แชร์ประสบการณ์ สร้างบ้านในฝัน (Crafting Dreams: EP-2)

อะไรที่เป็นของเรา ยังไงก็เป็นของเรา

Donato_TH
Donato Story
3 min readJul 7, 2023

--

หนึ่งในแบบบ้านที่เป็นแรงบันดาลใจของผม (CHILTON + MAYNE)

ติดตามผลงานได้ที่ https://medium.com/donato-story และ https://web.facebook.com/DonatoStory นะครับ

ต้อนรับกลับสู่ซีรีย์ Crafting Dreams: แชร์ประสบการณ์สร้างบ้านในฝัน
แต่ก่อนอื่นผมอยากชี้แจงให้ผู้อ่านทุกท่านเข้าใจก่อนนะครับว่า

  • บทความของผมนั้น “ไม่ได้พูดถึงเรื่องการหาเงินมาซื้อทรัพย์สินนะครับ” ผมจะมุ่งเน้นไปที่ขั้นตอน ข้อควรรู้ บทเรียนที่ผมได้รับจากการซื้อที่ดินและการสร้างบ้าน
  • การซื้อที่ดินและการสร้างบ้านนั้นเป็นการลงทุนที่ใช้เงินจำนวนมาก โปรดศึกษาให้ดีก่อนการลงทุนนะครับ ผมไม่ได้มาชักชวนให้ใครลงทุนนะครับ ^__^
  • เนื่องจากผมเล่าย้อนหลังไปตั้งแต่เริ่มต้นซื้อที่ดิน ดังนั้นภาพประกอบอาจจะหาย ตกหล่นไปบ้างนะครับ

อะไรที่เป็นของเรา ยังไงก็เป็นของเรา

หลังจากที่ผมได้ซื้อที่ดินแปลงแรกเสร็จเป็นที่เรียบร้อยแล้ว (ติดตามได้ในตอนที่ 1)
[สิ่งที่ผมพลาดไปในเวลานั้นคือ “ไม่ได้ยืนยันหลักหมุดที่ดินก่อนซื้อ” ในตอนนั้นผมยังมีความรู้ไม่มากพอและผมยังมีความเชื่อผิดๆที่ว่า “ถ้าเราซื้อที่ดินโฉนด น.ส.4 ก็เพียงพอแล้ว” ซึ่งไม่ถูกต้องนะครับ เราต้องหาหลักหมุดก่อนซื้อเพื่อป้องกันที่ดินที่เราซื้อมีขนาดเล็กลงในภายหลัง] ผมได้ยื่นเรื่อง “ขอรังวัดที่ดิน” เพื่อให้ทราบอาณาเขตที่แน่นอน ก่อนที่จะทำรั้วและสร้างบ้านครับ และเมื่อผมยื่นเรื่องขอรังวัดที่ดินเสร็จแล้ว ผมได้หาผู้รับเหมามาจัดการเตรียมที่ดิน (ถางหญ้า) เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับเจ้าหน้าที่

ภาพที่ดินของแปลงที่ ระหว่างเคลียร์ทางไปถมที่ดิน (Image by Author)

✅🎗️ เรื่องที่ควรรู้ 🎗️✅ ค่าใช้จ่ายในการรังวัดที่ดินนั้นหลายพันบาทนะครับ หรือถ้าที่ดินแปลงขนาดใหญ่ๆก็มีหลักหมื่นได้ และระยะเวลารอคอยช่างค่อนข้างนานครับ ผมรอประมาณ 2 เดือนได้ครับ

มาถึงวันที่นัดหมาย เรื่องไม่คาดฝันเกิดขึ้นถึง 2 เรื่องคือ

  1. หลังจาก 2 เดือนผ่านไปของการถางหญ้า หญ้านั้นได้กลับมาสูงถึงเอวอีกครั้ง (ประมาณ 1.0–1.5 เมตรได้ครับ) ทำให้เจ้าหน้าที่ปฏิเสธการเดินเข้าไปทำรังวัดที่ดิน เสียเงินฟรี😢😭🥲
  2. มีเจ้าของที่ดินแปลงติดกัน (~3.5 ไร่) มาเสนอขายที่ดินให้ครับ เป็นที่ดินตาบอด เป็นที่ลุ่มน้ำขัง เค้าบอกจะขายให้ในราคาพิเศษ 😘😍🥰

ในความเป็นจริงนั้น ผมไม่ได้ซื้อที่ดินแปลง ~3.5 ไร่ ตั้งแต่ช่วงที่มาเสนอขายนะครับ เพราะเงินผมไม่พอ (ผมมีผ่อนอสังหาริมทรัพย์อื่นอยู่) แต่เมื่อเวลาผ่านไปประมาณ 1 ปี สภาพคล่องผมเริ่มกลับมา และผมได้โทรไปขอซื้อที่ดินอีกครั้ง และเจ้าของที่เดิมก็ใจดีขายให้ ซึ่งในที่สุดผมก็ได้ที่ดินเพิ่ม จากประมาณ 0.5 ไร่ เป็น 4 ไร่ (อะไรที่เป็นของเรา ยังไงก็เป็นของเรา) ^__^

ภาพที่ดินของแปลงที่ 1 ต่อไปยังแปลงที่ 2 (Image by Author)

✅🎗️ เรื่องที่ควรรู้ 🎗️✅ ที่ดิน ~3.5 ไร่ที่ผมได้มานั้นราคาถูกมาก เหตุผลหลักๆคือที่ดินแปลงนั้นเป็นที่ดินตาบอด (ที่ดินที่ไม่มีทางเข้า/ออกสาธารณะ) ถ้าใครมีที่ดินอยู่ ลองเข้าไปใน Website: LandsMaps (ได้กล่าวไว้ในบทความตอนที่ 1) ดูนะครับ เผื่อว่าจะเจอที่ดินแปลงข้างๆเป็นที่ดินตาบอด จะได้ลองติดต่อซื้อดู

✅🎗️ เรื่องที่ควรรู้ 🎗️✅ ในทางกลับกัน หลีกเลี่ยงการซื้อที่ดินที่เป็นที่ตาบอด หรือถ้าคุณมีที่ดินตาบอดอยู่ในครอบครอง ลองหาทางซื้อที่ดินแปลงข้างๆ เพื่อทำให้ที่ดินของคุณมีทางเข้าออก

✅🎗️ เรื่องที่ควรรู้ 🎗️✅ อย่าคิดว่าธนาคารของรัฐจะมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่ำที่สุดเสมอไป ก่อนหน้านี้ผมคิดแบบนั้นมาตลอด 😢😭😢

ภาพที่ดินแปลงที่ 2 ขณะถมดินเสร็จแล้ว (Image by Author)

✅🎗️ เรื่องที่ควรรู้ 🎗️✅ หน้าที่ในการเตรียมที่ดิน ความรับผิดชอบของเจ้าของที่ดิน และเพื่อการดำเนินการที่รวดเร็ว เจ้าของที่ควรหาหลักหมุดให้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ จะช่วยประหยัดเวลาทั้งคุณและเจ้าหน้าที่

✅🎗️ เรื่องที่ควรรู้ 🎗️✅ การรังวัดที่ดินมีระยะเวลารอคอยค่อนข้างนาน (1–2 เดือน นับตั้งแต่วันยื้นเรื่อง) ดังนั้นการเตรียมที่ดินไม่ควรรีบทำ แนะนำให้ทำช่วงใกล้ๆวันนัดหมายครับ

✅🎗️ เรื่องที่ควรรู้ 🎗️✅ การรังวัดหรือการหาหลักหมุดที่ดินนั้น ในปัจจุบันเจ้าหน้าที่ใช้เครื่อง GPS ครับ ยิงระยะหมุดกับพิกัด GPS (ตอนแรกผมนึกว่าเค้าจะดึงตลับเมตร วัดระยะทาง 555) ดังนั้นการเตรียมที่ดินแนวสูงก็จำเป็นนะครับ (อาจจะต้องมีการตัดกิ่งไม้หรือต้นไม้)

✅🎗️ เรื่องที่ควรรู้ 🎗️✅ ถ้าพื้นที่ข้างเคียงมีข้อพิพาท/ข้อสงสัยเกี่ยวกับหลักหมุด ผมแนะนำให้ “แนะนำเขาไปคุยกับเจ้าหน้าที่ครับ” ใช้เจ้าหน้าที่ให้เป็นประโยชน์ ให้เขาอธิบายว่าทำไมหมุดควรอยู่ตรงนี้ (ในกรณีของผม มีเพื่อนบ้าน 2 หลังสงสัยเกี่ยวกับเรื่องหลักหมุดที่อยู่ตรงกลางระหว่าง 3 แปลง ผมเลยบอกว่าผมยังไงก็ได้ ไปคุยกับเจ้าหน้าที่ดูครับ ผมทำแบบนี้เพื่อลดปัญหาการทะเลาะกัน

✅🎗️ อย่าลืม 🎗️✅ หมุดที่เจ้าหน้าที่ให้เรามานั้น (ที่ตอกลงกับที่ดิน) มีขนาดเล็ก เจ้าของที่ควรหาเสาปูนหรือวัสดุอื่นๆที่เห็นเด่นชัดมาปักใกล้ๆ เพื่อให้มองเห็นง่าย (อย่าลืมทำเครื่องหมายด้วยนะครับว่าอยู่องศาไหนของเสา ^__^)

ภาพที่ดินแปลงที่ 2 ก่อนถม (Image by Author)

เตรียมที่ดินสำหรับการสร้างบ้าน

ที่ดิน ~3.5 ไร่ ที่ผมได้มาใหม่นั้นเป็นที่ลุ่ม น้ำท่วมขัง แถมยังมีระดับความสูงต่ำกว่าระดับแปลงเดิมประมาณ 1.5 -2.0 เมตร ทำให้ต้องมีการถมที่ดิน เพื่อให้ทั้งสองแปลงมีระดับเท่ากัน โดยวัสดุที่นำมาถมที่นั้นมีด้วยกันมากมายหลายประเภทอาทิ ดินเหนียว, ดินทราย, ดินดาน, ดินลูกรัง, หน้าดิน, หินคลุก เป็นต้น วัสดุแต่ละชนิดมีข้อดีข้อเสียแตกต่างกันไป คุณต้องเลือกให้เหมาะสมกับงบประมาณและวัตถุประสงค์ของการใช้ที่ดินในอนาคต ในส่วนแปลงของผมนั้น ผมเลือกหินคลุกเกือบทั้งหมด แล้ว top-up ด้วยดินด้านบนครับ

✅🎗️ เรื่องที่ควรรู้ 🎗️✅ งานถมดินมีทั้งแบบ “งานเหมา” หรือ “งานต่อเที่ยวรถ” ผมเลือกแบบเหมาเพราะไม่มีเวลาไปนับเที่ยวรถครับ

✅🎗️ เรื่องที่ควรรู้ 🎗️✅ ถึงแม้เป็นงานเหมา คุณก็ควรติดตามความคืบหน้าของงานเป็นระยะๆ เพื่อให้แน่ใจว่างานนั้นดำเนินไปตามที่มันควรจะเป็น อีกทั้งการถมดินจะมีเรื่องการขออนุญาติ ความเสียหายของผิวถนน ความกังวลของเพื่อนบ้าน การทำสัญญาจ้างควรคำนึงถึงเรื่องพวกนี้ด้วยนะครับ

✅🎗️ เรื่องที่ควรรู้ 🎗️✅ เพื่อให้ระดับของที่ดินโดยรวมมีความเสถียร ควรรอให้ผ่านไปซัก 2 ฤดูฝนนะครับ การออกแบบ lanscape จะได้ง่ายขึ้น (Note: จริงๆการสร้างบ้านอาจไม่ต้องสนใจเรื่องนี้ เพราะตัวบ้านนั้นอยู่บนเสาเข็ม ถ้าใครรีบสร้าง ก็สามารถสร้างได้เลยครับ)

ภาพที่ดินแปลงที่ 2 จากมุมด้านใน (Image by Author)

ผมได้รวบรวมประสบการณ์ ข้อคิด และสิ่งที่ผมได้เรียนรู้มาจากการซื้อที่ดินแปลงแรกและแปลงที่สอง มาแบ่งปันให้ทุกคนอ่านกันครับ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ ใน Episode ถัดไปจะพูดถึงการเตรียมแบบบ้าน ฝากติดตามด้วยนะครับ

และฝากติดตามผลงาน บทความอื่นๆของผมได้ตาม link ด้านล่างนะครับ ขอบคุณครับ ^__^

Data Science

33 stories

Dashboard

3 stories

Donato_Journey

5 stories

Course_Review

3 stories

Please feel free to contact me, I am willing to share and exchange on topics related to Data Science and Supply Chain.
Facebook:
facebook.com/nattapong.thanngam
Linkedin:
linkedin.com/in/nattapong-thanngam

--

--

Donato_TH
Donato Story

Data Science Team Lead at Data Cafe, Project Manager (PMP #3563199), Black Belt-Lean Six Sigma certificate