เราต่างสร้าง Feel like ให้กันและกัน

R.Phot
Discovery
Published in
2 min readJul 17, 2018

เรื่องนี้ก็ยังหนีไม่พ้นเรื่องอากาศอีกนะครับ และจะยังอยู่ที่เรื่องสภาพอากาศกันอีกนานครับ :) หลายท่านคงคุ้นเคยกับการรายงานสภาพอากาศ อุณหภูมิ feel like แต่หลายคนอาจจะยังไม่คุ้นหูเลยสักนิด ตอนนี้เราลองมาทำความเข้าใจ “อุณหภูมิ feel like” กันดูนะครับ

อุณหภูมิในรายงานอากาศนั้น มาจากการตรวจวัดอุณหภูมิอากาศของเครื่องมือวัด แต่อุณหภูมิ feel like มาจากความรู้สึกของคน!!! อ้าวแล้วอย่างนี้ผู้รายงานสภาพอากาศเอาความรู้สึกของใครมาเป็นตัววัด? เพราะถ้าให้คนขี้หนาวกับคนขี้ร้อนอยู่ในห้องอุณหภูมิ 26 ํC คงจะบอกว่า feel like ต่างกัน

คำตอบก็คือ ได้จากการคำนวณอุณหภูมิ ,เปอร์เซ็นต์ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ และองค์ความรู้ด้านการปรับอุณหภูมิร่างกายของมนุษย์ มาสร้างเป็นสภาพอากาศที่สบาย ร้อน หนาว ไปจนถึงเป็นอันตรายต่อชีวิต

มีตัวอย่างมากมายของอุณหภูมิ feel like เช่น เราอยู่ในห้องที่เปิดแอร์เย็นฉ่ำ 22 ํC แล้วเพื่อนเปิดพัดลมใส่เราอีก ความรู้สึกก็จะเย็นกว่า 22 ํC แน่นอน หรือในวันที่แดดไม่แรงมาก ผู้รายงานอากาศบอกว่าอุณหภูมิ 33 ํC แต่เราอึดอัดเหนียวตัวอบอ้าวรู้สึกเหมือน 40 ํC นั่นเพราะความชื้นในอากาศมากกว่าปกติ

Ref

ปัจจุบันมีการแบ่งช่วงความปลอดภัยของอากาศออกเป็นหลายช่วง โดยมากแล้วใช้ในการจัดการสถานที่ทำงานและหรืออยู่อาศัยเป็นเวลานานๆ เช่น โรงงาน แหล่งท่องเที่ยวที่มีอุณหภูมิสูง เป็นต้น

เราสร้างอุณหภูมิ Feel like ได้อย่างไร

หากลองเอาน้ำแข็งใส่ถังแล้วไปวางหน้าพัดลมจะพบว่าลมที่พัดมาหาตัวเราจะเย็นลง กลับกันครับลองเปลี่ยนเป็นไดร์เป่าผม ก็จะพบว่าลมที่พัดมาเป็นลมร้อน ตัวอย่างนี้อาจจะธรรมดาเกินไป แต่หากลองนึกภาพไดร์เป่าผมเปลี่ยนเป็นคอมเพรซเซอร์แอร์แล้วเปลี่ยนตัวเราเป็นกรุงเทพฯ อากาศที่ออกมาก็จะร้อนแบบที่เป็นอยู่ทุกวันนี้

ขยายภาพขึ้นอีกนิดหน่อย กรุงเทพฯมีคอมเพรสเซอร์แอร์กว่าล้านเครื่อง เปิดใช้งาน พร้อมๆ กันทั้งกลางวันกลางคืน อากาศในพื้นที่แออัดก็คงไม่ต่างจากอยู่ในตู้อบ ยังไม่หมดเพียงเท่านั้น ในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีรถยนต์ออกใหม่ในกรุงเทพฯ เพิ่มชั่วโมงละ 97 คัน! ไอเสียของรถหนึ่งคันนอกจากจะมีความร้อนของการเผาไหม้แล้ว ยังมีคุณสมบัติของแก๊ส CO2 ซึ่งเก็บความร้อนได้มากกว่าแก๊ส O2

ยังครับ ยังไม่หมด พื้นผิวคอนกรีต ปูนซีเมน ถนนลาดยาง มีค่าการเก็บความร้อนและคายความร้อยมากกว่าพื้นที่สีเขียวที่เป็นหญ้าหรือต้นไม้ หรือแหล่งน้ำ ทำให้พื้นที่ที่มีสิ่งปลูกสร้างตึกอาคารหนาแน่น จะเก็บและสะท้อนออกมาความร้อนมากในตอนกลางวัน และคายออกมาในตอนกลางคืน ทำให้บางบ้านกลางวันร้อนมาก กลางคืนเปิดแอร์หลายชั่วโมงกว่าบ้านจะเย็น เพิ่มค่าใช้จ่ายให้ครัวเรือนเป็นลำดับ

จากปัจจัยที่กล่าวมาคงไม่แปลกใจหากกรุงเทพจะ ร้อน ร้อน และ ร้อน!!!!!

ปัจจุบันได้มีการพัฒนาสีกันความร้อน กระจกสะท้อนความร้อน บ้านประหยัดพลังงาน ตึกที่มีการไหลเวียนอากาศดีขึ้นมากมาย ทว่าไม่ได้เปลี่ยนปัจจัยพื้นฐานสำคัญของการก่อเกิดปัญหาความร้อนสะสมในเมืองนั่นคือ ลดแหล่งกำเนิดและเพิ่มพื้นที่สีเขียว

การจะพูดถึงรักษ์โลกลดใช้รถยนตร์ หรือปลูกต้นไม้ อาจฟังดูสวยหรูโลกสวยเกินไป ในความเป็นจริงแล้วมีขั้นตอนอุปสรรคอีกมากหากต้องการลุกขึ้นมาทำสิ่งที่เห็นผลช้ามากๆ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ แต่ก็ไม่ได้เปลี่ยนความจริงของพื้นที่สีเขียวที่ควรมี เพื่อเป็นปอดฟอกอากาศให้สะอาด เป็นตัวปรับอุณหภูมิไม่ให้ร้อนและ ร้อน!!!! จนเกินไป

มองไปในอนาคตถึงรุ่นลูกหลานของเรา ความเจริญคงจะรุดหน้าไปไกลจนเกินจินตนาการในตอนนี้ ได้แต่หวังว่า พื้นที่สีเขียว อากาศสะอาดสดชื่น ร่มเงาความเย็นสบาย จะอยู่ในวิสัยทัศน์ของผู้ขับเคลื่อนทุกๆคนในวันนี้…

ref1 ref2

--

--

R.Phot
Discovery

Explorers: Trying to learn new things to understand my own way