ที่ที่สร้างนวัตกรรม (ปฐมบท)

Suthat Ronglong
Discovery
Published in
2 min readJan 5, 2018
Credit: Elżbieta Szymańska

หลายปีก่อน ผมก้าวขึ้นไปรับรางวัล World CSR Congress ที่ประเทศอินเดีย พร้อมทั้งมีโอกาสจัดบรรยายท่ามกลางคนนับหมื่นว่า งานของเราที่เรียกว่า นวัตกรรม + สังคม หรือ Social Innovation มันแปลว่าอะไรในด้านการทำงานจริง จากมุมมองคนไทยกลุ่มเล็กๆ ที่เรียกตัวเองว่า Innovator & Traveller

ผมเชื่อแล้วว่าพวกคุณทำได้ และทำได้โคตรเจ๋ง น่าตื่นเต้นมากที่ได้ฟังงานของพวกคุณ ผมมีคำถามหนึ่งที่อยากฟังคำตอบจากคุณมาก ผมอยากทราบว่า อะไรคือนวัตกรรมสุดท้ายของชีวิตคุณ ที่คุณอยากทำ

นี่คือคำถามจากชายหนุ่มแดนภารตะผิวเข้มวัยไล่เลี่ยกันกับผม เขาสวมเสื้อสีเหลืองแถบแดง (ยี่ห้อรถที่เป็นม้าอิตาลี) มีคราบดำเปื้อนที่ชายเสื้อเล็กน้อย สวมกางเกงยีนส์เปรอะคราบน้ำมันเครื่องเต็มไปหมดจนสังเกตได้ชัด ผมมองเขานิ่งอยู่พักหนึ่งด้วยรอยยิ้ม จนเขาบอกผ่านไมโครโฟนว่า คำถามนี้ยากนะ ไม่ต้องตอบเขาก็ได้ ผมยิ้มกว้างอีกครั้ง หายใจเข้าลึกจนเสียงหายใจออกมาในลำโพง แล้วพูดตอบไปว่า

นวัตกรรมสุดท้ายในชีวิตของผม… นวัตกรรมที่ผมคิดถึงมันมาตลอดคือ ‘ที่ที่สร้างนวัตกรรม’ ที่พูดเช่นนั้นผมหมายความถึง การสร้างสถานที่ที่ใช้สร้างนวัตกรรม ที่ที่คงอยู่ยาวนานกว่าชีวิตของเรา ที่ที่เราสามารถมีชีวิตอยู่ท่ามกลางความเป็นไปได้ ที่ที่ไม่มีใครมาบอกเราว่า ฝันไปเถอะคนอย่างเราทำไม่ได้หรอก ที่ที่ทุกความฝันทุกจินตนาการไม่ว่าจะสำเร็จหรือล้มเหลวถูกสนองตอบด้วยการทดลองลงมือทำ ที่ที่มีความกลัวน้อยๆ มีแรงบันดาลใจมากๆ และที่ที่ทำให้คนรุ่นต่อไปกล้าลุกขึ้นมาสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ ให้ตัวเองและสังคมครับ

คุณเชื่อไหมว่า กว่าจะตอบเช่นนั้นได้ ผมใช้เวลาสะสมประสบการณ์ระยะหนึ่ง (เกือบ 10 ปี) จากการออกเดินทาง ได้เห็น ได้ฟัง ได้สัมผัส และได้ฝันถึงความยั่งยืนของนวัตกรรมที่เราออกแบบและสร้างขึ้นมาตลอดหลายปี ผมค้นพบอย่างหนึ่งว่า สถานที่ที่เอื้อให้สร้างและเกิดนวัตกรรมนั้นสำคัญอย่างยิ่งยวด เรามีวัฒนธรรมองค์กรที่ทำงานวิจัย ออกแบบ และพัฒนานวัตกรรมเชิงสังคม ตั้งอยู่บนพื้นฐาน 3 ห่วงแห่งการพัฒนาที่เราคิดขึ้นมาเอง ดังรูปด้านล่าง

ส่วนประกอบของนวัตกรรม ณ ดูอินไทย

หากเราพัฒนาอุปกรณ์ไฮเทค (Hardware) ที่ดีที่สุดในโลกได้ พัฒนาแอปพลิเคชัน (Software) ที่เจ๋งที่สุดในโลกได้ เราต้องไม่ลืมว่า คน (Peopleware) นั้นสำคัญที่สุดในโลกเช่นเดียวกัน

คนสร้างปัญหา คนมีปัญหา และคนนั่นแหละคือผู้แก้ไขปัญหา

แต่ความยากลำบากของความคิดประเภทนี้คือ เมื่อให้ความสำคัญกับคน หรือ Peopleware แล้ว ผู้สร้างนวัตกรรมส่วนมากจะติดอยู่กับกรอบการทำงาน สิ่งแวดล้อม หรือองค์ประกอบด้านความเป็นอยู่ ทำให้นวัตกรรมนั้นถูกบั่นทอนหรือล้มเหลวไปตั้งแต่ต้น เพราะไม่มีพื้นที่ที่รองรับการสานต่อความคิด จินตนาการ และความฝันสู่การเปลี่ยนแปลงบางสิ่ง เพื่อให้ถูกสานต่ออย่างเป็นจริงเป็นจังได้เพียงพอ ยังไม่ต้องพูดถึงความยั่งยืนของนวัตกรรม เพราะแค่ปัจจัยภายนอกของโลกที่วุ่นวายและหมุนไปอย่างรวดเร็วทุกวันนี้ แค่ในพื้นที่การทำงานปกติ (ซึ่งก็ไม่แปลกหรือเป็นเรื่องที่ผิดแต่อย่างใด) ก็ถูกปิดกั้นจินตนาการไปแล้ว ด้วยพื้นที่เล็กๆ หน้าต่าง กำแพง เพดาน และพาร์ทิชั่นคอกกั้นแผนก ยังมีรถไฟฟ้าที่เบียดเสียดเช้าเย็นเวลางาน ร้านอาหารคิวแน่นตอนเที่ยง ตึกสูงที่ต้องขึ้นลงตามเวลาเปิด/ปิดแอร์ ออฟฟิศด้านบนด้านล่างที่จำกัดการใช้เสียง ด้านในตึกที่จำกัดการทำงานช่าง ฯลฯ อีก สิ่งเหล่านี้ ส่วนตัวแล้ว ทั้งทางกายใจของผม สัมผัสถึงอุปสรรคต่อความไม่ยั่งยืนอย่างที่สุด เพราะหาก

นว แปลว่า ใหม่ กรรม คือ การกระทำ หาก นวัตกรรม คือ การลงมือทำ สร้างสิ่งใหม่ๆ เราก็ควรลงมือทำสิ่งใหม่ๆ เพื่อให้การเกิดขึ้นของสิ่งใหม่นั้น มีค่าและมีความหมายมากกว่าลมหายใจของเรา

ผมได้คำตอบในใจเงียบๆ ตลอดเวลาคือ กูจะสร้างที่ที่สร้างนวัตกรรม ที่ที่มีพื้นที่มีหน้าต่าง มีกำแพง มีเพดาน แต่ที่นี้จะไม่ปิดกั้นความคิดและการกระทำใด ที่เอื้อให้เกิดการสร้างนวัตกรรมเพื่อทุกคนที่อาศัยอยู่และมาเยี่ยมเยือน

คำถามเล็กๆ ในใจจากประสบการณ์ชีวิต ประกอบกับคำถามเล็กๆ จากเพื่อนชาวอินเดียในวันธรรมดาๆ วันหนึ่ง ทำให้ผมตัดสินใจจะลงมือสร้างนวัตกรรมสุดท้ายในชีวิตไว้ก่อนล่วงหน้า ที่ที่สร้างนวัตกรรม ที่ที่ยั่งยืนกว่าชีวิตของเรา ที่ที่ทำให้คนรุ่นต่อไปสร้างนวัตกรรมได้เรื่อยไปไม่มีที่สิ้นสุด กำลังจะเกิดขึ้น …

ตอนต่อไปผมจะเล่าเรื่องที่เป็นรูปธรรมของการตัดสินใจสร้างสิ่งใหม่ๆ แบบที่ละขั้นทีละตอนว่า ที่ที่สร้างนวัตกรรมที่ยั่งยืนและเปิดกว้างสำหรับทุกความคิด ทุกการลงมือทำของนวัตกรไทยทุกคนจะเป็นอย่างไร ทำไมต้องทำ และทำอย่างไรบ้าง (ว่ากันตั้งแต่การตัดสินใจ การออกแบบกระบวนการ เงื่อนไขต่างๆ จนถึงการออกแบบพื้นที่)

ซีรีส์งานเขียนเรื่องราวของ ที่ที่สร้างนวัตกรรม นี้คงยาวไม่น้อย ผมตั้งใจจะเขียนจนกว่าจะสร้างมันเสร็จ และพร้อมเปิดรับทุกคนอย่างแท้จริง

อ้อ ลืมบอกไปว่า เราเรียกมันว่า

OPEN GARAGE

Credit: Elżbieta Szymańska

ภาพประกอบ (ส่วนโครงสร้างอาคาร) ผมยกมาจาก Behance เป็นผลงานของคุณ Elżbieta Szymańska ชาวโปแลนด์เพื่อใช้จำลองภาพความคิดในเบื้องต้นเท่านั้นครับ

--

--

Suthat Ronglong
Discovery

Founder & Innovator of DO IN THAI Company Limited