วิเคราะห์แนวทางการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านการเกษตร ตอนที่ 2 การออกแบบกิจกรรมเสวนาและระดมความคิด

Suthat Ronglong
DO IN THAI
Published in
2 min readOct 11, 2017

ทฤษฎีที่ใช้ในการออกแบบกิจกรรม

ทางทีมผู้จัดกิจกรรมการลงมติและคัดสรรกิจกรรม โดยอาศัยประสบการณ์การทำงานกับท้องถิ่น รวมถึงปรึกษาผู้เชี่ยวชาญด้านการระดมความคิดทางด้านการเกษตรในระดับท้องถิ่น โดยยังคงไว้ซึ่งกระบวนการแสวงหาและสืบค้นปัญหาอันต่อยอดให้เกิดการสร้างนวัตกรรมที่เป็นไปตามบริบทของผู้คนในพื้นที่นั้นๆ และเป็นทฤษฏีที่มีการประยุกต์ใช้จริงอย่างได้ผลทั้งในระดับชุมชนและในระดับสากล อย่างไรก็ดี จากประสบการณ์ทำงานของสมาชิกหลายคนในทีมผู้จัดกิจกรรม มีการค้นพบว่าการออกแบบกิจกรรมเสวนาและระดมความคิดที่จัดขึ้นในครั้งนี้ ต้องให้ความใส่ใจต่อความยืดหยุ่นของกระบวนการในทุกมิติ ด้วยเพราะผู้ร่วมกิจกรรมมีที่มาที่แตกต่าง ความเข้าใจที่แตกต่าง และมีความตระหนักรับรู้ในมิติที่ไม่เท่ากัน หรือที่ในหลักการออกแบบความคิดเราจะพัฒนากระบวนการจัดกิจกรรมโดยใช้ A dynamic language for a dynamic approach

ดังนั้น ทฤษฎีที่ทางทีมวิจัยออกแบบให้ทีมผู้จัดกิจกรรมเลือกใช้จึงอยู่บนพื้นฐานของการออกแบบความคิดบริการ หรือ Service Design Thinking ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยสำคัญ 5 หน่วย ได้แก่

  1. USER-CENTRED ปัญหา ความต้องการ ควรถูกสะท้อนจากประสบการณ์ที่มาจากผู้คนที่เข้าร่วมกิจกรรมจริงๆ กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมกิจกรรมควรได้แสดงความคิดเห็นมากกว่าทีมผู้จัดบรรยายและกำหนดขอบเขตความคิด มีการเน้นย้ำให้เกิดการนำเสนอทั้งในระดับกลุ่มย่อยและวงใหญ่
  2. CO-CREATIVE ผู้มีส่วนร่วมต่อปัญหา ผู้แก้ไขปัญหา และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องหลายๆ ภาคส่วน ควรได้อยู่ในวงการออกแบบความคิดด้วยกัน กล่าวคือ การระดมความคิดในหนึ่งกลุ่มต้องมีความหลากหลาย อย่าให้คนพวกเดียวกัน มาด้วยกัน เจอเรื่องเดียวกัน อยู่ด้วยกันแล้วส่งเสริม เห็นด้วย หรือปลอบใจกันเอง
  3. SEQUENCING กระบวนการออกแบบความคิด ควรได้รับการออกแบบและนำเสนอในลำดับที่เชื่อมโยงความคิด กล่าวคือ มีการคิดอย่างเป็นระบบและมีการออกแบบลำดับมาแล้วอย่างเหมาะสม ไม่ใช่ตัดสินตามความคุ้นเคยเดิมๆ ของทีมจัดกิจกรรม หรือวัฒนธรรมการเสวนาเดิมๆ
  4. EVIDENCING นำเสนอข้อมูลหลักฐานที่นำไปสู่ความเข้าใจและความตระหนักรู้ได้อย่างเป็นรูปธรรม กล่าวคือ ไม่เน้นทฤษฎี เน้นภาพจริงของจริงให้มาก และควรเป็นหลักฐานที่มีความเกี่ยวเนื่องกับลำดับความคิดที่จะชักนำให้เกิดการออกแบบความคิดจากผู้เข้าร่วมกิจกรรม
  5. HOLISTIC ภาพรวมในการจัดกิจกรรมออกแบบความคิด ควรเป็นไปในทิศทางเดียวกัน กล่าวคือ มีความควบคุมอารมณ์และสิ่งแวดล้อมให้อยู่ในกรอบความคิดที่เอื้อต่อการพูดคุย แลกเปลี่ยน และอยู่ในองค์รวมเดียวกัน

การออกแบบโครงการลำดับและขั้นตอนการจัดกิจกรรมด้วยหลักทฤษฎี Service Design Thinking

จากการประชุมและวิเคราะห์แนวทางการออกแบบ ทางทีมผู้จัดกิจกรรมได้เลือก Service Design Thinking ซึ่งประกอบไปด้วยหน่วยสำคัญ 5 หน่วยมาเป็นรากฐานในการออกแบบกิจกรรม โดยวางโครงสร้าง (Components) ของการจัดกิจกรรมออกเป็นส่วนย่อย ดังลำดับต่อไปนี้

หน่วยที่ 1 การบรรยายเพื่อนำเสนอหลักฐานและสะท้อนข้อเท็จจริงที่เกี่ยวเนื่องกับสภาพโลกที่เปลี่ยนแปลงไป

องค์เชื่อม/คำสำคัญที่ 1 การเชื่อมโยงบริบทสภาวะที่เปลี่ยนแปลงกลับมายังพื้นที่การเกษตรท้องถิ่น

หน่วยที่ 2 การจัดกลุ่มเสวนาวงย่อยที่สร้างความแตกต่าง ในมิติของสถานะผู้แทนที่มีความแตกต่าง หรือเป็นเกษตรกรที่มีความแตกต่างในการใช้วิถีการเกษตร

องค์เชื่อม/คำสำคัญที่ 2 ทีมงานประจำกลุ่มคอยเป็นผู้สร้างสรรค์ปฏิสัมพันธ์

หน่วยที่ 3 การระดมความคิดและเสวนาในกลุ่มย่อยในบริบทของปัญหาที่เกิดขึ้นจากผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงของสภาวะแวดล้อม

องค์เชื่อม/คำสำคัญที่ 3 POST-IT และกระดาษแผ่นใหญ่ การพูดคุยภายในกลุ่ม

หน่วยที่ 4 การนำเสนอภาพรวมของการออกแบบความคิดในแต่ละกลุ่มย่อยต่อองค์ประชุมรวม เพื่อแสวงหาความคิดที่ใกล้เคียงและขัดแย้งกันระหว่างภาพรวมปัญหาเดียวกันจากมุมมองที่แตกต่างกัน

องค์เชื่อม/คำสำคัญที่ 4 การออกแบบความคิดแบบ Grouping / Clustering และการนำเสนอในองค์รวม

การออกแบบโครงการลำดับและขั้นตอนการจัดกิจกรรมด้วยศาสตร์ Appreciative Inquiry (AI)

นอกจากกระบวนการในการเสวนาออกแบบความคิดแล้ว ทีมวิจัยและคณะทีมงานผู้จัดกิจกรรมยังมีมติเห็นควรให้มีการแฝงกระบวนการสืบค้นและแสวงหามุมมองเรื่องราวดีๆ ด้วยศาสตร์ Appreciative Inquiry (AI) หรือสุนทรียะสาธก เพื่อค้นหาตัวชี้วัดหรือเรื่องราวที่มีนัยยะอันเป็นผลเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศที่มีผลต่อการเกษตรในมิติต่างๆ ที่ถูกเอ่ยหรือเขียนในทุกกระบวนการตลอดกิจกรรม โดยทีมผู้จัดกิจกรรมจะไม่ลงไปสอนหรือเน้นย้ำทฤษฎีใดๆ ของ AI กับผู้เข้าร่วมกิจกรรม ทั้งนี้เพราะทีมผู้จัดที่วางตัวไว้ให้เป็นวิทยากร และวิทยากรประจำกลุ่มย่อยจากข้อ 1.4 ล้วนแล้วแต่มีความรู้ความเข้าใจรวมถึงประสบการณ์ในการทำ AI กับเกษตรกรมาไม่น้อยกว่า 1–3 ปี โดยเลือกใช้หัวใจของหลัก AI คือ 4D มาเป็นรากฐานของวิทยากรทุกคน ประกอบด้วย

  1. DISCOVER การค้นหาและค้นพบประสบการณ์จากผู้เข้าร่วมกิจกรรมในทุกมิติที่เป็นข้อคิดเห็น มุมมอง และแนวคิดในเชิงบวกของสภาวะที่เปลี่ยนแปลงไปทางการเกษตร
  2. DREAM การนำสิ่งที่ค้นพบมาวิเคราะห์และตั้งเป็นเป้าหมายที่ชัดเจน โดยมุ่งเน้นในเชิงการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีสารสนเทศและนวัตกรรมมาตอบโจทย์
  3. DESIGN การออกแบบและวางแผนกลยุทธ์ในการพัฒนาเป้าหมายที่เกิดจากการค้นพบให้ขยายผลและต่อยอดสู่เกษตรกรในพื้นที่อื่นๆ
  4. DESTINY การลงมือทำสิ่งที่ออกแบบไว้ ซึ่งจะเกิดขึ้นในลำดับต่อไปหลังจากส่งรายานสรุปและประเมินความเป็นไปได้ในการพัฒนานวัตกรรมตามความต้องการของท้องถิ่น เพื่อขยายผลในพื้นที่และขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ต่อไป

ดังนั้น ในกระบวนการจัดกิจกรรม ทีมวิทยากรและวิทยากรประจำกลุ่ม จะถูกบังคับให้

  1. ต้องมีการเดินพูดคุยระหว่างวิทยากรตลอดเวลาที่ค้นพบเรื่องราวดีๆ น่าสนใจ เพื่อเก็บ DISCOVERY และนำไปสู่การพูดคุยเพื่อตั้ง DREAM จากการค้นพบร่วมกัน และให้ตั้งโต๊ะกลางลงทะเบียนเป็นโต๊ะผู้ประสานงานในการเก็บข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับ AI ที่เกิดขึ้นตลอดกิจกรรม
  2. ต้องมีการสัมภาษณ์ผู้เข้าร่วมกิจกรรมด้วยกล้อง Handy Camera และ GoPro (ทั้งนี้ เพื่อไม่ให้ดูเป็นทางการเกินไป เพราะเมื่อมีการจัดเช็ตฉากและเครื่องมือถ่ายทำที่มากเกินไปกับเกษตรกร เราค้นพบว่ามีการตื่นเต้นและให้ข้อมูลในลักษณะไม่เป็นธรรมชาติเท่าที่ควร) โดยเลือกสัมภาษณ์จากผู้เข้าร่วมกิจกรรมที่วิทยากรประจำกลุ่มค้นพบว่าเป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถและเรื่องราวเชิงบวกที่่น่าสนใจต่อการตั้ง DREAM ร่วมกัน
  3. ต้องมีการสรุปรายงานโครงการฯ โดยใช้ AI ตามลักษณะที่เป็นอัตลักษณ์ทุกงานที่ดูอินไทยได้เคยดำเนินงานมา ทั้งนี้ก็เพื่อนำเสนอมุมมองที่ดี น่าขยายผล และเกิดการต่อยอดสู่การพัฒนาโดยไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการแก้ไขปัญหา แต่ยังส่งเสริมศักยภาพของประสบการณ์ดีๆ ที่เกิดขึ้นจากท้องถิ่นหนึ่งให้ไปสู่ท้องถิ่นอื่นๆ ได้

การออกแบบโครงการข้อมูลที่จะจัดเก็บและนำมาวิเคราะห์

กิจกรรมเสวนาและระดมความคิดที่จัดขึ้น ทางทีมผู้จัดต้องการให้มีการเก็บข้อมูลจำเพาะในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการนำมาวิเคราะห์และจัดทำฐานข้อมูลแบบสำรวจ เพื่อเป็นประโยชน์ในการนำไปสรุปผล โดยมุ่งเน้นให้โครงสร้างของข้อมูลมีมนุษย์เป็นศูนย์กลาง กล่าวคือ การเก็บข้อมูลจากประสบการณ์ส่วนบุคคล (Personar) ของผู้เข้าร่วมกิจกรรม ดังต่อไปนี้

DEMOGRAPHIC ข้อมูลสถานะและข้อมูลอ้างอิงชั้นต้นของผู้เข้าร่วมกิจกรรม เช่น ชื่อ-สกุล อายุ เพศ ข้อมูลการติดต่อ รูปภาพ และรหัสอ้างอิง

GEOGRAPHIC ข้อมูลที่อยู่อาศัย รวมไปถึงข้อมูลพื้นที่การเกษตรและการใช้พื้นที่การเกษตร เช่น ที่อยู่ พื้นที่เพาะปลูก รูปแบบการเพาะปลูก เป็นพื้นที่ที่ประสบปัญหาการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ

PSYCHOGRAPHIC ข้อมูลความเข้าใจต่อสภาวะการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศที่มีผลต่อการเกษตร มุมมองต่อปัญหา เช่น การรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงของโลกที่มีต่อการเกษตร ปัญหาที่เชื่อมโยงจากการเปลี่ยนแปลงฯ

SPECIFIC ข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจและช่องการที่สนับสนุนการตัดสินใจ เช่น ช่องทางที่ใช้รับข่าวสารการเกษตร การวางแผนการเพาะปลูกล่วงหน้า

นอกจากนั้นยังต้องมีการเก็บข้อมูลประเมินความคิดเห็นของโครงการ โดยมุ่งเน้นให้ประเมินผลทางสถิติและสถิติชั้นสูงที่เป็นไปตามลักษณะอัตลักษณ์งานของดูอินไทย ได้แก่ ความพึงพอใจต่อรูปแบบกิจกรรมในองค์รวม ความพึงพอใจในเนื้อหาที่เกิดขึ้นตลอดกิจกรรม และข้อคิดเห็นเพิ่มเติม

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเชิงปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านการเกษตร (Decision Supporting System for Agriculture) โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และบริษัท ดูอินไทย จำกัด

--

--

Suthat Ronglong
DO IN THAI

Founder & Innovator of DO IN THAI Company Limited