ARMOGAN เห็ดพยากรณ์ มาดูซิว่าเรามีแนวคิดการทำงานกันยังไง

S.Songklod IToon
Discovery
Published in
3 min readSep 23, 2017

--

ระยะประมาณ 1 ปี 4 เดือนที่ผ่านไปกับงานของพวกเรา ขลุกอยู่กับโครงการออกแบบและพัฒนานวัตกรรมใหม่เอี่ยม ที่เราให้ชื่อมันว่า ARMOGAN (อาร์โมแกน) หรือที่หลายๆ คนที่เคยได้ไปเจอกับพวกเราในงานต่างๆ อาจจะติดปากเรียกมันว่า “เจ้าเห็ดพยากรณ์” วันนี้ถือโอกาสมาเล่าที่มาที่ไป และแนวคิดกันหน่อย ว่านวัตกรรมนี้มันเริ่มต้นมาจากอะไร

จุดเริ่มต้นของเห็ดน้อย
จริงแล้ว นวัตกรรมมันเริ่มมาจากสิ่งง่ายๆ ที่ใกล้ตัวมาก วันหนึ่งทีมของเรานั่งทำงานอยู่ที่ห้องอย่างเพลิดเพลินจนดึก ตอนนั้นประมาณ 3 ทุ่มเห็นจะได้ เริ่มหิว และอยากกลับบ้าน พอออกจากห้องถึงกับต้องตกใจ เพราะอะไร? “ฝนตกหนักอย่างกับไม่เคยตกมานาน” คำถามตอนนั้นลอยมาภายในกลุ่มว่า ทำไมเราไม่เห็นรู้เรื่องฝนตกกันเลยซักคน

เมื่อสงสัยก็ต้องค้นหา
หลังจากเกิดคำถามขึ้นมาในกลุ่ม ทีมของเราก็เริ่มทำการค้นหาข้อมูล เว็บพยากรณ์อากาศทั้งในไทยและต่างประเทศมาดูซิว่ามันแตกต่างกันอย่างไร
ปรากฎว่า

เว็บไซต์กรมอุตุฯ ไทย กับเว็บ Weather forecast จากต่างประเทศ
Windy เว็บสุดโหด
Visible mode จาก NASA’s Eyes

เราค้นพบว่า มีข้อมูลแสดงถึงสภาพอากาศ แต่ไม่มีข้อมูลสำหรับการแจ้งเตือน หรือที่พบบ่อย เราทุกคนในฐานะคนไทย มักจะได้ยินประกาศบอกว่ามีฝนกี่เปอร์เซ็นต์ของพื้นที่ (ซึ่งแน่นอนมันเป็นพื้นที่ใหญ่มาก) ทำให้หลังจากค้นหาข้อมูลก็เริ่มเห็นถึงปัญหาที่มีอยู่ในตอนนี้ และคิดกันว่าถ้าเราเริ่มทำมันอะไรสักอย่างให้มันดีขึ้นคงน่าจะมีประโยชน์ในหลายๆมิติ ทั้งเกษตร คนเมือง และภาคธุรกิจ

พออะไรเริ่มชัดเจนขึ้นก็ถึงเวลาของการตั้งชื่อเรียกของนวัตกรรมนี้ หลายๆ คนอาจจะบอกว่า ARMOGAN เรียกยากจังขอเรียก ARMAGEDDON(อาร์มาเกดอน) บ้าง ARMOMO(อาร์โมโม๊ะ) บ้าง แต่จริงๆแล้วมันมาที่มาที่ไปคือ

ARMOGAN มาจากคำแสลงของทหารฝรั่งเศษ ช่วงศตวรรษที่ 19 แปลว่า วันนี้อากาศสดใสเหมาะแก่การเริ่มต้นการเดินทาง

ARMOGAN — The 19th century naval slang for fine weather — in particular the perfect weather to start a journey.
ref.http://mentalfloss.com/article/65798/32-long-forgotten-weather-words

เห็ดน้อยอาร์โมแกนคืออะไรกันแน่นะ
โดยสรุปง่ายที่สุด คือ ARMOGAN เป็นระบบตรวจวัดสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมแบบองค์รวม (คือตรวจมันทุกอย่างรอบตัวมนุษย์ซึ่งถูกครอบไว้ด้วยอากาศ) เพื่อเรียนรู้ธรรมชาติในพื้นที่หนึ่ง (ย้ำว่าในพื้นที่หนึ่ง เช่น บนหัวเราในสำนักงาน ในมหาวิทยาลัย หรือท้องฟ้าที่เหนือบ้านกู เอ้ย เหนือบ้านเรา) เมื่อเราเก็บข้อมูล และเรียนรู้การเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศในพื้นที่หนึ่งได้เป็นรูปแบบชัดเจน เราก็จะทำนาย และพยากรณ์อากาศได้แม่นยำมากขึ้นสำหรับพื้นที่นั้นๆ นั่นเอง … นอกจากนั้นเรายังคิดถึงเรื่องสิ่งแวดล้อม สาธารณะสุข คุณภาพชีวิต และพื้นฐานการวัดธรรมชาติเพื่อช่วยในการตัดสินใจทางการเกษตร ทั้งหมดนี้อยู่ในภายใต้ระบบ ARMOGAN ทั้งสิ้น

วิธีคิดก่อนที่จะมาเป็นเห็ดน้อย
หลังจากทีมของเราได้คุยกันคร่าวๆ แล้ว จึงติดต่อไปที่ทีมสถาปนิกเพื่อมาคุยเรื่องการออกแบบโครงสร้างให้รองรับการทำงานของ Sensors และปัจจัยต่างๆ ที่เราจะเก็บข้อมูลสภาพอากาศ แต่แน่นอนระดับทีมงานพวกเราแล้ว เราได้ส่งโจทย์โหดหินเพิ่มเข้าไปให้ทีมสถาปนิกว่า เราขอไม่เอาเครื่องสี่เหลี่ยมๆ แบบที่เค้าใช้กันอยู่ทุกวันนี้นะ มันดูน่ากลัว มันดูวิทยาศาสตร์ไป เราอยากได้อะไรที่ เด็กๆ เห็นแล้วต้องเดินไปชี้ถามพ่อแม่ ถามคุณครู ว่าไอ้เจ้าอันนั้นมันคืออะไร แล้วให้พ่อแม่หรือครูตอบคำถามแล้วก็สอนเรื่องอากาศเด็กๆ ต่อไปได้เลย เราจึงไม่ได้คิดแค่จะทำนวัตกรรม เรากำลังทำนวัตกรรม + สังคม หรือ Social Innovation ซึ่งต้องตอบโจทย์ Social Science ด้วย

ผลลัพธ์นั้นช่างแสนเพลิดเพลิน แต่เต็มไปด้วยแนวคิดที่ผสมผสานความเป็นไปได้ทางสถาปัตยกรรม วิศวกรรม อุตุนิยมวิทยา และการส่งประสบการณ์ที่ดีของมนุษย์ โดยทีมสถาปนิกทำการบ้านให้เรา เกิดเป็นไอเดียการออกแบบ สถานีตรวจวัดสภาพอากาศแบบองค์รวมระดับท้องถิ่น ARMOGAN Idea ออกมาทั้ง 3 แบบ คือ
1. โครงสร้างแบบต้นโกงกาง
2. โครงสร้างใบไม้
3. โครงสร้างแบบเห็ด

ตัวอย่างงาน Design จาก ทีมสถาปัตย์

สุดท้าย การโหวตเลือกก็เกิดขึ้น เสียงส่วนมากของพวกเราเลือก เห็ด เพราะว่า
ในทางชีววิทยาอาณาจักรเห็ดรา (Fungi Kingdom) เป็นจุดตรงกลางที่ผสมผสานวิวัฒนาการระหว่างพืชและสัตว์เข้าด้วยกันเป็นสัญลักษณ์ของการเชื่อมโยงสิ่งมีชีวิต
นอกจากนี้เห็ดรายังอ่อนไหวต่อสภาพแวดล้อม และสภาพอากาศซึ่งเป็นปัจจัยต่อการเจริญเติบโต หากมันได้เติบโตขึ้นแล้วเมื่อสภาพแวดล้อมเหมาะสม เห็ดราก็จะสืบพันธุ์ขยายวงศ์วานออกไปได้อย่างไม่สิ้นสุด เป็นสัญลักษณ์ของผลกระทบที่เราได้สร้าง และแผ่ขยายออกไปไม่รู้จบ

เห็ด Prototype v.1

ในตอนต่อไปเราจะเขียนเรื่องราวเกี่ยวกับการออกไป Validate ARMOGAN หรือ “เห็ดพยากรณ์” กับเกษตรกรกันครับ

--

--