6.1 รีวิวสิ่งที่ได้เรียนรู้จากวิชา Data storytelling ปริญญาโท Digital marketing ที่ NIDA กับการนำไปปรับใช้ในหน้าที่การงาน
Table of Content
- การลงทุนเรียนปริญญาโทไม่ใช่แค่เรื่องเนื้อหาการเรียนการสอนอย่างเดียว
- การเรียนออนไลน์ ดาบสองคมของคุณภาพการเรียนของท่าน
- การนำความรู้จากวิชา Data storytelling ไปใช้กับหน้าที่การงาน
- ประสบการณ์ทำ Project งานกลุ่ม : สถานการณ์คนเหงารุนแรงแค่ไหนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิท19
- การผจญภัยครั้งใหม่ของท่านกำลังจะเริ่มต้นขึ้น
การศึกษาต่อปริญญาโทในโลกที่ไม่แน่นอนจะเป็นการลงทุนที่คุ้มค่าจริงหรือ? เงิน 2 แสนของท่านจะคุ้มค่ากับการลงทุนกับการศึกษาในโลกที่ความรู้เก่าๆถูกทดแทนอย่างรวดเร็วจริงหรือ? บทความนี้อาจช่วยคลายกังวลของท่านได้
ปี 2020 โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ตลาด E-Commerce เติบโตมากขึ้น โดยคาดการณ์ว่าจะโตขึ้น 35% จาก 163,000 ล้านบาทในปี 2019 เป็น 220,000 ล้านบาท ในปี 2020 ยิ่งไปกว่านั้นโควิด-19 ทำให้คนเริ่มคุ้นชินกับการซื้อของออนไลน์ และสิ่งเหล่านี้ไม่ได้เกิดขึ้นแค่ที่ไทยอย่างเดียว Mckinsey บริษัทที่ปรึกษาระดับโลกยังเชื่อว่า ธุรกิจออนไลน์จะเป็นเทรนด์ที่อยู่ไปอีกนาน และนั่นแปลว่าตลาดจะต้องการคนที่มีทักษะด้าน Digital Marketing เป็นอย่างมาก และนี่อาจเป็นคลื่นลูกใหม่ที่ทำให้ Career path ของท่านพัฒนาไปอย่างก้าวกระโดด
วันนี้ผมจะมาเล่าให้ฟังเกี่ยวกับประสบการณ์การเรียนหนึ่งในวิชาที่ทาง NIDA เปิดสอนคือ Data storytelling ว่าเป็นอย่างไร, รายละเอียดงานเดี่ยวที่ผมต้องทำ, รวมถึงผมได้นำความรู้ไปปรับใช้กับหน้าที่การงานผมอย่างไรบ้าง และที่สำคัญที่สุดผมจะพูดถึงสิ่งที่ท่านควรคำนึงในการลงทุนของท่าน ซึ่งผมหวังว่าผมจะช่วยให้ท่านตัดสินใจได้ง่ายขึ้นเกี่ยวกับการลงทุนเพื่ออนาคตของท่านในครั้งนี้
การลงทุนเรียนปริญญาโทไม่ใช่แค่เรื่องเนื้อหาการเรียนการสอนอย่างเดียว
ไม่ว่าท่านจะสนใจที่จะเปลี่ยนสายงาน, เพิ่มทักษะ หรืออยากทำงานในสายงาน Digital Marketing สำหรับผมแล้วการลงทุนเรียนปริญญาโทไม่ใช่การลงทุนเพื่อแค่เอาใบปริญญาอีกต่อไป เพราะใบปริญญาไม่ได้การันตีว่าผมหรือท่านจะมีโอกาสได้งานในสาย Digital Marketing มากขึ้นแต่อย่างใด แต่ผมคิดว่า สิ่งที่จะเพิ่มโอกาสให้ท่านได้เข้าสู่สายงานจริงๆนั้นมันขึ้นอยู่กับสิ่งที่ท่านทำระหว่างเรียน ไม่ว่าจะเป็น project ที่ส่งอาจารย์ หรือจะเป็น side project ของท่านเองที่ท่านมี passion ที่จะทำมันออกมาด้วยความรู้ความสามารถที่ท่านได้รับจากการเรียนครั้งนี้
มีหลากหลายคนที่ทำ side project ของตนเองและท้ายที่สุด Project เหล่านั้นก็กลายเป็นสิ่งที่ช่วยสร้างรายได้ให้กับพวกเค้า จากประสบการณ์ของผมตอนเรียนปริญญาตรี ผมเห็นเพื่อนของเพื่อนผมเริ่มต้นทำเพจ Young Business Guide ด้วยความชอบและในที่สุดก็สามารถหารายได้จากสิ่งที่ตนเองชอบ (ฟังบทสัมภาษณ์ได้ที่นี่) และไม่ใช่แค่นั้น ยังมีบุคคลดังๆที่เริ่มต้น project ของตนเองและในที่สุดก็สามารถทำเป็นอาชีพได้ อย่างเช่น Mission to the moon อีกด้วย (ฟังคุณรวิศเล่าจุดเริ่มต้นของ Mission to the Moon ได้ที่นี่) ผมเชื่อว่ายังมีอีกหลากหลายบุคคลที่เริ่มต้น Project จากความชอบหรือเริ่มจาก Project เล็กๆของตัวเองและพัฒนาจนใหญ่โต และผมเชื่อว่าสิ่งเหล่านี้คือสิ่งที่ HR มองหาใน resume และมันยังเป็นสิ่งที่ท่านสามารถเล่าได้ในการสัมภาษณ์งานเพื่อเพิ่มโอกาสเปลี่ยนสายงานหรือเข้าสู่สายงาน Digital marketing ได้ครับ
- การเรียนปริญญาโทคือสนามทดลองไอเดีย การลงทุนเรียนปริญญาโท คือ สถานที่ให้ท่านได้ทดลองไอเดียว่าไอเดียของท่านมีความเป็นได้ที่จะสำเร็จหรือไม่ และถึงแม้ไอเดียของท่านจะล้มเหลว ท่านก็จะได้บทเรียนที่มีค่าเพื่อต่อยอดในหน้าที่การงานของท่าน แน่นอนว่าการเรียนปริญญาโท ท่านจะต้องทำงานที่เป็นงานกลุ่มซึ่งอาจจะไม่ได้ทำให้ท่านได้ทดลองอะไรมากนัก แต่ในกรณีของงานเดี่ยวนั้น งานเดี่ยวสามารถมอบความเป็นไปได้ที่หลากหลายที่ท่านจะสามารถรังสรรค์และทดลอง ไม่ว่าผลลัพธ์ของงานจะไม่ดีมากนัก แต่ผมเชื่อว่าท่านจะได้รับบทเรียนที่มีค่าเป็นอย่างมาก งานเดี่ยวของผมในวิชาความคิดสร้างสรรค์ ผมได้ทดลองทำละครด้นสดซึ่งขัดกับธรรมชาติที่เป็นคนพูดไม่เก่ง เกลียดการพูดต่อหน้าคนเยอะๆ เกลียดการต้องนำเสนองานแบบไม่เตรียมตัวไปก่อน และผมกลัวว่าภาพลักษณ์ผมจะออกมาแย่เพราะงานเดี่ยวของผมที่นำเสนอมันแย่ แต่ผมเชื่อว่าสกิลการ improvise ในสถานการณ์ต่างๆในปัจจุบันที่ไม่แน่นอนและเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วจะเป็นสิ่งที่สำคัญเป็นอย่างมากและผมเชื่อว่างานชิ้นนี้จะช่วยพัฒนาทักษะการ improvise ของผมได้อย่างมาก อย่างไรก็ดีงานเดี่ยวชิ้นนี้ผมทำออกมาได้ไม่ดีนัก แต่เมื่อเทียบกับบทเรียนที่ผมได้เรียนรู้ละก็ ผมคิดว่าบทเรียนที่ผมได้รับมันเจ๋งกว่าการที่ผมได้เกรด ได้ A เป็นอย่างมาก (ผมได้แค่เกรด B เท่านั้นซึ่งถือว่าค่อนข้างต่ำในคลาส) ดังนั้นในการลงทุนของท่าน หากท่านพร้อมที่จะเรียนรู้และทดลองทำสิ่งใหม่ๆผมเชื่อว่าการลงทุนของท่านจะคุ้มค่าอย่างแน่นอนครับ
- เพื่อนร่วมคลาสของท่าน ประตูสู่วิสัยทัศน์และประสบการณ์ที่หลากหลาย รุ่นผมมีนักศึกษาไม่ถึง 20 คน แต่ก็มากมายหลากหลายสายงานทั้งราชการ, creative, ที่ปรึกษา และที่ทำงานอยู่ในสายงาน digital อยู่แล้ว ข้อดีอย่างมากในการเรียนภาคพิเศษคือการเรียนรู้จากเพื่อนร่วมคลาสของท่าน ประสบการณ์จากหลากหลายสายงานของเพื่อนร่วมคลาสจะทำให้ท่านมีวิสัยทัศน์ที่กว้างไกลมากขึ้น นอกจากนี้ผลงานที่เพื่อนร่วมคลาสของท่านอาจ inspire ให้ท่านมีไอเดียในการทำ Project ต่างๆในอนาคตได้อีกด้วย ผมได้เห็นคนที่ทำงานด้าน business แต่สามารถออกแบบ content ที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ออกมาดีอย่างดีเยี่ยม และได้ฟังเรื่องราวของคนที่ได้ขอคำปรึกษาจากอาจารย์ในคณะและออกไปทำเพจ Facebook ของตนเองจนมีผู้ติดตามเป็นหลักแสน ดังนั้นผมแนะนำเป็นอย่างมากว่าหากท่านยังเลือกไม่ได้ที่ระหว่างการเรียนภาคปกติ (เรียน จันทร์ — ศุกร์) และภาคพิเศษ (เรียน เสาร์ — อาทิตย์) ไม่ว่าจะมหาวิทยาลัยใดในไทย ผมแนะนำให้ท่านลงภาคพิเศษเป็นอย่างมาก แน่นอนว่าท่านต้องเพิ่มเงินในระดับนึง แต่ความหลากหลายของเพื่อนร่วมคลาส, connection และวิสัยทัศน์ที่ท่านจะได้รับจากเพื่อนร่วมคลาสของท่านนั้นผมเชื่อว่ามีมูลค่ามากกว่าเงินส่วนต่างระหว่างภาคปกติและภาคพิเศษอย่างแน่นอนครับ
- การเข้าถึงทรัพยากร และวิทยากรรับเชิญ นี่คือเหตุผลที่สำคัญที่สุดในการลงทุนรียนปริญญาโทสำหรับผม การได้เข้าถึง social listening tool ที่อาจจะต้องจ่ายเดือนละหลายพันเพื่อให้สามารถใช้งานได้ งานวิจัยต่างๆ การเข้าปรึกษากับอาจารย์และวิทยากรรับเชิญที่มากไปด้วยประสบการณ์และความสามารถ เพื่อช่วยให้ท่านทำเพจหรือเว็บไซต์ของท่านเอง ในคลาส Data storytelling ครั้งนี้ของผมมีวิทยากรรับเชิญถึง 3 ท่านด้วยกันคือ everydaymarketing หรือที่รู้จักกันในชื่อ การตลาดวันละตอน (website/Facebook)ที่มาเล่าประสบการณ์การออกแบบเนื้อหาในเพจที่มีผู้ติดตามมากกว่า 130,000 คน, Zanroo ที่มาบรรยายเกี่ยวกับการใช้ social listening tools และให้ access เข้าถึงส่วน Quick Analytic เพื่อให้นักศึกษาสามารถนำ Zanroo ไปใช้ในการทำงาน Project ส่งอาจารย์และทำงานวิจัยเพื่อการศึกษาต่างๆ และ Punchup ที่เข้ามาบรรยายถึงหลักการในการออกแบบการเล่าเรื่องด้วยข้อมูลอย่างมีระบบและเข้าถึงใจลูกค้า ซึ้งเป็นสิ่งที่สำคัญมากในการทำ content แทบทุกรูปแบบ ดังนั้นการที่ท่านจะตัดสินใจลงทุนเรียนปริญญาโทท่านต้องมั่นใจว่าท่านจะได้ใช้ทรัพยากรได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด หรือลงทุนในมหาลัยที่ท่านเชื่อว่าทรัพยากรที่ทางมหาลัยมอบให้ท่านจะสามารถสนับสนุนให้ท่านได้เรียนรู้ได้ดีที่สุด
การเรียนออนไลน์ ดาบสองคมของคุณภาพการเรียน
แม้ว่าการเรียนออนไลน์จะมีข้อดีต่างๆมากมายและทาง NIDA เองก็มีการจัดการเรียนการสอนออนไลน์ที่ดีเยี่ยม แต่นั่นก็ไม่ได้ทำให้ประสบการณ์การเรียนออนไลน์ของผมดีเท่าไหร่นัก หากท่านไม่ได้รีบร้อนในการลงทุนเรียนต่อมากนัก ผมแนะนำเป็นอย่างมากว่า ท่านควรรอให้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิท19 ดีขึ้นจนกระทั่งสามารถเรียนในคลาสได้ปกติ เนื่องจากการเรียนออนไลน์นั้นส่งผลกระทบกับประสบการณ์การเรียนปริญญาของท่าน ทั้งด้านการผูกสัมพันธ์ คุณภาพการเรียน และการใช้ทรัพยากรของท่าน
- การผูกสัมพันธ์ที่ทำได้ยากขึ้น การเรียนออนไลน์ทำให้ท่านมีโอกาสได้คุยเพื่อนร่วมคลาสของท่านน้อยลง รวมถึงโอกาสในการสังสรรค์หรือเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อสานสัมพันธ์ด้วย ถึงแม้ว่าท่านจะสามารถคุยกันผ่านทาง social media หรือ LINE ได้ แต่ผมเชื่อว่าการผูกสัมพันธ์แบบ face-to-face เป็นการสร้างสัมพันธ์ที่ดีที่สุดและการเรียนออนไลน์ไม่สามารถมอบสิ่งนี้ให้กับผมได้
- คุณภาพการเรียนที่ไม่เทียบเคียงกับการเรียนในคลาสปกติ การโฟกัสกับการเรียนออนไลน์นั้นทำได้ยากมาก นอกจากนี้ workshop ต่างๆและการเชิญวิทยากรมาบรรยายในคลาสเองก็เป็นสิ่งที่ทำได้ยากเช่นกัน และถึงแม้จะสามารถจัด workshop หรือเชิญวิทยากรมาได้จริงๆ คุณภาพของ workshop และการบรรยายจากวิทยากรในคลาสออนไลน์ก็เทียบไม่ได้เลยกับการเรียนที่คลาสที่เจอหน้าเพื่อนร่วมคลาส, อาจารย์ และวิทยากร
- การเสียโอกาสจากการใช้ทรัพยากรของมหาวิทยาลัย การเรียนออนไลน์ทำให้ท่านไม่ได้เข้าถึง facility ต่างๆที่ทางมหาวิทยาลัยจัดไว้ให้ อย่างไรก็ดีท่านยังสามารถเข้าใช้หอสมุดออนไลน์ของทางมหาวิทยาลัย และได้สิทธิ์ในการเข้าถึงงานวิจัยต่างๆที่ทางมหาลัยจัดไว้ให้ท่านเพื่อใช้ในการหาความรู้เพิ่มเติมหรือใช้ในการทำวิจัยที่ท่านอาจจะสนใจ
การนำความรู้จากวิชา Data storytelling ไปใช้กับหน้าที่การงาน
หนึ่งในวิชาที่ผมได้มีโอกาสได้เข้าเรียน คือ Data storytelling หรือการเล่าเรื่องด้วยข้อมูล ซึ่งเป็นวิชาที่สอนเกี่ยวกับทักษะในการนำข้อมูลที่ท่านทำการเก็บรวบรวมมาหรือวิจัยมานำเสนอแก่คนที่ท่านต้องการนำเสนอในรูปแบบของการเล่าเรื่อง โดย Data storytelling เป็นทักษะที่จะมีความต้องการอย่างต่อเนื่องในอนาคต เนื่องจากในอนาคตแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของข้อมูลยังคงเป็นบวก และการนำเสนอข้อมูลที่เข้าใจได้ยากให้ออกมาเข้าใจได้ง่ายจะเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างมาก นอกจากนี้การเล่าเรื่องจะทำให้คนจดจำข้อมูลได้ง่ายกว่า โน้มน้าวใจได้ง่ายกว่า และทำให้ผู้ฟัง engage กับสิ่งที่เราเล่ามากกว่าการนำเสนอแบบปกติอีกด้วย ฉะนั้นวิชา Data storytelling จึงเป็นวิชาที่ท่านไม่ควรพลาดด้วยประการทั้งปวงหากมีโอกาสเข้ามาเรียนในสาขานี้
ทักษะการสื่อสารเป็นทักษะที่มีความสำคัญอย่างมากในสายอาชีพของผม เนื่องจากผมทำงานเกี่ยวการศึกษาความเป็นไปได้ของโครงการอสังหาริมทรัพย์ ซึ่งจะต้องมีการเขียนรายงาน และการนำเสนอโครงการต่อลูกค้าหรือผู้บริหารระดับสูง ในส่วนนี้เองที่วิชา Data storytelling เข้ามามีบทบาทในการยกระดับการสื่อสารของผมไปอีกขั้นนึง โดยตัวอย่างคือ ผมได้ปรับแนวทางการนำเสนอของผมใหม่ให้ดีขึ้น โดยปกติแล้วการนำเสนอส่วนใหญ่ของผมมักจะยึดหลักการของ Pyramid Principle เพื่อช่วยทำให้การเล่ามี Logic ที่ดี แต่เมื่อเรียนวิชา Data storytelling แล้ว ผมพบว่าการเล่าเรื่องโดยการใช้โมเดลในการเล่าแบบ Problem-Solution-Benefit ซึ่งคือวิธีการเล่าโดยการนำเสนอปัญหา ทางแก้ไข และประโยชน์จากการแก้ไข สามารถนำมาปรับใช้กับงานของผมได้ หนึ่งในงานที่ผมคาดว่าจะนำโมเดลนี้มาใช้คือการนำเสนอ insight ของพฤติกรรมลูกค้าว่ามี Pain Point อะไร และ Products หรือ Services ขององค์กรสามารถตอบโจทย์ลูกค้าได้อย่างไร และท้ายที่สุดทางองค์กรจะได้ประโยชน์อย่างไรกับการเจาะกลุ่มลูกค้ากลุ่มนี้ ซึ่งผมเชื่อว่าแนวทางในการเล่าด้วยโมเดลนี้จะทำให้ประสิทธิภาพในการสื่อสารของผมเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนครับ
วิชา Data storytelling เป็นแรงบันดาลใจในการทำ side project ของตนเอง
ผลงานของเพื่อนในคลาสและ Punchup ซึ่งเป็นหนึ่งในวิทยากรในวิชา Data storytelling ได้ inspire ให้ผมอยากเริ่ม Project ของตนเอง ผมได้เห็นเพื่อนในคลาสที่ทำผลงานกลุ่มด้วยการใช้ Social listening tool เพื่อออกแบบ Campaign ที่ตอบโจทย์ลูกค้า ผมได้เห็นเว็บไซต์ที่ทำ Data storytelling เกี่ยวกับกัญชาผ่าน Interactive Website และผมได้เห็นว่าหลากหลายผลงานที่ทาง Punchup ทำนั้นสุดยอดแค่ไหน แน่นอนว่าตอนนี้ผมยังไม่มีแนวทางที่ชัดเจนว่าควรทำอย่างไรกับ Project ของผม แต่การที่ผมรู้สึก inspire แล้วพร้อมที่จะเริ่มทำในสิ่งใหม่ๆมันคือจุดเริ่มต้นที่สำคัญ และจุดเริ่มต้นนี้จะเป็นสิ่งที่ทำให้ผมได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเองเพื่อความก้าวหน้าในอนาคต ผมเชื่อว่านี่คือจุดสำคัญ คือเป้าหมาย คือจุดประสงค์ ที่ผมเลือกลงทุนเรียนต่อปริญญาโท และผมหวังว่าท่านที่กำลังจะลงทุนศึกษาต่อจะคิดเช่นเดียวกันกับผมครับ
แน่นอนว่าความรู้และแรงบันดาลใจเหล่านี้ที่ได้มาจากการเรียนวิชา Data storytelling นั้นไม่ได้มาจากการแค่นั่งฟัง lecture เฉยๆ แต่มาจากการที่ผมได้ทำงานกลุ่มกับเพื่อนร่วมคลาสในหัวข้อ “สถานการณ์คนเหงารุนแรงแค่ไหนในช่วงสถานการณ์แพร่ระบาดของโควิท19”
การทำ Project งานกลุ่ม : สถานการณ์คนเหงารุนแรงแค่ไหนในช่วงสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิท19
ที่มาของ Project นี้มาจากสิ่งที่พวกเราต้องเจอกันอยู่ทุกวันในช่วงนี้ นั่นคือ “ความเหงา” รู้สึกเหมือนกันไหมครับว่า ความเหงากำลังคุกคามพวกเราอยู่ในช่วงสถานการณ์โควิด 19 เเบบนี้ เเละยิ่งอยู่ในช่วง lock down ไม่สามารถออกไปไหนได้ ความเหงาก็เลยยิ่งทวีคูณขึ้น ผมเองก็เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่รู้สึกเหงากว่าปกติแม้ว่าผมจะเป็น Introvert ก็ตาม โดยทั่วไปแล้ว ความเหงาในระดับปกติอาจไม่ได้ส่งผลเสียต่อสุขภาพของเรามากนัก แต่ผมเชื่อว่าความเหงาอาจเป็นอันตรายได้เมื่อเกินกว่ามาตรฐานหรือปล่อยไว้นานเกินไป ดังนั้นผมคิดว่าการศึกษาเกี่ยวกับความเหงาในช่วงนี้เป็นสิ่งที่สำคัญและการหาแนวทางการรับมือกับความเหงาอาจช่วยลดอุปสรรคให้กับผู้คนที่ต้องต่อสู้กับวิกฤตครั้งนี้ไม่มากก็น้อยครับ ดังนั้นผมคิดว่า การศึกษา วิเคราะห์ เกี่ยวกับความเหงา จะเป็นประโยชน์ให้ใครหลายๆคนสามารถรับมือความเหงาได้อย่างเเน่นอน ความรู้สึกเหงานี้ได้กลายเป็นเเรงบันดาลใจให้พวกผมนำมาทำเป็น Project เพื่อช่วยเหลือใครหลายๆคนที่กำลังต่อสู้กับความเหงาอยู่นั้นเองครับ
แชร์สิ่งที่ได้เรียนรู้จากการลงมือทำ Data storytelling ครั้งแรกกับเพื่อนร่วมคลาส
Project นี้จะไม่มีทางสำเร็จได้เลยถ้าผมไม่ได้เรียนรู้ 6 ขั้นตอนในการออกแบบ Data storytelling ที่เป็นระบบจากอาจารย์ และต่อจากนี้ผมจะมาแชร์สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการทำ Project Data storytelling ความเหงานี้ที่ดำเนินตามขั้นตอนดังนี้
ขั้นตอนที่ 1 การตั้งคำถามที่ดี
การตั้งคำถามที่ดีเป็นรากฐานสำคัญในการทำ Data storytelling เนื่องจากการตั้งคำถามจะทำให้เรารู้ว่าเราควรเก็บข้อมูลจากที่ไหน อย่างไร และยังเป็นการกำหนด scope ของงานได้อย่างดีเยี่ยม ทำให้ผมลดเวลาในการทำงานและโฟกัสในสิ่งที่สำคัญๆเท่านั้น สิ่งที่ช่วยทำให้ผมตั้งคำถามได้ดีนั้นคือ Framework 5W1H (What, When, Why, Who, Where, and How) ซึ่งช่วยทำให้ผมตั้งคำถามเกี่ยวกับหัวข้อที่กำหนดได้รอบด้านมากขึ้น กลุ่มของผมใช้ Framework นี้ในการตั้งคำถามเกี่ยวกับความเหงาและได้คำถามต่างๆ เช่น จะเกิดอะไรขึ้นหากเราเหงามากเกินไป (What), ทำไมก่อนโควิท19 อัตราการเหงาถึงมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น (Why), กลุ่มคนไหนเป็นกลุ่มคนที่ได้รับผลกระทบจากความเหงาที่สุด (Who), ก่อนโควิท19 กลุ่มคนเหงาไปไหนเพื่อแก้เหงา และตอนนี้เป็นอย่างไรเมื่อออกจากบ้านไม่ได้แล้ว (Where) และช่วงโควิท19 คนแก้เหงากันอย่างไร? (How) เป็นต้น
การตั้งคำถามที่ดีไม่ได้ใช้แค่กับการ Data storytelling เท่านั้น แต่ยังสามารถใช้ได้ในอีกหลายๆเรื่องรวมถึงการตัดสินใจเรียนปริญญาโทของท่านเอง
ขั้นตอนที่ 2,3,4 การเก็บข้อมูล, การเตรียมข้อมูล และการวิเคราะห์ข้อมูล
ผมรวบ 3 ขั้นตอนนี้เข้าด้วยกันเนื่องจากในการปฏิบัติจริง 3 ขั้นตอนนี้มักจะไม่ได้เรียงกันอย่างสมบูรณ์ เหตุผลคือในบางครั้งข้อมูลที่ผมต้องการเป็นข้อมูล Secondary ซึ่งเป็นข้อมูลที่ผ่านการเตรียมและวิเคราะห์จากบุคคลอื่นเรียบร้อยแล้ว ดังนั้นกลุ่มของผมเพียงแค่นำมาวิเคราะห์ในบริบทของ Project ของผมว่ามีความเกี่ยวข้องและเกิดผลอย่างไรเท่านั้น ในกรณีที่ไม่มีข้อมูล Secondary กลุ่มของผมก็จะต้องเก็บข้อมูลด้วยตนเอง (Primary Data) และดำเนินการเตรียมข้อมูล หรือการคลีนข้อมูลเพื่อใช้ในการวิเคราะห์ต่อไป ขั้นตอนนี้สำหรับผมเป็นขั้นตอนที่ใช้เวลามากที่สุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากใช้แหล่งข้อมูลจาก Social Media ซึ่งจำเป็นที่จะต้องตัดคำที่ไม่จำเป็นออก เช่น อิโมจิ หรือ คำที่มีสะกดผิด เช่น จากคำว่าเหงา เป็น เหา หรือ เงหา เป็นต้น เพื่อให้ข้อมูลสามารถนำไปใช้งานได้ ผมได้เรียนรู้ว่าหากท่านมีความสามารถในการใช้ Excel ในระดับนึง ก็สามารถนำมาปรับใช้เพื่อกรองคำต่างๆ และทำให้ขั้นตอนนี้เป็นไปได้รวดเร็วขึ้น
แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดที่ทำให้ 3 ขั้นตอนนี้เป็นไปอย่างมีทิศทางคือ การตั้งคำถามในขั้นตอนแรก หากตั้งคำถามได้ดีก็จะทำให้ขั้นตอนการเก็บข้อมูลง่ายขึ้นเป็นอย่างมาก เนื่องจากในขั้นตอนการเก็บข้อมูล บางครั้งข้อมูลก็มีมากเกินกว่าที่จะเก็บไหวในกรอบเวลาที่กำหนด และบางครั้งก็แทบไม่มีข้อมูลเพื่อตอบคำถามที่ตั้งไว้เลยแม้แต่น้อย ดังนั้นการตั้งคำถามจะทำให้ผมทราบว่าข้อมูลใดควรเก็บหรือไม่ควรเก็บ รวมถึงทราบว่าข้อมูลของท่านควรเก็บอย่างไรและจากแหล่งไหน ในกรณีงานของกลุ่มผม กลุ่มของผมต้องการตอบคำถามว่า ในช่วงการ lockdown คนเหงาขึ้นจริงหรือไม่? ด้วยการใช้ google trend เพื่อดูว่า คนไทยมีการเสริชหาคีย์เวิร์ดที่เกี่ยวกับความเหงา หรือวิธีแก้เหงาเพิ่มขึ้นหรือไม่ ซึ่งเราก็พบว่าเพิ่มขึ้นจริงๆ
ขั้นตอนที่ 5 การออกแบบ storytelling
ขั้นตอนนี้เป็นเหมือนกับใจความสำคัญของวิชานี้เลยก็ว่าได้ หากว่าไม่ได้เรียนวิชา Data storytelling ละก็ ผมเชื่อว่าตัวผมคงไม่สามารถออกแบบการเล่าเรื่องที่ดีได้แม้ว่า insight ที่ผมหามาจะเจ๋งแค่ไหนก็ตาม วิชา Data storytelling มอบ framework ในการจัดระบบความคิดและขั้นตอนในการออกแบบการเล่าเรื่องด้วยข้อมูลซึ่งทำให้ผมวางแผนได้อย่างมีทิศทางและทำให้การเล่าเรื่องไม่สะเปะสะปะอีกด้วย
การเรียน Data storytelling จะทำให้ผมเข้าใจว่าการเล่าเรื่องด้วยข้อมูลที่ดีต้องประกอบด้วยอะไรบ้าง (ซึ่งมีทั้งหมด 6 องค์ประกอบ) นอกจากนี้ผมยังได้เรียนรู้ framework ที่ช่วยทำให้ผมเข้าใจในงานตนเองว่า ผมจะเล่าอะไร และเล่าให้ใครฟังด้วยการใช้ SMAC model เพื่อทำให้เข้าใจในสิ่งที่จะเล่าและเข้าใจคนฟังอยากฟังอะไร รวมถึงได้เรียนรู้ว่ามีแนวทางในการเล่าเรื่องแบบใดบ้างด้วย communication models เพื่อใช้ในการเล่าเรื่องของท่านแก่ผู้ฟัง
ขั้นตอนที่ 5.1 ของการออกแบบ Data storytelling คือการรู้จักคนฟัง รู้จักตัวเอง และรู้จักช่องทางการสื่อสาร ด้วย SMAC Framework
SMAC Framework คือ Framework ที่ทาง punchup สอนในคลาสของผมเพื่อใช้ในการออกแบบ Data storytelling โดยการเล่าเรื่องที่ดีนั้นเราจะต้องทราบสิ่งต่างๆเหล่านี้
ท่านในฐานะผู้ส่งสาร (Sender) คือใคร เช่น ในกรณีของกลุ่มผมที่ทำเกี่ยวกับเรื่องความเหงา กลุ่มของผมมองว่าเราคือ ที่ปรึกษาที่มีความเข้าอกเข้าใจหัวอกคนเหงา ซึ่งเมื่อกำหนดเช่นนี้แล้ว Mood and Tone ของการเล่าเรื่องก็จะเป็นในอีกรูปแบบนึง แต่หากกลุ่มของผมมองว่าเราในฐานะผู้ส่งสารคือจิตแพทย์ การเล่าเรื่องก็จะเปลี่ยนไปอาจจะเป็นมุมมองที่เป็นวิชาการหรือหลักการทางการแพทย์มากกว่าการพูดเพื่อแสดงถึงความเข้าอกเข้าใจผู้ฟัง เป็นต้น
ใจความสำคัญ (Message) ที่เราต้องการนำเสนอแก่ผู้ฟังคืออะไร ผมได้เรียนรู้ว่าบางครั้งเรามีข้อมูลที่ต้องการนำเสนอมากมายแต่เราไม่มีพ้อยหลักที่ต้องการนำเสนอก็จะทำให้ผู้ฟังไม่เข้าใจในสิ่งที่ท่านต้องการจะสื่อ ดังนั้นผมเชื่อว่าเราควรจะหยิบข้อมูลที่มีความสำคัญจริงๆมาเป็นใจความสำคัญคือวิธีการเล่าเรื่องที่ดีที่สุด
ผู้ฟังคือใคร (Audience) หากเราไม่รู้ว่าผู้ฟังคือใครเราก็ไม่ทราบว่าเราควรหยิบอะไรมาเล่า ผมได้เรียนรู้ว่าข้อมูลอย่างเดียวกันเล่าให้คน 2 กลุ่มฟังแต่ได้ประโยชน์แตกต่างกัน ดังนั้นเลือกเรื่องจะเล่าให้ตรงกับปัญหาใกล้ตัวของคนฟังจะได้ประสิทธิภาพมากที่สุด
ช่องทางการสื่อสารของท่าน (Channel) — การเลือกช่องทางการสื่อสารนั้นจะขึ้นอยู่กับผู้ฟังของท่านและข้อมูลของท่านที่จะนำเสนอ หากผู้ฟังของท่านเคยชินกับการเสพเนื้อหาออนไลน์ผ่านช่องทาง Facebook ท่านก็ควรจะออกแบบการเล่าเรื่องของท่านที่เหมาะสมกับการลง Facebook เช่น infographic หรือวิดิโอที่มีขนาดที่เหมาะสมกับ Facebook เป็นต้น
ขั้นตอนที่ 5.2 เลือกโมเดลการเล่าเรื่องเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการเล่าเรื่องและเข้าถึงใจคนดู
เมื่อเราทำ SMAC Framework เป็นที่เรียบร้อย ขั้นต่อมาก็คือการ Structure การเล่าเรื่องว่าจะเป็นอย่างไร โดยสิ่งที่จะเป็นกรอบเพื่อช่วยให้การเล่าเรื่องของเราดีขึ้นคือ communication models ซึ่งเป็นโมเดลในการ struture การเล่าเรื่องของท่านว่า หัวข้อของท่านเหมาะกับการเล่าด้วยโมเดลไหน ซึ่งมีอยู่ทั้งสิ้น 3 โมเดล คือ
past-present-future model คือ การโมเดลการเล่าเรื่องที่เน้นแสดงถึงการเปลี่ยนแปลงตั้งแต่อดีต และแสดงถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน และอธิบายถึงทิศทางในอนาคต โดยผลงานที่ใกล้เคียงกับโมเดลเป็นอย่างมาก คือ ผลงานหัวข้อยุติปัญหาเอดส์ของทาง punchup ซึ่งเป็นการเล่าที่ทำให้เห็นว่าโรคเอดส์เปลี่ยนไปอย่างไรตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันและแนวโน้มของอนาคตเป็นอย่างไร
problem-solution-benefit model ผลงานมะเร็งไม่หมดหวังของทาง Punchup มีความใกล้เกียงกับโมเดลการเล่าแบบการนำเสนอปัญหา แนวทางแก้ไข และประโยชน์ที่จะได้รับได้อย่างดี
what, so-what? ,and now-what model ผลงานแบรนด์ทูน่ากระป๋องของทาง Punchup ความใกล้เคียงกับโมเดลนี้คือการเล่าถึงปัญหาของอุตสาหกรรมปลาทุน่า (What) และทำไม Greenpeace ถึงต้องจัดอันดับความยั่งยืนทูน่าปลากระป๋อง (So What) และในฐานะประชาชนอย่างเราสามารถทำอะไรได้บ้าง (Now what)
ขั้นตอนที่ 5.3 สิ่งที่ควรมีใน Data storytelling เพื่อยกระดับคุณภาพการเล่าเรื่องของท่านไปอีกขั้น
หลังจากการ Structure การเล่าเรื่องแล้ว ก็คือการ Checklist ว่า Data storytelling ที่ดีต้องมีองค์ประกอบอะไรบ้าง ซึ่งถ้ามีครบทั้ง 6 องค์ประกอบก็จะช่วยให้คุณภาพการเล่าเรื่องด้วยข้อมูลมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
องค์ประกอบที่ 1 คือ Data foundation
ข้อมูลคือรากฐานสำคัญของการทำ Data storytelling ที่ดี ดังนั้น 4 ขั้นตอนที่ได้ทำมา (การตั้งคำถาม, การเก็บข้อมูล, การเตรียมข้อมูล, และการวิเคราะห์ข้อมูล) จะเป็นสิ่งที่บ่งบอกว่าข้อมูลของเราดีหรือไม่ ผ่านการกลั่นกรองหรือการตกผลึกมาอย่างดีแล้วหรือยัง ผมเชื่อว่าหากเราไม่มีข้อมูลที่สามารถนำมาเล่าได้ ไม่ว่าเทคนิคการเล่าเรื่องใดๆก็ไม่อาจช่วยให้ Data storytelling ของเราออกมาดีได้
องค์ประกอบที่ 2 Main point
สาระที่ท่านต้องการให้ผู้ฟังเข้าใจคืออะไร สิ่งที่ผมได้เรียนรู้จากการทำงานกลุ่มครั้งนี้คือ มีสิ่งที่ผมอยากจะเล่ามากมายแต่ถ้าผมเล่าทั้งหมด คนฟังก็จะไม่เข้าใจว่าผมต้องการสื่ออะไร สิ่งที่ผมได้เรียนรู้คือ เราควรหยิบเฉพาะส่วนที่สำคัญจริงๆที่มีความใกล้ตัวกับคนฟัง หรือเป็นสิ่งที่กระทบคนฟังของท่านเป็นอย่างมากมาเล่า (ท่านจะรู้ว่าควรหยิบอะไรมาเล่าง่ายขึ้นเพราะผ่านการทำ SMAC เรียบร้อยแล้ว) และเมื่อผลงานมี main point ที่ชัดเจน ก็มีโอกาสที่ Data storytelling จะสามารถทำหน้าที่ของมัน นั่นก็คือ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงกับผู้ฟังนั่นเอง
องค์ประกอบที่ 3 Explanatory Focus
Data storytelling ต้องให้ความสำคัญกับการอธิบายสิ่งที่เข้าใจยากๆ ให้เข้าใจได้ง่ายๆ ซึ่ง วิดิโอของ Science Insider สามารถอธิบายให้เห็นภาพได้อย่างดีเยี่ยมว่าตอนนี้ขยะในทะเลมีมากขนาดไหน ซึ่งทำให้ผู้ฟังเข้าใจได้ง่าย
องค์ประกอบที่ 4 Linear Sequence
การเล่าเรื่องที่ดีจะต้องมีลำดับและเข้าใจง่าย นั่นหมายความเราต้องรู้ว่าเรื่องที่ท่านจะเล่าเริ่มต้นอย่างไร, มีจุด climax ตรงไหน และมีจุดสิ้นสุดอย่างไร ผมได้เรียนรู้ว่าการมีลำดับการเล่าเรื่องนอกจากนะทำให้คนฟังเข้าใจง่ายแล้ว คนออกแบบการเล่าเรื่องเองก็ทำงานได้ง่ายขึ้นเช่นกัน
องค์ประกอบที่ 5 Dramatic Element
หนึ่งในผลงาน Data storytelling ของทาง Wall Street Journal (WSJ) ในการอธิบายว่าโอกาสที่ท่านจะถูกล็อตเตอร์รี่รางวัลที่ 1 นั้นมีน้อยแค่ไหนด้วยการใช้ data เล่าเรื่อง ซึ่งสิ่งทาง WSJ ทำนั้นคือการใส่ Dramatic element ด้วยจำนวนจุดที่ถูกเพียงจุดเดียวของข้อมูลภายใต้จุดที่มีเป็นจำนวนมากเพื่อทำให้เห็นอย่างชัดเจนว่าโอกาสที่ท่านจะถูกรางวัลที่ 1 นั้นน้อยมาก ซึ่ง Data storytelling ที่มี Dramatic Element จะทำให้ผู้ฟังจดจำได้ง่ายขึ้นและโน้มน้าวใจได้ง่ายอีกด้วย
องค์ประกอบที่ 6 Visual Anchors
คือการใช้ภาพต่างๆ ในการเล่าเรื่อง หรือการ Visualize Data ให้ Data สามารถเล่าเรื่องได้เอง อีกหนึ่งผลงานของทาง WSJ คือการนำ Data มา Visualize ให้ Data สามารถเล่าเรื่องว่าการเข้ามาของวัคซีนโรคหัตทำให้การเกิดโรคหัตลดลงอย่างมากในหลากหลายประเทศ ผมได้เรียนรู้ว่าเมื่อ Data เล่าเรื่องได้เอง คุณภาพของการเล่าเรื่องจะเพิ่มขึ้นอย่างแน่นอนครับ
การผจญภัยครั้งใหม่ของท่านกำลังจะเริ่มต้น
เงิน 200,000 ของท่านเป็นได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการค้นหาตัวเอง การลงทุนในธุรกิจ หรือการเรียนต่อปริญญาโท ผมหวังว่าบทความนี้ได้ทำให้ท่านเข้าใจการเรียนต่อปริญญาโทมากขึ้นและช่วยให้ท่านตัดสินใจเลือกในสิ่งที่เหมาะสมกับท่านที่สุด ไม่ว่าท่านจะตัดสินใจอย่างไร ผมเชื่อว่านี่คือจุดเริ่มต้นการผจญภัยครั้งใหญ่ที่อาจพลิกเส้นทางชีวิตของท่านให้เป็นดังที่ท่านวาดฝันไว้
ท้ายที่สุดนี้ หากท่านสนใจที่จะศึกษาเกี่ยวกับ Data storytelling เพิ่มเติม อาจารย์ผู้สอนและทาง punchup ได้แนะนำหนังสือ 2 เล่ม คือ Effective Data Storytelling และ The Truthful Art ซึ่งผมเชื่อว่าจะทำให้ท่านเข้าใจในเรื่องของการเล่าเรื่องด้วยข้อมูลมากขึ้นอย่างแน่นอนครับ
ดูผลงานได้ที่ https://youtu.be/pIIdOhyf6u0
สหรัฐ หาญรุ่งโรจน์