การเดินทางสู่โลกอื่น#2.1: กลุ่มพัฒนาเมืองยั่งยืน

R.Phot
Discovery
Published in
3 min readSep 13, 2019

เรื่องเล่าในตอนนี้ ค่อนข้างละเอียดอ่อน ฉะนั้นโปรดอ่านให้จบ แล้วค่อยมาถกประเด็นกัน ซึ่งเรายินดีอย่างยิ่ง!!!

ในเดือน สิงหาคมที่ผ่านมา เราได้มีโอกาสเข้าร่วมออกแบบกับองค์กรซึ่งมีพื้นที่และสร้างการร่วมสร้างสรรค์(Co-creation) โจทย์ที่เราได้รับมาในตอนแรกไม่ใช่โจทย์ แต่เป็นวิสัยทัศน์ หรือเรียกให้ตรงที่สุดคือ “ฟุ้ง” ถึงเรื่องเมืองที่ยั่งยืนผ่านการลงมือทำทีละน้อย

การฟุ้งดังกล่าวได้มากจาผู้มีวิสัยทัศน์ “ได้เห็น” สถาปัตยกรรมสาธารณะของต่างประเทศที่มีลักษณะเป็นม้านั่งและเสา โดยตัวงานมีชื่อว่า Prep ย่อมาจาก Preparation หรือการ เตรียมพร้อมรับมือ ภายในตัวงานจะมีแหล่งพลังงานไฟฟ้าผู้คนสามารถมานั่งหยอนใจและชาร์จไฟได้ มีอาหารแห้ง และน้ำสำหรับคน 50 คนในกรณีที่เกิดภัยพิบัติสามารถมารวมพลและยังชีพอยู่ได้ชั่วขณะหนึ่งก่อนจะรับมือสถานการณ์ต่อไป

ด้วยบริบทที่เราได้รับฟัง สิ่งแรกที่พยายามเชื่อมโยงแนวคิดนั้นเข้ากับเมืองไทยคือ แล้วเมืองไทยต้องการสิ่งนี้หรือไม่??? เราเชื่อมโยงให้เข้ากับขอบเขตงานในเบื้องต้นว่าโครงการนี้จะถูกสร้างขึ้นในพื้นที่กรุงเทพฯ อาจเป็นพื้นที่สาธารณะที่ใดที่หนึ่งซึ่งผู้คนจะผ่านไปผ่านมา

เมื่อพื้นที่คือกรุงเทพฯ คำถามต่อมาหากจะนำแนวคิดมาปรับใช้บ้าง แล้วกรุงเทพฯมีภัยพิบัติอะไร??? น้ำท่วม? มลพิษในอากาศ?

ทิศทางการพูดคุยนำเรามาสู่ปัญหา “ฝุ่นละอองในอากาศ” เราจึงทำการศึกษาข้อมูลปัญหาฝุนละอองที่มีอยู่ในกรุงเทพฯช่วงสองสามปีที่ผ่านมา(ช่วงกระแสมาแรงแต่จริงๆฝุ่นมีมานานแล้ว) พบว่าปริมาตรอากาศและฝุ่นในอากาศมีมากจนไม่สามารถบำบัดได้ด้วยการใช้เครื่องฟอก หรือการฉีดละอองน้ำ

มีเพียงกลไกธรรมชาติในตอนนี้ที่ยังตอบโจทย์ “การบรรเทา” ปัญหาลงได้บ้างจากลมมรสุม พายุฝน และลมบก-ลมทะเล(จากอ่าวไทย) ฉะนั้นปัญหาที่ไม่สามารถแก้ไขได้ในทางตรงจึงจำเป็นต้องมองหาทางเลือกอื่นที่มีอยู่ในการแก้ไขปัญหา

ในต่างประเทศมีหอฟอกอากาศขนาดใหญ่(แต่ก็ช่วยบรรเทาร่วมกับนโยบายอื่นๆ) มีการออกกฎการลดแหล่งกำเนิดมลพิษหลายช่องทาง และแน่นอนว่าเมื่อมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ซึ่งมีความเป็นไทยๆอยู่จึงไม่สามารถเป็นไปในทิศทางนั้นได้ และสุดท้ายหนึ่งในแนวคิดที่น่าสนใจคือ การดักจับฝุ่นแล้วนำไปใช้ประโยชน์

เราไม่ได้บอกว่าแนวคิดนี้ดีที่สุด เราเพียงมองหา ความเป็นไปได้ ที่จะเริ่มมองปัญหาในทิศทางใหม่ควบคู่กับการยอมรับความเป็นจริงของสภาพสังคม กล่าวคือหากจะต้องใช้น้ำฉีดพ่นตลอดทั้งปีก็คงเป็นไปไม่ได้ หากจะให้ทุกตึกปล่อยละอองน้ำใครจะยอมแบกรับต้นทุนนานขนาดนั้น หากจะให้งดเผา งดร้านปิ้งย่างจะเป็นไปได้แค่ไหน หากจะหันไปใช้รถสาธารณะเต็มตัว ระบบขนส่งรองรับแล้วหรือยัง หากจะขับรถทะเบียนคู่-คี่ ตัวรัฐมนตรีเองจะยอมหรือไม่ฯลฯ แล้วไหนคือทางออก???

แนวคิดการดักเก็บฝุ่นมาใช้ประโยชน์มีการคิดค้นและพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง แบรนด์หนึ่งนำอุปกรณ์มาครอบฝาท่อไอเสียโดยตรงเพื่อให้ได้เขม่าจากแหล่งกำเนิดก่อนจะนำไปผ่านกระบวนการทางเคมีและสร้างเป็น “หมึก” ที่เปลอดภัยสำหรับสร้างสรรค์งานศิลปะ อีกแบรนด์หนึ่งสร้างหอเก็บฝุ่นไว้ตามที่สาธารณะ แล้วนำฝุ่นมาบีบอัดบรรจุในสารเคลือบที่แน่นหนาผลิตเป็นแหวนเครื่องประดับเพิ่มมูลค่า และคุณค่าให้กับผู้พบเห็น มีการโฆษณาว่าแหวนหนึ่งวงที่คุณซื้อคืออากาศพิษ 30,000 ลมหายใจที่คุณกักเก็บไว้ไม่ให้ทำร้ายใคร

เราเลือกแนวคิดนี้มาพูดคุยในมุมมองว่า “เรารู้ว่าฝุ่นเป็นปัญหาใหญ่ เรารู้ว่าจะให้ทุกคนหันมาสนใจและลงมือทำเป็นไปได้ยาก และเราก็ไม่ใช่คนที่จะแก้ปัญหาได้ แต่เรากระตุ้นสังคมให้เห็นความสำคัญได้”

การพูดคุยถึงทางเลือกในการสร้างแบรนด์ให้กับการเก็บฝุ่นแล้วนำมาผลิตเป็นเครื่องประดับหรือของใช้ที่ทนทาน เป็นแนวคิดเดียวกับการนำผ้าใบรถบรรทุกมาทำกระเป๋า หรือขยะทะเลมาทำรองเท้า ทว่า แนวคิดถูกมองข้ามไปและไม่ได้รับการสนใจจากผู้มีวิสัยทัศน์

เมื่อแนวคิดแรกไม่เป็นผล เราจึงมองหา ความเป็นไปได้อื่น ในการลงมือทำโครงการที่จะให้ก่อเกิดผลกระทบอย่างแท้จริง แม้จะไปไม่ถึงการสร้างความยั่งยืน แต่เราก็มองให้ไกลกว่าปัญหาที่มีอยู่ในปัจจุบัน เพื่อมองหาโอกาสการแก้ปัญหาที่จะเกิดขึ้น

ทางเลือกของเรากลับไปสู่ การทำความเข้าใจธรรมชาติ เมื่อเรากำลังจะแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นละอองในอากาศหรือทำงานด้านมลพิษในอากาศ จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องศึกษาสภาพอากาศ เนื่องจากฝุ่นอยู่ในอากาศ อากาศที่เคลื่อนที่ไป-มา นำพาฝุ่นฟุ้งกระจายทุกทิศทาง แนวคิดของเราสอดคล้องกับการพัฒนาเมืองขั้นพื้นฐาน นั่นคือการทำความเข้าใจการระบายอากาศของเมือง

เราประเมินความเป็นไปได้ที่จะหาจุดติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศในพื้นที่เป้าหมายเพื่อทำการวิเคราะห์กลไกสภาพอากาศในสี่แยกหนึ่งของเมืองเพื่อหาว่าจริงๆแล้ว สภาพอากาศ ความร้อน ความชื้น ปริมาณฝุ่น ทิศทางการพัดของลม ในช่วงฤดูกาลและหรือมีมวลอากาศแบบต่างๆเป็นอย่างไร ฝุ่นที่วัดได้มาจากพื้นที่ตรวจวัดจริงหรือไม่หรือมาจากพื้นที่อื่น เปรียบเทียบข้อมูลสนับสนุนเช่น ปริมาณการจราจรที่ผ่านแยกนั้น งานเทศกาล และหรือกิจกรรมอื่นๆที่นำไปสู่การออกเดินทางที่มากขึ้น

แผนของเราคาดว่าจะเก็บข้อมูลไม่น้อยกว่า 3 ปีเพื่อหารูปแบบและความสัมพันธ์ของฝุ่นในบริเวณแยกนั้น คำตอบที่เราได้จากผู้มีวิสัยทัศน์คือ งานของเราไม่เกี่ยวกับงานโครงการที่ทำปัญหาเรื่องฝุ่นอยู่ พร้อมทั้งซักถามถึงโมเดลการตรวจวัดแบบไมโครไคลเมทในเมือง ซึ่งในส่วนนี้เราได้ให้คำตอบไปว่า ยังไม่มีใครทำการศึกษาไมโครไคลเมทด้านการระบายอากาศในเมืองกรุงเทพมาก่อน จึงยังไม่มีโมเดลและจะต้องพัฒนาขึ้นใหม่ คำตอบที่เราได้กลับมาคือ ไม่เกี่ยวข้องกับตัวงาน

หากไม่นับการค่อนขอดจากผู้มีวิสัยทัศน์ว่าการตรวจวัดอากาศนี้เป็นความเพ้อฝันของพวกเรา เราจะถือว่าแนวทางนี้อาจยังไม่พร้อมจะเริ่มต้น ซึ่งในการทำงานกับเรื่องที่มีความสัมพันธ์อันซับซ้อนกับหลายปัจจัย การศึกษาบริบทและปัจจัยแวดล้อมเป็นสิ่งที่จำเป็นต้องทำอย่างยิ่ง หากเราต้องทำงานด้านการBully ในสังคมก็จำเป็นต้องศึกษาการใช้ภาษาและบริทที่เกิดขึ้น หากเราต้องทำงานเรื่องสุนัขจรจัดก็จำเป็นต้องเข้าใจบริบทข้างเคียงของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย หากเราต้องทำงานด้านสัตว์ทะเลอย่างพะยูน เราก็จำเป็นต้องศึกษาบริบทรอบข้างอย่างแหล่งน้ำ แหล่งอาหาร และกระแสน้ำฯลฯ

ประเด็นอยู่ที่การมองให้เห็นถึงตัวปัญหาหรือตัวงานจริงที่อยู่นอกขอบเขตหรือกรอบงานของเรา ว่าจริงๆแล้วเราอยู่ตรงไหนของโครงสร้างปัญหา และการกระทำของเราจะไม่เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของเงื่อนไขที่ทำให้ปัญหาซับซ้อนขึ้น

หลายคนอาจจะสะกิดใจหรือไม่ติดใจสงสัยอะไรเพราะนี่อาจเป็นหนึ่งในรูปแบบการสั่งงานแบบ งงๆ ที่ใครๆก็เจอกันได้ แต่!!! รูปแบบการทำงานที่เรากำลังทำอยู่เป็นงาน ร่วมวิจัย หรือร่วมการออกแบบ!!! ทว่าผู้มีวิสัยทัศน์กลับนำให้การพูดคุยกลายเป็นลักษณะของการ ช๊อปปิ้ง มากกว่า คอยให้ผู้มีส่วนร่วมออกควาเห็น อันไหนตรงก็เลือกอันไหนไม่ตรงก็ปัดตกโดยไม่ให้เหตุผลที่ฟังดูสอดคล้องกับโจทย์ที่ได้ให้ไว้ ซึ่งทางเราพยายามทำใจยอมรับและปรับแนวทางเพื่อหาความต้องการของผู้มีวิสัยทัศน์คนนี้ให้ได้ เพราะเราได้ลองสร้างแนวทางที่เอาผู้คนหรือผลกระทบต่อสังคมเป็นตัวตั้งแล้วแต่ไม่ได้ผล

กล่าวโดยสรุปตัวงานที่ผู้มีวิสัยทัศน์สรุป(เอง) ว่าจะทำคือ ตัวงานออกมาในลักษณะที่เป็นงานสถาปัตยกรรมที่ดูดฝุ่นและปล่อยอากาศที่ฝุ่นน้อยกว่าออกมา ติดตั้งในพื้นที่โล่งแจ้ง ให้ผู้คนมีปฏิสัมพันธ์กับตัวงานโดยการสัมผัส จับ กอด และมีกล้องตรวจจับใบหน้าผู้คน ใช้การประมวลผลภาพว่าคนลักษณะไหนเข้ามาสนใจ ทำการติดตั้งในพื้นที่สัญจรที่ผู้คนพลุกพล่านบริเวณสยามเป็นเวลาประมาณ 2 เดือน

ตามแนวทางการทำงานของเราหากมีผู้ต้องการทำโครงการลักษณะนี้เราจะเสนอแนวคิดเรื่องการเก็บข้อมูลไปใช้ประโยชน์ไม่ทางใดก็ตามหนึ่ง ทว่าภาพการนำเสนอที่เรามักจะได้ยินอยู่บ่อยๆในการประชุม แต่เมื่อลงลึกในรายละเอียดว่าจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไรกลับกลายเป็นเรื่องยากและบ่ายเบี่ยงออกจากเรื่องที่ประชุม ทำให้เราเองยังไม่เห็นภาพความเชื่อมโยงหรือคุณประโยชน์ที่แท้จริงของการติดตั้งเครื่องฟอกอากาศกลางแจ้ง(ที่กำลังการฟอก10,000 m3/hr)

ตัวอย่างเช่น ถ้างานนี้คือแคมเปญที่สร้างการรับรู้ คำถามคือจะทำอย่างไรให้คนรับรู้(ออกแบบรูปร่างหน้าตา การประชาสัมพันธ์) จะทำอย่างไรให้คนรับรู้ว่าเราทำเรื่องฝุ่น(การแสดงภาพ รูปลักษณ์) จะรู้ได้อย่างไรว่าคนรับรู้จริงๆ อะไรเป็นตัวชี้วัด??? เหล่านี้เป็นคำถามที่ควรเกิดขึ้นตั้งแต่แรกของการพูดคุย แต่เวลาก็ล่วงเลยไปนานกว่าเราจะทราบความต้องการงานจริงๆของผู้มีวิสัยทัศน์

หนึ่งในคำตอบที่เราได้จากการถามวัตถุประสงค์ของตัวงานจริงๆที่ผู้มีวิสัยทัศน์มองไว้คือ “ช่วยคน-at a moment-เท่านั้น” เราจึงถึงบางอ้อว่าความจริงแล้วโครงการนี้มีเป้าหมายตั้งแต่แรกแค่ทำงานให้ทันกำหนดแล้วสร้างเครื่องฟอกอากาศขึ้นมา(โดยไม่รู้ว่าการช่วยนั้นได้มากน้อยแค่ไหน) ทำการติดตั้งแล้วป่าวประกาศโฆษณาว่าทำโดยใคร ทำเพื่อ Well being ของคนเมือง(ยังไม่มีการออกแบบตัวชี้วัด) และทำการติดตั้งเพียงช่วงเวลาเข้าใกล้เทศกาลคริตมาส-ปีใหม่เท่านั้น(หลังจากนั้นยังไม่มีการพูดคุยถึงการทำงานระยะต่อไป)

https://www.phnompenhpost.com/international/thailands-pm-court-over-bangkok-smog

เมื่อรับทราบเช่นนี้สิ่งหนึ่งที่เราคาดการณ์ได้แน่นอนคือการใช้คำเซ็กซี่ คำสวยหรูในการประชาสัมพันธ์เช่น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนกรุงเทพฯ, เรากำลังสร้างwell being, เราสร้างอากาศบริสุทธิ์สำหรับคนกรุงฯลฯ ซึ่งเรามองว่าคำเหล่านี้เมื่อถูกใช้บ่อยกับตัวงานที่ไม่ได้เป็นไปตามความคาดหวัง จะกลายเป็นคำเสียและสร้างความรู้สึกถึงการ Over claim หรือการพูดเกินจริง และเราไม่อยากทำงานให้เกิดความรู้สึกนั้นกับผู้คน

https://www.nytimes.com/2008/05/06/health/06mind.html

ความชัดเจนที่มากขึ้นเราจึงมองเห็นวิสัยทัศน์นี้ เป็นวิสัยทัศน์ของการประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้เพื่อป่าวประกาศชื่อ(ของผู้มีวิสัยทัศน์) เท่านั้น

ประสบการณ์การทำงานนี้เป็นบทเรียนอย่างหนึ่งของเราในการจะร่วมออกแบบกับผู้ที่ทำงาน “ในนามแห่งความดี” ทั้งหลายว่ามุมมองที่มีต่องานเป็นไปทิศทางเดียวกันหรือไม่ การทำงานเพื่อความดีนั้นไม่ผิด แต่มุมมองที่ทำให้เกิดงานและการเข้าใจและเห็นความสำคัญของความต่อเนื่องกับตัวงานจริงๆ โดยเฉพาะงานสังคม ที่ต้องอาศัยเวลา การปรับความเข้าใจ การสื่อสาร และความอดทนต่อความยืดหยุ่นที่ต้องปรับตามสภาพสังคม

วิสัยทัศน์ที่เราได้มาระหว่างที่พูดคุยกับผู้มีวิสัยทัศน์ ในมุมมองของพวกเราพบว่ามีความย้อนแย้งหลายประการในวิสัยทัศน์สรุปได้ดังต่อไปนี้

  • แรกเริ่มของโครงการเน้นให้ผู้คนได้รับผลกระทบที่ดี-แต่ระหว่างพูดคุยเนื้องานกลับกล่าวถึงตัวงานว่า ไม่เน้นผลกระทบ
  • ต้องการสร้างการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างตัวงานกับผู้คน-แต่กลับกล่าวในมุมมองว่าผู้คนไม่ต้องการสัมผัสสิ่งของที่มีฝุ่นเกาะอยู่กลางแจ้ง-ในท้ายที่สุดกลับออกแบบงานให้ผู้คนเข้ามากอด
  • มีความเข้าใจตรงกันว่าปัญหาฝุ่นใหญ่มากเกินกว่าจะแก้ไขได้-แต่กลับเลือกตั้งเครื่องกรองอากาศในที่โล่งและไม่สนใจการตรวจวัดฝุ่นในอากาศ
  • มีคำประชาสัมพันธ์ในมโนภาพ-แต่ไม่มีตัวเนื้องานจริงที่ลงมือทำอย่างสอดคล้องกัน เช่น เพื่อสุขภาวะที่ดีของคนเมือง(แต่กลับไม่มีการตรวจวัดฝุ่นในอากาศทำให้ไม่มีการยืนยัน)
  • เป็นหน่วยงานที่มีพันธกิจด้านการสร้างความยั่งยืน-แต่ออกแบบงานในลักษณะของแคมเปญหรืออีเวนต์ เกิดขึ้นแล้วจบลงโดยที่ไม่มีตัวชี้วัดผลกระทบหรือเป้าประสงค์การนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ด้านการพัฒนาเมือง
  • เป็นหน่วยงานด้านวิจัยและออกแบบ-แต่ไม่ให้ความสำคัญกับข้อมูลบริบทของผู้คนและพลวัตรของสังคมที่เกี่ยวโยงกับตัวเนื้องานโดยตรง

สำหรับตอนนี้ก็จัดเต็มกับประสบการณ์การได้ร่วมทำงานกับผู้ที่มีชื่อเสียงด้านการพัฒนาและอยู่ในวงการการพัฒนาเมืองที่ยั่งยืน ในตอนนี้ค่อนข้างเป็นการพาดพิง จึงขออภัยไว้ ณ ที่นี้ เพียงแต่ผู้เขียนต้องการเล่าในมุมมองของทีมงานที่ร่วมสร้างสรรค์งาน แม้จะมีความแตกต่างออกไปแต่เรามีจุดยืนในการมองปัญหาในแบบของเรา

หากผู้อ่านมีความคิดเห็นต่างออกไปผู้เขียนยินดีรับฟังและแลกเปลี่ยนความคิด เพราะผู้เขียนเชื่อว่าการแลกเปลี่ยนจะนำไปสู่การเข้าใจมุมมอง และปรับการพัฒนาใดๆให้มีความเป็นไปได้ในสังคมมากยิ่งขึ้น…

--

--

R.Phot
Discovery

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way