เมื่อคนรุ่นใหม่ค้นพบ “งาน” ของพ่อ

R.Phot
Discovery
Published in
2 min readOct 15, 2017

เราคนไทยได้เห็นภาพของในหลวงรัชกาลที่ ๙ ถือแผนที่ คล้องกล้องถ่ายรูป และเหน็บวิทยุเดินทางไปยังพื้นที่ต่างๆของประเทศอยู่เสมอ ไม่ว่าจากทางโทรทัศน์ สื่อต่างๆ ไปจนถึงภาพถ่ายติดบ้านของตนเอง และทำให้เกิดคำถามขึ้นในใจว่าเหตุใดท่านจึงต้องทำ “อย่างนั้น” คำตอบนั้นแสนง่าย

“ ท่านออกเดินทางตามหาสิ่งที่รัก และสิ่งที่รักนั้นคือ ประชาชน ”

ในหลวงรัชกาลที่ ๙ ทรงงานเรื่อง “น้ำ” มากที่สุด ตั้งแต่น้ำบนดินเดินทางผ่านทุกกระบวนการอุปโภคบริโภคไปจนถึงน้ำหยดแรกที่ลงมาจากฟ้า แผนที่ระดับความสูงของพระองค์ท่านที่เราเห็นอยู่เสมอคือแผนที่ มาตราส่วน ๑:๕๐,๐๐๐ ขนาด ๕ คูณ ๑๒ เมตร และมีทั้งหมด ๙ แผ่น ต่อกันเป็นแผนที่ประเทศไทย จะถูกพับและนำไปลงพื้นที่อยู่เสมอ

เพราะ “น้ำ” เป็นสิ่งที่ไหลลงสู่ระดับต่ำกว่าเสมอ แปรเปลี่ยนไปตามพื้นที่ พระองค์ท่านจึงเดินทางลงพื้นที่เพื่อศึกษา ตรวจสอบและยืนยันกับผู้คน ดังที่เห็นในภาพที่พระองค์ท่านสอบถามชาวบ้านอยู่เสมอ เพื่อหาส่วนที่ดีที่สุดที่จะแก้ปัญหา “น้ำ” ในทุกพื้นที่ ทั้งประเทศไทย เพราะเมื่อคนมีน้ำ คนสร้างอาหารได้ เมื่อคนมีกินก็พัฒนาตนต่อไปได้

“เพราะน้ำคือชีวิต”

ในยุคสมัยที่เครื่องมือเทคโนโลยียังไม่อำนวยความสะดวกเท่าปัจจุบัน พระองค์ท่านยังสามารถศึกษาจนบอกได้ว่าบริเวณไหนควรสร้างหรือจัดการอย่างไรเพื่อจัดการน้ำ ดั่งหลายคนได้ยกย่องสรรเสริญถึงพระปรีชาสามารถของพระองค์ แต่ผมขอมองในมุมของความทุ่มเท ทำงานอย่างหนักจนเข้าใจความเป็นไปของธรรมชาติและคน เป็นอย่างดี ความทุ่มเทนี้เองที่ผมและทีมงานรวมถึงทุกๆคน ต้องเอาเป็นแบบอย่างในการทำงานและใช้ชีวิต

ในฐานะของคนรุ่นใหม่ที่อยากลงมือทำ แบบเดียว กับที่สิ่งที่พระองค์ท่านได้ทรงแสดงให้เห็น แต่เรามักจะมีคำถามขึ้นมาว่า
“ถ้าหากเราอยากลงมือทำงานแบบท่าน จะต้องเริ่มจากจุดไหน”

ผมเป็นหนึ่งในคนรุ่นใหม่ที่โชคดีที่ได้มีโอกาสศึกษาและทำโครงการที่สนับสนุนคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของเกษตรกร โดยเป็นโครงการสร้างสถานีตรวจวัดสภาพอากาศแบบองค์รวมระดับท้องถิ่น ARMOGAN เราพยายามทำให้การตรวจวัดสภาพอากาศนั้นมีความละเอียดถึงระดับตำบล ซึ่งในแต่ละภูมิประเทศมีลักษณะต่างกัน ส่งผลต่อสภาพอากาศและภูมิอากาศต่างกันไปด้วย ดังนั้น หนึ่งในแผนที่ที่สำคัญที่สุดในการพิจารณาคือ “แผนที่ความสูง” ซึ่งในแต่ละพื้นที่มีความต่างกันในแบบเฉพาะของตัวเอง

นอกจากเรื่องภูมิประเทศแล้ว พวกเราต้องศึกษาเรื่องภูมิอากาศต่อ อย่างเช่นเรื่องกลไกการเกิดปรากฏการณ์ต่างๆ ศึกษาการตรวจวัดปรากฏการณ์เหล่านั้น และสำคัญที่สุดคือการส่งข้อมูลให้ทุกคนในท้องถิ่นนั้นได้รับรู้ความเป็นไปของสภาพอากาศ เพื่อการแจ้งเตือน เพื่อลดความเสียหาย เพื่อลดการจัดทางการเกษตร เพื่อควบคุมโรค และเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น

ดังนั้นการที่เราจะตรวจวัดสภาพอากาศในพื้นที่ที่แตกต่างกันนั้น เราจำเป็นต้องศึกษาและออกแบบระบบการวัดให้เหมาะสมกับพื้นที่ จึงทำให้เข้าใจว่า “เหตุใดพระองค์ท่านจึงลงพื้นที่พร้อมแผนที่อยู่เสมอ”

โครงการที่เราทำอยู่เป็นเพียงส่วนเล็กๆเท่านั้นแต่ก็ทำให้เข้าใจและตระหนักถึงความทุ่มเทของพระองค์ท่าน และเข้าใจพระราชดำรัสคำว่า “เรารอไม่ได้” และกลับไปพิจารณาพระราชดำรัสอื่นๆที่ท่านทรงย้ำเตือนพวกเราตลอดระยะเวลาอันยาวนานที่ผ่านมา

ขอลงท้ายด้วยท่อนหนึ่งจากบทเพลงอันเป็นพลังของทุกๆคน และทำให้รู้สึกว่าพวกเราอยากทำให้ฝันนั้นเป็นจริง และฝันของผมที่อยากเติมแผนที่ขวานทองนี้ให้เต็ม

“ขอฝันใฝ่ในฝัน อันเหลือเชื่อ…”

--

--

R.Phot
Discovery

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way