต็มไปด้วยอุปสรรค เราอาจเหนื่อยล้า ท้อแท้ ผิดหวัง หรือล้มเหลวบนเส้นทางที่เราเลือก และอาจส่งผลกระทบต่อจังหวะที่ลงตัวของชีวิต เราจำเป็นต้องฝึกฝนทักษะ 3 อย่างที่จำเป็น คือ ทักษะการอดทดต่อความยากลำบากและความท้าทายเพื่อพัฒนาตัวเองและสร้างความเชี่ยวชาญ โดยพยายามจดจ่ออยู่กับช่วงระหว่างทางหรือสิ่งที่เราต้องทำ ไม่ใช้ผลสำเร็จ ทักษะในการรับมือกับความอึดอัดเมื่อเราเลือกทำตามเป้าหมายของเราแทนที่จะทำตามคนส่วนใหญ่ และทักษะในการวางแผนที่จะลุกขึ้นสู้ใหม่เมื่อต้องสะดุดระหว่างทาง

.

ทักษะสำคัญ 5 อย่างที่สามารถทำให้จังหวะชีวิตของเราลงตัวและกลมกล่อมนี้ เป็นเทคนิคที่พยายามหลอกล่อสมองของเราที่มักเข้าสู่โหมด “ไม่สู้ก็หนี” ซึ่งมักทำให้เราขาดสติ ใช้อารมณ์และไร้เหตุผล การฝึกทักษะเหล่านี้จะทำให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ เปลี่ยนเรื่องแย่ ๆ ให้กลายเป็นพลังด้วยการพยายามเข้าใจและคิดบวก เก็บเกี่ยวความสุขกับสิ่งเล็ก ๆ ระหว่างวัน รู้จักนาฬิกาชีวิตและจังหวะพลังงานของตัวเอง สร้างกิจวัตรและมีวินัยอย่างสม่ำเสมอจนกลายเป็นนิสัย หลายเรื่องอาจเป็นเรื่องที่เรารู้อยู่แล้ว แต่ความยากอยู่ที่การฝึกฝนครับ มาร่วมฝึกฝนตนเองเพื่อสร้าง “จังหวะการดำเนินชีวิตที่ลงตัว” ด้วยกันนะครับ

.

ขอบคุณมากครับ

--

--

Teerasak Thaluang
Daily Grow-up

Engineer | Father | Reader and Giver for daily grow-up