วิเคราะห์แนวทางการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านการเกษตร ตอนที่ 1 ที่มาของโครงการ

Suthat Ronglong
DO IN THAI
Published in
1 min readOct 11, 2017

เหตุผลความจำเป็น

ข้อมูลสภาพอากาศ ดินและน้ำ เป็นข้อมูลที่สำคัญต่อเกษตรกร เนื่องจากเป็นปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับการเจริญเติบโต พัฒนาการและผลผลิตของพืชที่ปลูก ข้อมูลเหล่านี้หากมีความละเอียดในระดับแปลง และนำมาใช้ประกอบกับความรู้และประสบการณ์ของเกษตรกร จะยิ่งช่วยให้เกษตรกรสามารถตัดสินใจและบริหารแปลงของตนได้ดีขึ้น เพิ่มประสิทธิภาพการผลิต และลดความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นกับผลผลิต อันเนื่องมาจากปัจจัยที่ควบคุมได้ยาก เช่น สภาพอากาศแปรปรวน อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมาเกษตรกรไทยยังไม่มีโอกาสเข้าถึงและประยุกต์ใช้ข้อมูลเหล่านี้อย่างเต็มที่ ด้วยสาเหตุหลายประการ เช่น ข้อมูลที่มีไม่ตอบสนองต่อความต้องการ เกษตรกรไม่ทราบว่าจะเข้าถึงข้อมูลได้อย่างไร หรือจะแปรผลข้อมูลให้เป็นประโยชน์ต่อตนเองได้อย่างไร เป็นต้น

ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Supporting System: DSS) ด้านการเกษตร คือ ซอฟท์แวร์ที่รวบรวมข้อมูลซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกมาประมวลผลให้เป็นประโยชน์กับการวางแผนดำเนินกิจกรรมของเกษตรกร ตัวอย่างเช่น การนำข้อมูลพยากรณ์อากาศมาพัฒนาควบคู่กับปฏิทินเพาะปลูก เพื่อคาดการณ์ระยะหว่าน ระยะให้ปุ๋ย คาดการณ์ปริมาณผลผลิต เสนอแนะวันที่ควรเก็บเกี่ยวหรือขนส่งผลผลิต ตลอดจนพยากรณ์และเตือนภัยการระบาดของแมลงศัตรูพืช เป็นต้น ในต่างประเทศ DSS จะอยู่ในรูปแบบของซอฟท์แวร์คำนวณบนเวปไซต์หรือแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นรูปแบบของเทคโนโลยีที่เกษตรกรในปัจจุบันมีความคุ้นเคยและสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ส่งผลให้การพัฒนา DSS ที่มีเกษตรกรเป็นผู้ใช้มีความเป็นไปได้มากขึ้นด้วย

อย่างไรก็ตาม DSS ที่ถูกพัฒนาขึ้นในประเทศไทยส่วนใหญ่เป็นการพัฒนาเพื่อการตัดสินใจในระดับนโยบาย เช่น ระบบแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) โครงการบูรณาการข้อมูลเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการใช้ประโยชน์ที่ดินด้านการเกษตร (What2Grow) หรือ โครงการเพิ่มประสิทธิภาพและประสิทธิผลด้วยเทคโนโลยีภูมิสารสนเทศ (GIS-Agro) ล้วนเป็น DSS ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐใช้วางแผนนโยบาย DSS ที่พัฒนาขึ้นเพื่อให้เกษตรกรเป็นผู้ใช้งานและประสบความสำเร็จในการรักษาฐานผู้ใช้ไว้ได้นั้นยังมีน้อยมาก ผู้ให้บริการ DSS นอกจากจะต้องมีความพร้อมในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและเข้าใจความต้องการของเกษตรกรแล้ว ยังต้องมีความคล่องตัวในการบริหารจัดการสูง สามารถดำเนินกิจกรรมเกี่ยวเนื่องอื่น ๆ ที่มีความจำเป็นต่อการเพิ่มยอดผู้ใช้ เช่น

การประชาสัมพันธ์และฝึกอบรม การติดตามผล บริการแก้ไขปัญหาที่ทันท่วงที เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ผู้ให้บริการระบบจึงต้องมีความเป็นมืออาชีพและมีรูปแบบทางธุรกิจที่ทำให้กิจกรรมดังกล่าวดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

สำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) พิจารณาแล้ว เห็นว่าระบบสนับสนุนการตัดสินใจจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อภาคเกษตรของประเทศไทย เนื่องจากจะทำให้เกษตรกรสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นกับการเพาะปลูกและนำไปประกอบการตัดสินใจได้ด้วยตนเอง ลดการพึ่งพาเจ้าหน้าที่ภาครัฐที่มีอยู่อย่างจำกัด อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมายังไม่มีผู้ให้บริการ DSS ที่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืนในประเทศไทย จึงได้จัดให้มีโครงการนำร่องเพื่อสนับสนุนให้เอกชนที่มีศักยภาพได้มีโอกาสพัฒนาต้นแบบระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านการเกษตรที่เหมาะสมกับบริบทของเกษตรกรไทย สวทน. หวังเป็นอย่างยิ่งว่าโครงการนี้จะช่วยยกระดับเกษตรกรสู่การเป็น smart farmer และปฏิรูปภาคเกษตรไทยให้มุ่งสู่ยุคเกษตร 4.0 ที่เป็นการทำเกษตรบนพื้นฐานความรู้และข้อมูลทางวิทยาศาสตร์ มีการนำเทคโนโลยีมาเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต ตามความมุ่งหวังของรัฐบาลต่อไป

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อศึกษาความต้องการและความคาดหวังของเกษตรกรที่มีต่อระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านการเกษตร
  2. เพื่อออกแบบระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านการเกษตรที่เหมาะสมกับเกษตรกรไทย และผู้ให้บริการสามารถให้บริการได้อย่างต่อเนื่องและยั่งยืน

ผลที่คาดว่าจะได้รับที่เป็นรูปธรรม

ผลผลิต (output)

  1. เกษตรกรที่เข้าร่วมการประชุมระดมสมองและได้รับการฝึกอบรมเกี่ยวกับระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (DSS) ด้านการเกษตร จำนวนไม่ต่ำกว่า 60 ราย
  2. นิติบุคคลที่ที่เข้าร่วมการประชุมระดมสมองและได้รับฝึกอบรมเกี่ยวกับระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (DSS) ด้านการเกษตร จำนวนไม่ต่ำกว่า 30 กิจการ
  3. รายงานผลการดำเนินโครงการ จำนวน 1 ฉบับ

ผลลัพธ์ (outcome)

  1. ความต้องการและความคาดหวังของเกษตรกรที่มีต่อระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านการเกษตร
  2. ระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านการเกษตรที่เหมาะสมกับเกษตรกรไทย

ผลกระทบ (impact)

เกษตรกรกลุ่มเป้าหมายสามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการเพาะปลูกได้ด้วยตนเอง ตระหนัก เรียนรู้และใช้ข้อมูลประกอบการตัดสินใจดำเนินกิจกรรมทางการเกษตรได้ รวมทั้งให้ความร่วมมือในการรายงานข้อมูลกลับเข้าสู่ระบบอย่างต่อเนื่อง

แนวคิด

เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศส่งผลกระทบต่อมิติที่หลากหลายกับชีวิตมนุษย์ อาทิเช่น ภูมิประเทศ ภูมิศาสตร์ ภูมิสังคม ภูมิสิ่งแวดล้อม ฯลฯ ทั้งนี้ การที่จะจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนความคิด เสวนา และระดมข้อมูลจากผู้คนในท้องถิ่นอันเกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงดังกล่าว ต้องให้ความสำคัญกับรูปแบบและวิธีการสื่อสาร เพื่อที่จะชักนำให้เกิดการนำเสนอความคิดและประสบการณ์อันเกี่ยวข้องกับการตัดสินใจและเตรียมตัวรับมือต่อปัญหาจากสภาวะที่เปลี่ยนไปทั้งในทางตรงและทางอ้อม อย่างไรก็ดี รูปแบบกิจกรรมเสวนาองค์ความรู้ กิจกรรมบรรยาย และกิจกรรมเชิงปฏิบัติ (Workshop) นั้น อาจจะสร้างความไม่สอดคล้องต่อเนื้อหาหรือไม่ตรงตามบริบทของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ซึ่งสามารถสร้างความสับสนและ/หรือความไม่ให้ความร่วมมือต่อการแลกเปลี่ยนข้อมูลที่มาจากคนในท้องถิ่นจริง โดยที่สาเหตุอาจเกิดขึ้นทั้งจากผู้ที่สื่อสาร วิธีการสื่อสาร สื่อที่ใช้ ไปจนถึงบริบทที่ใกล้ตัว และเข้าถึงได้จากผู้เข้าร่วมกิจกรรมในองค์รวม

ด้วยเหตุนี้ ทางคณะทีมงานผู้จัดกิจกรรมจึงให้ความสำคัญกับวิธีการออกแบบกิจกรรมที่จะจัดขึ้น โดยใช้เทคนิคต่างๆ ภายใต้วิธีการออกแบบและค้นหานวัตกรรมในแง่บวก ใช้กระบวนการออกแบบความคิด และวิธีการออกแบบบริการที่มีปฏิสัมพันธ์กับผู้คน โดยที่ผู้คนเหล่านั้นเป็นศูนย์กลางของการให้ข้อมูล ทั้งนี้ก็เพื่อตอบโจทย์การเสวนาและระดมความคิดเพื่อให้เกิดความเห็นและข้อเท็จจริงจากบริบทท้องถิ่น ซึ่งจะถูกนำมาตีความและถ่ายทอดเป็นรูปแบบความต้องการเทคโนโลยีและนวัตกรรมทางการเกษตรที่เหมาะสมกับผู้ใช้มากขึ้นในลำดับต่อไป

กระบวนการจัดกิจกรรม

กิจกรรมที่ออกแบบให้มีการเสวนาและระดมความคิดเพื่อวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านการเกษตร มีวัตถุประสงค์ในการจัดกิจกรรมและหวังผลสัมฤทธิ์ ดังต่อไปนี้

  1. นำเสนอบริบทการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ส่งผลกับการเกษตรให้เกิดความตระหนักทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ทั้งปัญหาและการเปลี่ยนแปลงในระดับใหญ่จนถึงระดับชุมชน
  2. สร้างมุมมองและทัศนคติขั้นต้นต่อความเข้าใจในปัญหาที่จะเกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจด้านการเกษตร
  3. ระดมความคิดที่เกี่ยวข้องกับปัญหา ความต้องการ กระบวนการปัจจุบัน และความตระหนักรู้ต่อการปรับตัวเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงของการเกษตรกรรมในท้องถิ่น
  4. รวบรวมข้อมูลจากผู้คนในท้องถิ่น เพื่อนำมาวิเคราะห์และสรุปเป็นมุมมองความคิดที่จะนำไปสู่การต่อยอดนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น

ขอบเขตและกลุ่มเป้าหมายของการจัดกิจกรรม

เป้าหมายเชิงปริมาณ

  1. มีการจัดเสวนาในพื้นที่ทางด้านเกษตรกรที่มีนัยยะสำคัญ ไม่เกิน 2 พื้นที่ (จังหวัด)
  2. มีผู้เข้าร่วมเสวนาไม่น้อยกว่า 60 ท่าน แบ่งเป็นเกษตรกรรายย่อย 30 ราย และตัวแทนจากกลุ่มเครือข่ายเกษตรในนามนิติบุคคลจำนวน 30 ราย

เป้าหมายเชิงคุณภาพ

  1. จัดเสวนาและระดมความคิดในจังหวัดต้นแบบโมเดลเกษตรอินทรีย์และจังหวัดที่เป็นแหล่งต้นน้ำด้านการเกษตร ได้แก่ จังหวัดยโสธรและจังหวัดเชียงราย ตามลำดับ
  2. จัดเสวนาโดยให้ความสำคัญกับการประชาสัมพันธ์ให้มีผู้เข้าร่วมในระดับผู้นำเกษตร ตัวแทนกลุ่มหรือตัวแทนเครือข่ายเกษตรในท้องถิ่น และหน่วยงานราชการที่มีความเกี่ยวข้องกับการเกษตรระดับท้องถิ่น

ผลที่คาดว่าจะได้รับจากการจัดกิจกรรม

  1. ผู้เข้าร่วมเสวนาและระดมความคิดสามารถตระหนักและแลกเปลี่ยนความคิดที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่ส่งผลกับการเกษตร
  2. เกิดการสะท้อนปัญหาในการระดับความคิดเห็นองค์รวมที่เกิดขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาวะอากาศซึ่งส่งผลต่อการตัดสินใจด้านการเกษตร
  3. บทวิเคราะห์ข้อมูลจากผู้เข้าร่วมเสวนาและระดมความคิดเพื่อนำไปสู่การต่อยอดนวัตกรรมที่เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเชิงปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านการเกษตร (Decision Supporting System for Agriculture) โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และบริษัท ดูอินไทย จำกัด

--

--

Suthat Ronglong
DO IN THAI

Founder & Innovator of DO IN THAI Company Limited