คนละเรื่องเดียวกัน#3 : เอาไม้บรรทัดไปวัดลูกบอล

R.Phot
Discovery
Published in
2 min readMay 7, 2019

หากใครมีโอกาสลองเอาไม้บรรทัดไปวัดความกว้างความยาวของลูกบอลทรงกลม คงจะพบคำตอบเดียวกันคือ “ใช้เครื่องมือผิดประภท”

นอกจากเรื่องการใช้เครื่องมือที่ผิดพลาดแล้ว ยังมีเครื่องของการใช้งานที่ผิดบริบทเช่นเดียวกัน ตลอดหลายปีที่ทำงานด้านสภาพอากาศมีคำถามหนึ่งติดอยู่ในสมองนั่นคือ “การประเมินปริมาณน้ำฝน” ของไทยเราใช้เครื่องมืออะไรในการบอกได้ตัวเลขชัดเจนขนาดนั้น

รายงานประจำปีมักจะบอกว่าจังหวัดนี้มีฝนตกเฉลี่ย xx มิลลิเมตร คำถามคือตัวเลขนี้ได้มาจากไหน เมื่อศึกษาลงไปเราพบว่าแต่ละจังหวัดมีสถานีตรวจวัดน้ำฝนทั้งที่แบบอัตโนมัติและอัตโนมือ

แบบอัตโนมือมีลักษณะเป็นอ่างน้ำที่มีขีดบอกระดับ จะทำการเก็บระดับน้ำหน่วยเป็นมิลลิเมตรทุก 6 ชั่วโมง เมื่อจดบันทึกค่าเสร็จแล้วจะต้องเทน้ำออกจากอ่างหรือกระบอกให้หมด ก่อนติดตั้งเข้าที่เดิม จากกระบวนการทำงานนี้เกิดคำถามว่า หากฝนตกแล้วหยุดในครึ่งชั่วโมง จากนั้นมีแดดแรงตลอด 5 ชั่วโมง ปริมาณน้ำในอ่างหรือกระบอกย่อมระเหยออกมา ในส่วนนี้จะมีค่าการคิดคำนวณอย่างไร หรือหากนำค่าอุณหภูมิมาคำนวณอัตราการระเหยของน้ำ เราจะสามารถเห็นข้อมูลนี้ได้ที่ไหน หากมีการคำนวณ(จริง)?

ประสบการณ์ตรงจากหนึ่งในทีมงานของพวกเราที่ได้สอบถามผู้ปฏิบัติงานนี้บอกเล่าว่าหลายๆครั้งที่เก็บข้อมูลไม่ตรงตามเวลา หลายครั้งที่ไม่ได้เทน้ำทิ้งออกจากอ่างหรือกระบอก จำต้อง “กะ” ตัวเลขแล้วส่งเข้าส่วนกลาง และหลายๆครั้งที่ไม่ได้ให้ผู้ที่อ่านเครื่องมือเป็นไปเก็บข้อมูล ซึ่งความผิดพลาดของคน(Human Error) นี้ก็อาจเป็นเหตุให้การแปลความข้อมูลผิดพลาดในระยะยาวได้

ระบบอัตโนมัติมีลักษณะเป็นกระบอกมีกลไกการทำงานเป็นกาลักน้ำอยู่ด้านใน เมื่อน้ำไหลลงในกรวย น้ำจะถูกรวมให้ไหลลงตัวกระดก เมื่อน้ำเต็มตัวกระดกน้ำหนักของน้ำจะทำให้เกิดการเทน้ำออกจากกระบอกตรวจวัด การกระดกเทน้ำทิ้งหนึ่งครั้งจะมีวงจรทางไฟฟ้านับครั้ง แล้วคูณกับปริมาตรการรับน้ำของตัวกระดก เหมือนกับการนับน้ำ 1 แก้ว เททิ้งไปกี่แล้วก็เท่ากับรับน้ำมาทั้งหมดเท่านั้น

ทีนี้มาดูการตกของฝนกันบ้าง ขอดึงเอาประสบการณ์ทั่วๆไปของผู้อ่านทุกท่าน ผมเชื่อว่าจะต้องเคยเห็นการตกของฝนในระยะไกล ลักษณะคือเราอยู่จุดหนึ่งที่มีทัศนวิสัยมองได้กว้างไกล มองเห็นกลุ่มเมฆดำทะมึน และมีม่านสีเทาฉาบลงมาถึงพื้น ด้วยขนาดและระยะทางที่แตกต่างกันออกไป

นั่นคือการตกของฝนที่เราเห็นได้ทั่วไป ทีนี้ลองกะขนาดดูครับว่าฝนที่ท่านเคยเห็นน่าจะมีเส้นผ่านศูนย์กลางสักกี่กิโลเมตร บ้างว่าตั้งแต่ไม่ถึงกิโลเมตรเพราะมีประสบการณ์การฝนตกหน้าบ้าน หลังบ้านไม่ตก บ้างว่ามีขนาดหลายกี่โลเมตรเพราะตกพร้อมกันทั่วทั้งกทม. เป็นต้น แต่ที่แน่ๆคือฝน ไม่ได้ตกพร้อมกันทั้งจังหวัด!!!

หลักใหญ่ใจความสำคัญของหัวข้อนี้คือ สถานีดังกล่าวทั้ง 2 ประเภทนี้มีเพียงจังหวัดละไม่กี่ตัวเท่านั้น และเมื่อเทียบพื้นที่จังหวัดหนึ่งๆเล็กที่สุดในไทยก็ 400 กว่าตารางกิโลเมตรแล้ว และที่สำคัญการตกของฝนหนึ่งครั้งไม่จำเป็นว่าจะมาตกใส่สถานีตรวจวัด

สถานีอัตโนมัติทั่วประเทศ

ลองเปรียบเทียบง่ายๆครับสมมติว่ามีสถานีตรวจน้ำฝนอยู่ติดกำแพงรั้วบ้านของคุณ ในวันฝนตกคุณกลับจากที่ทำงาน(ห่างกันไม่มาก)ซึ่งตอนกลับมีฝนถล่มหนักใส่ที่ทำงานและตกตลอดทางจนถึงบ้าน แต่พบว่าตัวบ้านของคุณเปียกเพียงเล็กน้อยและมีฝนตกปรอยๆ ต่อมาไม่นานก็มีรายงานสภาพอากาศว่าพื้นที่บ้านของเราฝนตกเล็กน้อย!!!

จึงเป็นที่มาของหัวข้อเราว่าหากจะเอาไม้บรรทัดไปวัดลูกบอล ก็คงผิดทั้งเครื่องมือ และผิดบริบทในตัวมันเอง อย่างประเทศไทยเรามีสถานีตรวจอากาศจำนวนมาก ทว่าการตรวจวัดในสภาพอากาศจริงก็จำต้องดูบริบทว่า ข้อมูลที่ออกมานั้นจะสื่อสารออกไปอย่างไร หรือจะทำอย่างไรให้ได้ข้อมูลที่เชื่อมต่อกันแล้วใช้งานได้อย่างถูกต้องตรงตามบริบทมากขึ้น

ทำให้เกิดความสงสัยต่อไปอีกว่า เมื่อพื้นที่มีขนาดใหญ่ขนาดนั้น ตัวสถานีก็มีอยู่น้อย หน่วยงานที่รับผิดชอบด้านนี้ก็ไม่ได้มีหน่วยย่อยหรือสถานีย่อยมากนัก แล้วข้อมูลว่า จังหวัดหนึ่งมีฝนตกเฉลี่ยได้อย่างไร??? มีเครือข่ายรายงานฝนทั่วทั้งจังหวัดหรือไม่??? และหากไม่มีแหล่งข้อมูลอื่นๆนอกเหนือจากที่เรารู้หรือหาข้อมูลได้ แล้วข้อมูลที่เราได้รับรายงานอยู่ทุกวันนี้ จะเชื่อถือได้มากน้อยแค่ไหน???

คำสำคัญของคำถามที่ถูกตั้งขึ้นเหล่านี้ ไม่ได้ตั้งขึ้นเพื่อโจมตีการทำงานหรือให้ร้ายแต่อย่างใด เป็นเป็นคำถามกระตุ้นว่า “เราควรเริ่มลงมือทำอะไร” ให้สถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบันมีประสิทธิภาพและประสิทธิผลเพิ่มมากขึ้น

เรามีเทคโนโลยีสื่อสารที่เข้าถึงผู้คนและเชื่อมต่อมากขึ้นทุกๆวัน จะเป็นไปได้ไหมหากเราดึงศักยภาพเหล่านั้นมาช่วยงานสาธารณะซึ่งมีแต่ได้กับได้ จะเป็นไปได้ไหมหากเราช่วยกันรายงานจนสามารถจำกัดวงที่แน่ชัดของฝนตกหนึ่งครั้งได้ และหากทำได้ จะดีแค่ไหนกับกระบวนการจัดการน้ำของประเทศ เพราะเรารู้แน่แล้วว่าฝนตกที่ไหน ฯลฯ

หากสถานการณ์นี้เรามีแค่ไม้บรรทัด แต่ต้องเจอกับลูกบอลขนาดใหญ่ คงถึงเวลาที่เราจะต้องตั้งคำถามแล้วว่า “จะทำอย่างไร”…???

--

--

R.Phot
Discovery

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way