3 ฉากที่ผมได้เรียนจากหนังเรื่อง The Founder

Dr.Kanapon Phumratprapin
drtum
Published in
2 min readJul 25, 2020
The Founder

หนังเรื่อง The Founder ว่าด้วยเรื่องชีวิตของ Ray Kroc ผู้ที่เริ่มทำร้านตอนอายุ 52 โดย Ray ไม่ได้เป็นคนเริ่มร้านอาหารนี้ แต่ได้ไปขอซื้อแฟรนไชส์จากพี่น้องแมคโดนัลด์ จนสุดท้ายได้ขยายใหญ่ไปทั่วโลก

โดยในภาพยนต์เรื่องนี้มี 3 ฉากที่ผมประทับใจ

1. การคิดแบบ Lean

เมื่อ Ray Kroc ได้พบกับร้านเบอร์เกอร์ที่ขายดีสุดๆ แล้วได้ขอนัดกินข้าวกับพี่น้องแมคโดนัลด์นั้น พี่น้องได้เล่าว่าเขาไม่ได้เริ่มมาเป็นร้านแบบนี้เลย ตอนแรกเขาก็เริ่มทำร้านอาหารตามปกติเหมือนคนทั่วๆไปนี่แหละ แต่มันก็พบปัญหามากกมายเหมือนคนทั่วๆไป เขาเลยมาคิดใหม่ ตัดทอนสิ่งที่ไม่จำเป็นออกไป แล้วก็ค่อยๆทดลองมาหลายๆรอบ

  • ลดเมนู ให้เหลือเพียงแค่สามอย่างคือ เบอร์เกอร์ มิลก์เชค แล้วก็เฟรนฟราย
  • ลดคนเสริฟอาหารออก เปลี่ยนให้คนมาสั่งแล้วรอรับอาหารเอง
  • ลดจาน ชาม ช้อน ส้อม ห่อทุกอย่างด้วยกระดาษ แล้วก็กินด้วยมือได้หมด
  • ลดหน้าที่ของพนักงานลง จากที่ทุกคนทำทุกๆอย่างมาช่วยๆกัน ให้แบ่งหน้าที่ให้ทำอย่างชัดเจน คนทอดก็ทอด คนใส่แตงกวา ก็ใส่แตงกวา

ในหนังจะบอกว่าแรกๆมันก็ไม่ work หรอก แต่ทำๆไปมันก็ดีขึ้นเรื่อยๆ ปรับไปทีละนิดๆ

2. มอบหมายงานให้กับคนที่มีแรงจูงใจที่ตรงกัน

Ray Kroc : What’s your name?

Leonard Rosenblatt : Leonard. Leonard Rosenblatt.

Ray Kroc : Rosenblatt? What’s a Jew doing selling Catholic bibles?

Leonard Rosenblatt : Making a living.

Leonard Rosenblatt ชายผู้ขาย Bible

หลังจากที่ได้แฟรนไชส์มาทำสาขาแรกสำเร็จแล้ว Ray ต้องการขยายสาขา โดยรอบแรก Ray ได้ไปเสนอขายแฟรนไชส์ ให้กับคนรวยที่อยู่ในแวดวงไฮโซ แต่ปรากฎว่า ร้านที่พวกเขาไปเปิดไม่ได้มาตรฐานเลย สกปรก ของไม่ได้มาตรฐาน แล้วก็ใส่เมนูใหม่มั่วไปหมด พอ Ray มาโวย พวกคนรวยก็บอกว่า เขาไม่ได้สนใจอะไรขนาดนั้น มันก็แค่เงินลงทุนของผม

Ray คิดว่ามันต้องหาคนที่มีแรงจูงใจ มีแรงขับที่ดีกว่านี้ จนไปพบกับ ชายคนหนึ่งที่มาขาย Bible ที่ Office ซึ่งจุดที่น่าสนใจคือ พอดูรูปลักษณ์ แล้วก็ชื่อของชายคนนั้นพบว่า เขาเป็น “ยิว” นี่นาทำไมมาขาย Bible ได้

(เกล็ดตรงนี้คือ ยิว เนี่ยจะต่อต้านพวกคริสเตียน เขาไม่เชื่อเรื่องราวของพระเยซู มันเลยเป็นเรื่องที่ประหลาดมาก)

ชายคนนั้นตอบว่า “ ผมมีครอบครัวครับ แล้วผมก็ต้องหาเงิน” Ray เลยสัมผัสความ Hustle ของชายคนนี้ได้ จึงได้ชวนชายคนนี้แล้วภรรยา มาเปิดแฟรนไชส์ ซึ่งผลก็พบว่าคู่สามีภรรยานี้ ทุ่มเทให้กับร้านอย่างมาก ทำให้ร้านประสบความสำเร็จ

Ray เลยพบสูตรว่า ถ้าจะขายแฟรนไชส์ให้ใคร ผู้จัดการร้านต้องเป็นสามีภรรยา ที่กำลังตั้งใจสร้างเนื้อสร้างตัว

อันนี้ก็อาจพบได้เหมือนกันเวลา เราหาคนร่วมทีม คนร่วมงาน เราต้องดูว่า Motivation หรือแรงขับของเขาตรงกับเราหรือไม่

3. ถ้าธรุกิจคุณยังไม่กำไร บางอย่างมันผิดแล้วละ

การพบกันของ Harry และ Ray Kroc

“You’re not in the hamburger business, you’re in the real estate business

นี่น่าจะเป็นประโยคเด็ดของเรื่อง และคิดว่า Quote นี้น่าจะถูกอ้างถึงในหนังสือ หรือ เคสธรุกิจมากมาย

แต่มันก็น่าสนใจจริงๆ ร้าน Ray ขายดี ขยายสาขาได้มากมาย แต่กลับมีปัญหาเรื่อง Cash Flow เรื่องกู้ธนาคารไม่ได้ กระแสเงินสดติดลบตลอด จุดเปลี่ยนของเรื่องคือ เมื่อเขาได้พบกับ Harry แล้วเขาได้บอกกับ Ray ว่าคุณควรเปลี่ยน Business model นะ เพราะจริงๆคุณอยู่ในธรุกิจอสังหาริมทรัพย์ แทนที่คุณขายแฟรนไชส์ ให้เจ้าของไปกู้ซื้อที่ แล้วแบ่งกำไรให้คุณ เปลี่ยนเป็น

คุณเปลี่ยนมาซื้อที่ดินแล้วให้เช่าเจ้าของแฟรนไชส์เช่าที่ตรงนี้เปิดร้าน

ประโยคนี้ทำให้เกมพลิกเพราะ….

  1. การที่คุณให้เช่าที่ คุณได้รายได้ที่คาดการณ์ได้ (ไม่ว่าจะขายได้น้อยหรือมาก)
  2. คุณมีกรรมสิทธิ์ในร้านทุกร้าน ถ้าใครทำไม่ดี คุณก็ไล่พวกเขาออกได้
  3. เมื่อที่ดินเป็นของคุณ คุณสามารถใช้สินทรัพย์นี้ ไปค้ำประกันเพื่อกู้เงิน (Leverage) ได้อีก (อันนี้โหดจริงๆ)

ภาพยนต์เรื่องนี้มีความน่าสนใจ เพราะมันไม่ได้นำเสนอแง่มุมความสำเร็จเพียงด้านเดียว แต่มีอีกหลายด้านที่เป็นสีเทา หรือ Dilema เช่น การไปตั้งบริษัทใหม่แล้วฮุบเป็นของตัวเองหมด, การที่เลิกกับภรรยาคนแรกที่สนับสนุนเขามาตลอด, การลดต้นทุนด้วยการใช้มิลค์เชคผงแทนการใช้ไอศครีมจริงๆ

ไม่รู้ว่าความจริงของเรื่องราวนี้เป็นอย่างไร เพราะเมื่อเป็นภาพยนต์ก็ต้องมีการตัดแต่งให้ได้ความบันเทิง

แต่ความจริงที่เราเห็นคือ ร้านแมคโดนัลด์ ยังคงเติบโต แล้วเราก็ยังกินเฟรนด์ฟราย ของเขาอยู่จนถึงปัจจุบัน

Market Cap = 147 Billion $ หรือประมาณ 4 ล้านล้านบาทเท่านั้นเอง

ด้วยรักและเคารพ

:->m

--

--