Identity Crisis

de.unknown
de unknown
Published in
2 min readJul 13, 2020

--

— the crisis of adolescences

Who am I? At the point, I have no clue.

วัยรุ่นเป็นวัยที่ยากที่สุด ใครๆ ก็บอกกันแบบนั้น

แล้วทำไม “ใครๆ” ที่ว่านั่น จึงได้เห็นตรงกันซะขนาดนี้?

สงสัย “ใครๆ” อาจจะต้องเปลี่ยนไปเป็น “คนๆ นั้น” แทน

เมื่อ Erikson นักจิตวิทยาชื่อดัง ได้บอกไว้ในทฤษฎีพัฒนาการทางจิตสังคมของเขา

เพราะวัยรุ่น คือ วัยของ “วิกฤตอัตลักษณ์”

วัยของ “วิกฤตอัตลักษณ์” หรือ “Identity Crisis” เป็นช่วงอายุของคนที่ต้องผ่านวิกฤตชีวิตของการสับสนในตัวตน การทะเลาะตบตีกับตัวเอง (ซึ่งบางทีก็ตีกับคนอื่นด้วย) และมักจะเกิดขึ้นตอนช่วงที่พีคสุด อย่างช่วง “วัยรุ่น”

Erikson กล่าวไว้ว่ามนุษย์นั้นมีขั้นตอนการเติบโตอยู่ 8 ช่วง และช่วงเวลาสำคัญที่จะกำหนดพัฒนาการขั้นต่อๆไปก็คือช่วงวัยรุ่น (12–18 ปี)

ใช่ คุณคิดถูกแล้ว

บทที่พระเจ้าส่งมาให้เราเลือกทางเดินบนเส้นทางแห่งความฝัน ก็มักจะส่งมาในช่วงเวลาที่วุ่นวายที่สุด สับสนที่สุด และเคว้งคว้างที่สุด

แค่การเปลี่ยนแปลงเชิงกายภาพที่เราจะต้องเรียนรู้ก็ยากแล้วที่จะยอมรับ ทำให้เราหลายๆ คน ตั้งรับกับคำถามที่ยากจะตอบไว้ไม่ทัน

แล้วเราจะหา identity ของตัวเองได้อย่างไร?

อย่างที่ Erikson กล่าวไว้ มนุษย์เราสามารถหาตัวตนของตัวเองได้จากสิ่งที่เราพบเจอยิ่งเจอมาก ยิ่งพบตัวตนของตัวเองในหลายมิติมากยิ่งขึ้น อาชีพที่ชอบ กลุ่มสังคมที่ใช่ เพศ รสนิยมทางเพศ มุมมองทางการเมือง มุมมองต่อสังคม บลา บลา บลา

ถือเป็นโชคดีของคนที่เกิดในยุคศตวรรตที่ 21 ยุคที่เทคโนโลยีทำให้เราเห็นโลกมากกว่าที่เคยเห็น เราจึงมีโอกาสพบเจอและเข้าใจในความหลากหลายของอัตลักษณ์มากกว่าคนยุคไหนๆ

.

แต่ในโอกาสย่อมมีวิกฤต

การหาตัวตนของตัวเองให้เจอว่ายากแล้ว แต่การยืนหยัดและประคองกอดตัวตนของตัวเองท่ามกลางวิกฤตนั้นยากกว่า

.

วิกฤตที่หนึ่ง กรอบล่องหนแห่งศตวรรตที่ 20

เมื่อปู่ย่าตายายของเราไม่อาจหาคำอธิบายให้กับเรื่องอินเทรนด์ของหลานๆ ทุกวันนี้

เมื่อลุงป้าน้าอามีประโยคติดปากว่า “เชื่อเถอะ ฉันอาบน้ำร้อนมาก่อน”

เมื่อผู้ใหญ่ผู้ตีกรอบให้เราหลายๆ คนยังคงติดอยู่ในกรอบล่องหนแห่งศตวรรตที่ 20

เพราะประสบการณ์ที่ต่างกัน ยุคสมัยและสิ่งแวดล้อมที่แตกต่างกัน ในบางครั้ง เราจึงคิดต่างกัน มีมุมมองในเรื่องเดียวกันที่แตกต่างกัน และเมื่อรวมกับช่องว่างระหว่างวัยแล้ว ความขัดแย้งระหว่างคน 2 ยุคจึงเกิดขึ้นในแทบทุกครอบครัว

ไม่เป็นไร เข้าใจได้

มันเป็นเรื่องยากสำหรับเขาที่จะทำความเข้าใจถึงอัตลักษณ์ที่แตกต่างของยุคปัจจุบัน เหมือนกับเราที่ไม่ค่อยจะเข้าใจอัตลักษณ์ที่แตกต่างของยุคของเขานั่นแหละ

.

วิกฤตที่สอง เสียงกระซิบ

เมื่อเราต้องอยู่ในสังคมที่มีการแชร์พื้นที่ส่วนตัวให้กับคนอื่นมากขึ้น

เรากลับได้ยินเสียงตัวเองเบาลง

เบาบางลง

เมื่อเสียงของเรากลับกลายเป็นเสียงกระซิบท่ามกลางเสียงอึกทึกคึกโครมของเมืองใหญ่ ทำให้บางครั้งเราสับสนและเลือกตอบคำถามที่ว่า “เราเป็นใคร” ด้วยการถามกลับว่า “แล้วทุกคนล่ะ มองฉันเป็นยังไง?”

ทำไมเราเลือกที่จะสละตัวตนที่มี เพื่อตอบสนองความคิดของคนอื่นในสังคมแทน?ทำไมเราเลือกที่จะให้เสียงของเรากลืนไปกับผู้คน ทำให้อัตลักษณ์ของเราจางหายไปพร้อมกับมัน?

นี่สินะ วิกฤตอัตลักษณ์

invitation to maturity IDENTITY?

เพราะการเป็นวัยรุ่นมันไม่ง่าย

จึงอยากให้เข้าใจเรา

ไม่ว่าคุณจะเป็นใคร อยู่ในสถานะไหน การเรียนรู้และเข้าใจความหลากหลายทางอัตลักษณ์จึงสำคัญ ปล่อยให้เราได้ใช้พื้นที่ตรงนี้ เพื่อให้คุณได้รู้จักตัวตนของตัวเองมากขึ้น เข้าใจตัวตนของผู้อื่นมากขึ้น และเข้าใจกันและกันมากยิ่งขึ้น

แล้วพบกันอีกครั้ง — de unknown

Ref.

https://www.verywellmind.com/identity-versus-confusion-2795735

--

--

de.unknown
de unknown

𝘢 𝘤𝘰𝘮𝘮𝘶𝘯𝘪𝘵𝘺 𝘸𝘩𝘦𝘳𝘦 𝘸𝘦 𝘴𝘩𝘢𝘳𝘦 𝘢𝘯𝘥 𝘤𝘢𝘳𝘦 𝘰𝘧 𝘢𝘭𝘭 #𝘪𝘥𝘦𝘯𝘵𝘪𝘵𝘺