คนละเรื่องเดียวกัน#2: Micro-Climateยิ่งหลากหลาย ยิ่งต้องโฟกัส

R.Phot
Discovery
Published in
2 min readApr 13, 2019

Micro-Climate หรือภูมิอากาศขนาดย่อม อาจะฟังไม่ค่อยเข้าหูเท่าไหร่นัก เป็นคำที่เอาไว้เรียกภูมิอากาศ ณ พื้นที่หนึ่งๆ ที่มีความจำเพาะ ไม่สามารถระบุพื้นที่หรือขอบเขตได้ชัดเจน แต่แน่นอนว่าเป็นพื้นที่ไม่ใหญ่ (วนๆแฮะ)

อธิบายให้ชัดแบบงงๆ เพิ่มขึ้นอีกนิด ไมโครไคลเมต นี้เป็นคำกลางๆเหมือนคำว่า Drawing หรือวาดรูปนั่นแหละครับ เป็นคำกลางๆแล้วต่อด้วย “บริบท” ว่าทำอะไร เช่นวาดภาพธรรมชาติ วาดภาพเหมือน วาดภาพนามธรรม วาดภาพทางวิทยาศาสตร์ฯลฯ

ไมโครไคลเมตเองก็เช่นกันครับ หมายถึง ภูมิอากาศในพื้นที่หนึ่งๆที่จำเพาะตามแต่ “บริบท”ที่เราสนใจ ตัวอย่างเช่น

  • Micro-Climate ในโรงเรือน เพื่อการเพาะปลูกที่มีประสิทธิภาพ
  • Micro-Climate ในห้องเรียนเพื่อ ปรับปรุงสภาพแวดล้อมที่ดี
  • Micro-Cliamte เพื่อประเมินการใช้พลังงานในอาคารช่วงฤดูร้อน
  • Micro-Climate รอบดอกทุเรียนเพื่อประเมินคุณบัติการติดผล
  • Micro-Climate ฯลฯ

จะเห็นได้ว่ามีบริบทมากกมายหลากหลาย การจะเก็บข้อมูล Micro-Climate จึงจำเป็นต้องจำกัดขอบเขต และตั้ง “วัตถุประสงค์” ให้ชัดเจนทั้งยังต้องเข้าใจใน “บริบท” ของการเก็บข้อมูลนั้นอย่างท่องแท้อีกด้วย

ตัวอย่างเช่น การตรวจวัด Micro-Climate ในพื้นที่เพาะปลูก “เพื่อดูว่าการให้น้ำมีผลต่อความชื้นในอากาศอย่างไร” แน่นอนว่าการติดตั้งต้องคำนึงถึงผังพื้นที่ที่เหมือนๆกัน และการวางระยะห่างจากการจุดให้น้ำต้องเท่ากัน เพราะมิฉะนั้น การตรวจวัดที่อยู่ใกล้จุดปล่อยน้ำ หรืออยู่ใกล้แหล่งน้ำมากกว่า ความชื้นมีมาก จะให้ข้อมูล Micro-Climate ว่าพื้นที่เพาะปลูกมีความชื้นมาก อาจนำไปสู่การตัดสินใจว่าไม่ให้น้ำ ทั้งๆที่สภาพจริงอาจแห้งกว่าที่ข้อมูลบอก

หรือการตรวจ “Micro-Climate ที่มีผลต่อฝุ่นละอองภายในบ้าน” การติดตั้งอุปกรณ์ยังต้องเน้นลงไปให้ลึกกว่านั้นอีกสักนิดว่า ต้องการทราบฝุ่นละอองในห้องใด เพราะบ้านหนึ่งหลังจะมีการกั้นห้อง แยกมุมกัน(ยกเว้นหอพักห้องเดียวนะครับอันนั้นง่ายหน่อย) และมีทิศทางการถ่ายเทอากาศภายในบ้านที่แตกต่างกัน นอกจากนี้เมื่อทำการตรวจวัดค่าฝุ่นแล้วพบว่ามีฝุ่นอยู่ปริมาณหนึ่ง ในช่วงเวลาหนึ่งๆ ก็อาจนำไปสู่การปรับปรุงดูแลบ้านได้

ต่อเนื่องกันหากต้องการปรับสภาพอากาศนอกบ้านให้มีอุณหภมูิเย็นลง เพื่อประหยัดพลังงานภายในบ้าน การตรวจวัด Micro-Climate ก็ควรติดตั้งทั้งภายในและภายนอกบ้าน เทียบกับการปรับปรุงภูมิทัศน์ เช่น ปลูกต้นไม้ทรงสูง เพิ่มพืชพรางแสง พ่นฝอยละอองน้ำระหว่างวัน ทำน้ำพุเล็กๆ ฯลฯ

เหล่านี้คือ “บริบท” ที่เราต้องโฟกัส ให้ความสำคัญกับการศึกษาเข้าใจ และปรับใช้มากที่สุด เนื่องด้วยทุกวันนี้เทคโนโลยีกำลังพัฒนาไปอย่างรวดเร็ว มีอุปกรณ์ทันสมัย สมาร์ทๆ ออกมาวางขายเต็มไปหมด และมีทีท่าว่าจะราคาถูกลง ให้เราได้เข้าถึงและเอามาลองเล่นลองใช้กันได้ และนั่นเองที่ทำให้ทุกวันนี้มีแต่คำว่า “สมาร์ท” เต็มไปหมด บ้างถึงขั้นแค่มีอุปกรณ์ไว้กับตัวก็บอกว่าสมาร์ทแล้ว

หากเราวัดความร้อนก็ต้องคำนึงถึงสิ่งที่ก่อความร้อน หากเราวัดเรื่องความชื้นเราต้องคำนึงถึงแหล่งก่อความชื้นและการวัด Micro-Climate ในพื้นที่เพาะปลูก ก็ไม่ได้เพียงการติดตั้งทั่วๆไปต้องศึกษาเรื่องการเพาะปลูกให้ลึกซึ้ง และหลายๆคนที่กำลังจะเริ่มหันมาสนใจการใช้อุปกรณ์เหล่านี้แล้วออกตัวว่าจะใช้เป็นเครื่องมือช่วยการเกษตร แต่ยังไม่เข้าใจถึงบริบทของการเกษตร ก็อาจไไปไม่ถึงเป้าหมายที่ตั้งใจ

เรื่องนี้ผมได้เล่าไปแล้วใน เมื่อสิ่งของคุยกันเอง นอกจากการจะตั้งคำถามกับตัวเองก่อนว่าทำไปเพื่ออะไรก่อนจะหาอุปกรณ์เหล่านี้มาใช้ ยังต้องทำความเข้าใจบริบทอันเป็นหัวใจสำคัญของทุกเรื่องอีกด้วย เมื่อต้องการตรวจัดMicro-Climate เรื่องใดก็ต้องศึกษาบริบทเรื่องนั้น ว่าสภาพอากาศกับเรื่องที่ศึกษามีความสัมพันธ์กันอย่างไร และเมื่อทำการตรวจวัด เราจะได้ข้อมูลที่ตรงตามจุดประสงค์ของเราหรือไม่

ในโลกที่มีตัวเลือกมากมายจนกลายเป็นปัญหาพื้นฐานเหมือน “เย็นนี้กินอะไรดี” งานที่เพิ่มขึ้น เทคโนโลยีที่เพิ่มขึ้น ปัญหาที่ลึกและแปลกใหม่มากขึ้น “การโฟกัส” กับตัวเองให้ชัดเจน ก็ยังคงเป็นคำตอบอมตะ ที่จะตอบทุกคำถามและพาเราไปยังจุดหมายที่ตั้งใจได้เสมอ…

--

--

R.Phot
Discovery

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way