แค่ไหนคือมูลค่าของบิตคอย?

Charkrid Th.
Dcentralizer
Published in
2 min readDec 19, 2017

หลายคนพอฟังคำว่า Bitcoin, Blockchain ก็มองภาพไปในทางที่ว่าเป็นเรื่องของ การลงทุนบ้าง การเก็งกำไรบ้าง หุ้นปั่นบ้าง กันไปหมด แม้กระทั่งคนออกแบบ ICOs ก็ยังเข้าใจกันไปแบบนี้ ออกแบบ token ให้สนับสนุนเรื่องการปั่น.. และบทสนทนาส่วนใหญ่ในวันนี้กลายเป็น Trade ตัวไหนดี

แต่จริงๆ แล้วอยากให้ไม่ลืมว่า Blockchain เป็นเรื่องของการปฎิรูป “อิสรภาพ” เป็นเทคโนโลยีที่ออกแบบมาให้กำจัด หรือลดบทบาทของตัวกลางที่ไม่มีประสิทธิภาพ และกุมอำนาจเกินไปลง ไม่ใช่เรื่องของการลงทุนรูปแบบใหม่ๆ

ทีนี้ชอบมีคนมาถามว่า “แล้วมูลค่าของ Bitcoin มันควรอยู่ที่แค่ไหน” หรือ “แค่เทคโนโลยีส่งเงิน ทำไมถึงมีมูลค่าขนาดนี้?” ณ.ขณะที่ผมกำกำลังเขียนอยู่นี่ (วันที่ 19 ธค 60) .. Bitcoin มี Market cap ถ้าจัดอันดับใหญ่เทียบเท่ากับประเทศอันดับที่ 15 ของโลก แซงประเทศไทยที่อยู่ที่อันดับ 50 ไปแล้ว (สี่เดือนที่แล้ว Bitcoin พึ่งอยู่ประมาณอันดับ 70 กว่าและ Market cap พึ่งมากกว่าโกลเมนแซคไป) ทำไมหนอ เทคโนโลยีส่งเงินถึงมีมูลค่าขนาดนี้

Market cap ของ Bitcoin ณ.วันที่ 18 Dec 2017 เทียบกับประเทศต่างๆ

การประเมินมูลค่าบิตคอย และ Token Valuation ในปัจจุบัน

มีวิธีทางเศรษฐศาสตร์หลายวิธีในการตีมูลค่าเรื่องพวกนี้ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเอาบิตคอยไปเทียบกับทองคำที่ว่าทองเป็นตัว Store of Value ว่าถ้าทองมีค่าเท่านี้ ในอนาคตบิตคอยที่คนเชื่อว่าเป็น Digital Gold ก็จะมีมูลค่าเทียบเท่าตาม, หรือวิธีอื่นๆ อีกมากมาย ที่ไว้ถ้ามีเวลาจะเอามาเล่าในโอกาสถัดๆ ไป

แต่มีเรื่องนึงที่ไม่ค่อยมีคนพูดถึง และผมคิดว่าเป็นหัวใจของคนออกแบบที่เค้าอยากจะทำเทคโนโลยีนี้ให้เกิดขึ้นมานั่นคือการ “ปลดพันธนาการ”

ปลดพันธนาการ? จากไหน?

จากหน้าที่ของเงินที่เรามองกันไม่เห็น.. คือถ้าใครเรียนเรื่องเงิน ก็จะบอกกันมาทุกยุคว่าเงินนะ มีหน้าที่หลักๆ สามอย่าง อย่างแรกนะ.. Medium of exchange คือใช้เป็นตัวกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าไง, อย่างที่สองนะ Unit of account หรือเอาไว้ใช้วัดค่าวัดราคาของสิ่งของไง, อย่างที่สามนะ Store of value ใช้สะสมค่าไง เก็บใส่ไหฝังไว้ก็รักษามูลค่าของมันได้.. แต่อันนั้นมันเป็น “เงิน” แบบนักวิชาการครับ

หน้าที่ของ เงิน แบบไม่วิชาการ.. ที่ตำราไม่ได้สอน

เคยได้ยินใช่มั้ย.. “เงิน คือ อำนาจ” ได้ยินมาแต่เด็ก ทำไมมันถึงเป็นแบบนั้นครับ เพราะเงินเวลาไหนไปอยู่ที่ใคร สิ่งมีชีวิตที่เรียกว่ามนุษย์นั้นก็ชอบแสดงออกถึง อำนาจในตัว.. ไม่ว่าจะเป็นระดับใหญ่ที่สุดตั้งแต่ระหว่างชาติ, ระดับนักการเมืองในประเทศ, หรือแม้กระทั่งฝ่ายบัญชีในบริษัท.. เงินไปอยู่ที่ไหน ถ้าตัวกลางที่เงินไปหยุดอยู่นั้นไม่ดี ก็จะแสดงแสนยานุภาพขึ้นมาทันที

การกดขี่ การเอาเปรียบ การยื่นข้อเสนอที่ไม่เป็นธรรม รายใหญ่กดรายย่อย ฯลฯ ในทุกยุคทุคสมัยทั้งหมดล้วนมีความสัมพันธ์กับ “ตัวกลาง” ที่ใช้เงินเป็นฐานของอำนาจทั้งสิ้น

Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่จะมาช่วยในการบันทึก และส่งค่าของสิ่งของต่างๆ (ไม่ว่าจะเป็นเงิน ทรัพย์สิน หุ้น ประกันภัย บัตรแสดงตัวตน ปริญญาบัตร ฯลฯ และอะไรก็ได้ ที่ตอนนี้มีหน่วยงานกลางมา “รวบ” ทำเรื่องพวกนั้นเอาไว้..​ ให้ไปเก็บบันทึกและส่งในรูปแบบกระจายศูนย์ (หรือที่คนเข้าใจกันว่าคล้ายๆ กับพวก bittorrent นั่นแหละ) และทุกอย่างเก็บไว้ในรูปแบบ “Block” ที่บันทึกสืบไล่กันไปเรื่อยๆ เพื่อให้ไม่สามารถทำการแก้ไขปลอมแปลงได้ บน “Chain”.. และบิตคอยก็เป็นแค่หัวหอกในการการนำรูปแบบของ Blockchain มาใช้ในการส่งและเก็บเงินโดยไม่ต้องมีตัวกลางอย่างธนาคาร หรือแม้แต่การควบคุมโดยธนาคารชาติ นั่นเอง

แล้วมูลค่าบิตคอยมันคือแค่ไหน?

ผมอยากชวนให้คิดถึงอีกมุมนึงว่า.. มูลค่าความเสียหายของ การคอร์รัปชั่นในหมู่การเมือง, ความไม่มีประสิทธิภาพของหน่วยงานที่มีอำนาจแต่เพียงผู้เดียว, การเอาเปรียบของบริษัทที่ใหญ่จนเสมือนผูกขาด, หรือภาพเล็กระดับพ่อค้าคนกลางที่เอาเปรียบกดราคาเกษตรกร จนถึงภาพใหญ่อย่างการเล่นเกมส์การเงินเชิงอำนาจของรัฐฯ ที่ใช้กดขี่ประเทศต่างๆ .. ส่ิงเหล่านี้เป็นเรื่องใหญ่ เป็นปัญหามานาน คุณคิดว่า เรื่องเหล่านี้ทั้งหมด “มีมูลค่าความเสียหายแค่ไหน?”

ถ้าได้ลองคิดถึงเรื่องพวกนี้ คุณจะเข้าใจว่า เราไม่สามารถใช้มาตรวัดทางเศรษฐศาตร์รูปแบบเดิมๆ มาประเมินมูลค่าของเหรียญตราดิจิตัล เหล่านี้ได้ และมูลค่าของค่าเงิน Bitcoin รวมถึง Cryptocurrencies อื่นๆ ที่ขึ้นมาเป็นสิบๆ เท่าในปี 2017 นี้ อาจจะเป็นแค่ “คลื่นลูกที่หนึ่ง” ที่จะมาสร้างความเปลี่ยนแปลงในวงจรเศรษฐกิจขนาดใหญ่ระดับร้อยๆ ปีก็เป็นได้..

พี่โบ๊ตพูดขนาดนี้ แล้วผมรีบไปซื้อบิตคอยเลยดีมั้ย?

บทความนี้ถูกเขียนขึ้นมาจากความหงุดหงิดของวันที่กำลังโอนเงินบิตคอยมูลค่าแค่ไม่กี่พันบาทก้อนนึง และในช่วงตลาดขาขึ้นแบบช่วงนี้ แต่ต้องรอเกือบ 24 ชม. และโดนค่าธรรมเนียมไปกว่า 500 บาท (เห็นมั้ยว่าการไม่ได้มีตัวกลาง ก็ไม่ได้แปลว่าถูกแล้วนะ) และด้วยการที่บิตคอยวันนี้ทำ Transaction ได้แค่ประมาณ 6 transaction/sec (เทียบกับ Visa ที่ 4000 transaction/sec) ทำให้ต้องรอคิวในการ Verified นานมากกก เพราะตลาดกำลังพุ่งไปตามอำนาจความโลภของมนุษย์

วันนี้ 19 ธค 60 .. บิตคอยยังมี Transaction อีกมหาศาลที่เข้าคิวรอคอนเฟิม นั่นเองเป็นเหตุผลที่ว่าทำไม miner รวยขึ้น แต่เทคโนโลยียังไม่ได้ดีตาม

ส่วนเงินตราสกุลอื่นๆ ที่พากันยก Technology ในการส่งเงินได้ไว กันมาเป็นชุด ทับกันไปทับกันมา.. ขอให้เข้าใจว่า ที่ Token มันขึ้นไป ณ. วันนี้ เป็นการ “ยืม” เอา Future Value ของตัวเงินมาใช้ทั้งนั้น.. ไม่ได้สะท้อนความจริงอะไรในปัจจุบันเลยเช่นกัน

FUD to FOMO

FUD = Fear, Uncertainty, Doubt นั่นคือช่วงก่อนหน้านี้ทั้งหมด ที่กระแสมวลชนยังมองต่อพวก Bitcoin และ Cryptocurrency พวกนี้.. แต่ในวันนี้หลังจากที่คนเริ่มเห็นว่าปีนี้บิตคอยโตไปแล้วกว่า 18 เท่า (จาก 1 BTC = $1000 ต้นปี เป็น $18,000 ในช่วงปลายปี.. ฝูงชนก็เลยเกิดอาการถัดไปคือ

FoMo = Fear of Missing out คือกลัวตกรถ พากันแห่เข้าซื้อ แพงเท่าไหร่ก็ซื้อ หลับหูหลับตาซื้อ.. แต่ทั้งหมดนี้แค่อยากเตือนสติว่า “เทคโนโลยีมันยังไม่ได้โตตามมูลค่าที่พวกเทอซื้อขายกันได้ทันนะเออ..”

อะไรมีขึ้น ก็ต้องมีลง.. อะไรยิ่งขึ้นไปเกินจริงเยอะ ตอนปรับตัวลงสู่พื้นฐานความเป็นจริง (Correction) ก็ “เจ็บนาน” กันไปเท่านั้น.. แต่ถ้าใครอยากเชื่อว่ามันเป็นเทคโนโลยีระดับร้อยปีมีที และเราอยู่แค่จุดเริ่มต้นของมันเท่านั้น ก็ให้ซื้อไว้ ไปนอน แล้วเขียนพินัยกรรมให้ลูก แล้วก็ลืมมันไปซะ.. มันอาจจะสะท้อนความจริงตอนที่ลูกคุณโต.. ก็เป็นได้

บทความนี้เลยเขียนมาเพื่ออยากให้พวกเธอว์.. มอง Blockchain ให้เป็นเทคโนโลยีในการแก้ปัญหาขนาดใหญ่ของโลกใบนี้.. ไม่ใช่หุ้นปั่น หรือการลงทุนแนวใหม่.. มันก็เท่านี้แหละ

--

--