จริงๆแล้วเรากำลังเป็นตัวแทนของใคร เราหรือสิ่งแวดล้อม #2

R.Phot
Discovery
Published in
2 min readOct 8, 2018

จาก จริงๆแล้วเรากำลังเป็นตัวแทนของใคร เราหรือสิ่งแวดล้อม #1 เราได้ทราบแล้วว่าการตรวจวัดสภาพอากาศมีหลายระดับ และขึ้นกับวัตถุประสงค์ของการตรวจวัด ตอนนี้เราจะเล่าถึงแนวคิดการทำงานของเรา และการลงพื้นที่จังหวัดจันทบุรี โดยจุดประสงค์การลงพื้นที่ครั้งนี้เพื่อหาพื้นที่ที่สามารถ “เป็นตัวแทน” ของสภาพอากาศในวงกว้างได้

เริ่ม!!!

พื้นที่จังหวัดจันทบุรีเป็นจังหวัดที่โครงการ ARMOGAN ตั้งเป้าหมายให้เป็นจังหวัดนำร่องด้านการเข้าใจสภาพอากาศ เนื่องจากจันทบุรีเป็นเมืองไม้ผลเศรษฐกิจ และสามารถผลกระทบที่ขยายวงกว้างได้ โดยก่อนลงพื้นที่เราได้ทำการค้นคว้าข้อมูลสภาพอากาศ ภูมิอากาศ ภูมิประเทศ ข่าวเหตุการณ์ต่างๆจากหลายแหล่งทั้งที่เป็นองค์กร และเป็นเครือข่ายของเกษตรกรเอง

เป้าหมายของเราคือต้องการตรวจวัดสภาพอากาศที่สามารถเป็นตัวแทนสภาพอากาศระดับ Local ได้ โดยแนวคิดของเราอ้างอิงจากการตรวจวัดสภาพอากาศของ World Meteorological Organization(WMO) ซึ่งได้ตั้งข้อกำหนดและข้อควรพิจารณาสำหรับการออกแบบสถานี และการออกแบบพื้นที่ติดตั้ง เพื่อให้การตรวจวัดสภาพอากาศได้ข้อมูลถูกต้องแม่นยำตามวัตถุประสงค์

จันทบุรีเป็นจังหวัดที่มีความหลากหลายของสภาพภูมิประเทศ เช่น ภูเขามีความสูง 100 เมตร ไปจนถึง 1,000 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล มีรูปร่างของภูเขาที่แตกต่างกันและกระจายตัวกันอยู่ตั้งแต่ชายฝั่งไปจนถึงชายแดนกัมพูชา มีชายฝั่งประมาณ 108 กิโลเมตร และได้รับอิทธิพลจากกระแสน้ำในอ่าวไทยในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ เป็นจังหวัดที่มีฝนตกชุก มีปริมาณน้ำฝนสะสมตลอดทั้งปีกว่า 2,000 mm ถือได้ว่าเป็นจังหวัดที่มีความชื้นสะสมอยู่ตลอดเวลา เหมาะกับการปลูกผลไม้

ในการลงพื้นที่ของเราครั้งนี้ได้นำอุปกรณ์ชุด ARMOGAN Mobile Test ไปทดลองติดตั้งตามจุดต่างๆเพื่อทำการตรวจวัดสภาพอากาศ 4 พื้นที่ ได้แก่ คลองภักดีรำไพ,หมวดบิน 30 ฝูงบินทหารเรือ (สนามบินสถานีฝนหลวง), เชิงเขาทลาย และเชิงเขาอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้ว

ข้อมูลจากสถานีตรวจวัดสภาพอากาศอัตโนมัติ กรมอุตุนิยมวิทยา จันทบุรี

ช่วงต้นเดือนสิงหาคม 2561 ข้อมูลจากกรมอุตุนิยมวิทยาระบุว่า มีลมตะวันตกเฉียงใต้พัดผ่านครอบคุลมทั่วภูมิภาครวมถึงจันทบุรี เราลงพื้นที่ในช่วงลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดพาเข้ามา นั่นหมายถึงการพัดพาเอาความชื้นตั้งแต่มหาสมุทรอินเดีย ทะเลอัดามัน ทะเลอ่าวไทย ก่อนจะขึ้นฝั่งที่จันทบุรี

เริ่ม…

1.สวนผลไม้เชิงเขาทลาย เป็นพื้นที่เชิงเขาทลายที่มีความสูงประมาณ 100–200 m เหนือระดับน้ำทะเล พื้นที่เกือบทั้งหมดเป็นพื้นที่เพาะปลูก เป็นพื้นที่เปิดโล่งบ้างเล็กน้อย โดยได้รับความอนุเคราะห์ให้เข้าพื้นที่จากเครือข่ายสวนผลไม้จันทบุรี และจากการตรวจวัดพบว่า

พื้นที่ด้านตะวันออกของภูเขาทลาย

ทิศทางลมขนานไปกับช่องของแนวต้นไม้ ในทิศตะวันออก แต่ขณะเดียวกันทิศทางการเคลื่อนที่ของเมฆไปในทิศทาง SW หรือพัดพาจากตะวันตกเฉียงใต้ไปตะวันออกเฉียงเหนือ

2.สวนเชิงเขาอุทยานแห่งชาติน้ำตกพลิ้วก็ได้ผลเช่นเดียวกัน

ลงพื้นที่ตรวจวัดที่สวนทุเรียน เชิงเขาทลาย

ดังนั้นสรุปได้ว่า การตรวจวัดสภาพอากาศพื้นที่สวน (Micro climate) ไม่สามารถเป็นตัวแทนของสภาพอากาศในวงกว้างได้(Local climate)ตาม VDO ด้านล่างครับ

พื้นที่เชิงเขาด้านตะวันออกเฉียงเหนือของอุทยานแห่งชาติน้ำตกพริ้ว

3.คลองภักดีรำไพ เป็นพื้นที่โครงการผันน้ำป้องกันแม่น้ำจันทบุรีเอ่อท่วมเมือง โดยประตูส่งน้ำอยู่ห่างจากตัวเมืองประมาณ 1 กิโลเมตร ทั้งยังมีพื้นที่เปิดโล่ง มีผู้คนสัญจรไปมา จึงเป็นสถานที่ที่เราเลือกทดสอบ หากพื้นที่นี้สามารถเป็นตัวแทนสภาพอากาศวงกว้างได้ หมายความว่าตัวอำเภอเมืองจันทบุรีทั้งหมด จะมีข้อมูลสภาพอากาศที่แม่นยำมากขึ้น

คลองภักดีรำไพ

เราได้ทำการตรวจวัดทิศทางลมจากพื้นที่ที่โล่งที่สุดในบริเวณนั้นพบว่า มีทิศทางเดียวกับเมฆที่เคลื่อนตัวด้วยความรวดเร็ว คือเคลื่อนมาจากทิศทางตะวันตกเฉียงใต้(SW) ทว่าลมที่พัดในระดับผิวดินที่เครื่องตรวจวัดได้มีความเร็วอยู่ที่ 3–5 m/s ในขณะที่ความเร็วลมสูงขึ้นไปนั้นเร็วกว่ากันมากอย่างเห็นได้ชัด

โดยสรุปแล้ว ลมมรสุมที่มีกำลังแรงมากสามารถทำให้อากาศทั้ง 4 ระดับพัดพาไปในทิศทางเดียวกัน และการติดตั้งสถานีตรวจอากาศ ณ บริเวณคลองภักดีรำไพ เป็นตัวแทนของสภาพอากาศระดับ Local ได้

อุปกร์ตรวจวัดสภาพอากาศ Mobile Test ติดตั้งที่ คลองภักดีรำไพ

อย่างไรก็ตามการตรวจวัดของระบบจริงจะดำเนินการติดตั้งอย่างน้อย 3 ปีเพื่อให้ได้ข้อมูลครบรอบฤดูกาลซ้ำๆ มากพอจะระบุได้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

4.หมวดบิน 30 ฝูงบินทหารเรือ (สนามบินสถานีฝนหลวง) เคยเป็นสนามบินทำการของการทำฝนหลวง ปัจจุบันอยู่ในการดูแลของ หมวดบิน 30 ฝูงบินทหารเรือ จากการลงพื้นที่ติดต่อ ซึ่งได้ขออนุญาติทำการทดลองได้เพียงเล็กน้อยพบว่า

ได้ผลเช่นเดียวกับคลองภักดีรำไพนั่นคือ ลมระดับผิวดินพัดพาไปในทางเดียวกันกับลมระดับบน และตรงกับข้อมูลจากหลายแหล่งว่ามีลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงและเนื่องจากมีความเปิดโล่งของพื้นที่(สนามบินโล่งมาก) ยิ่งทำให้การสังเกตการณ์และการตรวจวัด เห็นผลอย่างชัดเจน และข้อสรุปยังคงเป็นเช่นเดียวกัน นั่นคือจะต้องเก็บข้อมูลในปริมาณมากเพื่อใช้ในการยืนยัน

ประเด็นเพิ่มเติมที่ต้องพิจารณา

  • พื้นที่เชิงเขาทลาย และเชิงเขาอุทยานแห่งชาติน้ำตกพริ้ว มีการแบ่งระดับอากาศออกเป็นหลายชั้น บางชั้นมีทิศทางการเคลื่อนตัวของเมฆสวนทางกัน ขึ้นอยู่กับทิศทางลมระดับบน มรสุมประจำฤดูกาล และลมบกลมทะเล
  • ในฤดูมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีการพัดเอาความชื้นขึ้นมามาก ก่อเมฆฝนให้เห็นตลอด 3 วันที่ลงพื้นที่ ทว่ามีการเกิดฝนตกจริง กระจัดกระจายไปตามพื้นที่ บ้างลึกเข้าไปถึงเขาคิชกูฎ บ้างตกอยู่หน้าชายฝั่ง ยังมีความซับซ้อนของกลไกอีกมากที่ต้องทำการบ่งชี้เพิ่มเติม
  • การออกแบบสถานีตรวจวัดเป็นรูปลักษณ์ “เห็ด” สามารถสร้างความสนใจและส่งต่อเรื่องความสำคัญของสภาพอากาศได้อย่างแน่นอน เนื่องจากพื้นที่คลองภักดีรำไพ มีคนสัญจรไปมา รวมไปถึงเป็นสถานที่หย่อนใจ และเส้นทางออกกำลังกาย เพราะการลงพื้นที่ครั้งนี้แม้จะยังเป็นอุปกรณ์รูปร่างประหลาด ยังได้รับความสนใจจากเด็กๆและ ผู้ที่มาออกกำลังกาย
  • ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงและส่งผลอย่างชัดเจน แล้วลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะมีผลอย่างไรบ้างมีเมื่อทิศทางตรงกันข้ามกับลมทะเลของจันทบุรี
  • ในช่วงเปลี่ยนฤดูกาลสภาพอากาศจะมีความแปรปรวนอย่างไร สำหรับจันทบุรี

บทสรุปการลงพื้นที่

เราได้ลงพื้นที่จริงติดต่อกับผู้คนในพื้นที่ ได้ทราบถึงหลากหลายประเด็นที่ต้องพิจารณาทั้งที่เป็นบทเรียน และการต่อยอด ซึ่งทำให้ทีมงานของเราพบว่า ต้องอาศัยข้อมูลและเครือข่ายความร่วมมืออีกมากเพื่อไปให้ถึงเป้าหมายการเข้าใจสภาพอากาศ ด้วยความตั้งใจของเราจะต้องเป็นจริงอย่างแน่นอน…

--

--

R.Phot
Discovery

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way