นวัตกรรมสังคม#1: มุมมองระหว่างสร้างสรรค์

R.Phot
Discovery
Published in
4 min readOct 4, 2019
https://labgov.city/theurbanmedialab/citys-administration-and-backing-up-social-innovation/

กระบวนการทำงานของทีมเราเริ่มต้นด้วยการทำงานด้านสภาพอากาศ เมื่อศึกษา เจาะลึกและพัฒนาแนวทางความเป็นไปได้สู่การพัฒนางาน อันจะมีผลกระทบต่อผู้คนอย่างแท้จริง เมื่อทำงานถึงจุดหนึ่งที่เริ่มมั่นใจว่ามีตัวงานที่สามารถสร้างคุณประโยชน์ได้จริง ส่วนต่อมาของเราคือการทำความเข้าใจ “ผู้คน”

ก่อนหน้านี้ผู้คนส่วนใหญ่ที่ได้พบปะพูดคุยแลกเปลี่ยนกันจะอยู่ในภาคเกษตรกรรมหรือเป็นผู้ผลิต เพราะมีความสัมพันธ์อย่างแยกไม่ออกกับสภาพอากาศ ทำให้เราได้รับมุมมองหลายอย่างมาพัฒนางานของเรา และส่วนหนึ่งได้ถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวในเว็บไซต์มีเดียมที่ท่านกำลังอ่านอยู่นี้

จากจุดเริ่มต้นจนถึงตอนนี้ กว่า 4 ปีที่ทำให้เราสามารถสร้างความเชื่อมั่นในสายตาของใครหลายๆคน และในเรื่องเล่าชุดนี้ เป็นส่วนหนึ่งของงานที่เรากำลังก้าวข้ามสายงานจากคนฝั่งผู้ผลิต มายังกลุ่มคนเมืองหรือกลุ่มผู้บริโภค

กระแสความตื่นตัวเรื่อง “การพัฒนาเมืองยั่งยืน” ในบ้านเรากำลังได้รับการพูดถึงมากยิ่งขึ้น(แม้ต่างชาติจะตื่นตัวและทำมาแล้วหลายสิบปี) เราเองก็ได้รับโจทย์ด้านนี้มาเช่นเดียวกันจากหลายบริษัทที่กำลังมีแผนจะเป็นผู้นำด้านการพัฒนาความเป็นอยู่ที่ดี

https://www.greenbiz.com/article/unleashing-action-sustainable-development-goals

เช่นเคย เมื่อเราได้รับโจทย์(ที่มาพร้อมโอกาส) เราจึงเริ่มทำการศึกษาเพื่อทำความเข้าใจโลกใหม่ เรียนรู้บริบทใหม่ๆเพื่อให้สามารถออกแบบและสร้างบางสิ่งที่จะฝากเอาไว้ในสังคมและเกิดความเปลื่นแปลงในทางที่ดี แม้จะเล็กน้อยแต่เราตั้งใจทำให้สิ่งดีคงอยู่ในสังคมได้ยาวนานมากที่สุด หรือจนกว่ามันจะถูกเปลี่ยนไปตามบริบทสังคมต่อไป

แม้โจทย์ปัญหาที่ได้รับมาจะไม่ชัดเจนนัก หนึ่งในแนวทางที่รับมือกับโจทย์ที่ไม่ชัดเจนคือ การไปดู ไปฟัง ไปอ่านสิ่งที่เคยมีคนทำมาก่อนและหนังสือเรื่องการออกแบบนวัตกรรมสังคมนี้ก็เป็นหนึ่งในนั้น

มาเริ่มกันเลยครับ…

เกริ่นนำยาวไปหน่อยแต่เพื่อความเข้าใจที่ตรงกัน การนำองค์ความรู้มาเล่าต่อนี้ เพื่อต้องการแบ่งปันสิ่งที่น่าจะเป็นประโยชน์ต่อแนวคิดการพัฒนา โดยมีคนเป็นศูนย์กลางของการออกแบบ โดยหนังสือมีชื่อเต็มว่า Design for Social Innovation: design when every body design.

หนึ่งในสิ่งที่หนังสือพยายามบอกในช่วงต้นด้วยสำนวนที่เข้มข้นและกระชับจนผู้อ่านต้องวางหนังสือแล้วคิดตามไปทีละย่อหน้า ด้วยผู้แต่งหนังสืออยู่ในสายการออกแบบ แต่ต้องการจะสื่อสารอย่างแรงกล้าว่าเราหลุดออกจาก “การออกแบบผลิตภัณฑ์” ที่เป็นสินค้ากายภาพเข้าสู่ยุคของการออกแบบอะไรก็ได้โดยเฉพาะ การออกแบบสังคม

ต้องทำความเข้าใจกันก่อนกับคำว่า “Design” หรือการออกแบบ ได้เปลี่ยนความหมายและขยายตัวครอบคลุมขอบเขตที่กว้างไกลมากเกินจินตนาการ นั่นคือการออกแบบเป็นพื้นฐานของมนุษย์อยู่แล้ว ในที่นี้เราต้องหลุดออกจากภาพนักวาดภาพ คนทำงานกราฟฟิก หรือสถาปนิก แต่เป็นเรื่องของ “การจัดการ+จินตนาการเชิงบวกแบบสร้างสรรค์” โดยตัวอย่างง่ายๆที่สนับสนุนแนวคิดนี้คือ เราจัดการชีวิตตัวเองในชีวิตประจำวัน อย่างละเล็กละน้อย หรือการจัดห้อง จัดวางของในบ้านที่จะค่อยๆเข้าที่เข้าทางเมื่อใช้งานบ่อยมากขึ้น

https://www.spiegel.de/international/bild-1147706-1134308.html

ขอบเขตของการออกแบบขยายออกไปไม่สิ้นสุด

ตามแนวคิดการออกแบบสมัยนี้ การที่เราออกแบบการใช้ชีวิตในบ้านตัวเอง (ออกแบบโดยธรรมชาติ) เพื่อให้เราใช้ชีวิตได้สะดวกสบายกาย สบายใจ(การเอาพฤติกรรมและความเป็นมนุษย์ของเราเป็นศูนย์กลาง) นอกจากนี้ การออกแบบยังครอบคลุมไปถึงการออกแบบกระบวนการทำงานในโรงงาน การออกแบบความสัมพันธ์ของฝ่ายขายกับลูกค้า การออกแบบระบบธุรกิจแนวใหม่ฯลฯ

ตัวอย่างเหล่านี้ล้วนอยู่ในความหมายของการออกแบบและในที่นี้ การออกแบบนวัตกรรมสังคมก็เป็นหนึ่งในบริบทของการออกแบบด้วยเช่นกัน ตัวอย่างแรกในหนังสือเล่าถึงชาวจีนกลุ่มหนึ่งที่อาศัยอยู่ในเขตเมืองประสบปัญหาเรื่องการหาซื้อผลิตผลทางการเกษตรที่ปลอดภัยและเชื่อถือได้ จึงรวมตัวกันเดินทางไปต่างจังหวัดและทำการตกลงกับเกษตรกร(ที่หาข้อมูลมาว่ายังทำเกษตรวิถีเก่าแบบปลอดภัยแต่กำลังจะหายไปเพราะไม่มีใครทำต่อ) โดยมีรูปแบบความสัมพันธ์ว่าเกษตรกรจะส่งผลผลิตปลอดภัยถึงกลุ่มโดยตรง และสินค้าตามฤดูกาล โดยแลกกับราคาที่เหมาะสมที่ตกลงกันได้ และการยังรักษาเกษตรวิถีเก่าเอาไว้

ความสัมพันธ์แบบนี้เกิดขึ้นและทำให้ได้ประโยชน์กันทุกฝ่าย ผลกระทบที่ตามมามีหลายด้าน ตั้งแต่คนกินมีสุขภาพดี ค่ารักษาพยาลก็หายไปตั้งแต่ต้น ผู้ผลิตได้ราคาดีเพราะตัดพ่อค้าคนกลางออก และมีคนรุ่นใหม่กลับมาทำเกษตรวิถีเก่าเพิ่มขึ้นเพราะมีโอกาสและตลาดที่ไปได้ ลดความวุ่นวายจากการเข้าเมือง และเปิดทางเศรษฐกิจให้กระจายทั่วภูมิภาค ฯลฯ นี่คือตัวอย่างของ “การออกแบบ” ความสัมพันธ์จนเกิดเป็น “นว”(ใหม่) + “กรรม”(การกระทำ) หรือนวัตกรรมทางสังคม ซึ่งเกิดจากผู้คนที่ตัดสินใจออกแบบวิถีการกินของตนเอง

https://culture360.asef.org/magazine/spedagi-biking-sustainability/

ฟังดูอาจเหมือนเป็นเรื่องง่ายและใกล้ตัวเพราะบ้านเรามีโครงการลักษณะคล้ายๆกันนี้อยู่เต็มไปหมด แต่เมื่อพิจารณาดูแล้วจะพบว่าโครงการเหล่านั้นไม่ได้เกิดจากปัญหาที่ตรงจุด แต่เป็นการยัดเยียดมากกว่าการ “ระเบิดจากข้างใน” หรือจากความต้องการตามความจำเป็น ตามความเห็นพ้องของคนในพื้นที่จริงๆ ยังมีกฎข้อบังคับอีกมากที่ผู้ผลิตในบ้านเราไม่สามารถต่อรองได้ด้วยตนเอง ได้รับข้อตกลงและมีความสัมพันธ์ที่เป็นภาระมากกว่าจะส่งเสริม ทำให้โครงการต่างๆดูฝืดๆไปหมด (ยังไม่ต้องกล่าวถึงคุณภาพของคน ที่ถือว่าเป็นความยากระดับสูงสุด ปัญหาก็มีหลายระดับซ้อนกันมากเพียงพอแล้ว)

จากตัวอย่างในจีนหนึ่งในคำใหม่(สำหรับพวกเรา)จึงเกิดขึ้นมาเพื่อระบุถึงแนวทางของการสร้างคุณลักษณะที่จะพัฒนาสังคมหรือเมืองไปในทิศทางที่ยั่งยืน

“Cosmopolition localism ท้องถิ่นที่เปิดกว้างรับสากล”

แค่คำแรกก็ต้องตีความกันยกใหญ่แล้ว Local หรือท้องถิ่น ในความหมายนี้ไม่ได้หมายถึงเฉพาะชุมชนในต่างจังหวัดหรือพื้นที่ชนบท แต่รวมไปถึงความสัมพันธ์ในระดับพื้นที่ที่มีต่อกัน ชุมชนในเมืองก็ถือว่าเป็น “ท้องถิ่น” ได้เช่นเดียวกัน และคำว่า สากล ในที่นี้ก็ไม่ได้หมายความว่าทั่วทั้งโลกเท่านั้น แต่หมายรวมตั้งแต่อะไรก็ตามที่มีความสามารถขยายวงออกจากบริบทเดิมของชุมชนท้องถิ่นได้

ฉะนั้นคุณลักษณะของท้องถิ่นที่เปิดรับสากลนั้นจึงเป็นเหมือนการสรุปรวบยอดแนวคิดการปรับตัวอย่างยั่งยืนเอาไว้ หมายความว่าชุมชนหรือความเป็นท้องถิ่นมีความสามารถเข้าใจตนเองอย่างลึกซึ้ง รักษาและปรับเปลี่ยนได้ตามยุคสมัย ทั้งยังมีความเปิดกว้างมากเพียงพอจะรับความเป็นสากล หรือแลกเปลี่ยน ส่งผ่านบางสิ่งสู่สากลเพื่อเครือข่ายที่เข้มแข็งมากยิ่งขึ้น

มาถึงตรงนี้แล้วอาจฟังดูเหมือนอุดมคติของการพัฒนามาก ผู้แต่งหนังสือได้มองสิ่งที่เกิดขึ้นและถอดออกมาเป็นความท้าทาย 3 ด้านโดยแต่ละด้านมีประเด็นที่หนักหน่วง ใหญ่ยักษ์ และใช้เวลายาวนาน

1.ความท้าทายด้านการปฎิบัติงานของการออกแบบ(นวัตกรรมสังคม)

  • การตอบสนองต่อวัตถุกายภาพ: หัวข้อนี้ใช้คำกว้างและยากจะเข้าใจ แต่ก็ถือว่าตรงที่สุดแล้วเพราะ “วัตถุกายภาพ” นั้นหมายรวมถึงทุกสิ่งที่ประสาทสัมผัสเรารับรู้ได้ไม่ว่าจะได้รับจากสินค้ารองเท้า ยาสระผม ภาพยนตร์ อาหารเครื่องดื่ม ทางเท้า เก้าอี้ ต้นไม้ ทะเล และบริการต่างๆ รอยยิ้มของพนักงาน UI,UX ของระบบฯลฯ กล่าวโดยรวมถึงความท้าทายนี้คือ ไม่ว่าจะออกแบบนวัตกรรมสังคมรูปแบบใดๆก็แล้วแต่ สิ่งๆนั้นต้องตอบสนองความต้องการด้านวัตถุ(ในบริบทของงานนั้นๆ)ได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม

เช่นมีโครงการจักรยานสาธารณะในหลายประเทศแต่พบว่าตัวจักรยานหรือสถานีกลับไปได้รับการใส่ใจหรือไม่ตอบสนองจริงๆ จึงกลายเป็นว่าจักรยานที่ควรปั่นได้กลับปั่นไม่ได้ตั้งแต่ต้น ไม่ตอบสนองด้านวัตถุตั้งแต่ต้น (สำหรับใครที่อยู่ในสายออกแบบผลิตภัณฑ์หรือสร้างสตาร์ทอัพอาจจะคุ้นเคยกับคำว่าbasic need หรือสิ่งพื้นฐานของงานที่เราทำเช่น คิดค้นยาสระผมสูตรใหม่ที่เจ๋งมากๆ แต่หน้าที่พื้นฐานแรกของมันคือทำให้ผมสะอาด ส่วนดีๆที่เติมเข้าไปก็ต้องทำให้ได้ตามที่พูดเช่นกัน)

  • การตอบสนองต่อความต้องการของมนุษย์: ส่วนนี้ซับซ้อนและละเอียดอ่อนมากกว่าข้อแรก เพราะเป็นเรื่องของจิตใจ อารมณ์ ไปจนถึงจิตวิญญาณความต้องการสูงสุดของชีวิต เรื่องพื้นฐานอย่างอารมณ์(แต่ยากมากในเชิงปฎบัติ)เชื่อมโยงโดยตรงกับประสบการณ์การรับรู้ ขอยกตัวอย่างคำว่าประสบการณ์ ลองนึกถึงเวลาเรารู้สึกหงุดหงิดจากการได้รับบริการ การใช้สินค้าบางอย่างและรู้สึกไม่ดีกับมัน หรือคิดว่ามันน่าจะดีกว่านี้ได้ กลับกันคือการใช้สินค้าหรือบริการแล้วรู้สึกดีมากรู้สึกขอบคุณคนที่คิดค้นและทำสิ่งนี้มาขายจนติดและกลายเป็นลูกค้าประจำ

ประสบการณ์เหล่านี้ถูกออกแบบมาให้ตอบสนองและต้องทำหน้าที่ของมัน แต่งานด้านนวัตกรรมสังคมไปไกลกว่านั้นมาก ต้องยอมรับก่อนว่างานบางอย่างเมื่อเป็นงานสังคมหมายความว่ามันไม่ได้เริ่มจากงานหลักในชีวิตประจำวันของแต่ละปัจเจค ฉะนั้นหากการออกแบบความสัมพันธ์หรือตัวนวัตกรรมที่ดีจะสามารถดึงเอาความต้องการนั้นออกมาและดึงพลังของคนมาทำงานสังคมได้อย่างมีประสิทธิภาพ เป็นผลดีกับทุกฝ่าย ตัวงานสร้างผลกระทบที่ดี ผู้ลงแรงตอบสนองส่วนลึกของความต้องการของตน พัฒนาไปเป็นเป้าหมายชีวิต และกลายเป็นงานของชีวิต และนี่ถือเป็นความท้าทายอย่างมากสำหรับเหล่าพัฒนาที่ต้องการสร้างนวัตกรรมสังคม

  • การสร้างสภาพแวดล้อมด้วยมือมนุษย์: ถือเป็นส่วนที่ยากที่สุดเลยก็ว่าได้ในความท้าทายด้านการปฏิบัติงาน เรารับรู้และยอมรับแล้วว่าการพัฒนาสิ่งใดก็ตามจำต้องมีสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมกับการพัฒนานั้น ซึ่งการพัฒนาหนึ่งๆย่อมต้องเกี่ยวข้องกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสียหลายทางตลอดทั้งสายธารแห่งคุณค่าตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ ฉะนั้นการมีส่วนร่วม ระดับการมีส่วนร่วม และคุณภาพของการมีส่วนร่วมในการร่วมสร้างตัวงาน และเป็นหนึ่งสภาพแวดล้อมของงานนั้นด้วยจึงเป็นความท้าทายของกระบวนการ และการออกแบบอย่างยิ่ง
http://hot.muslimthaipost.com/news/27636

2. ความท้าทายด้านตัวงาน

  • ขอบเขตที่คลุมเครือมากขึ้นระหว่างสิ่งประดิษฐ์ โครงสร้าง และกระบวนการ: เมื่อเราเดินทางท่องเที่ยวเกิดปฏิสัมพันธ์กับท้องถิ่นนั้นด้วยการใช้สิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ เราอาจรู้สึกว่าทุกอย่างดูราบรื่นไม่มีอุปสรรคหรืออย่างน้อยก็ไม่มีเหตุการณ์ให้เกิดความรู้สึกทางลบและคิดว่ามันเป็นเรื่องปกติ เราจะรับรู้หรือแยกแยะได้อย่างไรว่ามีเทคโนโลยี กระบวนการเบื้องหลังอะไรบ้างที่กำลังขับเคลื่อนอยู่ เช่นกันหากเราต้องการแก้ปัญหาด้วยการพัฒนาพื้นที่เราจะต้องศึกษาเรื่องใด หรือกลับกันหากเราลงพื้นที่รับฟังปัญหาขององค์กร หน่วยงาน ชุมชนหนึ่งๆ จะพบว่าปัญหาที่ได้รับฟังจะมาในรูปของคำบ่นหรือความเห็นที่แสดงถึงประเด็นปัญหาซึ่งจะมีความคลุมเครือว่าเรื่องที่พูดถึงเป็นปัญหาในระดับใดหรืออยู่ในเรื่องใดที่ชัดเจนกันแน่

โดยเฉพาะในยุคที่เทคโนโลยีการสื่อสารรวดเร็วและเชื่อมโยงกันไปหมด บางกระบวนการที่เราต้องการปรับปรุงอาจถูกออกแบบมาในโครงสร้างตั้งแต่แรก และการแก้ไขอาจหมายถึงการต้องรบกวนการทำงานของทั้งระบบ ความท้าทายตั้งแต่ขั้นต้นคือการศึกษาทำความเข้าใจและที่สำคัญที่สุดคือ กระบวนการนั้นเปิดเผยข้อมูลให้เราทราบหรือไม่ ทั้งตอนท้ายที่ต้องประเมินความคุ้มค่าการลงมือกระทำบางอย่าง เนื่องจากขอบเขตของระบบกำลังถูกกลืนหายไป เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ามาถูกทางและแก้ถูกจุดของระบบ

  • โครงสร้างทางสังคม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ที่มีมากขึ้น:ข้อนี้ควบรวมเอาหลายเรื่องยากและซับซ้อนมาไว้ด้วยกัน แต่หากจะวิเคราะห์แยกกันก็แทบเป็นไปไม่ได้ฉะนั้น เรามาลองคิดตามกันทีละเรื่อง เรื่องแรกโครงสร้งทางสังคม ในบริบทของการพัฒนานวัตกรรมสังคมจะมีการวิเคราะห์ผู้คนออกมาด้วยหลักเกณฑ์และแนวคิดหลายอย่างที่ขึ้นกับความสัมพันธ์โดยตรงกับบริบทของปัญหา เช่น โครงการ4.0ต่างๆต้องการส่งเสริมให้คนใช้เทคโนโลยี ตั้งแต่ในองค์กรจนถึงการบริการ เมื่อพิจารณาดีๆจะพบว่าภายในองค์กรเองก็มีคนหลากอายุหลายวัย มีความถนัดด้านดิจิตอลต่างกัน และธรรมเนียมของระบบอุปถัมป์ การสั่งการแบบบนลงล่าง ต้องนอบน้อมและยอมรับผู้อาวุโสไม่ว่ากรณีใดๆ ไปจนถึงหน้างานการบริการเมื่อภายในยังไม่มีเสถียรภาพของระบบ งานที่ออกมาย่อมไม่ชัดเจนตามไม่ด้วย

ต่อมาคือเรื่องเศรษฐกิจเรื่องนี้มองได้ว่าเป็นประเด็นที่ชัดเจนและมีการพูดคุยในสังคมวงกว้างอยู่มากในบริบทที่ว่าจะปรับใช้ หรือจะลงมือทำอะไรจำต้องเข้าใจและปรับกระบวนการทำงานให้เหมาะสมกับระบบเศรษฐกิจของตน และท้ายที่สุดการเกิดขึ้นและเติบโตของระบบอุตสาหกรรม คำว่าอุตสาหกรรมในที่นี้มีหลายบริบทให้พูดถึงแต่จะขอพูดถึงกว้างๆเช่น ระบบผูกขาดที่ยิ่งใหญ่มากขึ้น การจะแก้ปัญหายิ่งทำให้มีความเปราะบางมากขึ้น ระบบอัตโนมัติที่กำลังแพร่หลายในที่นี้ไม่ใช่เรื่องไม่ดี แต่เป็นเรื่องการเติมเต็มของช่องว่างที่เกิดขึ้นซึ่งยังไม่มีการพูดถึงมากนัก เรื่องโครงสร้างของสังคม เศรษฐกิจ และอุตสาหกรรมจึงเป็นความท้าทายที่อยู่ในเนื้องานตั้งแต่ต้น

  • สิ่งแวดล้อมของความต้องการ มีความซับซ้อนมากขึ้น ข้อกำหนด ข้อจำกัด: ขอยกตัวอย่างเรื่องการหาร้านกาแฟนั่งชิล นั่งทำงานแล้วกันนะครับ เมื่อก่อนอาจเป็นเรื่องหนึ่งแต่ตอนนี้ร้านกาแฟต้องมีแอร์หรือปรับอากาศเย็นสบาย ต้องมีวิวดี ตกแต่งร้านดี ถ่ายรูปได้ทุกมุม มีโปรโมชั่น ต้องมีนโยบายรักษ์โลก wifiฟรี มีเมนูประจำร้าน มีปลั๊กไฟ มีพื้นที่ทำงานCo-working ฯลฯ ตัวอย่างนี้อาจไม่ชัดเจนในเรื่องความซับซ้อนของการทำงานร่วมกันหรือการสร้างความร่วมมือเพื่องานบางอย่างในพื้นที่ แน่นอนว่าความต้องการที่ซับซ้อนเพื่อตอบสนองไม่เพียงแค่ตัวงานจริงๆแต่เป็นด้านประสบการณ์ด้วย รวมไปถึงข้อกำหนด และข้อจำกัดของตัวเทคโนโลยี หรือข้อกฎหมายกที่กลายมาเป็นเงื่อนไขความท้าทายของตัวงาน

ลองนึกภาพถึงการสร้างความร่วมมือกับกลุ่มคนที่หลากหลายในงานเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นงานอีเว้นท์ หรือการรวมกลุ่มคนหลากอาชีพหลายความเห็นมาร่วมกันทำงานหนึ่งๆ สิ่งที่จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนคือ สิ่งแวดล้อมของการทำงานจะซับซ้อน และความต้องการที่เกิดขึ้นระหว่างกระบวนการทำงานภายใต้สิ่งแวดล้อมจะเป็นเรื่องยากยิ่งขึ้นไปอีกเมื่อความต้องการไม่สอดรับกัน

  • เนื้อหาของข้อมูลมักไปไกลกว่าคุณค่าของงานที่ถูกสร้างขึ้น: เรื่องของการ Over claim นี้ต้องขอเล่าจากประสบการณ์ในหลายๆครั้งของการทำงานที่ผ่านมา โดยหัวข้อชัดเจนในเนื้อหาอยู่แล้ว กล่าวคือ มีหลายองค์กรที่ลุกขึ้นมาทำ CSR หรือทำโครงการต่างๆร่วมกับท้องถิ่นจะแก้ปัญหาหรือพัฒนาก็แล้วแต่ มักจะมีการทำสื่อ โฆษณาและใช้คำสื่อสารที่เกินกว่าความเป็นจริงอย่างมาก ในที่นี้แม้จะไม่ได้หลอกกันด้วยตัวเลขแต่เป็นการเล่นคำและเลี่ยงสำนวนการพูด หรือในหลายกรณีที่การออกแบบการเก็บข้อมูลหรือตัวชี้วัดเพื่อตอบสนองและส่งเสริมด้านดีมากเกินความจริง เช่นการทำกิจกรรมในพื้นที่แล้วเก็บข้อมูลจากแบบสำรวจว่าได้รับเสียงตอบรับที่ดี ทว่าข้อมูลเก็บจากผู้ที่ชอบตัวงานหรือมีส่วนได้ประโยชน์เท่านั้น ฉะนั้น ความท้าทายด้านตัวงานนี้จึงมักเกิดขึ้นไม่ใช้เพราะจุดประสงค์ไม่ดี แต่เป็นเพราะการมองตัวงานไม่ชัดเจน ทำให้การลงมือทำมีความเบี่ยงเบนของเนื้อหามากเกินไปและหลุดออกจากความเป็นจริง

3. ความท้าทายด้านบริบท

  • โครงการและผลิตภัณฑ์จำนวนมากก้าวข้ามเส้นแบ่งขององค์กร ผู้ถือหุ้น ผู้ผลิต หรือกลุ่มผู้ใช้งานอันหลากหลาย: เชื่อว่าหลายคนคงเคยใช้งานผลิตภัณฑ์อะไรก็ตามนอกเหนือจากขอบเขตที่สินค้านั้นถูกออกแบบมา เรื่องนี้เป็นความท้าทายด้านบริบทของการพัฒนานวัตกรรมสังคมเช่นเดียวกันหากพื้นที่หนึ่งๆมีกลไกความสัมพันธ์ต่อกันด้วยรูปแบบการใช้โครงการหรือผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย เราจะสามารถเข้าใจ เข้าถึง และสร้างการมีส่วนร่วมได้อย่างไร ตัวอย่างเช่น เกษตรกรในบางพื้นที่ของไทยรวมตัวกันด้วยความสัมพันธ์ส่วนตัวแต่อาศัยการรวมตัวและกลุ่มไปเข้ากับโครงการต่างๆที่เกิดขึ้น และใช้โครงการเหล่านั้นให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองและกลุ่ม ทั้งยังมีเครือข่ายความสัมพันธ์ที่ขยายวงกว้าง ซับซ้อน และมี “บริบท” เป็นของตนเอง ไปจนถึงการสร้างบริบทใหม่ของตนเองขึ้นมา ซึ่งการพัฒนาที่เกิดขึ้นใหม่จะพบกับความท้าทายของการมีอยู่โครงข่ายที่มีอยู่เดิมเหล่านี้
  • โครงการหรือผลิตภัณฑ์ต้องตอบสนองความคาดหวังขององค์กร ผู้ถือหุ้น ผู้ผลิต และผู้ใช้จำนวนมาก: เรื่องนี้ดูจะเป็นพื้นฐานที่สามารถทำความเข้าใจได้ง่ายสำหรับทุกคน หากเปรียบกับการทำธุรกิจแน่นอนว่าการตอบสนองของโครงการหรือการทำงานย่อมเป็นไปเพื่อให้องค์กรสามารถดำรงอยู่ได้ มีกระแสเงินหมุนเวียนหรือมีภาพลักษณ์ทางการตลาดที่ดี ทว่าในมุมของการสร้างความสัมพันธ์นวัตกรรมสังคมนั้น โครงการหนึ่งๆจะมีผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและองค์กรประสานความร่วมมืออีกมาก ซึ่งจะมีความต้องการ ความคาดหวังแตกต่างกันออกไป หลากหลายและซับซ้อนมากกว่า ลองนึกถึงองค์กรขนาดใหญ่ที่ต้องการทั้งตัวงานและต้องการภาพเพื่อทำสื่อ ตัวคนในพื้นที่เองที่ต้องการแก้ปัญหาจริงๆ และผู้ที่มีส่วนร่วมต้องดูแลได้รับผลกระทบในระยะยาว หน่วยงานรัฐในพื้นที่ที่ต้องมาร่วมงานและรับภาระหน้าที่ดูแลงานต่อไปอีกนานซึ่งอาจไม่ได้ต้องการเพิ่มภาระงานตั้งแต่แรก
  • Requirement อันหลากหลายในทุกระดับตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ: ข้อนี้ต่างจากข้อก่อนหน้าตรงที่ลงในรายละเอียดและระบุเป็นข้อประสงค์ออกมาอย่างชัดเจน ซึ่งประเด็นความท้าทายคือหลายๆกรณีก็ไม่สามารถสร้างความชัดเจนได้ ต้องลงมือทำและออกแบบการทดลองทดสอบเพื่อหาความชัดเจนภายใต้ความหลากหลายของความต้องการจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่าย หัวข้อก่อนหน้ากล่าวในเชิงของความต้องการผลสัมฤทธิ์(Out come)ที่ปลายทางของงาน หรือ ต้องการผลกระทบ(Impact) แต่ในกรณีที่มีข้อประสงค์มา จะเป็นไปในลักษณะของผลลัพธ์(Output) ซึ่งแน่นอนว่าในเชิงเทคนิคแล้วแต่ละตัวงานย่อมมีความยากและเฉพาะเจาะจงมากยิ่งขึ้น ตามมาด้วยทรัพยากรที่ต้องใช้ ระยะเวลา กำลังคน ของกระบวนการนั้นๆ ตัวอย่างเช่น โครงการแปรรูปขยะในท้องถิ่น หากมีรัฐ เอกชน มาร่วมด้วย ข้อประสงค์ที่แต่ละคนจำต้องทำจะถูกนำมาพูดคุยกัน บ้างขัดแย้ง บ้างเห็นพ้องซึ่งเป็นเรื่องปกติ และเป็นความท้าทายที่ทำให้ทุกแนวทางลงตัว และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องพึงพอใจที่จะจริงใจ

เราได้ข้ามยุคออกแบบเชิงอุตสาหกรรมมาแล้ว เข้าสู่ยุคการออกแบบสังคม โดยมีความตื่นตัวจากคนในท้องถิ่น(Local) ที่ลุกขึ้นมาทำเอง ด้วยการออกแบบสังคม ออกแบบจุดยืนทางความคิด วางแนวทางของ “โลกที่ชุมชนเห็นจากจุดที่ชุมชนยืน วางจุดยืนทางการกระทำ หรือการกระทำต่อโลกในจุดที่ชุมชนอยู่”

จากความท้าทายข้างต้น สำหรับหนังสือที่มองในมุมของนักออกแบบกระบวนการจึงมีมุมมองของนักออกแบบที่ควรมีและจำเป็นต้องมีบทบาทเข้ามาในกระบวนการพัฒนาสังคมต่อไป หากเป็นในบ้านเราจะมีในหลายๆชื่อเช่น นักพัฒนาสังคม ภูมิสถาปนิก วิศวกร นักศิลปวัฒนธรรม นักชีวิวิทยานิเวศน์ นักพัฒนาผลิตภัณฑ์ นักวัสดุฯลฯเหล่านี้คือ “นักออกแบบ” และหรือตามแต่บริบทของปัญหาและงานนั้นๆ ฉะนั้นจึงมีมุมมองที่ “นักออกแบบ” ควรต่อสังคม ดังนี้

  • ทุกคนกำลังอยู่ในกระแสความยั่งยืน และนักออกแบบมีบทบาทเข้าไปช่วยดึงกระแสนี้ให้มีความใหญ่และซับซ้อน (ความซับซ้อนในที่นี้เป็นความหมายในเชิงบวก หมายความว่ามีรูปแบบความสัมพันธ์ที่แข็งแรงและมั่นคงมากเพียงพอต่อการรับมือกับความเปลี่ยนแปลง มีภูมิคุ้นกันต่อความเสี่ยงที่จะเกิดขึ้น)นักออกแบบควรมีมุมมองที่กว้างและข้ามขอบข่ายบริบทงานของตัวเอง และที่สำคัญคือเห็นถึงความสัมพันธ์และกลไกของระบบนั้นๆอย่างแท้จริง
  • เรากำลังเห็นรูปแบบการกระจายตัวของอะไรก็ตามอย่างรวดเร็วในยุคสมัยนี้ การ กระจายตัวที่เกิดขึ้นเป็นการกระจายในทุกมิติ ทั้งในแนวราบที่การเชื่อมโยงเชื่อมต่อกันลดขอบเขตของการส่งคุณค่าลงไป และกระจายในแนวดิ่งที่การส่งผ่านคุณค่าจากล่างขึ้นบนทำได้ง่ายขึ้น จากบนลงล่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น การเข้ามามีบทบาทของนักออกแบบทั้งหลายต้องเข้าใจและใช้ประโยชน์จากสิ่งที่กำลังเกิดขึ้น
  • เรื่องของคนในท้องถิ่นเองที่ลุกขึ้นมาสร้างความเปลี่ยนแปลง อย่างที่เราได้กล่าวไปแล้วก่อนหน้านี้ คือเมื่อมีโครงการหรือวิสัยทัศน์ใดๆก็แล้วแต่จำต้องเข้าใจสถานการณ์ความตื่นตัวของคนในระดับท้องถิ่น และเรื่องราวเดิมที่ท้องถิ่นนั้นเคยต่อสู้และผลักดันกันมา เพราะบทเรียนของท้องถิ่นถือเป็นเข็มทิศที่มีคุณค่าต่อเหล่านักออกแบบทุกคนให้สามารถดำเนินการไปอย่างสอดคล้อง กระทั่งถึงการสร้างกระบวนการที่ไร้รอยต่อของระบบได้
  • ส่งเสริมวัฒนธรรมการออกแบบสังคม หนึ่งในแนวคิดพื้นฐานที่ยั่งยืนที่สุดของสังคมมนุษย์คือ ผู้คนมีความสามารถ มีแรงจูงใจให้แลกเปลี่ยนซึ่งองค์ความรู้ ภูมิปัญญาอันเป็นผลดีต่อกัน ฉะนั้นในโลกที่เส้นแบ่งเรื่องความเป็นส่วนตัว โลกส่วนตัว และความห่างเหินกำลังก่อนตัวหนาเป็นกำแพงมากยิ่งขึ้น เหล่านักออกแบบ เหล่าผู้มีวิสัยทัศน์ควรตั้งเป้าและออกแบบกระบวนการการมีปฎิสัมพันธ์ที่เกื้อหนุน และสร้างสภาพแวดล้อมอันเหมาะกับการออกแบบสังคมของผู้คนในสังคม

นวัตกรรมสังคม-นวัตกรรมเทคโนโลยีหมุนวนไปพร้อมๆกัน

ทุกวันนี้ยิ่งแยกออกจากกันได้ยากยิ่งขึ้น จึงไม่แปลกที่โครงการต่างเกิดขึ้นด้วยการใช้ชื่อที่เฉพาะเจาะจง หรือกลับกันคือใช้ชื่อที่เป้นกลางมากๆครอบจักรวาลจนยากจะเดาว่าทำอะไรกันแน่

ระบบหรือเทคโนโลยีที่ท้องถิ่นออกแบบและสร้าง จะเข้าสู่สากล(Local to global) ได้มากยิ่งขึ้น มีประเด็นความท้าทายอยู่ที่การเชื่อมโยงกัน และด้านที่หน่วยกำกับดูแลจะมองเห็น กล่าวคือ การมีชุมชนต้นแบบหรือดครงการต้นแบบจากหน่วยเล็กหน่วยหนึ่ง จะสามารถขยายผลกระทบถอดบทเรียน หรือส่งต่อคุณค่าทางกระบวนการได้มากน้อยแค่ไหนขึ้นอยู่กับ “การเชื่อมโยง” ซึ่งเกิดขึ้นได้ทุกรูปแบบหรือไม่ก็ไม่อาจเกิดขึ้นได้เลย เนื่องมาจากว่าการเชื่อมโยงที่กล่าวถึงนี้คือ รูปบบ คุณลักษณะ ที่ยังไม่ได้รับการใส่ใจหรือเห็นความสำคัญมากนัก ในขณะที่รูปแบบการส่งต่อมีความสำคัญเทียบเท่ากับตัวคุณค่านั้นๆ

เปรียบเทียงง่ายๆเป็นตัวบุคคล เช่น นักเรียนต้องการให้เพื่อนสอนการบ้าน รูปแบบ ความสามารถ ศักยภาพในการถ่ายทอดนั้นสำคัญมากๆกับผู้รับ ฉะนั้น การที่ท้องถิ่นจะส่งคุณค่าสู่สากลได้ จึงเป็นความท้าทายของการออกแบบร่วมกันของทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง

คุณภาพของความใกล้ชิด

คุณภาพของการรับรู้จากประสบการณ์ตรงจากแหล่งผลิตและผู้ผลิต เป็นประเด็นเรื่อง “คุณภาพของความใกล้ชิด” ที่ต้องคำนึงถึง ในบริบทของเกษตรกรรมหรือบริบทที่ต่างออกไปไม่ว่าอุตสาหกรรมหรือตัวงานนั้นๆจะเป็นอย่างไร ผู้ผลิตถือได้ว่าเป็นจุดเริ่มของกระบวนการการนำเอาทรัพยากรต่างๆมาก่อรูปขึ้นร่างให่เกิดเป็นตัวงาน

ความใกล้ชิดที่เกิดขึ้นในกระบวนการปัจจุบันต่างออกไปอย่างมาก จากที่ลูกค้าไม่เคยรับรู้ว่าสิ่งของหรือบริการที่เราใช้อยู่มีความเป็นมาอย่างไร ผ่านมือใครขั้นตอนใดมาบ้าง ในยุคที่การเชื่อมโยงทางดิจิตอลเข้าถึงมากขึ้นประกอบกับกระแสความรับผิดชอบต่อสังคมสิ่งแวดล้อมกำลังมาแรง ผู้บริโภคและผู้ผลิตต่างเป็นผู้เริ่มตั้งคำถามและป่าวประกาศถึงคุณค่าของตนเอง

รูปแบบของความสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นนำไปสู่ความใกล้ชิดในกระบวนการ ซึ่งการออกแบบมีส่วนสำคัญอย่างมากที่จะสร้างคุณค่าหรือคุณภาพให้กับความใกล้ชิดนั้นๆ ให้เกิดขึ้นอย่างเหมาะสมกับทุกๆฝ่าย Service design ก็เป็นหนึ่งในเครื่องมือในการออกแบบนี้ ทว่าในกระบวนการของนวัตกรรมสังคม มีมิติที่หลากหลายและซับซ้อนมากกว่าจะใช้เพียงเครื่องมือเดียวหรือมุมมองเพียงมุมเดียว

เศรษฐกิจแบบกระจายตัวอาจเป็นคำตอบของระบบที่ยั่งยืน

การที่ชุมชนมีระบบของตนเอง มีเครือข่ายของตนเองในท้องถิ่นย่อยๆ แต่สิ่งที่ขาดไปคือการเชื่อมโยงกันทั้งหมดและเชื่อมโยงกับโลก กล่าวคือ ทุกวันนี้มีการเชื่อมโยงที่มากขึ้นแต่เป็นการเชื่อมโยงกันสร้างเครือข่ายกันเฉพาะกลุ่ม เฉพาะเรื่องมากกว่าจะมองภาพรวมของความสัมพันธ์ทั้งหมด

ในที่นี้ยังหมายรวมไปถึงนโยบายตัวบทกฎหมายที่เปิดกว้่างมากเพียงพอ หรือมีการ กระจายสิทธิ์ในการบริหารจัดการตนเองอย่างอิสระแต่มีจุดร่วม เพราะหากขาดอิสระในการจัดการตนเองโอกาสที่จะเปิดมุมมองใหม่ในการก้าวเข้าสู่การเปลี่ยนแปลงใหม่ๆก็ถูกปิดกั้นไปโดยปริยาย เช่นเดียวกันหากไม่มีจุดร่วมจะเกิดสภาวะที่ต่างฝ่ายต่างกระทำหน้าที่ของตนมุ่งไปคนละทิศทาง เช่น ชุมชนหนึ่งเน้นด้านการพัฒนาการท่องเที่ยว ในขณะที่ชุมชนใกล้เคียงเน้นการลดขยะ เป็นต้น

“การกระจายไม่ใช่การลดทอนอำนาจศูนย์กลางให้ซับซ้อนน้อยลง แต่คือการให้โอกาสระดับท้องถิ่นได้สร้างความซับซ้อน เรียนรู้ความซับซ้อนของตนเองในแบบที่ศูนย์กลางไม่มี”

ระบบที่รับมือกับการเปลี่ยนแปลง

ประเด็นสุดท้ายของตอนแรกนี้คือเรื่องการสร้างภูมิคุ้มกันด้วยการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของระบบทั้งสังคม เทคโนโลยี โดยเฉพาะวัฒนธรรม กล่าวคือสังคมมีพลวัตร เทคโนโลยีมีพลวัตร และโดยเฉพาะวัฒนธรรมคือตัวพลวัตรเองที่เกิดขึ้นรอบตัวเราในทุกๆวัน

การจะสร้างระบบภูมิคุ้นกันเป็นกระบวนการที่ใหญ่และอาศัยเวลา แต่จุดหมายปลายทางนั้นคุ้มค่ากับการเรียนรู้เข้าใจตนเอง เข้าใจพลวัตรของตนเอง เข้าใจว่าสังคมของตนเปลี่ยนแปลงมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร เข้าใจว่าเทคโนโลยีเปลี่ยนแปลงตัวตนมาถึงจุดนี้ได้อย่างไร และเมื่อมองไปข้างหน้า แนวทางใดที่จะดำรงความเหมาะสมของสังคมต่อไปได้ตามยุคสมัย โดยก่อให้เกิดแรงเสียดทานที่รับได้และเป็นธรรม

…………………………………………………………………………………….

สำหรับตอนที่1 นี้หวังว่าจะมีประโยชน์ไม่มากก็น้อยสำหรับผู้ที่สนใจ “นวัตกรรมสังคม” ในมุมมองของนักออกแบบ ซึ่งเมื่อใช้คำว่า “สังคม” แล้วย่อมต้องมีมุมมองที่แตกต่างกันออกไปอีกมาก หากใครมีความคิดเห็นสามารถเข้ามาแลกเปลี่ยนกันได้ครับ…

--

--

R.Phot
Discovery

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way