วิเคราะห์แนวทางการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านการเกษตร ตอนที่ 3 สรุปผลการเสวนาและระดมความคิด

Suthat Ronglong
DO IN THAI
Published in
3 min readOct 11, 2017

สรุปภาพรวมของผู้เข้าร่วมการเสวนา ทั้ง 2 จังหวัด (เชียงรายและยโสธร)

  • จำนวนผู้ที่เข้าร่วมทั้งหมด (พร้อมลายเซ็น) 82 ท่าน
  • แบ่งเป็นตัวแทน/ผู้แทนเครือข่ายเกษตรกร 40 ท่าน
  • แบ่งเป็นตัวแทน/ผู้แทนจากนิติบุคคล 20 ท่าน
  • แบ่งเป็นตัวแทนจากภาครัฐบาล 22 ท่าน

ข้อสังเกต เนื่องจากจำนวนของตัวแทนนิติบุคคลที่มาร่วมกิจกรรมมีน้อยกว่าข้อความที่กำหนดไว้ด้วยเหตุผลสาระสำคัญ 2 ประการคือ

  1. ในบริบทจังหวัดยโสธร การประสานงานจากตัวแทนหน่วยงานในพื้นที่ ทีมผู้จัดกิจกรรมพยายามร้องขอ ให้ประชาสัมพันธ์ถึงตัวแทน ผู้นำชุมชน และแกนนำเกษตรกรในพื้นที่ ตัวแทนเกษตรกรจำนวนหนึ่ง จึงมาในนามตัวแทนเครือข่ายเกษตรแปลงใหญ่ (ซึ่งยังไม่ได้มีข้อกำหนดหรือรูปแบบตายตัวในการระบุถึงความเป็นนิติบุคคล) ทั้งนี้ ตัวแทนเกษตรกรบางท่านก็เป็นเจ้าของกิจการหรือดูแลวิสาหกิจชุมชนอยู่แล้ว เพียงแต่ขั้นตอนการลงทะเบียนและการประสานงานจากท้องถิ่นทำให้กลุ่มคนเหล่านั้นลงทะเบียนมาในรูปแบบเกษตรกร ตัวแทนเกษตรแปลงใหญ่แทนที่จะลงวิสาหกิจของตนเอง
  2. ในบริบทจังหวัดเชียงราย เกิดปัญหาในการประสานงานโดยทีมผู้จัดได้ขอความร่วมมือจากเกษตรจังหวัดเชียงราย และให้เครือข่ายภายในจังหวัดส่วนหนึ่งได้ประชาสัมพันธ์ขอตัวแทนในรูปแบบเดียวกันกับจังหวัดยโสธร อย่างไรก็ดี ทีมผู้จัดกิจกรรมได้ดำเนินการประสานงานเพื่อหาสาเหตุกับเกษตรกรที่ลงทะเบียนไว้จำนวนหนึ่ง กฎเหตุผลว่าในวันที่จัดกิจกรรม เกษตรกรจำนวนหนึ่งนั้นมีปัญหาเรื่องภัยธรรมชาติในพื้นที่ และมีปัญหาเรื่องการเดินทางและระยะเวลาที่ใช้ในการเดินทางจากช่วงที่มีพายุดีเพรสชั่น จึงทำให้มีผู้แทนจากหน่วยราชการจำนวนมากกว่าเกษตรกร
  3. ความแตกต่างระหว่างผู้เข้าร่วมงานทั้งสองจังหวัดในมิติของ Personar มีความแตกต่างกันน้อยมาก เพราะเป็นผู้เข้าร่วมที่อยู่ในระดับตัวแทนเครือข่ายและผู้แทนจากหน่วยงานราชการ จะมีข้อพึงสังเกตที่ทางทีมวิจัยใช้ถ่วงการวิเคราะห์ Service Design Thinking คือ จำนวนของผู้เข้าร่วมที่แตกต่างกันซึ่งทำให้ความหลากหลายในการวิเคราะห์มีความถี่แตกต่างกันไปด้วย

วิธีการที่ใช้สรุปบทวิเคราะห์จากการทำ Service Design Thinking

ทีมผู้จัดกิจกรรมวิเคราะห์และหาสรุปจากการระดมความคิดด้วยกระบวนการ Service Design Thinking ด้วยหนึ่งในเทคนิค Why & Why Problem เรียกว่า สามเหลี่ยมของปัญหา ซึ่งอธิบายอย่างง่ายได้ ดังนี้

หลักการที่ทางทีมผู้จัดกิจกรรมใช้นี้ เป็นการผสมผสานศาสตร์ของการรับฟังเรื่องราวในกลุ่ม (ใช้ Appreciative Inquiry: AI) โดยวิทยากรประจำกลุ่ม รวมทั้งการนำสิ่งที่เกิดจากการระดมความคิดทั้งในระดับกลุ่มและระดับองค์รวมของผู้เข้าร่วมกิจกรรมทุกกลุ่มมาวิเคราะห์ ดังตัวอย่างที่แสดงให้เห็นก่อนทำเป็นบทสรุปจริง ต่อไปนี้

ตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงในการวัดผลองค์รวมต่อปัญหาที่มีผลต่อการเกษตรมากที่สุด

จะเห็นได้จากตัวอย่างที่เกิดขึ้นจริงข้างต้น ซึ่งเป็นปัญหาอันดับ 1 ที่เกษตรกรจำนวนกว่า 60 คนจากทุกภาคส่วนได้เห็นตรงกันจากการระดมความคิดในรายกลุ่มย่อยและนำเสนอในองค์รวม โดยจะสามารถค้นพบได้อย่างชัดเจนว่า ในระดับ EVENT หรือประสบการณ์ตรงที่เกิดขึ้นจากปัญหา แม้จะเป็นคำสั้นๆ ที่สามารถเข้าใจสถานการณ์ได้ง่ายในกระบวนการเกษตร แต่เมื่อเราใช้ Service Design Thinking จากสมาชิกในกลุ่ม เราค้นพบและขุดปัญหาลงไปในระดับ TREND ซึ่งก็สื่อสารออกมาอย่างชัดเจน วิทยากรประจำกลุ่มแทบไม่ต้องใช้กระบวนการใดๆ ในการเจาะลึกปัญหาในชั้นนี้ เพราะเกษตรกรในทุกกลุ่ม ล้วนมีเรื่องเล่า เรื่องวิพากษ์ และมุมมองต่างๆ จากประสบการณ์ตรงที่สั่งสมมาในแต่ละปีมาเล่าได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ เป็นปัญหาที่มีแนวโน้มสูงขึ้น มีความเรื้อรัง และเกิดความชินชาจนไม่รู้ว่าแก้ไขปัญหาหนักหนาเช่นนี้ได้อย่างไรบ้าง

เมื่อวิทยากรหลักและวิทยากรประจำกลุ่มได้ลองตั้งโจทย์ในการพูดคุยและขุดปัญหาในระดับลึกลงไปอีกชั้น คือ COMPONENT โครงสร้างปัญหาที่ทำให้เกิด TREND และ EVENT ปรากฏว่าทุกปัญหา ไม่ว่าจะน้ำท่วม น้ำแล้ง และท่วมสลับแล้ง ต่างถูกสะท้อนออกมาในมิติที่ใกล้เคียงกัน โดยโน้มไปในทิศทางของนโยบาย การเมือง การบริการจัดการน้ำ กรม/กองที่บริหารระบบพื้นที่ส่งน้ำ ผังเมือง และนโยบายการผันน้ำในการเกษตร นอกจากนั้น ปัจจัยสภาพอากาศ และองค์ความรู้ก็ถูกชูและพบเห็นได้อย่างชัดแจ้งจากการระดมความคิดในทุกกลุ่ม สุดท้ายทีมวิทยากรขุดและวิเคราะห์สถานการณ์ของปัญหาในระดับมุมมองความคิดของเกษตร เราค้นพบว่า รากเหง้าที่กลายมาเป็นฐานคิดของเกษตรกรในท้องถิ่น อาจไม่ใช่ปัญหาทางด้านเกษตรกรรมที่พวกเขาใช้ประกอบอาชีพโดยตรง แต่เชื่อมโยงมาจาก COMPONENT ที่เกี่ยวเนื่องกับปัญหาการเมืองท้องถิ่น ปัญหาการเงินและหนี้สิน ปัญหาสภาพเกษตรผู้สูงอายุไม่มีลูกหลานมาช่วยเหลือ การถูกทอดทิ้งไม่ได้รับการเหลียวแลจากผู้มีอำนาจ การไม่กล้าและกลัวที่จะปรับตัว เพราะไม่มีความรู้ที่เพียงพอ การให้ทุกสิ่งขึ้นอยู่กับฟ้าดินวางแผนล่วงหน้าได้ยาก ไปจนถึงความขี้เกียจ

สรุปบทวิเคราะห์จากการระดมความคิดด้วยกระบวนการ Service Design Thinking

จากเทคนิคข้างต้น ทางทีมผู้จัดกิจกรรม ซึ่งประกอบไปด้วยวิทยากรหลักและวิทยากรประจำกลุ่ม ได้ทำการสรุปผลและตีความส่วนใหญ่โดยอาศัยตัวชี้วัดจากปัญหาที่สะท้อนในระดับ COMPONENT และ MINDSET เป็นหลัก เนื่องจาก EVENT และ TREND เป็นส่วนยอดภูเขาน้ำแข็งที่เกิดขึ้นจากประสบการณ์พื้นที่ หากต้องการเรียนรู้และแก้ไขปัญหาในระยะยาว ทีมผู้จัดกิจกรรมซึ่งทำงานในด้านนี้มามากกว่า 5 ปี เชื่อและพิสูจน์ได้ในระดับหนึ่งแล้วว่าควรแก้ไขในระดับโครงสร้างของปัญหาและเข้าใจความคิดที่สะท้อนจากผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับปัญหาในทุกมิติ โดยเน้นย้ำให้เป็นการสะท้อนแนวคิดและประสบการณ์จากท้องถิ่นให้มากที่สุด เพื่อหลีกเลี่ยงความหลากหลายมากเกินควร ซึ่งเป็นการแก้ปัญหาในวงกว้างไม่ได้ตอบสนองบริบทของท้องถิ่นเท่าที่ควร

ภาพรวมของความหวังก่อน-หลังการลงมือดำเนินกิจกรรม Service Design Thinking

ทีมวิจัยและทีมผู้จัดกิจกรรมได้จัดเตรียมความคาดหวังต่อข้อมูลจากการจัดกิจกรรม Service Design Thinking โดยประกอบไปด้วย โครงสร้างฐานข้อมูล ชนิดข้อมูล และข้อมูล ดังนี้

โครงสร้างฐานข้อมูล ประกอบไปด้วย

  • ฐานข้อมูลประวัติผู้เข้าร่วมโครงการและ Personar
  • ฐานข้อมูลจากการทำ Design Thinking (Post it)
  • ฐานข้อมูลจากการสรุป Retrospective ของทีมวิทยากรผู้จัดกิจกรรม
  • ฐานข้อมูลการค้นพบด้วย AI
  • ฐานข้อมูลแบบประเมินความคิดเห็นโครงการ

ชนิดข้อมูล

  • ชนิดข้อมูลที่มีรูปแบบชัดเจนอ้างอิงได้ เช่น ประวัติผู้เข้าร่วมกิจกรรม
  • ชนิดข้อมูลที่มีรูปแบบอ้างอิงทางสถิติ เช่น แบบประเมินความคิดเห็น และ Personar เบื้องต้น
  • ชนิดข้อมูลที่ต้องมานำวิเคราะห์ สังเคราะห์ และตีความออกมาจากผู้จัดกิจกรรม เช่น Pos it

ข้อมูล

  • ข้อมูลปัญหาที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น ระดับ COMPONENT และ MINDSET
  • ข้อมูลความต้องการที่เกิดขึ้นในท้องถิ่น ระดับ COMPONENT
  • ข้อมูลที่สะท้อนถึงรากเหง้าของปัญหาที่จะนำมาสู่การพัฒนาระบบ DSS

หลังจากการดำเนินกิจกรรมทั้ง 2 จังหวัด ทางทีมได้รับฐานข้อมูลครบถ้วนตามที่คาดหวัง และได้รับชนิดข้อมูลครบถ้วนทุกชนิดตามที่ออกไว้เช่นเดียวกัน สำหรับตัวข้อมูลที่ได้รับจริงจากกิจกรรมมีความหลากหลายในมิติของการตีความ แต่ก็มีนัยยะที่ตรงกันระหว่างผู้เข้าร่วมกิจกรรมจากทั้ง 2 เวที ทางทีมวิจัยจึงได้ทำการวิเคราะห์และสรุปกลุ่มประเด็นปัญหาต่างๆ ออกมาได้ ดังต่อไปนี้

ประเด็นที่ 1 ปัญหาการบริหารจัดการน้ำและภัยธรรมชาติที่เกี่ยวข้องกับระบบชลประทานโดยตรง

  • ภัยแล้งในพื้นที่ที่ไม่ระบบชลประทาน ทำให้การวางแผนการเพาะปลูกและรูปแบบการเพาะปลูกเกิดปัญหามาโดยตลอด
  • ภัยน้ำท่วมในพื้นที่นาและพื้นที่ลุ่มน้ำ ทำให้การวางแผนและปรับต่อเพื่อให้ได้ผลผลิตก่อนฤดูน้ำหลากมีความยากขึ้นทุกปี
  • ภัยแล้งจากการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ไม่มีชลประทานขาดการคาดการณ์และวิเคราะห์ข้อมูลอย่างถูกต้องตามความต้องการใช้งานด้านการเกษตร ทำให้น้ำผิวดินนอกระบบชลประทานไม่พอเพียงต่อการใช้งาน
  • ภัยน้ำท่วมในพื้นที่แก้มลิง (ในบริบทที่ไม่มีการเตรียมการล่วงหน้า) ทำให้เกิดความเสียหายต่อภาคการเกษตร

ประเด็นที่ 2 ปัญหาสภาพแวดล้อมทางการเกษตร ภูมิประเทศ และภูมิอากาศ

  • สภาพภูมิอากาศเปลี่ยนแปลงจากความแปรปรวนที่คาดเดาไม่ได้ ทำให้เกิดความผิดพลาดต่อกระบวนการทางการเกษตรในทุกมิติ เช่น ดิน น้ำ ลม ไฟ ปัจจัยการผลิต กระบวนการหลังเก็บเกี่ยว ฯลฯ
  • สภาพภูมิประเทศในพื้นที่การเกษตรเปลี่ยนไปจากการขยายตัวของชุมชนเมือง โรงงานอุตสาหกรรมในท้องถิ่น และการละทิ้งถิ่นฐานขายที่ดินเพื่อปลูกบ้านแปลงเมือง ทำให้กระบวนการบริหารจัดการการเกษตรดั้งเดิม ไม่สามารถรองรับการเปลี่ยนแปลงภูมิประเทศเหล่านี้ได้ เกิดปัญหาน้ำท่วมขังและมลภาวะจากเมืองหรือชุมชมใหม่สู่พื้นที่การเกษตรดั้งเดิม
  • สภาพแวดล้อมทางการเกษตรมีการเปลี่ยนแปลงอย่างต่อเนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและภาวะโลกร้อน ทำให้พันธุ์พืช วัชพืช และศัตรูพืชมีการปรับตัวและสร้างปัญหาในการจัดการพื้นที่ในระยะยาว รวมถึงกระบวนการวางแผนรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงเป็นไปได้อย่างยากลำบาก เพราะเกษตรกรขาดองค์ความรู้และต้นทุนสำหรับความปรับตัวที่เหมาะสมกับบริบทในท้องถิ่น

ประเด็นที่ 3 ปัญหาทางด้านเศรษฐกิจ ภูมิสังคม และนโยบายภาครัฐ

  • การคาดการณ์ผลผลิตเป็นไปได้ยาก ทำให้การรองรับผลผลิตในตลาดและรูปแบบการจัดการผลผลิตสู่ตลาดเกิดปัญหาอย่างต่อเนื่อง ทั้งในระดับการเก็บเกี่ยว การแปรรูป/ผลิต และการขายผลผลิต
  • การไม่สมดุลระหว่างมูลค่าที่ใช้จ่ายในการจัดหาปัจจัยการผลิต มูลค่าความเสียหายจากการเปลี่ยนแปลงของธรรมชาติและภัยพิบัติ เทียบกับมูลค่าที่เป็นราคาขายในตลอด
  • การเปลี่ยนแปลงของวิถีชีวิตการเกษตร ทำให้เกิดปัญหาทางด้านสังคมการเกษตรใหม่ๆ ที่ไม่ใช่เพียงการรับมือกับปัญหาในพื้นที่การเกษตร แต่ยังมีปัญหาความทางด้านการเงิน การศึกษา ปัญหาครอบครัว และความขัดแย้งอันเกิดจากการเจริญก้าวหน้าของวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีที่เข้ามามีบทบาทในวิถีชีวิตที่ปรับตัวไม่ทันต่อการเปลี่ยนแปลงเหล่านั้น
  • นโยบายภาครัฐที่สนับสนุนให้เกิดองค์ความรู้และกระบวนการปรับตัว รวมไปถึงเครื่องมือและนวัตกรรมต่างๆ ไม่ได้ถูกออกแบบและพัฒนาขึ้นจากความต้องการและความเข้าใจที่มีต่อบริบทท้องถิ่นอย่างแท้จริง
  • นโยบายภาครัฐต่อการจัดการระบบชลประทาน พื้นที่ลุ่มน้ำ และพื้นที่ที่ไม่มีระบบชลประทาน ไม่มีกระบวนการปรับปรุงข้อมูลข่าวสารและระบุความต้องการจากปัญหาที่เกษตรกรประสบอยู่จริง และไม่มีการปรับปรุงข้อมูลปัญหาและความต้องการให้เป็นปัจจุบัน

ประเด็นที่ 4 ความต้องการและความคาดหวังที่มีต่อการเกษตรในท้องถิ่นที่มีนัยยะสำคัญ

  • การพัฒนาระบบส่งน้ำในพื้นที่นอกโครงการชลประทานในทุกมิติ รวมถึงการพัฒนานวัตกรรมที่สร้างระบบผันน้ำสู่นาและพื้นที่การเกษตรในท้องถิ่นด้วยพลังงานทดแทน
  • การพัฒนาระบบน้ำในพื้นที่สูงและการส่งผ่านน้ำเพื่อการเกษตรในพื้นที่สูงให้มีประสิทธิภาพด้วยการใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นทดแทนเทคโนโลยีที่ใช้พลังงานไฟฟ้าจำนวนมาก
  • การเพิ่มช่องทางการตลาดที่เอื้อต่อการนำผลผลิตในท้องถิ่นเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ และมีกระบวนการที่สนับสนุนให้เกษตรสามารถพัฒนาศักยภาพผลผลิตทางการเกษตรที่ตรงตามความต้องการของตลาดได้ง่ายขึ้น เช่น องค์ความรู้ในการพัฒนามาตรฐานการผลิต การมีโรงแปรรูปชุมชน และการมีตลาดที่ประกันราคาและคุณภาพที่โปร่งใสในระดับท้องถิ่น
  • การสนับสนุนเทคโนโลยี นวัตกรรม และเครื่องมือทางการเกษตรที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาดิน น้ำ และการทำงานเกษตรในพื้นที่แปลงเพื่อลดต้นทุนการผลิต
  • การสนับสนุนงบประมาณในการพัฒนากระบวนการให้ความรู้และสร้างช่องทางให้เกษตรเข้าถึงนวัตกรรม เทคโนโลยี และแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการเกษตรอย่างทั่วถึง

ประเด็นที่ 5 ความต้องการและความคาดหวังที่มีต่อการเตรียมแผนและตัดสินใจรับมือต่อการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมและสภาพภูมิอากาศ

  • การให้องค์ความรู้และข้อมูลที่เป็นปัจจุบันในการเตรียมการรับมือต่อสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างแม่นยำและสอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น โดยมีการบูรณาการความรู้จากทุกภาคส่วน
  • การพัฒนากระบวนการให้ความรู้และสร้างช่องทางให้เกษตรเข้าถึงนวัตกรรม เทคโนโลยี และแหล่งข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาการตัดสินใจทางการเกษตรล่วงหน้าที่แม่นยำและสอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่น

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเชิงปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านการเกษตร (Decision Supporting System for Agriculture) โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และบริษัท ดูอินไทย จำกัด

--

--

Suthat Ronglong
DO IN THAI

Founder & Innovator of DO IN THAI Company Limited