5 Mins Talk & Furious 11 เรื่องราวจาก 11 บุคคลที่จะให้แรงบันดาลใจและเปลี่ยนการใช้ชีวิตของคุณ

Natthar Boonnumchai
DesignCrunch
Published in
4 min readJan 22, 2017

ปีนี้งาน creative talk แบ่งออกเป็น 3 session ใหญ่ ช่วงเช้าจะพูดถึงเทรนด์ใน 4 หัวข้อด้วยกันจะมี Creative, Technology, Digital Marketing และ Startup Entrepreneur

ช่วงบ่ายจะเป็น session ในห้องย่อย มีดังนี้

  1. Digital Marketing & Beyond
  2. Animation graphics
  3. SNAPPIX
  4. The next user behaviour
  5. สรุปหนังสือ 3 สามเล่ม เปลี่ยนชีวิตให้พุ่งปี 2017
  6. เขียนคอนเทนต์ให้ปังด้วย inbound marketing

และช่วงสุดท้ายของงาน 5 Minutes TALK & FURIOUS เรื่องราวของ 11 speaker ทั้ง 11 ท่าน ที่จะให้แรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตของคุณ

เนื่องจากมีคนสรุป session ช่วงเช้า ไปแล้ว ตามอ่านได้ที่เพจเฟสบุ๊ก cheetah marketing (ไม่ได้ค่าโฆษณา 555 แต่เราชื่นชอบเพจนี้) session 5 Minutes TALK & FURIOUS ละกันนะ

และงานนี้เขาได้เปิดรับสมัคร speaker ให้ขึ้นมาเล่าบนเวทีแห่งนี้ด้วยนะ ตอนแรกคิดว่าจะสมัครเพราะเราก็อยากแชร์ “เปลี่ยนโลกร้าย ให้กลายเป็นรัก” แต่คิดไปคิดมา สุดท้ายไม่ได้สมัคร เพราะเราพูดไม่เก่งถนัดเขียนมากกว่า (หัวเราะ)

และspeaker ที่จะมาพูดใน session นี้มีทั้งหมด 11 ท่านด้วยกันค่ะ

ขอบคุณรูปภาพเราแคปมาจาก ไลฟ จากเพจเฟสบุ๊ก Creative Talk Live

เรามาทำความรู้จัก Speaker ท่านแรกก่อนเลย

คุณอ้อม วัชราภรณ์ ดอนแสง เราแคปรูปมาจากไลฟของงานอีกที (รูปที่เราถ่ายมาไม่ชัด)
ภาพที่คุณอ้อมกำลังพูด (ขออภัยที่ภาพประกอบไม่ชัด)

คุณอ้อมเล่านิทานชีวิตในวัยเด็กของเธออยู่กับคุณแม่ เนื่องจากพ่อแม่ของของเธอแยกทางกันแล้วเธอเลือกที่จะใช้ชีวิตอยู่กับคุณแม่ ต่อมา แม่บอกกับเธอว่า “แม่ไม่สามารถส่งเสียเลี้ยงดูเธอได้แล้ว ต่อไปเธอต้องใช้ชีวิตด้วยตัวเอง” (ชีวิตของคุณ อ้อมช่างเหมือนกับเพื่อนคู่หูโปรเจ็คจบในมหาวิทยาลัย) เธอเริ่มทำงานและพบเจอ กับสังคมใหม่ๆ และนั่นทำให้เธอมีนิสัยที่เปลี่ยนไปกลายเป็นคนที่มี ego ในตัวเองสูง

วันหนึ่งแม่ของเธอพูดจาเตือนสติเธอ และทำให้เธอคิดได้และปรับเปลี่ยนตัวเอง ข้อคิดที่ได้จากนิทานของคุณอ้อม ทุกคนต่างมีจุดเริ่มต้นในชีวิตของตัวเองที่ไม่เหมือนกัน บางคนเริ่มจากศูนย์ บางคนเริ่มจากหนึ่ง หรือ บางคนเริ่มจากติดลบ แต่ว่าทุกคนสามารถขีดเส้นแล้วกำหนดการใช้ชีวิตของตัวเองได้

คนที่สอง คือคุณปาย พิพัฒน์ บุญสิทธิเลิศ ที่จะมาเล่าถึงเบื้องหลังของอาชีพนักพากย์

คุณปายเป็นนักพากย์การ์ตูนอย่างดิ อะเมซิ่ง สไปเดอร์แมน เล่าถึงเบื้องหลังของอาชีพนักพากย์ คุณปายเล่าให้ฟังว่าการเป็นนักพากย์นั้น เราจะต้องสังเกต เสียงของการ์ตูนต้นฉบับ ท่าทาง บุคลิก เพื่อพากย์ออกมาให้สมจริงและตรงกับคาแล็กเตอร์ของตัวละครนั้นให้มากที่สุด

เราเชื่อว่าคุณผู้อ่านในที่นี้ ที่เคยดูหนังฝรั่งที่เป็นเสียงภาษาไทย แล้วรู้สึกว่า นักพากย์หนังชอบพากย์นอกบทบ้างแหละ และเริ่มแบนหนังฝรั่งที่เป็นเสียงไทย ซึ่งคุณปายพูดถึงเรื่องนี้ได้น่าสนใจมาก ในปัจจุบันนี้ การพากย์หนังแบบนอกบท กำลังจะหมดไปแล้ว เพราะว่าทางผู้สร้างหนังเขาต้องมีการตรวจสอบเรื่องการพากย์หนังก่อนที่จะฉายจริงในโรงภาพยนตร์

และความเข้าใจของคนทั่วไปที่ว่าหนังฝรั่งที่เป็นพากย์ไทย “ใช้นักพากย์ไม่กี่คน หรือใช้นักพากย์ซ้ำกัน” คุณปายพูดเสริมว่าในปัจจุบันการพากย์หนังไม่ใช่การใช้นักพากย์คนเดียวกันที่พากย์เสียงแบบซ้ำไปซ้ำมาแล้ว การพากย์หนังเหมือนกับการถ่ายทำรายการทีวี ต้องมีผู้กำกับมากำกับนักพากย์อีกด้วยนะ

ครั้งต่อไปที่คุณผู้อ่านเข้าไปดูหนังฝรั่งในโรงภาพยนตร์ ลองเปิดใจมาดูหนังฝรั่งที่เป็นพากย์ไทยกันบ้างเน้อให้กำลังใจเหล่านักพากย์กันหน่อย ส่วนถ้าใครชอบดูแบบ Soundtrack แล้วตั้งใจอยากฝึกภาษาอังกฤษก็ไม่ว่ากันนะ

คนที่สาม คุณอร อรวี สมิทธิผล จาก Content Shifu วัยรุ่นคนนึงที่หันเหจากคณะแพทย์ศาสตร์มาสู่เส้นทางสาย Content ด้าน marketing

เรื่องราวของคุณอรวีเหมือนกับเด็กม.ปลายทั่วไปที่ตั้งใจเรียนเพื่อสอบเข้ามหาวิทยาลัยดีๆ และเธอสอบเข้าคณะแพทย์ศาสตร์ได้ แต่สุดท้ายเธอเลือกเรียนคณะสาขาที่เกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ แล้วการที่เธอได้ไปฟังงานสัมนาเกี่ยวกับ Startup จุดประกายให้เธอ เลือกที่จะมาทำงานในสาย Content ด้าน marketing เพื่อที่ใช้ในการContent เป็นสื่อกลางในการให้ผู้คนเข้าถึงความรู้ได้มากขึ้น

คนที่ 4 อาจารย์ทีปกร ศิริวรรณ ผู้ที่อยู่ในวงการ Startup โปรแกรมเมอร์ที่มีประสบการณ์กว่า 25 ปี ผู้เชี่ยวชาญด้าน Lean canvas

อาจารย์ทีเล่าถึง 5 สิ่งที่ทุกคนควรรู้และเข้าใจโปรแกรมเมอร์ เป็นเรื่องที่เราชอบมาก อาจารย์ทีเข้าใจนักศึกษาหัวอกเดียวกัน ตั้งแต่เราเรียนสายไอทีมา เพื่อนมักจะบอก แก ปริ้นเตอร์เสียแก้ไขไงอ่ะ หรือ เห้ยๆ แกๆวินโดวมันขึ้นตรงนี้แก้ไขไงอ่ะ คือบางทีก็อยากบอกว่า เออ คือ เราเรียนไอทีนะ ซ่อมคอมไม่เป็นนะ

  1. โปรแกรมเมอร์ไม่ใช่ช่างซ่อมคอม : คนอื่นๆมักจะเข้าใจผิดว่า เป็นโปรแกรมเมอร์ต้องซ่อมคอมเป็น บอกเลยไว้ใน ณ ที่นี้ ว่าคุณคิดผิดแล้วค่ะ โปรแกรมเมอร์มีหน้าที่ในการเขียนโปรแกรม ไม่ใช่ซ่อมคอมนะคะ เวลาที่คอมพิวเตอร์เสียโปรแกรมเมอร์ต้องยกคอมไปซ่อมคอมที่พันทิปเหมือนกันนะ
  2. โปรแกรมเมอร์ไม่ใช่พนักงานพิมพ์ดีด : หลายคนมักเข้าใจผิดว่า โปรแกรมเมอร์อยู่กับหน้าจอที่มันดำๆ แล้วคุณคิดว่า เขากำลังพิมพ์ดีดบอกได้ว่า ไม่ใช่เลยนะ ซึ่งสิ่งที่เราเห็นอยู่ เขาอาจกำลัง config ระบบเน็ตเวิร์ค ก็เป็นได้นะ คนที่เป็นโปรแกรมเมอร์ได้ต้องเรียนสายวิทย์ มี logic ในการคิดที่ดีด้วยนะและมีจินตนาการในการคิดถึง output ด้วย
  3. โปรแกรมเมอร์ไม่ใช่หมอดู : ลูกค้าบางคนชอบให้ requirement แบบนิดเดียว พูดไม่เคลียร์ โปรแกรมเมอร์ก็ไม่ใช่หมอดูที่จะสามารถรู้ใจผู้ใช้งานหรือลูกค้า การพูดคุยเพื่อเก็บความต้องการของลูกค้าในการพัฒนาโปรแกรมจึงสำคัญที่สุด คุยกันบ่อยแล้วคุณจะรู้ว่าโปรแกรมเมอร์เขาแคร์คุณค่ะ อยากให้คุณได้ระบบโปรแกรมที่ดีต่อการใช้งานค่ะ
  4. โปรแกรมเมอร์ไม่ใช่นักมายากล :ใช่เลยค่ะ เป็นจริงที่ไม่อิงนิยาย ยกตัวอย่าง บางครั้งคุณต้องการให้โปรแกรมเมอร์นำข้อมูลค่าดัชนีของร่างกายจากตรงนี้แสดงผลกราฟรูปร่างกายของคน ซึ่งคุณต้องคิดถึงความเป็นจริงด้วยว่า มันทำได้จริงไหม แล้วถ้าทำได้จะต้องทำอย่างเตรียมข้อมูลหรือวิธีการพัฒนาโปรแกรมอย่างไรบ้าง

คุณผู้อ่านจะสงสัยว่า ในความเป็นจริงแล้ว โปรแกรมเมอร์เป็นอะไรสำหรับคุณ

5. โปรแกรมเมอร์เหมือนเป็นเพื่อน เป็นที่ปรึกษา : การที่จะพัฒนาระบบอะไรสักอย่างแล้วให้มันสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี มันต้องเกิดจากการร่วมมือกันทั้งสองฝ่าย คุณลูกค้าผู้น่ารักก็ควรจะคุยหรือปรึกษาโปรแกรมเมอร์ เพื่อที่โปรแกรมเมอร์เสกหรือสร้างสรรค์ระบบหรือโปรแกรมที่นำไปใช้งานได้จริง

คนที่ 5 คุณเบส เภสัชกรผู้ที่สนใจด้านการลงทุน ปัจจุบันอาชีพนักลงทุน เจ้าของเพจเฟสบุ๊ก ลงทุนศาสตร์

การลงทุนหุ้น คือ การที่ทุกคนมีส่วนร่วมที่จะเป็นเจ้าของกิจการนั้นๆ ถ้าให้พูดเปรียบการลงทุนหุ้นในโลกใบนี้ คงเหมือนกับเกมเศรษฐีที่เดิมพันด้วยเงินจริงๆ ไม่ใช่เกมเศรษฐีแบบที่เด็กเขาเล่นกัน การลงทุนไม่ใช่เรื่องยากทุกคนสามารถเป็นนักลงทุนได้

การเป็นนักลงทุนเหมือนกันการเล่นเกมพวก harvest moon ที่ต้องศึกษาและเก็บข้อมูลให้มากที่จะตัดสินใจซื้ออะไรสักอย่าง และเมื่อคุณทำซ้ำไปเรื่อยๆ คุณจะเข้าสู่ความมั่งคั่งในชีวิต

คนที่ 6 คุณพล เอกสิทธิ์ เทียมแก้ว ที่จะมาพูดถึงเรื่องอัลกอริทึมลดความเครียด

ทุกอัลกอริทึมสามารถนำมาแก้ไขปัญหาและทำให้ชีวิตของตัวเองนั้นดีขึ้นได้ อัลกอริทึมลดความเครียด เป็นหนึ่งในวิธีการที่จะแก้ไขปัญหาและทำให้คุณสามารถฝ่าฟันอุปสรรคไปได้

หัวใจสำคัญของอัลกอริทึมลดความเครียด คือ MINDSET ความคิดของเรานี่แหละที่จะทำให้เราต้องจมกับปัญหา หรือ ทำให้เราหลุดพ้นจากปัญหา

  1. การแก้ไขปัญหาโดยการมองเป็น step by step จะสามารถช่วยแก้ไขปัญหาและก้าวข้ามอุปสรรคไปด้วยดี
  2. อย่าเพิ่งใช้พลังจินตนาการของเรามองว่าสิ่งนี้มันทำไม่ได้แล้วตั้งต้น แต่กลับกันให้มองเราควรใช้จินตนาการคิดว่าเราทำได้ และวิธีการก็จะตามมาเอง

คนที่ 7 คุณพีท พีระพัฒน์ ฝอยทอง ทนายความ และเจ้าของบริษัท ฟ้องได้.คอม

คุณพีทเล่าถึง กฏหมายเรื่อง Class action หรือ การดำเนินคดีแบบกลุ่มนั้นเอง คือ ผู้เสียหายแบบเดียวกันที่โดดเอาเปรียบบริษัทหรือได้รับความเสียหายจากการบริโภคหรือบริการ สามารถร่วมตัวไปฟ้องร้องกันได้

การดำเนินคดีแบบกลุ่มมีประโยชน์อย่างไร ถ้าในกรณีที่ผู้เสียหายโดนโกง หรือ ได้รับความเสียหายจากการบริโภคสินค้าหรือบริการ สามารถร่วมตัวกันแล้วไปฟ้องร้องได้

ตัดมาภาพเมื่อเราได้รับความเสียหายจากการบริการเราทำอย่างไรบ้าง

  1. ฟ้องเองค่ะ ขึ้นศาลฟ้องเองเลย แน่นอนว่า เราจะต้องเสียเงินเพื่อจ้างทนายหนึ่งคน ไปสู้คดี กับ บริษัทที่มีอำนาจต่อรองสู้ มันก็ไม่คุ้มใช่ไหมละ
  2. Change.org

กฏหมาย Class action ช่วยในเรื่องอำนาจต่อรองที่ไม่เท่าเทียมกัน (power imbalance) และช่วยทั้งผู้บริโภคถูกเอารัดเอาเปรียบและผู้ประกอบการทำให้รู้หน้าที่ว่าเราเอาเปรียบผู้บริโภคไม่ได้แล้วนะ เพราะผู้บริโภคมีอำนาจต่อรอง

เราชอบประโยคที่คุณพีทพูดทิ้งท้ายไว้ว่า “ผมไม่อยากให้มีการฟ้องร้องกันหรอกครับ เพราะถ้ามีการฟ้องร้องการสังคมนั้นไม่สงบสุข สังคมนั้นมันมีแต่ความวุ่นวาย เพราะฉะนั้นการไม่ฟ้องร้องกัน ดีที่สุดครับ

คนที่ 8 คุณพงษ์ ไชยพงศ์ ลาภเลี้ยงตระกูล มาพูดทอล์คที่มีชื่อว่า เทคโนโลยีแล้วไปไหน

คุณพงษ์ เล่าให้ฟังว่า สมัยที่เขาเรียนมหาวิทยาลัย วันหนึ่งเขาไปกินข้าวร้านอาหารแห่งหนึ่ง แล้วจู่ๆก็มีเหตุการณ์แก๊สเกิดประกายไฟ ทุกคนที่อยู่ร้านอาหารต่างมองดูแล้วก็กลัวไม่ยอมทำอะไรเลย ดังนั้นคุณพงษ์อาสาเข้าไปปิดวาล์วแก๊ส แล้วทุกอย่างก็จบลงด้วยดี เหตุการณ์นี้บอกอะไรเราได้บ้าง บอกได้ถึงกลุ่มคน 4 ประเภท

คนเรามี 4 ประเภท

  1. ยืนดูเฉยๆไม่ทำอะไรสักอย่าง
  2. ยืนดูเฉยๆแล้วก็บ่น
  3. คนที่ลงมือทำ
  4. คนที่สนับสนุนคนลงมือทำ

ข้อคิดที่ดีได้จากเรื่องนี้ คือ

  1. คุณไม่ควรบ่นกับปัญหาที่มันเกิดขึ้น เพราะถ้าคุณบ่นโลกไม่เปลี่ยน ประเทศไม่เปลี่ยน แต่คุณควรเริ่มเปลี่ยนที่ข้างในตัวคุณก่อนค่ะ เพราะถ้าโลกข้างในเปลี่ยน โลกข้างนอกก็จะเปลี่ยนตามค่ะ
  2. การลงมือทำอะไรสักอย่างมันต้องใช้เวลา ค่อยๆไปทีละก้าวอย่างมั่นคง ก็เหมือนกับเรื่องการก้าวเดินไปปิดวาล์วแก๊สของคุณพงษ์ค่ะ

คนที่ 9 คุณดวง ดวงเด่น นุเรมรัมย์ เชิดชู ข้าราชการ นักประชาสัมพันธ์ สำนักปลัดนายกรัฐมนตรี ผู้ที่จะมาเล่าเรื่องประสบการณ์ที่ทำให้คุณต้องคิดและหันมาใส่ใจกับคนในครอบครัวให้มากกว่านี้

คุณดวงเป็นข้าราชการ เธอแต่งงานแล้วก็มีลูก คุณพ่อของเธออาสามาดูแลเลี้ยงหลานไปกลับทุกวัน ทำให้ตัดสินใจเธอกลับไปสร้างบ้านหลังใหม่อันแสนอบอุ่นเพื่อที่จะได้อยู่กันพร้อมหน้าพร้อมตากับครอบครัวอีกครั้ง คุณพ่ออาสาที่อยู่บ้านหลังนั้น เธอภาวนาว่า ขออย่าให้มีคนงานเสียชีวิตจากการสร้างบ้านครั้งนี้ แล้วคำขอของเธอก็เป็นจริง ไม่มีใครเสียชีวิตจากการสร้างบ้านหลังนี้ แต่คนในครอบครัวของเธอกับต้องเสียชีวิตจากเหตุการณ์ในครั้งนี้ นั่นคือ คุณพ่อของเธอ เพราะโดนแรงงานต่างด้าวฆ่าจนเสียชีวิต

เธอได้แจ้งตำรวจแล้วตำรวจก็มาสืบหาเบาะแส การตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดของเทศบาลปรากฏว่าเสียทุกตัว แต่ว่าพอไปตรวจสอบจากกล้องวงจรปิดของเพื่อนบ้านก็พบว่า แรงงานต่างด้าวคนเป็นคนฆ่าโดนใช้ก้อนหินกดไปที่คอของคุณพ่อจนหลอดลมแตก และแรงงานต่างด้าวคนนั้นก็หนีไปอย่างลอยนวล เพราะเขาเข้าในประเทศอย่างถูกต้องตามกฏหมายและมีใบอนุญาต ซึ่งถ้าตามกฏหมายไทย ในกรณีนี้จะไม่มีการส่งผู้ร้ายข้ามแดนมาที่ไทย หรือต่อให้มีการจับผู้ร้ายได้การดำเนินคดีเราก็ไม่สามารถรู้ได้เลยว่า กระบวนการไปถึงไหนแล้ว เราไม่สามารถให้เขากลับมาดำเนินคดีที่ไทยได้เลย

เรื่องราวของคุณดวงเป็นอุทาหรณ์สอนใจให้กับคุณฟังที่อยู่ในงานและทางบ้านได้เป็นอย่างดี ข้อคิดของคุณดวงที่พูดปิดท้ายเรื่องได้ดี “ในทุกๆวันของชีวิตยังมีค่า ถ้าคุณยังมีพ่อมีแม่ มีครอบครัวอยู่ เมื่อคุณแสวงหาความสำเร็จในชีวิตแล้ว อย่าลืมกลับไปดูแลพวกท่าน แล้วคุณจะไม่เสียดายเวลาในชีวิต”

คนที่ 10 คุณกันยพรรษ เสนีวงค์ ณ อยุธยา

เรื่องราวของคุณพรรษ นับว่าเป็นเรื่องใหญ่ที่เข้ามาในชีวิตของผู้หญิงตัวเล็กๆคนนี้ เรื่องราวของการจากไปของคุณพ่อ หรือ เรื่องแฟนหนุ่มของเธอที่ประสบอุบัติเหตุทางรถยนต์ จากที่ได้ฟังทอล์คนี้แล้ว ยอมรับว่าคุณพรรษเข้มแข็งและกำลังใจดีมาก

เราขอเล่าเรื่องราวแบบสรุปจากที่คุณพรรษพูดไว้ในงานละกันค่ะ วันหนึ่งคุณพรรษกับแฟนออกไปทำธุระข้างนอก ระหว่างที่แฟนคุณพรรษ ก็คือหมอก้องขับรถอยู่นั้นเอง ปรากฏว่ามีรถมาจากไหนก็ไม่รู้พุ่งชนเกาะกลางถนนมาแล้วชนรถของคุณพรรษ หลังจากที่โดนชนแล้วคุณพรรษไม่เป็นอะไรเลย แต่ทว่า หมอก้อง บาดเจ็บสาหัส ตัวคุณพรรษเองมีสติ เธอแจ้งตำรวจ โทรเรียกรถโรงพยาบาลให้มารับหมอก้องเพื่อพาไปรักษา

หมอก้องแฟนของคุณพรรษ อาการสาหัสพอสมควร เธอเองดูแลหมอก้องเป็นอย่างดีจนทุกวันนี้หมอก้องก็เริ่มกลับเป็นปกติ นี่สิถึงจะเรียกว่า ร่วมทุกข์ร่วมสุขกันอย่างแท้จริง

คุณพรรษกล่าวทิ้งท้ายด้วยประโยคนึงว่า “ทุกสิ่งทุกอย่างเกิดขึ้นได้อย่างกะทันหัน อยู่กับปัจจุบันแล้วทำให้ดีที่สุดค่ะ”

และแล้วมาถึงคนที่ 11 คนสุดท้ายของงานนี้แล้ว คือ คุณชวัฏ ตั้งบุญธินา

คุณก้อ เขามาเล่าถึงเรื่องผีพูดเปรียบเทียบกับความกลัวในสิ่งที่ยังไม่เกิดขึ้น พูดได้ดีต้องขอชมจากใจจริง เล่นทำเอาลุ้นไปตามกันว่าจะโดนผีอำ หรือ แค่คิดไปเองกันแน่

ข้อคิดที่ได้จากเรื่องผีอำของคุณก้อ

  1. อย่ากลัวในสิ่งที่มันยังไม่เกิดขึ้น อย่าเพิ่งไปคิดเอง
  2. ไม่มีใครที่รู้เรื่องดีไปกว่าตัวเราเอง
  3. คนที่ทำนายและกำหนดอนาคตของชีวิตได้ ก็ไม่ใช่คนอื่นเลย ตัวเราเองนี่แหละ

11 เรื่องราวจากบุคคลทั้ง 11 ท่าน ที่จะมาเติมเชื้อไฟที่กำลังมอด ให้บันดาลใจ เพื่อที่จะได้ใช้ชีวิตต่อไปอย่างมีความสุขค่ะ

ขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่มาอ่านกันค่ะ

--

--