$BTC ถึงจุดควรซื้อ ขาย หรือ ถือ ใช้อะไรเป็น factors ในการชี้วัด? (Part 1/3)

BoNisa
Dcentralizer
Published in
4 min readApr 20, 2022
Market value — Realized value / Std(Market value)

Disclaimer: การลงทุนทุกสิ่งอย่างบนโลกใบนี้ มีความเสี่ยงทั้งสิ้น และเช่นเดียวกัน การไม่ลงทุนอะไรเลย ก็มีความเสี่ยงเช่นกัน ดังนั้นนักลงทุนต้องคิดให้ถี่ถ้วนด้วยตัวเองก่อนตัดสินใจเข้าลงทุน หรือ ไม่ลงทุนนะคะ

ในช่วงปี 2017 เป็นต้นมา โบได้รับคำถามคล้ายๆกันมาตลอดว่า อยากลงทุนใน $BTC แต่ไม่เข้าใจ Bitcoin เลย และมองจังหวะการเข้าซื้อ ขายรอบ หรือ Hold ไม่ออก

สำหรับบทความนี้ จะขอไม่พูดถึงในเชิง Fundamental ของ Bitcoin ถ้าใครยังไม่เข้าใจ สามารถตามฟังได้ใน Youtube: dcentralizer ได้เลย แต่บทความนี้ จะกล่าวถึง 3 Factors ที่สำคัญ และโบเองจะใช้ factors เหล่านี้ในการตัดสินใจเข้าลงทุนเหรียญ BTC ไม่ว่าจะเป็น

Port ระยะยาว คือ พอทเก็บออม ไม่คิดจะขายมีไว้ส่งต่อให้ลูกหลาน
Port ระยะกลาง ที่มีเป้าหมายในการขายอยู่ที่มูลค่าที่สูงกว่า 100,000 USD/ BTC ขึ้นไปเท่านั้นหรือในระดับ 1 ปีขึ้นไป
Port ระยะสั้น ที่มีเป้าหมายในการซื้อขายระดับ 1–3 เดือน

Factor ที่ 1: MVRV Z-Score ของ Bitcoin

มาถึงก็งงแล้วว่า MVRV คืออะไร แล้วยังมี Z-Score มาอีก ไม่ต้องตกใจ โบจะอธิบายแบบง่ายแสนง่ายให้ฟัง ส่วนใครอยากอ่านรายละเอียด ไปที่ ลิ้งนี้ ได้เลย

TLDR: MVRV Z-Score ใช้เพื่อหาจังหวะที่นักลงทุนระยะยาวระดับ 1 ปีขึ้นไปจะเข้าเก็บ Bitcoin ในช่วงรอบราคาที่ถือว่าเสี่ยงขาดทุนน้อยที่สุด ลักษณะการเข้าซื้อและขายจะคล้ายกับ Wyckoffian Logic

โดยปกติแล้ว โบจะใช้ MVRV Z-Score ในการหาจังหวะเวลาซื้อและขาย ในส่วนของราคานั้น ต้องใช้ Technical Analysis และ Event Timing ควบคู่ไปด้วยกัน

สำหรับคนที่ไม่สนใจรายละเอียด เราสามารถดูได้อย่างง่ายๆ หากว่า MVRV Z-Score อยู่ที่มากกว่า 3 แปลว่าเราควรเฝ้าระวังและหาทางขายทำกำไร Bitcoin ได้แล้ว ในขณะเดียวกัน หากว่า MVRV Z-Score นั้นอยู่ระดับประมาณ 1 หรือต่ำกว่า ก็ถือว่าเป็นช่วงจังหวะที่ดีที่จะเข้าลงทุนใน Bitcoin

ทีนี้เรามาดูสมการของ MVRV Z-Score กัน

  1. MV = Market Value ก็คือมูลค่าตลาดรวมของ Bitcoin ณ เวลานั้นๆ โดยอ้างอิงราคาตลาดของ Bitcoin * จำนวน Bitcoin ณ ตอนที่ชี้วัด
  2. RV = Realized Value ก็คือมูลค่าตลาดโดยเฉลี่ยต้นทุนของ Bitcoin ณ เวลานั้นๆ โดยอ้างอิง ราคาเฉลี่ย ณ เวลาที่เคลื่อนย้าย Bitcoin จากกระเป๋าหนึ่ง ไปหาอีกกระเป๋าหนึ่ง ซึ่งถือว่าเป็นราคาต้นทุนของนักลงทุน Bitcoin นั้น * จำนวน Bitcoin ณ ตอนที่ชี้วัด

Market Price vs Realized Price

เมื่อเข้าใจ Definition แล้ว เราจะเข้าใจว่า RV นั้นคือต้นทุนของนักลงทุนเหรียญ Bitcoin โดยเฉลี่ยทั้งหมด ถ้าหาก MV < RV, จะแปลว่านักลงทุนโดยเฉลี่ยในตลาดนั้นกำลัง “ขาดทุน” จากการลงทุนใน Bitcoin แต่ในทางกลับกัน หาก MV > RV มากจนเกินไป ก็เป็นสัญญาณนึงที่เราควรระวังนักลงทุนขาย Bitcoin ทำกำไร

ข้อมูลจาก Glassnode: Realized Price ณ วันที่ 19/04/2022 นั้นอยู่ที่ $24,562 USD ต่อ BTC

จากข้อมูล Realized Price และวิธีคำนวน เราจะเห็นได้ว่า หากราคา Market Price ยังคงสามารถยืนราคาได้เหนือว่า Realized Price ได้อย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ จะทำให้ราคาต้นทุนเฉลี่ยของนักลงทุน Bitcoin โดยรวมนั้น สูงขึ้นเรื่อยๆ และเราอาจจะเอาราคานี้เป็น Point of Control หรือจุดแนวรับสำคัญได้เช่นกันเมื่อดูควบคู่กับ Technical Analysis

หากสังเกตุเพิ่มเติม เมื่อเราดู Realized Price ด้วย Log Scale เราจะเห็นได้อย่างชัดเจนถึงการเปลี่ยนโครงสร้างพื้นฐานของราคา Bitcoin เมื่อกราฟทำมุมราดชันทั้งช่วงปลายปี 2017และช่วงต้นปี 2021

จากรูปเราจะเห็นได้ชัดว่า ฐานราคา Market Price ของรอบนี้จะอยู่ในช่วงมกราคม 2021 หรือราคาแถว $30,000 USD ต่อ BTC นั่นเอง ทั้งหมดนี้หากได้ดูประกอบกับ Technical Analysis แล้ว เราจะเข้าใจว่าทำไมเราจึงได้ยินผู้เชี่ยวชาญพูดกันอยู่เสมอว่า อย่าหลุด $30,000 USD เพราะหากหลุดแล้วยืนไปได้ ก็อาจถึงคราวที่ Bitcoin และตลาดคริปโตโดยรวมต้องพักตัวกันไปยาวๆจากการปรับฐานอีกครั้งหนึ่ง

แล้วทำไมต้องหา Z-Score?

สำหรับคนที่ไม่เคยเรียนสถิติมา อ่านจะงงว่า ทำไมต้องเข้าสมการอะไรกันนักหนา ก็เอา MV-RV ไปเลยสิ ก็รู้แล้วว่า กำไรหรือขาดทุน

จริงๆทำแบบที่ว่าก็ได้นะคะ แต่ว่าเราจะไม่เห็นค่ามาตรฐานของมันเลยว่า ในระยะเวลาที่เราใช้ในการทดสอบ โดยเฉลี่ยแล้ว Market Price ควรมีค่ามากหรือน้อยกว่า Realized Price อยู่เท่าไหร่ เพราะเราต้องการหาค่ามาตรฐาน เราจึงต้องเอาเครื่องมือที่ชื่อว่า Z-Score เข้ามาช่วยให้เราเข้าใจ Behavior ของตลาด ณ ตอนนั้นๆได้ง่ายขึ้น

Z-Score = Standard Score ค่ามาตรฐานที่ใช้วัดความมากไป หรือ น้อยไปของข้อมูล X จากค่าเฉลี่ย

จากสมการด้านบน X คือ MV, u คือ RV โดยสรุปก็คือส่วนต่างระหว่าง MV และ RV นั่นเอง เพื่อที่จะหาว่าราคาตลาด ณ ตอนนี้อยู่ห่างจากต้นทุนเฉลี่ยมากขนาดไหน แต่คำว่า “มากขนาดไหน” เนี่ย เราจะใช้ Z-Score ในการวัด เพราะถ้าไม่มี Z-Score เราจะไม่มีค่าชี้วัดเลยว่า ราคาตลาดมันน้อยเกินไป หรือ มากเกินไป แล้วหรือยัง

ด้วยเหตุนี้ เราจะมองว่า ข้อมูลที่ได้มาทั้งหมดนั้น เอามาจัดเรียงเป็น Standard Normal Distribution ซึ่งจะทำให้ข้อมูลนั้นอยู่ใต้ Bell Curve ตามรูปด้านล่าง

Z-Score ที่เท่าไหร่ที่จะทำให้ราคา Bitcoin แพงเกินไป หรือว่า ถูกเกินไป

พื้นที่ใต้กราฟ หรือเจ้าพื้นที่สีฟ้าตามภาพด้านบน คือคำตอบสำคัญของคำถามนี้

Z-Score ที่ทำให้ราคา MV ของ Bitcoin แพงเกินไป คือ Z-Score ที่ “สีฟ้า” กินพื้นที่ใต้กราฟเกือบทั้งหมดนั่นเอง และในทางกลับกัน Z-Score ที่ทำให้ราคา MV ของ Bitcoin น่าลงทุน คือ Z-Score ที่ยังคงมีพื้นที่ “สีขาว” อยู่ใต้กราฟนั่นเอง

สำหรับคนที่ไม่เคยเรียนสถิติมา อ่านจะงง งั้นลองฟังคำอธิบายนี้ดู

หากว่าเราให้พื้นที่ใต้กราฟทั้งหมด = 100% แปลว่าจากข้อมูลทั้งหมด มาขยำรวมกันในกราฟแล้ว คะแนนมาตรฐาน (Z-Score) ของราคา MV ของ Bitcoin อยู่ที่ 1.96 ตามภาพ ซึ่งกินพื้นที่ใต้กราฟ 95% แปลว่า เห้ยมันยังมีโอกาสเหลือนะ ที่ราคา Bitcoin จะขึ้นไปได้อีก (ลักษณะนี้จะเป็น Speculation มากกว่า เพราะโอกาสที่เหลืออีก 5% ค่อนข้างน้อยไม่เหมาะกับการลงทุนระยะยาว)

ในขณะเดียวกัน ถ้าคะแนนมาตรฐานอยู่ที่ 1.00 จาก Z-Score Table (รูปล่างนี้) เราจะเห็นว่า พื้นที่ใต้กราฟจะเท่ากับ 0.3413*2 หรือ 68.26% ซึ่งแปลว่ายังมีโอกาสอีกตั้ง 31.74% ที่ราคา Bitcoin จะขึ้นไปได้อีกจากราคาปัจจุบัน ลักษณะนี้น่าเข้าซื้อเพื่อลงทุนระยะยาว

แล้วเท่าไหร่ถึงควรเฝ้าระวังการขาย? หากเราอ้างอิงจากพื้นที่ใต้กราฟ ค่า Z-Score ที่มากกว่า 3 ขึ้นไป ควรเริ่มตั้งขาย Bitcoin ได้แล้ว เนื่องจาก Z-Score ที่ 3 นั้น จะกินพื้นที่กว่า 99% ของ Data ทั้งหมด อ้างอิงจาก Z-Score Table (รูปล่างนี้)

Z-Score และพื้นที่ใต้กราฟ

มาเทียบดู MVRV Z-Score ย้อนหลังคู่กับ MV ของ Bitcoin กัน

ข้อมูล MVRV Z-Score ย้อนหลัง 12 ปี จะมี 2 ช่วงใหญ่ๆที่เข้าซื้อสะสมได้เป็นอย่างดีคือช่วง Blackswan event ที่ทำให้ Z-Score ต่ำกว่า 0 และ ช่วงที่เป็นตลาดขาลงปกติคือ Z-Score เลี้ยงระดับแถว 1–1.20

จากภาพ เมื่อเราย้อนกลับไป เราจะเห็นได้ว่า Z-Score ที่น้อยกว่า 0 นั้นเกิดขึ้นทั้งหมด 4 ครั้งใหญ่ๆ แล้วเป็น Event ที่นานๆเกิดที ดังนั้นหากเกิดเหตุการณเช่นนี้ขึ้น ผู้อ่านน่าจะรู้ว่าควรทำอย่างไร อย่าง Event ล่าสุดคือช่วงเดือนมีนาคม 2020 นั้น Bitcoin ทำราคาต่ำสุดในรอบ 3 ปี (2020–2022)

ถัดมา Z-Score แถว 1–1.20 นั้น ถือว่าเป็นการเข้าซื้อสะสมระยะกลางที่ดีเลยทีเดียวแต่อย่าลืมว่า MVRV Z-Score ไม่ได้มีไว้ใช้โดดๆ แนะนำว่าควรที่จะมีเครื่องมืออย่าง Technical Analysis มาช่วยหาราคาเข้าด้วยนะคะ และจะดียิ่งกว่า ถ้าเราสามารถเข้าใจ Global Macro Event ที่มีผลต่อสภาพคล่อง ซึ่งมีอิทธิพลต่อการขับเคลื่อนของราคาให้ไปทางใด ทางหนึ่งได้อย่างชัดเจน

บทความนี้ค่อนข้างยาว แต่โบคิดว่าน่าจะเป็นประโยชน์สำหรับใครหลายคน ที่ยังหาหลักยึดไม่ได้ว่า เราควรที่จะหาจังหวะเข้าออก Bitcoin ยังไงบ้าง MVRV Z-Score ช่วยพอทส่วนตัวของโบมาหลายครั้งแล้ว โบใช้ MVRV Z-Score เป็นหลักยึดใหญ่เหมือนเสาเอกของบ้าน ด้วยความที่มันไม่ได้มีความซับซ้อนอะไร เป็น Metric ที่ไม่ได้ยากเกินไปที่คนส่วนใหญ่จะเข้าใจ (เหมือนกับที่เราใช้ PE ในหุ้นสมัยนึง) เพื่อช่วยในการตัดสินใจ ใน Part ถัดๆไป โบจะมาแชร์อีก 2 ปัจจัยหลัก ได้แก่Technical Analysis และ Global Macro Event ว่าโบใช้ยังไง มองยังไง

ความโชคดีของการลงทุนในคริปโต คือ Blockchain จึงทำให้เรามี Onchain Data เอาไว้วิเคราะห์ข้อมูลได้อย่างตรงไปตรงมา (ไม่เหมือน traditional finance ที่ข้อมูลเหล่านี้ อาจจะไม่ถึงมือคุณ เพราะมัน unaccessible) ต้องขอบคุณ Glassnode ที่ได้คำนวน Onchain Data Metric นี้เอาไว้ให้ดูแบบง่ายๆ สำหรับคนที่ซื้อแพคเกจ T2 ของเค้า ใครสนใจ สามารถสมัครจากลิ้งนี้ได้ โบคิดว่าข้อมูลที่ได้ คุ้มค่ากับราคามาก โบไม่ได้ Referral นะ อยากได้เหมือนกัน แต่มันไม่เปิดให้ทำ ฮ่าๆ

--

--