วิเคราะห์แนวทางการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านการเกษตร ตอนที่ 4 บทวิเคราะห์ความต้องการต่อระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านการเกษตร

Suthat Ronglong
DO IN THAI
Published in
2 min readOct 11, 2017

ระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านการเกษตร (Decision Supporting System: DSS for Agriculture)

ระบบสนับสนุนการตัดสินใจ (Decision Supporting System: DSS) ด้านการเกษตร คือ ระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ที่รวบรวมข้อมูลซึ่งมีความเกี่ยวข้องกับการเพาะปลูกมาประมวลผลให้เป็นประโยชน์กับการวางแผนดำเนินกิจกรรมของเกษตรกร ตัวอย่างเช่น การนำข้อมูลพยากรณ์อากาศมาพัฒนาควบคู่กับปฏิทินเพาะปลูก เพื่อคาดการณ์ระยะหว่าน ระยะให้ปุ๋ย คาดการณ์ปริมาณผลผลิต เสนอแนะวันที่ควรเก็บเกี่ยวหรือขนส่งผลผลิต ตลอดจนพยากรณ์และเตือนภัยการระบาดของแมลงศัตรูพืช เป็นต้น ในต่างประเทศ DSS จะอยู่ในรูปแบบของซอฟท์แวร์คำนวณบนเวบไซต์หรือแอพพลิเคชั่นบนโทรศัพท์มือถือ ซึ่งเป็นรูปแบบของเทคโนโลยีที่เกษตรกรในปัจจุบันมีความคุ้นเคยและสามารถเข้าถึงได้มากขึ้น ส่งผลให้การพัฒนา DSS ที่มีเกษตรกรเป็นผู้ใช้มีความเป็นไปได้มากขึ้นด้วย

ความต้องการที่มีต่อการพัฒนาระบบ DSS

จากการดำเนินการจัดกิจกรรมทั้งในจังหวัดยโสธรและเชียงราย ทางทีมวิจัยมีความเห็นร่วมกันว่าการออกแบบและพัฒนากระบวนการและเทคโนโลยีใดๆ ที่จะส่งเสริมและสนับสนุนการตัดสินใจในการเกษตรนั้น ตั้งประกอบไปด้วย 3 เสาหลักที่เป็นรากฐานของการสร้างความสอดคล้องและเหมาะสมของต่อความต้องการของเกษตรกรในประเทศไทย ดังต่อไปนี้

  1. ฐานองค์ความรู้ ฐานที่สำคัญที่สุดที่ควรเร่งรัดและให้ความเข้มข้นของการพัฒนาให้เกิดขึ้น ทีมวิจัยค้นพบว่า หากเกษตรกรมีองค์ความรู้ เข้าถึงข้อมูลที่ปรับปรุงอย่างเป็นปัจจุบัน และรับรู้ถึงการเปลี่ยนแปลงหรือสภาพที่จะก่อปัญหาต่อการเกษตร มีความเป็นไปได้มาก ที่ตัวเกษตรกรเองจะสามารถก่อเกิดความตระหนักรู้และเริ่มต้นปรับตัวต่อการเกษตรในสภาพภูมิอากาศ ภูมิสังคม และสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ทั้งนี้ เพราะเกษตรกรเหล่านั้นล้วนพบเห็นการเปลี่ยนแปลงและประสบปัญหาโดยตรงอยู่แล้ว การมีความรู้และได้รับความรู้ที่ถูกต้อง ถูกที่ ถูกเวลา และทันเวลานั้นจริงเป็นสิ่งที่ทีมวิจัยให้เป็นฐานที่จำเป็นและเร่งด่วนที่สุด โดยเฉพาะองค์ความรู้ที่ทำให้เกษตรกรรู้เท่าทันธรรมชาติ
  2. ฐานบริบทท้องถิ่น ฐานที่เป็นจุดชี้วัดความยั่งยืนและความเข้าถึงได้จริงเกษตรกรของประเทศไทย ทีมวิจัยมุ่งมั่นที่จะกิจกรรมในท้องถิ่นตั้งแต่ต้น เพราะด้วยเราเชื่อเรื่องการทำความเข้าใจความแตกต่างของท้องถิ่น และไม่ว่าจะองค์ความรู้ ข้อมูล เทคโนโลยี และนวัตกรรม ทั้งหมดควรได้รับการปรับแต่งจากบริบทและความต้องการของผู้รับ/ผู้ใช้งานในท้องถิ่นมากกว่าการคิดค้นบางสิ่งเพียงหนึ่งเดียวเพื่อตอบโจทย์การเกษตรทั้งประเทศ ความต้องการในการรับรู้และใช้งานระบบใดๆ ที่สนับสนุนการตัดสินใจทางการเกษตรจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวดที่ต้องเกิดขึ้นจากบริบทท้องถิ่น
  3. ฐานนวัตกรรม ฐานที่อยู่ในสถานะเป็นผู้สร้างความเปลี่ยนแปลงในสังคมการเกษตรยุคปัจจุบัน ทีมผู้กิจกรรมได้มีการสอบถามการใช้งานระบบเทคโนโลยีสารสนเทศพื้นฐาน พบว่าเกษตรกรผู้ที่ร่วมกิจกรรมทั้งหมด รวมถึงสมาชิกในเคืรอข่าย (กรณีผู้แทนเครือข่ายเกษตร/นิติบุุคคล) มากกว่า 80% เป็นผู้เข้าถึงข้อมูลหรือได้รับข้อมูลผ่านทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และมีสมาร์ทโฟนอุปกรณ์หลักในการสื่อสาร ดังนั้น การพัฒนานวัตกรรมที่เอื้อต่อการส่งต่อองค์ความรู้ ข้อมูลที่ปรับปรุงเป็นปัจจุบันที่เกี่ยวข้องกับการปรับตัวทางการเกษตร ข้อมูลที่มีความรวดเร็วแม่นยำ และเครื่องมือที่จะช่วยสนับสนุนการตัดสินใจในการเกษตร เป็นทางเลือกและตัวเลือกที่เหมาะสมในปัจจุบัน อย่างไรก็ดี นอกจากนวัตกรรมจะเป็นช่องทางในการให้ข้อมูลความรู้แล้ว นวัตกรรมก็ควรให้ความสำคัญและสร้างความสอดคล้องกับบริบทของท้องถิ่นด้วย เช่น ภูมิประเทศ วัฒนธรรม รูปแบบภาษา และความเข้าใจต่อพฤติกรรมการเกษตรของเกษตรกรที่ใช้นวัตกรรมเหล่านั้น ในอีกนัยยะหนึ่ง ตัวนวัตกรรมเองก็ควรทำหน้าที่เป็นช่องทางรับข้อมูลความต้องการ เก็บข้อมูลท้องถิ่น และนำข้อมูลที่สร้างจากเกษตรกรในมิติต่างๆ กลับมาวิเคราะห์และนำเสนอหนทางแก้ไขจากหน่วยที่รับผิดชอบต่อไปได้ หรือเรียกว่าเป็นนวัตกรรมที่มุ่งเน้นและส่งเสริมให้เกิดการสร้างข้อมูลของทั้งสองทาง ระหว่างบริบทเทคโนโลยีเพื่อการตัดสินใจ และเทคโนโลยีเดียวกันที่สามารถรับข้อมูลเพื่อเป็นฟีดแบ็ค (Feedback) ในการเข้าใจบริบทท้องถิ่นให้มากขึ้นและมีความฉลาดขึ้นเรื่อยๆ ด้วยการแบ่งปันคุณค่าจากการวิเคราะห์ข้อมูลจากท้องถิ่น

ความคาดหวังที่จะเกิดขึ้นจากการมีระบบ DSS

  1. ความแม่นยำ โดยตีความคำว่าแม่นยำคือ DSS ต้องให้ข้อมูลที่เป็นจริง เป็นปัจจุบัน และให้สิ่งที่สามารถพบเห็นและมีหลักฐานที่ใกล้เคียงคล้ายคลึงกับความเป็นจริงที่เกิดขึ้นในบริบทของท้องถิ่นนั้นๆ รวมไปถึงในระยะยาวอาจมีการศึกษา DSS เข้าใจและเข้าถึงบริบทความแม่นยำถึงระดับดิน น้ำ และลักษณะพืชพื้นถิ่น นอกจากนั้นความแม่นยำยังสื่อไปถึงค่าปัจจัยต่างๆ ที่ถูกเก็บจากท้องถิ่นและส่งผ่านถึงเกษตรกรต้องมีความแม่นยำ ตรวจสอบได้ และมีการสอบเทียบค่าต่างๆ ให้เป็นไปตามมาตรฐาน เพื่อแสวงหาโมเดลใหม่ๆ และเป็นแหล่งอ้างอิงความแม่นยำที่เกษตรกรสามารถยอมรับได้
  2. ต้นทุนและเวลา เกษตรกรส่วนคาดหวังว่าการมี DSS ใดๆ ที่จะเกิดขึ้น ส่งต่อ ส่งผ่าน และให้ข้อมูลที่แม่นยำนั้น เหล่านี้จะสามารถนำไปสู่การลดต้นทุนทั้งในเชิงเศรษฐกิจการเกษตรในระดับแปลง จนถึงระดับชาติ และต้นเวลาเวลาที่ใช้ในกระบวนการวางแผนการเกษตรก็ควรมีค่าลดลง ซึ่งปัจจัยต้นทุนและเวลานี้ จัดเป็น KPI ที่จะชี้วัดความเป็น DSS ด้านการเกษตรเมื่อมีการประยุกต์ใช้ในระยะกลาง (เริ่มเกิดผลกระทบ) และระยะยาว (การต่อยอด)
  3. การบริหารความเสี่ยง ความคาดหวังต่อการเกษตรกรในมุมทีมวิจัยและทีมผู้จัดกิจกรรม คือการสร้างความตระหนักและการให้องค์ความรู้ของการ บริหารความเสี่ยงทางการเกษตร ให้เกิดขึ้นกับเกษตรกร เพราะภายใต้แนวคิดการบริหารจัดการความเสี่ยงเหล่านี้อย่างเข้าใจต่อการเปลี่ยนแปลงทางการเกษตรที่เกิดขึ้นทั้งในปัจจุบันและอนาคต
  4. การันตีสู่การตลาด DSS ที่เกษตรกรมองว่าดี ต้องดีต่อการผลักดันสินค้าและผลผลิตของพวกเขาสู่ตลาดด้วย ฉะนั้นใน DSS จึงอาจจะต้องมีกระบวนการเชื่อมโยง วิเคราะห์ และให้ข้อมูลการตัดสินใจทางการเกษตรที่ผูกพันโดยตรงกับสถานการณ์การตลาดด้วย
  5. ประสบการณ์ที่ดี DSS ควรให้ประสบการณ์ที่ดีและคำนึงถึงความรู้ความเข้าใจต่อข้อมูลที่เกษตรกรได้รับ และคำนึงถึงการนำไปตีความและสร้างประสบการณ์ที่ใช้ได้จริงกับเกษตรกรในระดับท้องถิ่น

ข้อเสนอนวัตกรรม (DSS) ที่เหมาะสมกับบริบทท้องถิ่น

  1. จากความเห็นข้างต้น ทางทีมวิจัยขอเสนอในมีการตรวจสอบ (Validate) ระบบ DSS เดิมที่มีอยู่ เช่น ระบบกดดูรู้ดิน กดดูรู้น้ำ ระบบ Agri-maps และระบบอื่นๆ ที่มีให้บริการประชาชนในกลุ่มหรือหมวดหมู่ที่เกี่ยวข้องกับการสนับสนุนการตัดสินใจในการเกษตรทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังต่อไปนี้
  • ควรพัฒนาระบบข้อมูลในระบบ DSS ให้มีความเที่ยงตรง แม่นยำ และเป็นข้อมูลที่มาจากท้องถิ่นให้มากขึ้น (Local Inputs) เพราะข้อมูลจากส่วนกลางหรือข้อมูลจากการในรูปแบบโมเดลเพียงอย่างเดียว ไม่สามารถสร้างความเที่ยงตรงแม่นยำให้เกิดการยอมรับ ซึ่งส่งผลให้เกษตรกรเกิดประสบการณ์ที่ไม่ดีต่อระบบ DSS ในภายหลัง
  • ควรพัฒนาฐานข้อมูลองค์ความรู้ท้องถิ่น และเปิดพื้นที่ในระบบเหล่านั้นให้มีการป้อนข้อมูลกลับ (Feedback) จากเกษตรกรในท้องถิ่น ถือเป็นการรับข้อมูล 2 ทางมากกว่าให้ระบบ DSS เป็นตัวกลางในการสื่อสารทางเดียวแบบที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
  • ควรพัฒนาองค์ความรู้ที่มีต่อระบบ DSS ในระดับท้องถิ่นให้เข้มข้น เพราะการพัฒนาระบบซอฟต์แวร์หรือฮาร์ดแวร์ที่ดีเพียงใด หากประชาชน (Peopleware) ไม่เห็นคุณค่า ไม่ตระหนัก หรือไม่ยอมรับประสบการณ์จากการใช้งานระบบ DSS ระบบต่างๆ ที่ถูกพัฒนาขึ้นทั้งในวันนี้และวันหน้า ไม่ว่าจะมีประโยชน์หรือประสบความสำเร็จมาจากประเทศใด แต่ไม่ตรงกับบริบทท้องถิ่นและความต้องการจริงของผู้ใช้งานในสังคมไทยก็ไม่มีคุณค่าตรงตามเป้าประสงค์ของตัวนวัตกรรม
  • ควรมีการพัฒนาระบบติดต่อผู้ใช้ (User Interface) และส่วนประสบการณ์ผู้ใช้ (User Experience) ด้วยการทำงานร่วมกับผู้ใช้งานจริงให้มากขึ้น และการมีการตรวจสอบ (Validate) รูปแบบการใช้งานจริง ว่ามีการใช้งานจริงในการทำประโยชน์เพื่อส่วนใด มิใช่เพียงนำเสนอนวัตกรรมแต่เกษตรกรไม่สามารถเข้าใจ เข้าถึง และนำไปประยุกต์ใช้ได้จริงในการตัดสินใจ ภาครัฐควรตรวจสอบ (Validate) นวัตกรรมกับท้องถิ่นในวงกว้างก่อน

2. เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ระบบ DSS เพื่อการเกษตรจึงควรมุ่งเน้นที่จะส่งเสริมการให้ข้อมูลการตัดสินใจล่วงหน้า ที่เกี่ยวข้องกับโดยตรงกับสภาพอากาศเพื่อการเกษตร ซึ่งอาจอยู่ในรูปของอุปกรณ์ตรวจวัดสภาพอากาศ แอปพลิเคชันสำหรับส่งข้อมูลพยากรณ์อากาศ และระบบสารสนเทศสำหรับตรวจสอบข้อมูลอากาศล่วงหน้า (และอาจรวมถึงย้อนหลัง) ที่มีความละเอียดในระดับท้องถิ่นและพืชเศรษฐกิจที่เพาะปลูกอยู่ในท้องถิ่น โดยมีข้อมูลหลักที่ใช้ในการเกษตรโดยเฉพาะ หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งคือ พยากรณ์อากาศเพื่อการเกษตรระดับท้องถิ่น ประกอบด้วยข้อมูลตัวอย่างดังนี้

  • พยากรณ์อากาศล่วงหน้า เน้นไปที่ลมและฝน (ตกฝนหรือไม่ ตกวันไหนบ้าง เวลาประมาณใด อยู่ในเขตพื้นที่ท้องถิ่นใด) โดยระยะเวลาควรแบ่งในระดับล่วงหน้า 6 ชั่วโมง ล่วงหน้า 1–3 วัน และล่วงหน้าสำหรับวางแผนการเพาะปลูก 3–6 เดือน
  • ให้ข้อมูลการปรับเปลี่ยนหรือเคลื่อนไหวของฤดูกาล รวมไปถึงสภาวะโลกร้อนในมิติที่เกษตรกรเข้าใจได้ง่าย เพื่อรองรับการตัดสินใจในปีที่มีน้ำปริมาณมากและปีที่มีโอกาสแล้ง ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศของโลก

บทความนี้เป็นส่วนหนึ่งของรายงานเชิงปฏิบัติการเพื่อวิเคราะห์แนวทางการพัฒนาระบบสนับสนุนการตัดสินใจด้านการเกษตร (Decision Supporting System for Agriculture) โดยสำนักงานคณะกรรมการนโยบายวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและนวัตกรรมแห่งชาติ (สวทน.) และบริษัท ดูอินไทย จำกัด

--

--

Suthat Ronglong
DO IN THAI

Founder & Innovator of DO IN THAI Company Limited