RentSpree, the Board Game

ทำงานจนอินกับ Product เวลาพักเลยเอา Product มาทำบอร์ดเกม — Product Designer of RentSpree

Poom Pairothpongpun
LifeatRentSpree
4 min readMar 30, 2021

--

Game of Thrones, the Board Game (Wallpaper) — by Caveman

ในช่วงต้นปี 2021 ที่ผ่านมา ผมได้มีโอกาสคิดและลงมือทำในสิ่งที่ผมอยากทำให้สำเร็จมากๆ อย่างหนึ่ง นั่นก็คือการออกแบบและสร้างบอร์ดเกมขึ้นมาด้วยตัวเองตั้งแต่ต้นจนจบ ซึ่งอันนี้ต้องขอขอบคุณกิจกรรมดีๆ จาก RentSpree ที่มีมาอย่างยาวนานตั้งแต่เริ่มก่อตั้งแรกๆ และจนถึงทุกวันนี้ก็ยังเป็นจุดเด่นและเป็นที่นิยมมากๆ ในหมู่พวกเราชาว RentSpree ซึ่งก็คือ SpreeDay นั่นเอง

SpreeDay — มหกรรมงานราษฎร์แห่ง RentSpree

SpreeDay at RentSpree

SpreeDay จะจัดขึ้นในวันทำงานวันสุดท้ายของสัปดาห์ หลังจากที่เราทำการสรุปงานและปิด Sprint ไปเรียบร้อยแล้ว วันนี้ทั้งวันจะเป็นวันที่พวกเราทุกคนจะรวมตัวกันทำ Project อะไรก็ได้ที่นอกเหนือจากงานหลัก เพื่อจุดประสงค์คือเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อการทำงานในอนาคต ไม่ว่าจะเป็นการสร้าง Application โดยใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ ทดลองวิธีการทำงานแบบใหม่ หรือ การทำความรู้จักกับ Product หรือ Industry ที่เกี่ยวข้องกับ Product ของเราให้มากขึ้น โดยที่ในวันนี้ทุกคนสามารถทุ่มเททำ Project เหล่านี้ได้อย่างเต็มที่ ไม่ต้องกังวลเรื่องงานหลักแต่อย่างใด (อาจจะมีงาน Support ด่วนๆ เข้ามาบ้างประปราย 555)

Project Persona Boardgame

ก่อนอื่นผมขอย้อนเวลากลับไปในปี 2020 ซักนิด ว่าตอนนั้นทีม Product Designer ของ RentSpree ได้สุมหัวกันสร้าง User Persona ออกมาได้ทั้งหมด 11 Persona เพื่อนำมาเป็นต้นแบบของ User ในการออกแบบ Product ตามหลักการ Product Design ทั่วไป

Persona 5 (Wallpaper) — by Atlus

— “เฮ้ย! นี่มันคนละ Persona! ผ่าม!”

หลังจากนั้น ในช่วงปลายปี 2020 ก็เป็นช่วงที่ทีมเราเริ่ม communicate Persona เหล่านี้ให้กับสมาชิกคนอื่นๆ ในทีมพอดี จึงเกิดเป็นไอเดียว่าเราจะลองสร้างบอร์ดเกมที่เกี่ยวข้องกับ Persona ขึ้นมา เพื่อให้คนเล่นเรียนรู้เกี่ยวกับ Persona ที่พวกเราสร้างกันขึ้นมาและจำ Characteristic ของแต่ละ Persona ได้เร็วขึ้นจากการเล่นบอร์ดเกม ไอเดียนี้กลายเป็นที่ฮือฮาใน SpreeDay ครั้งนั้นเป็นอย่างมาก ผมเป็นคนนึงที่ส่วนตัวค่อนข้างอินกับเรื่อง Game Design อยู่แล้ว จึงรีบเสนอตัวเข้าร่วม Project นี้ทันที

ในบรรดาผู้ที่สนใจและเสนอตัวเข้าร่วมงานนี้ ซึ่งก็เป็นไปตามคาด ว่าเป็น Product Designer เกือบทั้งหมด (แต่ผมก็ดีใจมากที่มี Engineer บางคนที่ใจกล้าและมี Passion เข้าร่วม Project นี้ด้วย) เราตกลงกันในทีมว่าบอร์ดเกมที่จะทำออกมาจะเป็นเกมแบบไหนก็ได้ แต่ขอให้เล่นแล้วสามารถจำและเข้าใจลักษณะของ Persona ต่างๆ ให้ได้เร็วและแม่นยำที่สุด พวกเราจับคู่กันเป็นทีมเล็กๆ หลายๆ ทีม เพื่อแยกย้ายกันไปคิดไอเดียบอร์ดเกมของตนเอง ผมโชคดีมากที่ได้จับคู่กับน้อง Product Designer คนนึงที่มีความสามารถในการทำ User Research ที่เฉียบขาดหาผู้เปรียบมิได้ และเป็นตัวตั้งตัวตีในการร่าง Persona ของ RentSpree มาตั้งแต่แรกๆ บอร์ดเกมที่ทีมของผมนำเสนอในครั้งนี้จะเป็นแนว RPG (Role-playing game) เพราะผมคิดว่าไม่มีอะไรจะทำให้เราจดจำตัวตน หรือลักษณะของตัวละครหนึ่งๆ ได้ดีไปกว่าการเล่นเป็นตัวละครนั้นๆ ด้วยตัวเอง

Game Design แบบบ้านๆ

ถึงแม้ว่าผมจะค่อนข้างชอบ Game Design มากๆ แต่ขอยอมรับตามตรงว่ายังไม่ได้มีโอกาสศึกษาในเรื่องนี้อย่างลึกซึ้งซักที แต่ด้วยความที่ผมชอบเล่นบอร์ดเกมและศึกษาบอร์ดเกมมาหลากหลายรูปแบบ มันทำให้ผมพอจะจับ Pattern บางอย่างในการออกแบบบอร์ดเกมได้ ว่าทำอย่างไรให้เข้าใจง่าย เล่นแล้วไม่เบื่อ และอยากกลับมาเล่นซ้ำอีกเรื่อยๆ จากตรงนี้ไปผมขอใช้พื้นที่ในการ share ประสบการณ์การออกแบบบอร์ดเกมแบบบ้านๆ ใน style ของผมครับ

Persona Cards — 11 Persona of RentSpree

เกมที่ผมจะสร้าง ผู้เล่นจะได้รับบทเป็นหนึ่งใน 11 Persona ของ RentSpree ซึ่งก็เป็นผู้ที่มีบทบาทในวงการ Real Estate Rental Process หรือการเช่าอสังหาฯ ซึ่งก็จะมีคนที่เป็นเจ้าของบ้าน (LandLords) ผู้จัดการบ้าน (Property Managers หรือ PM) และตัวแทนหรือนายหน้า (Agents, Brokers) โดยหน้าที่ทั้ง 3 ที่กล่าวมานี้ก็จะแบ่งย่อยลงไปอีกตามประสบการณ์ในวงการ ความชำนาญ และตามเส้นสายหรือ connection ที่เป็นจุดเด่นของแต่ละคน จนกลายเป็น 11 Persona ที่แตกต่างกัน โดยที่ผมจะจำลองสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในการทำงานของพวกเค้าในระยะเวลา 1 ปี ย่อลงมาเป็นบอร์ดเกมที่เล่นจบได้ภายใน 1 ชั่วโมง และสร้างสภาวะการแข่งขันและการร่วมมือกันที่เหมือนกับการทำงานจริงของพวกเขา โดยต้องอาศัยจุดเด่นที่แตกต่างกันของแต่ละ Persona ให้เป็นประโยชน์สูงสุด เพื่อที่จะชนะเกมนี้ให้ได้นั่นเอง

Step 1: Victory Points

Image Credit: ShutterStock.com

ถ้าพูดถึงเป้าหมายของการเล่นเกม ผมเชื่อว่ามันคือการเอาชนะเกม หรือไม่ก็ชนะผู้เล่นฝั่งตรงข้าม ขึ้นอยู่กับประเภทของเกมที่เราเล่น หัวใจของความสนุกในการเล่นเกมก็อยู่ในระหว่างกระบวนการที่ผู้เล่นพยายามใช้ความสามารถ และกลยุทธ์ต่างๆ เพื่อที่จะทำให้ชนะนี่แหละ เงื่อนไขของการชนะเกม (Win Condition) ของแต่ละเกมนั้นออกแบบมาแตกต่างกัน ยกตัวอย่างเช่น Chess หรือหมากรุกสากล Win Condition ก็คือการที่เรารุกฆาต King ฝั่งตรงข้ามได้, Monopoly หรือเกมเศรษฐี Win Condition ก็คือการที่เราเป็นผู้เล่นคนเดียวที่ยังไม่ล้มละลายในเกม เป็นต้น

มีเงื่อนไขหนึ่งที่เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก และเชื่อว่าทุกคนก็คงจะคุ้นเคยกันดีก็คือการใช้ Victory Point (VP) หรือเรียกเป็นภาษาบ้านๆ ก็คือแต้ม หรือคะแนนนั่นเอง โดยเกมส่วนมากก็จะตั้ง Win Condition ว่า ตอนจบเกมใครได้แต้มมากที่สุดก็จะชนะ ในการออกแบบเกมลักษณะนี้ Victory Point จึงเป็นสิ่งแรกที่คนออกแบบเกมต้องคิด และต้องคิดให้ดีเป็นพิเศษด้วย เพราะว่าเกมของเราจะสนุกได้หรือไม่นั้น ก็ขึ้นอยู่กับตรงนี้เลย เกมที่ใช้ VP เป็น Win Condition ตัวอย่างเช่น

Catan (ชื่อเต็มๆ คือ Settlers of Catan เป็นบอร์ดเกมที่เก่าแก่และเป็นที่นิยมมากๆ ) — VP ก็คือจำนวนบ้านและเมืองที่ผู้เล่นสร้าง
Scrabble (หรือ Crossword ที่เรารู้จักกัน) — VP ก็คือคะแนนที่กำกับอยู่บนตัวอักษร
Soccer (หรือกีฬาฟุตบอล)— VP ก็คือจำนวนประตูที่ผู้เล่นในทีมยิงได้

Settlers of Catan — by The Spruce / Margot Cavin​

กลับมาที่เกมของเรา ถ้าพูดถึงการเช่าบ้าน ซึ่งจะเป็นเนื้อเรื่องหลักในเกมของผมนั้น VP มันก็จะต้องเป็นจำนวนการเช่าบ้าน หรือพูดให้ชัดเจนก็คือจำนวนการจับคู่บ้าน (Property) และผู้เช่า (Renter) ที่เข้ากันได้นั่นเอง ในชีวิตจริงแล้วคนที่เรียกได้ว่าเก่งกาจในสายอาชีพนี้ ก็คือคนที่สามารถหาบ้านดีๆ และผู้เช่าดีๆ ไว้ได้มากๆ และสามารถจับคู่ทั้งสองสิ่งนี้ได้อย่างลงตัว ดังนั้นยิ่งผู้เล่นคนไหนสามารถจับคู่ได้ลงตัวและเหมาะสมกว่า ก็จะได้ VP ที่มากกว่า และกลายเป็นผู้ชนะของเกมนี้ในที่สุด

Step 2: Road to Victory

Scrabble Bricks — by Magnus Binnerstam

หลังจากได้ Victory Point แล้ว สิ่งที่ต้องคิดต่อไปก็คือเส้นทางเพื่อไปสู่ชัยชนะ (Road to Victory) พูดง่ายๆ ก็คือเงื่อนไขของการได้มาซึ่ง VP ของเกมนั้นๆ ขอยกตัวอย่างจากสามเกมสุดคลาสสิกก่อนหน้านี้

Catan —เงื่อนไขของการสร้างบ้านหรือเมือง ก็คือผู้เล่นจะต้องมีพื้นที่ที่มีถนนเข้าถึง และมีทรัพยากรเพียงพอในการสร้าง
Scrabble — เงื่อนไขของการได้คะแนนจากตัวอักษร ก็คือตัวอักษรเหล่านั้นจะต้องถูกวางเรียงกันบนกระดานเป็นคำที่มีความหมาย
Soccer — เงื่อนไขของการได้ประตู ก็คือการที่ลูกฟุตบอลเข้าไปอยู่ภายในขอบเขตของประตูฝั่งตรงข้ามนั่นเอง

มาต่อที่เกมของเรา มีอะไรบ้างที่เป็นเงื่อนไขของการจับคู่บ้านกับผู้เช่าที่ลงตัว ในการเช่าบ้านจริงๆ นั้น เจ้าของบ้านหรือตัวแทนจะต้องศึกษาข้อมูลของผู้เช่าเป็นสิบอย่างเพื่อดูว่าคนๆ นั้นเหมาะสมในการเช่าบ้านนี้จริงๆ หรือไม่ ตัวอย่างเช่น อาชีพ รายได้ การหมุนเงินที่ผ่านมา ประวัติอาชญากรรม ประวัติการเช่าบ้านครั้งก่อนหน้านี้ รวมถึงความต้องการของผู้เช่าเอง และอีกมากมาย แต่ในการออกแบบเกมที่เล่นจบได้ภายในหนึ่งชั่วโมงนั้น ผมจะต้องเลือกเงื่อนไขที่โดดเด่นและวัดผลได้อย่างชัดเจนมาแค่ไม่กี่เงื่อนไขเท่านั้น เพื่อไม่ให้เกมเข้าใจยากจนเกินไป และสามารถเรียนรู้ได้อย่างรวดเร็ว แม้จะเป็นคนที่ไม่คุ้นเคยกับอุตสาหกรรมนี้ก็ตาม

2.1 Property Type

ผมเลือกเงื่อนไขมาสองอย่างนั่นก็คือ ข้อหนึ่ง ผู้เช่าต้องการเช่าบ้านแบบไหน ถ้าคิดในมุมมองของผู้เช่า สิ่งที่ผมคิดออกเป็นอย่างแรกเลยก็คือผมอยากอยู่บ้านแบบไหนล่ะ ในวงการอสังหาฯ นั้นแบ่งประเภทของบ้าน (Property Type) ออกเป็นหลายแบบ แต่ที่คุ้นๆ หูพวกเราก็คงหนีไม่พ้น บ้านเดี่ยว (Single-family home) ทาวน์เฮาส์ (Townhouse) คอนโด (Condominuim) และบ้านสำหรับสองครอบครัว (Duplex) ผมจึงหยิบเอาประเภทของบ้านทั้ง 4 นี้มาใช้เป็นคุณสมบัติ (Attribute) ของตัวบ้าน ส่วนในฝั่งผู้เช่า ก็จะต้องมีความพึงพอใจในประเภทของบ้าน (Property Type Preference) ซึ่งการที่จะจับคู่กันได้ก็จะต้องมีความต้องการที่ตรงกัน ผมจึงยกเงื่อนไขนี้ให้เป็นหนึ่งใน Road to Victory ของเกม

2.2 Credit Score

ถึงแม้ว่า Preference กับ Property Type จะตรงกันก็ตาม แต่สิ่งหนึ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ (และเป็นความจริงที่โหดร้ายของหลายๆ คน) ก็คือประวัติของผู้เช่าเอง ว่าดีพอที่จะถูกเลือกโดยเจ้าของบ้านหรือไม่ เพราะบ้านเช่าดีๆ หนึ่งหลังไม่ได้มีแค่คุณคนเดียวที่ต้องการมัน มีการแข่งขันเกิดขึ้นอยู่เสมอ เพราะฉะนั้นระบบจึงออกแบบตัวแปรที่ทำให้การคัดเลือกนี้ง่ายขึ้น ในสหรัฐอเมริกา ตัวแปรนี้เรียกว่า Credit Score

Credit Scores Factors — by Simon Zhen

Credit Score คืออะไร? อธิบายให้ง่ายที่สุดก็คือ การนำประวัติเกี่ยวกับบัญชีและการหมุนเงินของคุณมายำรวมกันและคำนวนผ่านสูตรบางอย่างออกมาเป็นตัวเลขซึ่งบ่งบอกถึงสภาพทางการเงินของคุณนั่นเอง ซึ่งระบบนี้เป็นที่นิยมในบรรดาเจ้าของบ้าน และเป็นมาตรฐานของการเลือกคนเช่าบ้านในสหรัฐอเมริกาอยู่แล้ว การที่จะได้มาซึ่งตัวเลขนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการเฟ้นหาผู้อยู่อาศัย หรือเรียกกันเท่ๆ ว่า Tenant Screening

Tie-in: RentSpree เริ่มเป็นที่รู้จักจากการที่เราเป็น platform ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยช่วยในการทำ Tenant Screeningให้ง่ายขึ้นและรวดเร็วขึ้นนั่นเอง

Tenant Screening Illustration — by RentSpree

ผมจึงตัดสินใจนำสิ่งนี้มาเป็นเงื่อนไขอีกข้อ ว่านอกจากผู้เช่าจะมี Property Type Preference ตรงกันกับบ้านแล้ว ยังต้องมี Credit Score ที่มากพอกับที่เจ้าของบ้านพอใจด้วย ดังนั้นบ้านที่ดี ก็จะต้องการ Credit Score ที่สูงขึ้น ทำให้การหาผู้เช่าที่เหมาะสมนั้นยากขึ้น แต่ก็แลกมาด้วย Victory Point ที่มากขึ้นไปด้วยตามลำดับ และนี่ก็เป็น Road to Victory ข้อที่สอง

What’s Next?

ตอนนี้เราได้เงื่อนไขของการคว้าชัยชนะในเกมมาแล้ว แต่การออกแบบบอร์ดเกมแบบบ้านๆ ของผมเพิ่งจะเริ่มต้นขึ้นเท่านั้น ยังมีอีกหลายอย่างที่ต้องคิดต้องทำ กว่าจะออกมาเป็นบอร์ดเกมที่เป็นรูปเป็นร่างและเอามาเล่นจริงได้ ผมจะมาอัพเดทขั้นตอนต่อๆ ไปในการสร้างบอร์ดเกมของผมให้ทุกคนได้ติดตามไปพร้อมๆกัน แล้วพบกันใน Part ต่อไปของ RentSpree, the Board Game สำหรับตอนนี้ พัก.. ซัก.. ครู่.. ครับ!

--

--