รีวิวภาพยนตร์สารคดี: ถอดรหัสกลไกสภาพอากาศ#1

R.Phot
Discovery
Published in
3 min readAug 9, 2019

ระวังเรื่องนี้มีสปอย!!!

หลายคนๆคนอาจผ่านหูผ่านตากับภาพยนตร์สารคดีเรื่อง “An Inconvenient Truth เรื่องจริง ช๊อคโลก” ของอัล กอร์ ผู้ขับเคลื่อนและผลักดันเรื่องการแก้ปัญหาสภาวะโลกร้อนกันมาบ้าง หากยังไม่เคยดูแนะนำให้ได้ดูสักครั้ง และท่านจะมองโลกสีครามใบนี้เปลี่ยนไป

An Inconvenient Truth พูดถึงเรื่องโลกร้อนในระดับมหภาคและผลกระทบที่รุนแรงของสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป เหมาะสำหรับบุคคลทั่วไปสามารถทำความเข้าใจได้ง่าย เล่าเรื่องเป็นลำดับ และการแสดงภาพที่ชัดเจน แต่ในบทความนี้จะเล่าถึงเนื้อหาหลักของที่ผมได้ชมภาพยนตร์สารคดีอีกเรื่องหนึ่งชื่อ “Decoding the Weather machine”

สารคดีเรื่องนี้เป็นสารคดีเล่าเรื่องเชิงเทคนิคของเหล่านักวิจัย นักวิทยาศาสตร์ ทว่าเข้าใจง่าย แตกต่างไปจากของอัล กอร์คือเรื่องนี้นเน้นการค้นหา “หลักฐาน” เพื่อพิสูจน์ว่า “โลกร้อนมีอยู่จริง” และกำลังเกิดขึ้น ผู้คนได้รับผลกระทบในหลากรูปแบบทั่วโลก และผมจะขอรีวิวตามลำดับเรื่องของสารคดีครับ

เริ่มเรื่องด้วยคำถามว่าโลกร้อนมีจริงหรือไม่

และผู้ที่เปิดเรื่องและเป็นหนึ่งในตัวละครของสารคดีนี้คือ นักข่าวรายงานสภาพอากาศที่ทำงานมากว่า 3o ปี ทุกๆวัน ทุกเดือน ทุกๆปี เขาจะต้องทำการบ้านศึกษาข้อมูล ลงพื้นที่จริงเพื่อรายงานข่าว จนสามารถสรุปได้ว่าอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงไปจริงๆ และมันเกิดขึ้นจริง

เพื่อนำเข้าสู่การค้นหาคำตอบของเรื่องราว หนึ่งในแนวคิดพื้นฐานคือการแบ่งองค์ประกอบต่างๆบนผิวโลกเป็น 4 องค์ประกอบใหญ่ ได้แก่ สภาพอากาศ/ชั้นบรรยากาศ, มหาสมุทร, แผ่นทวีป/แผ่นดิน และ น้ำแข็งขั้วโลก

จากข้อมูลยุคอุตสาหกรรมเราได้สรุปแล้วว่าช่วงเวลาร้อยปีที่ผ่านมาเราใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลในปริมาณมหาศาล ส่งผลให้เราปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์ออกมาจำนวนมากคำถามแรกของเรื่องราวนำไปสู่การพิสูจน์ว่าปริมาณ CO2 ในชั้นบรรยากาศเพิ่มมากขึ้นจริงหรือไม่

การหาคำตอบแรกเริ่มที่ศูนย์วิจัยชั้นบรรยากาศที่อยู่สูงกว่าระดับเมฆบนภูเขาสูง 3 กิโลเมตร อยู่กลางมหาสมุทร เพื่อเก็บตัวอย่างแก๊สในอากาศจากชั้นบรรยกาศ ก่อนหน้านี้ได้มีการทดลองเมื่อหลายสิบปีก่อน การทดลองเก็บก๊าซ CO2 ในครั้งแรกๆได้ข้อมูลในกราฟที่กระจัดกระจายขึ้นๆลงๆ จนนักวิจัยคิดว่าเครื่องมือผิดพลาดอย่างแน่นอน แต่เมื่อหลายเดือนผ่านไปจนครบรอบ 1 ปี จึงพบว่า ค่าปริมาณก๊าซ CO2 ในอากาศเพิ่มขึ้น-ลดลง เป็นรอบตาม “ฤดูกาล”

ดังนั้นแสดงว่าฤดูกาลมีผลต่อการเพิ่มขึ้นและลดลงของ CO2 ซึ่งไม่ได้เชื่อมโยงโดยตรงกับกิจกรรมของมนุษย์ที่มีการปล่อยปล่อยCO2จากการใช้เชื้อเพลิงตลอดเวลา คำถามคือแล้วมันมาจากไหน คำตอบที่ได้คือ “มาจากพืช” เนื่องจากพืชในซีกโลกเหนือเป็นพืชผลัดใบ หมายความว่าเมื่อพืชอยู่ในช่วงออกใบออกดอก พืชทั่วทั้งภูมิภาคของทวีปจะเป็นตัวกักเก็บ CO2 เอาไว้ ทำให้ CO2 ในบรรยากาศลดลง กลับกันเมื่อถึงฤดูใบไม่ร่วง CO2 จำนวนมากจึงกลับสู่บรรยากาศ จากการย่อยสลายของใบไม้ และจำนวนการดูดซับที่ลดลง

จากการเก็บข้อมูลตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมาทำให้เห็นแนวโน้มว่าอากาศจะร้อนขึ้น และร้อนขึ้นเท่านั้น ทว่าก็ยังมีคำถามเกิดขึ้นว่า “สถานการณ์นี้เป็นปกติหรือไม่” คำตอบของคำถามคือการตามหาหลักฐานที่มีอายุยาวนานมากๆ และมีปฏิสัมพันธ์กับCO2 ในบรรยากาศ สารคดีนำเราข้ามโลกไปสู่แผ่นน้ำแข็งอาร์กติก ที่เราสามารถสืบย้อนบรรยากาศโลกกลับไปได้ถึง 800,000 ปี

เนื่องจากอากาศมีการไหลเวียนไปรอบชั้นบรรยากาศของโลก ทั่วโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปตามพื้นที่ที่พาดผ่าน หนึ่งในนั้นคือพื้นที่ของขั้วโลก ในทุกๆปีจะมีพื้นที่แถบขั้วโลกที่ผิวน้ำของทะเลสาบหรือแหล่งน้ำแข็งตัว จับตัวเป้นน้ำแข็งอย่างรวดเร็ว แก็สบางส่วนที่อยู่ในน้ำจึงถูกแช่แข็งไปด้วยเช่นกัน

ทีมนักวิจัยได้ทำการขุดน้ำแข็งลงไปหลายร้อยเมตรซึ่งแต่ละปีของการแข็งตัวของน้ำแข็งก็าซจำนวนหนึ่งจะถูกแช่แข็งเอาไว้เป็นฟองอากาศ แต่ละชั้นจะมีความแตกต่างกันเหมือนวงปีของต้นไม้หรือชั้นของดิน ซึ่งสามารถสืบย้อนกลับไปได้ว่าชั้นดังกล่าวเกิดขึ้นเมื่อกี่ปีมาแล้ว และแก๊สที่อยู่ในนั้นคือสิ่งที่อยู่ในบรรยากาศในช่วงปีนั้นนั่นเอง

ก๊าซในฟองอากาศจะถูกละลายออกจากน้ำแข็งในห้องปฏิบัติการแล้วนำมาวิเคราะห์องค์ประกอบเคมี พบว่ามีค่าที่ใกล้เคียงกันมากกับการตรวจวัดก๊าซจากสถานีบนยอดเขา นั่นหมายความว่าสามารถใช้ค่าก๊าซที่ขุดเจาะได้จากชั้นน้ำแข็ง มาศึกษาและเป็นตัวแทนของก๊าซ CO2 ในชั้นบรยาากาศของโลกเมื่อหลายแสนปีก่อนได้

เมื่อทำการเปรียบเทียบย้อนกลับไปพบว่าวงจรหรือก๊าซ CO2 ในชั้นบรรยากาศมีขึ้น-ลง เป็นวงรอบหลายหมื่นปี ทว่าในช่วง100 ปีที่ผ่านมา พบว่ามี CO2 สูงมากจนผิดปกติจากที่เคยเป็นมา คำถามต่อมาคือแล้วปริมาณ CO2 ที่เพิ่มขึ้นในชั้นบรรยกาศส่งผลต่ออุณหภูมิของชั้นบรรยากาศโลกได้อย่างไร??? การตอบคำถามนั้นนำเราไปสู่ข้อมูลในด้านชีววิทยา

เปลือกหอยโบราณถูกนำมาเป็นตัวช่วยบอกอุณหภูมิของน้ำทะเล เนื่องจากเปลือกหอยจะถูกสร้างขึ้นด้วยองค์ประกอบของออกซิเจน 16 และ 18(มีโปรตอนเพิ่ม2ตัว) ถ้าอุณหภูมิน้ำค่อนข้างเย็น เปลือกหอยจะถูกสร้างและมีออกซิเจน18อยู่มาก ฉะนั้น เมื่อพิจารณาแต่ละชั้นของเปลือกหอยโบราณที่ถูกสร้างขึ้นจะสามารถบอกได้ว่าในช่วงปีนั้นมีอุณหภูมิน้ำทะเลเท่าใด จากจำนวนองค์ประกอบของออกซิเจน 18

เมื่อสรุปได้เช่นนั้นการขุดเจาะพื้นทะเลเพื่อน้ำชั้นโคลน ทราย และฟอสซิลหอยโบราณจำนวนมากจึงเกิดขึ้น แล้วทำสรุปเป็นข้อมูลอุณหภูมิอากาศของโลกหลายล้านปีย้อนหลัง และแน่นอนว่าข้อมูลกราฟแนวโน้วอุณหภูมิอากาศโลกแทบจะตรงกันเป๊ะกับข้อมูลกราฟของปริมาณก๊าซ CO2 ย้อนหลัง จึงสรุปได้ว่ามีการเปลี่ยนแปลงตามกัน เมื่อ CO2 ในบรรยากาศสูงขึ้น อุณหภูมิของบรรยากาศโลกจึงสูงขึ้นตามไปด้วย

อย่างไรก็ตามนักวิจัยต้องการหลักฐานเพิ่มเติมเพื่อยืนยันสมมติญานดังกล่าว จึงทำการเก็บ CO2 ในบรรยากาศปัจจุบันมาวิเคราะห์เทียบกับ CO2 ที่ละลายจากน้ำแข็งโบราณ พบว่ามีองค์ประกอบที่แตกต่างกันอย่างชันเจน กล่าวคือองค์ประกอบจากก๊าซี่ที่เป็นของโบราณจะเป็นธรรมชาติ ในขณะที่ก๊าซ CO2 อีกส่วนเป็นองค์ประกอบที่เกิดจากการเผาไหม้ สรุปได้อีกครั้งว่าได้ว่าค่า CO2 ที่สูงขึ้นในช่วง100 ปีหลังมานี้ เกิดจากการกระทำของมนุษย์อย่างแน่นอน

เมื่อระบบโลกมีก๊าซ CO2 มากขึ้น โดยคุณสมบัติของก๊าซชนิดนี้สามารถกักเก็บความร้อนได้มากขึ้น เสมือนการเพิ่มความร้อนหรือพลังงานเข้ามาในชั้นบรรยากาศ จึงเข้าใจได้ว่าทำไม่เราจึงเห็นพายุรุนแรงมากขึ้นทุกๆปี เพราะพลังงานที่สะสมอยู่ในบรรยากาศมีมากขึ้น

ส่วนต่อมาคือ คำถามว่าแล้วบนพื้นทวีปมีส่วนอย่างไรบ้างต่อบรรยากาศของโลก นักวิจัยได้ทำการถ่ายภาพด้วยเทคโนโลยีขั้นสูงเพื่อเก็บภาพกิจกรรมของต้นไม้ขณะทำการสังเคราะห์ด้วยแสง พบว่าตอนกลางวันส่วนยอดของป่าจะมีการสะสมตัวของ CO2 อยู่มากเนื่องจากกิจกรรมของพืช ฉะนั้นพืชจึงเป็นผู้ช่วยกักเก็บและดึง CO2 ในบรรยากาศลงไปได้อย่างมาก

ส่วนต่อมาคือ “มหาสมุทร” การศึกษาอุณหภูมิมหาสมุทรซึ่งเป็นเสมือนโลกมืดของเหล่านักวิทยาศาสตร์ เรียกได้ว่าเรารู้จักห้วงอวกาศมากกว่ามหาสมุทรของเราเองเสียอีก อย่างไรก็ตามเราทราบแล้วว่าใต้มหาสมุทรจะมีกระแสน้ำเย็น และกระแสน้ำอุ่นไหลเวียนอยู่ตลอดเวลา แต่ก็ยังไม่สามารถตรวจจับหรือเข้ากลวงจร กลไก และเส้นทางของกระแสน้ำได้มากนัก

นักวิจัยจึงสร้างทุ่นตรวจวัดอุณหภูมิและสภาพของน้ำขึ้นมา โดยการทำงานของทุ่นจะตรวจวัดอุณหภูมิของน้ำและองค์ประกอบทางเคมีที่ระดับผิวน้ำ 10 วันก่อนจะจมตัวเองลงไปในแนวดิ่ง 900 เมตร และตรวจวัดในระดับนั้นอีก 10 วัน จากนั้นลงไปที่ระดับความลึก 1,800 เมตรอีก 10 วัน จากนั้นจึงลอยตัวขึ้นมาบนผิวน้ำให้ตัวส่งสัญญาณลอยเหนือผิวน้ำก่อนส่งข้อมูลทั้งหมดที่รวบรวมได้ไปยังดาวเทียมและฐานข้อมูลเพื่อทำการวิเคราะห์ต่อไป

ทุ่มเหล่านี้ได้ทำการปล่อยณจุดต่างๆในมหาสมุทรทั่วโลกกว่า 3,000 ทุ่น พบว่าใต้ทะเลลึกจะมีเส้นทางของกระแสน้ำเย็นที่ไหลเวียนอยู่ด้านล่างและไม่เคยไม่ได้สัมผัสอากาศเลยเป็นเวลาหลายร้อยปี หมายความว่าน้ำเหล่านี้ไม่เคยได้สัมผัสอากาศเลยตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรม เมื่อบรรยากาศโลกร้อนขึ้น ประกอบกับกลไกการไหลตัวของกระแสน้ำเย็นที่เวียนมาถึงพื้นที่ที่สัมผัสกับอากาศ น้ำเย็นจากทะเลลึกเหล่านี้จึงดูดซับความร้อนเอาไว้

กว่า 30 ปีที่ทุ่นลอยเก็บข้อมูลของมหาสมุทร พบว่าน้ำทะเลอุ่นขึ้นจริง!!! หมายความว่าปริมาณก๊าซ CO2 ที่เราปล่อยในปริมาณมหาศาลกว่าร้อยปีที่ผ่านมา ควรจะทำให้บรรยากาศของโลกร้อนขึ้นกว่านี้อีกมาก แล้วน้ำเย็นเหล่านี้ได้ช่วยดูดซับเอาไว้ แต่มันก็ได้ทำให้มหาสมุทรอุ่นขึ้น แม้จะอยู่ที่ระดับ1/4 องศาเซลเซียส แต่เมื่อเทียบกับพื้นที่เกือบทั้งโลกหมายความว่าพลังงานความร้อนถูกสะสมไว้มากขึ้น และรอเวลาปลดปล่อยออกมาในรูปของพายุที่รุนแรง และก่อตัวบ่อยครั้งมากขึ้น

ผลที่ตามมาคือสิ่งมีชีวิตจำนวนมากปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนของของอุณหภูมิน้ำทะเล ระบบนิเวศน์ถูกทำลายลง แหล่งอนุบาลสัตว์น้ำเริ่มลดลง เสมือนน้ำของวงจรชีวิตในมหาสมุทร กำลังถูกตัดทอนให้สั้นลง และสั้นลง

เมื่ออุณหภูมิน้ำทะเลสูงขึ้น พื้นที่ที่เป็นแผ่นน้ำแข็งจึงละลายเร็วขึ้นเมื่อปี 2015 มีแผ่นนำแข็งที่แตกออกมามีขนาดใหญ่กว่าตึกเอ็มไพร์สเตท 2 เท่า ซึ่งเป็นแค่กรณีเล็กไปเลยหากเทียบกับแนวโน้มอัตราการละลายของน้ำแข็งที่รวดเร็วมากขึ้น และอัตราการก่อน้ำแข็งที่ลดลงในฤดูหนาวของแต่ละปี

ลองนึกภาพตามนะครับ อัตราการปล่อย CO2 มากขึ้น(อันนี้ข้อมูลทางอุตสาหกรรมยืนยันได้) ทำให้อุณหภูมิโลกร้อนขึ้น(การทดลองได้พาเราไปยืนยันแล้ว) ส่งผลให้อุณหภูมิน้ำทะเลเพิ่มขึ้น(อันนี้ก็พิสูจน์แล้ว) เมื่อน้ำร้อนขึ้นน้ำแข็งขั้วโลกก็ละลายเร็วขึ้นและก่อตัวในฤดูหนาวได้ลงลงเพราะบรรยากาศร้อนขึ้น กล่าวอีกนัยหนึ่ง ธารน้ำแข็งเป็นส่วนที่ทำให้อุณหภูมิน้ำทะเลเย็นลง และน้ำทะเลที่เย็นลงช่วยดูดซับความร้อนจากบรรยากาศได้ เมื่อน้ำแข็งลดลงเรื่อยๆ จนหมด!!! หมายความว่าโลกจะร้อนมากโดยไม่มีสิ่งช่วยเหลืออีกต่อไป!!!

……………………………………………………………………………………

ขอจบตอนที่1 เพียงเท่านี้เนื่องจากเนื้อหาในสารคดีแม้จะเพียง 48 นาที ทว่าอัดแน่นไปด้วยข้อมูลและการพิจารณา จึงของแบ่งออกเป็นสองตอน ในตอนที่ 2 มาติดตามกันถึงการประเมินผลกระทบที่จะเกิดขึ้น การร่วมมือ และลงมือตั้งรับสถานการณ์เป็นอย่างไร และผลกระทบที่เกิดขึ้นแล้วจริงๆในโลกทุกวันนี้!!!

--

--

R.Phot
Discovery

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way