QA career — Soft Skill กับ Attitude นั้นสำคัญไฉน

Natdanai Wiangwang
doppiotech
Published in
3 min readJun 1, 2023

จากประสบการณ์การทำงานมา 20 ปีของพี่ (พูดแล้วก็รู้สึกแก่ 😅) ทำงาน QA มาตั้งแต่เรียนจบเป็น Junior ตัวกระจ๊อย จนมาทำงานในบริษัทยักษ์ใหญ่ สร้างทีม QA ร้อยกว่าคน จนสร้างบริษัทที่มี QA ร่วม 200 คน สิ่งที่สังเกตุเห็นมาตลอดและแอบเป็นสิ่งน่าเศร้าคือ ไม่ค่อยมีใครสอน หรือ พูดถึงความสำคัญของ Attitude หรือ Soft skill ที่จำเป็นสำหรับสายงานนี้ (จริงๆคือไม่ค่อยเห็นการพูดถึงเรื่องพวกนี้ในงาน Tech ทั้งหมดด้วยแหล่ะ) ทั้งๆที่มันเป็นสิ่งสำคัญมากนะ เริ่มตั้งแต่ทำให้คนๆนึงได้งาน ถัดมามันเป็น skill ที่ทำให้คนๆนั้นอยู่รอดกับการทำงานในช่วงแรก และในที่สุดมีส่วนสำคัญในการแยกความแตกต่างระหว่าง QA ธรรมดาที่เดินไปถึงจุดตัน (ถึงแม้จะมี technical skill ที่ดีเยี่ยมก็ตาม) กับ QA ที่เติบโตไปเรื่อยๆจนเป็น A player ใน market

ทุกวันนี้ส่วนตัวพี่เอง แทบไม่ได้สอน Technical skill ให้น้องๆด้วยตัวเองละนะเพราะมีคนช่วยสอนเยอะหล่ะ แต่จะใช้เวลาส่วนใหญ่ในการค่อยๆสอน Soft Skill น้องๆเป็นกลุ่มๆ เป็นรุ่นๆซะเป็นส่วนใหญ่ ใน blog นี้จะยังไม่เน้นพูดถึงหรือสอน Soft Skill ในรายละเอียดนะครับ แต่จะเน้นยกตัวอย่างให้เห็นก่อนว่าเรากำลังพูดถึงอะไร และมันสำคัญยังไง แล้วไว้จะพยายามมาทำสรุปพูดถึง Soft skill ที่สำคัญใน blog ถัดๆไปเน้อ เรามาไล่กันไปแต่ละ Stage ดีกว่าตั้งแต่ 1. สัมภาษงาน 2. เอาตัวรอดในการทำงานช่วงแรก 3. การไต่ระดับขึ้นไปเติบโตและกลายเป็น A Player

1. Soft Skill กับการสัมภาษงาน

อย่างที่หลายๆคนรู้กัน Doppio Tech รับน้องๆเปลี่ยนสายงานเยอะมาก เรียกว่าน้องเปลี่ยนสายเกินครึ่งของบริษัท ดังนั้นในการสัมภาษงาน เอาจริงๆ แทบไม่ได้เช็ค technical skill เลย พี่ๆจะเน้นดูแค่ความสามารถในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ และ… Attitude กับ Soft skill ล้วนๆ เช่นว่าพูดคุยรู้เรื่องมั๊ย interaction ต่างๆกับพวกพี่เป็นยังไง สีหน้า ความตั้งใจ maturity ของพวกนี้ประกอบกันทำให้พี่ๆที่เป็นคนสัมภาษแต่ละคนเห็นภาพชัดเจนว่า เด็กคนนี้มีโอกาสรอด หรือไม่รอด และมีโอกาสถูกปั้นขึ้นมาได้มั๊ย เหมือนเวลาเราไปคุยกับใครครั้งแรก เราจะสัมผัสได้ว่าคนๆนี้โอเคหรือไม่โอเคแบบคร่าวๆ โดยที่ไม่ต้องถามเค้าด้วยซ้ำว่า จบอะไรมา ได้เกรดเท่าไหร่ตอนจบ หรือมีใบเซอร์อะไรบ้าง เพราะเรื่องของ attitude และ soft skill มันตะโกนออกมาได้ชัดแม้จะเป็นการพูดคุยกันในระยะเวลาสั้นๆก็ตาม

แม้แต่ตอนที่พี่สัมภาษน้องๆจบใหม่จบตรงสาย หรือคนมีประสบการณ์ระดับเทพๆ สมัยที่อยู่บริษัทยักษ์ใหญ่ สิ่งที่พี่ให้ความสำคัญไม่แพ้ technical skill (ที่ถูกคาดหวังว่าจะมีอยู่ในระดับดีอยู่แล้ว) คือ Attitude และ soft skill เช่นกันเพราะมันเป็นตัวบ่งชี้ว่า คนๆนี้สามารถเอา technical skill ที่มี มาใช้ มาสร้าง value ได้จริงๆมั๊ย เหมือนมีของอยู่ในตัว แต่ขาด soft skill ก็ทำให้ไม่สามารถเอาของที่มีนั้นมาใช้ให้เกิดประโยชน์ได้ ดังนั้นคนที่มี technical skill เก่งๆ ก็จะถูกคัดออกโดยปริยายจากการขาด soft skill มากเกินไปจนคนสัมภาษรู้สึกว่า ทำงานจริงได้ยาก หรือดึงความสามารถมา contribute ให้ทีมได้ยากมาก อันนี้ขอยกเว้นบาง role นะ ที่ require soft skill น้อยหน่อย แนว specialist ซึ่งถ้าเราเป็นคนที่ไม่สนใจการพัฒนา soft skill ของตังเอง จะหา role แบบนี้ที่ match ได้ก็โอเค (แต่โดยส่วนใหญ่งานประเภทนี้ ในองค์กร หรือในตลาดก็จะมีน้อยหน่อย) คือจะบอกว่า การขาด Soft skill ไม่ใช่สิ่งผิดนะ มันเป็นสิ่งที่ขาดกันได้ แต่ก็เป็นสิ่งที่เรียนรู้กันได้เช่นกัน แค่ว่าถ้าเราขาดมันไป opportunity ที่เรามีก็จะน้อยกว่าคนที่มี soft skill ถึงอยากให้ focus กับการพัฒนาตัวเองด้านนี้กันด้วยเน้อ

2. Soft Skill กับการเอาตัวรอดในทำงานช่วงเริ่มต้น

เป็น skill ที่ช่วยให้เอาตัวรอดกับการเริ่มต้นการทำงานที่สำคัญเลยหล่ะครับ เพราะตอนเริ่มทำงานเรายังไม่รู้จัก product ไม่รู้จักทีม ยังไม่ได้เป็นป๋าหรือตัวเทพใน product หรือทีมตัวเองแน่ๆ แต่ skill ที่จะทำให้เรารอด ให้ทุกคนพร้อม support และให้โอกาสเราคือบรรดา attitude และ soft skill ทั้งหลายนั่นเอง เช่น ความใส่ใจในงาน การกล้าถามคำถามต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขอ feedback หรือการถามคำถามเมื่อเรียนอะไรแล้วตามไม่ทัน หรือถามในเวลาที่ไม่แน่ใจกับสถานการณ์ต่างๆ (ใช่สิ่ เพิ่งเข้ามาในทีมจะรู้ไปหมดได้ไงว่าต้องทำอะไร) ก็ถามคำถามโดยไม่ปล่อยสิ่งเหล่านั้นไปและคิดในใจเอาเองว่าไม่เป็นไรหรอกมั้ง นอกจากนี้เวลาทีมมีปัญหาหรือต้องการความช่วยเหลือ แทนที่จะนั่งซุกตัวซ่อนอยู่หลังห้อง (เพราะคิดว่าเราเป็นเด็กใหม่ยังทำอะไรไม่ได้หรอก หลบตา ซ่อนตัวดีกว่า) ก็ถามพี่ๆเพื่อนๆในทีมว่า ผมรู้ว่าผมอาจจะยังช่วยอะไรไม่ได้มาก แต่ถ้าพี่สอนผมตรงนี้ผมช่วยได้มั๊ยครับ อะไรแบบนี้ทำให้เด็กใหม่คนนึงนอกจากทุกคนในทีมจะรักและพร้อม support แล้วยังกลายเป็นคนที่จะเก่งขึ้นแบบก้าวกระโดดได้ด้วย

ในทางกลับกัน ถ้าเราเข้าไปแล้วไม่ focus กับเรื่องพวกนี้เลย เราจะกลายเป็นคนที่ทำงานตามสั่ง ติดอะไรก็ไม่บอกไม่ถาม รอให้คนอื่นมาบอกมาป้อนสิ่งต่างๆให้ฝั่งเดียวเลย หรือที่แย่สุดคือการที่เราไม่มี ownership กับงานที่เราได้รับมอบหมาย งานทำไม่เสร็จทันเวลาก็ไม่บอกพี่ๆหรือคนอื่นในทีม หรือขอความช่วยเหลือเพื่อหาทางแก้ไข การประเมินการทำงานของเราก็จะออกมาแย่โดยอัตโนมัติ (ถ้า technical skill เลิศ ก็อาจจะช่วยให้เอาตัวรอดใน stage นี้ได้ระดับนึง แต่เดี๋ยวมาดูใน stage ถัดไปกันว่าถ้าขาด soft skill จะเป็นยังไง)

3. Soft Skill กับช่วงเวลาการสร้างตัวเองให้เป็น A player

สำหรับคนที่รอดจากการเริ่มทำงานในช่วงแรกมาแล้ว ทีนี้แหล่ะของจริง เราจะเดินไปในทางปกติทั่วไป เดินไปในทางตัน หรือเดินพุ่งไปสู่หนทางการเป็น A player เนี่ยมันแอบขึ้นอยู่กับ Soft Skill เยอะกว่าที่เราคิด! ยกตัวอย่าง skill แรกคือ Emphaty คือความเห็นอกเห็นใจ หรือการ put yourself in another person’s shoes (แปลแบบให้เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้คือ การเอาตัวเองไปมองโลกในมุมมองของคนอื่น หรือคนที่เรากำลังมีปัญหาด้วย) อันนี้เป็น skill ที่ช่วยลดความ ปสด และความหัวร้อนของเราเองได้ดีมากๆ แต่คนมักลืมและไม่ค่อยได้ใช้กัน คือปกติเวลาทำงาน เราจะเจอปัญหาสารพัดสารเพ แล้วเราก็จะชอบคิดว่า ทำไมคนนั้นมันไม่ทำแบบนั้นวะ ทำไมเจ้าคนนี้มันทำแบบนี้ใส่เรานะ แบบ มีแต่เรื่องหงุดหงิด แล้วความหงุดหงิดนั้นก็ทำให้เราทำสิ่งต่างๆเหล่านี้โดยอัตโนมัติ คือ 1. เก็บความหงุดหงิดไว้ในใจ ไม่ได้เคลียร์ออกจากหัวทนไว้ สะสมไว้ 2. ระเบิดออกมา หรือตอบโต้กลับด้วยอารมณ์กลับไปหาคนๆนั้นหรือคนเหล่านั้น ทีนี้เมื่อเราทำอะไรก็ตามด้วยอารมณ์ ผลลัพธ์มันก็จะมักจะไม่ค่อยดีเท่าไหร่หรอก แล้วพี่ก็ไม่ได้บอกว่าการมี Emphaty มันจะช่วยแก้ปัญหาในโลกนี้ให้หมดไปได้ด้วยนะ แต่แค่ว่า เราลองพยายามเอาตัวเองไปเป็นคนคนนั้น บางทีเราอาจจะเข้าใจได้ว่า Dev ที่เราโมโหนั้นเค้าไม่เคยแก้บั๊กให้เราถูกต้องเลย เพราะเค้าอาจจะไม่เข้าใจ feature นั้นจริงๆก็ได้ แล้วเค้าก็โดนหัวหน้าเค้าหรือ project manager ไล่บี้เค้าอีกทีให้ทำ feature ใหม่ให้เสร็จเร็วๆ แล้วเค้าก็ยังโดนเราที่เป็น QA ไล่เฉ่งให้แก้บั๊กมาเร็วๆอีก แค่เราลองมองจากมุมมองของคนที่เราเคยตั้งคำถามใส่ตลอดเวลาว่า ทำไมวะ ทำไมทำให้มันดีๆไม่ได้ เค้าจะกลายเป็นอีกคนนึงเลยสำหรับเรา ซึ่งไม่ได้หมายความว่า ปัญหาของการที่เค้าแก้บั๊กมาไม่ถูกซักทีมันจะหายไปนะ แต่ว่าเราจะไม่หัวร้อนกับเค้า เราจะเข้าใจเค้า เราจะหาทางแก้ปัญหาร่วมกับเค้ามากขึ้น เช่นเข้าไปอธิบายบั๊กให้เค้าและเล่า feature ที่ควรจะเป็นที่ถูกต้องให้เค้าฟัง (จากที่เคยรอ กับหงุดหงิด แล้วก็ตั้งกำแพงในใจว่า แกเป็น Dev แกต้องรู้สิ่) คือแค่นี้ก็อาจจะช่วยให้สถานการณ์ดีขึ้นแล้ว และสิ่งที่มันช่วยมากที่สุดคือ สภาพจิตใจของเรา อันนี้แอบสำคัญนะครับ การทำงานของเรามันคือการวิ่งมาราธอน เราต้องทำงานไปอีก 30 ปี ดังนั้นการรักษาพลังกาย พลังใจ ให้ positive ไปตลอดรอดฝั่งได้แอบสำคัญมาก พี่เห็นน้องๆหลายๆคนเวลาเหนื่อยหรือท้อ ส่วนใหญ่เอาจริงๆแล้ว เหนื่อยใจ มากกว่าเหนื่อยกาย ดังนั้น skill พวกนี้ ถ้าใช้ประจำ จะช่วยลดการบั่นทอนทางจิตใจได้เยอะมากนะเราจะวิ่งลุยต่อได้ยาวๆ

ที่สำคัญ นอกจากมี Emphaty ให้คนอื่นแล้ว อย่าลืมมี Emphaty ให้ตัวเองด้วยเน้อ เวลาพลาด หรือเวลาทำอะไรได้ไม่ดี หรือโดนดุ นอกจากพยายามมองหาวิธีแก้ไขข้อผิดพลาดและทำให้ตัวเองเก่งขึ้นแล้ว อย่าลืมให้อภัยกับเห็นอกเห็นใจตัวเองด้วย (we are human, we can make a mistake นะ) ให้ลองคิดแบบนี้ดูครับ ลองมองย้อนไปเมื่อ 6 เดือนที่แล้ว หรือเมื่อ 1 ปีที่แล้วดู แล้วดูซิว่าเราเปลี่ยนไปหรือเก่งขึ้นขนาดไหน เรา achieve อะไรมาบ้าง แค่คิดแค่นี้บางทีก็ใจฟูและภูมิใจกับตัวเองขึ้นมาเยอะแล้วนะ

Skill ต่างๆที่ใช้ในการทำงานร่วมกับคนอื่นก็เป็นสิ่งสำคัญนะครับ (Emphaty ก็เป็นหนึ่งในนั้นแหล่ะนะ) คือปัจจุบัน มันแทบไม่มีงานไหน product ไหน project ไหน ทำได้ด้วยคนคนเดียวแล้ว ดังนั้นคนที่เก่งและไปเป็นดาวได้คือคนที่นอกจากตัวเองจะเก่งแล้ว ต้องทำให้ทั้งทีมเก่งและทำงานร่วมกันได้ด้วย โดยการที่เราสามารถทำงานกับคนอื่นได้ สามารถเสนอไอเดียต่างๆ (จากความเก่งของเรา) ให้คนอื่นยอมรับได้ บางคนคิดอะไรดีๆออกมาได้เยอะเลย แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จในการทำให้คนในทีม buy-in กับไอเดียเหล่านั้นได้เลย ดังนั้น skill พวก “convincing”, “negotiation”, “value-first conversation”, “what in it for them technique” สารพัดสารเพเหล่านี้ เลยกลายเป็นสิ่งที่สำคัญมากกับ stage นี้ของการทำงาน คนเก่งหลายๆคนที่พี่เห็นรู้ตัวอีกทีกลายเป็นคนที่เวลาพูดอะไรไม่เคยผิดเลย (ในความคิดของตัวเอง) แต่ก็ไม่เคย effective เลยเช่นกัน อันนี้แอบน่าคิดนะ เพราะเราจะคิดว่า ที่ชั้นพูดหรือเสนอไปมันผิดตรงไหน ซึ่งเอาจริงๆ สิ่งที่คนเหล่านั้นพูดก็ไม่ค่อยผิดจริงๆนะ มันถูกต้อง แค่มันไม่เคย effective เพราะคิดแต่ในมุมของตัวเอง ลืมคิดถึงมุมมองคนอื่นหรือคนที่เรากำลังคุยด้วย ดังนั้นการปรับคำพูดหรือไอเดียของเราให้มันเวิร์คกับคนอื่นพร้อมๆกับที่มันเวิร์คสำหรับเราด้วยเป็นสิ่งที่ช่วยได้เยอะมาก บางทีปรับนิดเดียวเองผลลัพธ์ที่ได้ในการนำเสนอไอเดียนั้นๆต่างกันเยอะเลย

นอกจากนี้ skill ของ leadership หรือการ coaching คนอื่นก็เป็นสิ่งสำคัญ ไม่ว่า career path ของเราจะอยากเป็น lead หรือไม่ก็ตามนะ เพราะถึงแม้ว่าเราจะอยากเป็น specialist หลายๆครั้งเราก็ต้องทำพาคนอื่นไปในทางที่ถูกต้องได้ หรือมี skill ไปถ่ายทอดความเก่งของเราในบางสิ่งส่งต่อให้คนอื่นในทีมเช่นกัน ยิ่งถ้าเราอยากโตขึ้นไปสาย lead สาย manager พวก soft skill เหล่านี้คือสิ่งที่ขาดไม่ได้เลย คือมองภาพง่ายๆ value ของเราไม่ใช่แค่เราทำงานของเราเก่งอีกต่อไปเมื่อเรา take role เหล่านี้ แต่ value ที่แท้จริงของเราคือการทำให้ทั้งทีมเราเก่ง และ perform ไปด้วยกัน การเข้าใจ people skill ต่างๆก็เริ่มเป็นสิ่งจำเป็นขึ้นมา จะทำให้คนเก่งขึ้นได้ยังไง เมื่อไหร่ควรสอน เมื่อไหร่ควร coach (สอนกับ coach ไม่เหมือนกันนะ) เมื่อมีน้องที่ไม่ perform ควร take action ยังไง เมื่อเจอน้องที่มี potential เป็น super star ได้ควรทำยังไง สิ่งเหล่านี้ไม่ค่อยมีสอนในมหาลัย และที่ทำงานส่วนใหญ่ก็ไม่ค่อยมีสอน แต่มันดั๊นเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้เราเป็นหัวหน้าทีมที่เก่ง และหัวหน้าทีมที่เก่งนั้นสามารถสร้าง next generation ที่เก่งขึ้นมาได้ด้วยโดยเริ่มจากทีมของเรา

ฝากไว้อีกอย่าง skill เหล่านี้สร้างได้ตั้งแต่เริ่มทำงานนะ ไม่ได้ต้องรอเป็น lead ก่อนค่อยสร้าง เค้าถึงมีคำกล่าวไว้ว่า ถ้าอยากเป็นซีเนียร์ ให้เริ่มทำตัวเหมือนซีเนียร์เลย ถ้าอยากเป็นหลีดก็ให้คิดและทำตัวเหมือนหลีด การลุกขึ้นมาแล้วเดินนำ หรือพาทีมทำอะไรดีๆ ไม่สำคัญว่า role ปัจจุบันคืออะไรถ้ามันคือสิ่งดีลุกขึ้นมาฝึกมาลองแล้วทำเลยเราก็จะได้พลาดได้เรียนรู้ได้เก่งเร็วกว่าคนอื่น

อะไรแบบนี้แหล่ะคือสิ่งที่ทำให้คนที่ทำเรื่องเหล่านี้ได้ดีก้าวกระโดดขึ้นไปอยู่ความเป็น A Player ในขณะที่คนเก่ง technical หลายๆคนที่อาจจะโดดเด่นในช่วงแรก แต่ซักพักจะเดินมาสู่จุดตันแล้วไปต่อไม่ค่อยได้ ทั้งนี้ทั้งนั้นไม่ได้หมายความว่า Technical skill ไม่สำคัญ แต่มีสิ่งอื่นที่สำคัญไม่แพ้กันเพื่อการเติบโตคือ Soft Skill นี่แหล่ะครับ

บทความนี้ตั้งใจทำเนื้อหาให้เป็น inspiration สำหรับน้องๆให้เห็นความสำคัญของ Soft Skill (ที่ปกติไม่มีใครสอน ไม่มีคนพูดถึงมากนัก แต่มันสำคัญ) ขออภัยสำหรับการเขียนภาษาไทยปนอังกฤษ และคำผิดที่มีแน่ๆหลายคำ (กลัวว่าถ้าตั้งใจเขียนให้สละสลวยจะไม่ได้เขียนหรือเขียนไม่จบเอา) ไว้จะพยายามทำส่วนเนื้อหาของ Soft Skill จริงๆบางส่วนมาส่งต่อให้น้าาในบทความถัดๆไปน้า ตัวอย่างหัวข้อนึงที่พี่ใช้บ่อยสุดในชีวิตการทำงานและชีวิตประจำวัน และเคยเขียนไว้ตามไปลองเสพกันได้ที่นี่นะ What in it for THEM ถ้าอ่านแล้วมีคำถามก็ไปทักถามกันในเพจ Doppio Tech ได้จ้า ฝากกด like กด ติดตาม กด subscribe ด้วยน้า

--

--

Natdanai Wiangwang
doppiotech

CEO and Founder of Doppio Tech — Testing expertise company