Geriatric Syndrome | กลุ่มอาการของผู้สูงอายุที่พบบ่อย

Dr.Kanapon Phumratprapin
drtum
Published in
2 min readJul 27, 2020

เมื่อ…..เด็ก ไม่ใช่ ผู้ใหญ่ ที่ตัวเล็ก และ
ผู้สูงอายุ” ก็ไม่ใช่ “ผู้ใหญ่” ที่อายุมากเฉยๆ

วันนี้ อยากลองเขียน บทความวิชาการบ้าง ผมจึงยกตัวอย่างเรื่องใกล้ตัว อยากเล่าถึงกลุ่มอาการผู้สูงอายุที่พบได้บ่อยครับ

กลุ่มอาการนี้คุณหมอเราเรียกว่า Geriatric Syndrome หรือกลุ่มอาการที่พบบ่อยในผู้สูงอายุ เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีหลายโรค แล้วหลายครั้งมันมีอาการที่แสดงก็มาจากโรคหลายอัน ต่างจากผู้ใหญ่ ที่มักมาด้วยอาการเดียว โรคเดียว

Geriatric syndrome มีหลายภาวะมากครับ แต่ละค่ายก็แบ่งไม่เหมือนกัน ผมยกตัวอย่างกลุ่มที่พบได้บ่อยละกันนะครับ

Bladder incontinence: ภาวะกลั้นปัสสาวะลำบาก

Photo by Jasmin Sessler on Unsplash

การควบคุมระบบทางเดินปัสสาวะที่ลำบาก ไม่สามารถกลั้นปัสสาวะได้ สิ่งนี้ทำให้กระทบการดำเนินชีวิตผู้สูงอายุเป็นอย่างมาก บางครั้งเราเห็นผู้สูงอายุที่ไม่ยอมออกจากบ้าน ไม่ยอมไปเที่ยวไหน ไม่ใช่เป็นเพราะเขาเบื่อ ไม่อยากเที่ยว ไม่อยากไปดูโลก แต่เป็นเพราะเรื่องนี้ ว่าไม่รู้จะควบคุมระบบขับถ่ายอย่างไร เป็นกังวลแล้วก็รู้สึกเขินอาย

บางคนอาจจะบอกว่า ก็ให้ใส่ผ้าอ้อมสำเร็จรูปเอาสิ แต่ต้องบอกว่า ไม่ใช่ทุกคนที่ยินดีใส่ ลองเป็นเราให้ใส่ผ้าอ้อม แล้วขับถ่ายในผ้าอ้อม ก็ไม่ใช่ประสบการณ์ที่น่ารื่นรมย์เท่าไหร่นัก

Delirium: ภาวะสับสน

Photo by Afif Kusuma on Unsplash

ภาวะสับสนชั่วคราว หรือ สมองลวนฉับพลัน ถ้าจะเปรียบเทียบกับอวัยวะอื่นๆในร่างกาย เช่น ไต ก็จะมี ไตวายฉับพลัน ( Acute Kidney diseas) กับ ไตวายเรื้อรัง ไตวายเรื้อรัง (Chronic kidney disease) ภาวะสับสนี้เราจะพบได้บ่อยในคนไข้หลังผ่าตัด หลังป่วยเข้าโรงพยาบาล คนไข้มีพฤติกรรมเปลี่ยนแปลง การนอนหลับผิดปกติ ทั้งๆที่ไม่เคยเป็นมาก่อน แต่ภาวะนี้เมื่อเวลาผ่านไปมักจะค่อยๆดีขึ้น นอกเสียจากว่า ตัวสมองมีโรคอยู่แล้ว อาจจะทำให้ผู้สูงอายุไม่กลับมาปกติ

Dementia : ภาวะสมองเสื่อม

สมองเสื่อม คำนี้จะเป็นที่นิยมน้อยกว่าคำว่า “อัลไซเมอร์” (Alzhiemer) แต่แท้จริงแล้ว อัลไซเมอร์ เป็นโรคหนึ่งที่ทำให้มีอาการสมองเสื่อม หรือเป็น Subset อีกที การจะมีภาวะสมองเสื่อมนั้นมีหลายสาเหตุมากมาย เช่น โรคหลอดเลือดสมอง แต่ อัลไซเมอร์ เป็นสาเหตุของสมองเสื่อมถึง 60-80% เลยทำให้เราเรียกคำสองคำนี้แทบจะทดแทนกัน

Osteoporosis : ภาวะกระดูกพรุน

กระดูกคนเรานั้นจะบางขึ้นเรื่อยๆ ตามอายุ สำหรับผู้หญิงจะเริ่มบางเร็วกว่าผู้ชาย หลังหมดประจำเดือน กระดูกบางเป็นโรคที่ไม่มีอาการ ไม่มีเจ็บ ไม่มีปวดอะไร จะมาแสดงอาการทีเดียว ตอนมัน “หัก” นี่แหละครับ เนื่องจากมันไม่มีอาการ เลยเป็นภาวะหนึ่งที่พบได้สูงมากในผู้สูงอายุ

โรคนี้อาจมียาช่วยรักษา แต่จะดีกว่าถ้าเราเริ่มสะสมแคลเซี่ยมตั้งแต่วันนี้ กระดูกเหมือนธนาคารครับ เราต้องทยอยฝากไว้ทีละนิดๆ

Polypharmacy (PolyProvider) : มากยา หรือ มากหมอ

Photo by JOSHUA COLEMAN on Unsplash

ยา เป็นสิ่งที่ไว้รักษา แต่ยาที่มากเกินไปก็สร้างผลเสียอยู่ไม่น้อยทีเดียว เนื่องจากผู้สูงอายุมักมีโรคเรื้อรังประมาณ 3–5 โรค เช่น เบาหวาน ความดัน หัวใจ ไตเสื่อม สมองเสื่อม ทีนี้พอระบบการแพทย์ในบ้านเราเน้น ระบบแพยท์เฉพาะทางเยอะ ทุกคนเลยอยากตรวจกับอาจารย์ดังๆ เลยมีหลายหมอ หมอแต่ละท่านก็ดูเฉพาะอวัยวะที่ตนเองรับผิดชอบ ทำให้ยาบางครั้งมีสั่งซ้ำกันบ้าง มีตีกันบ้าง (เช่นยานี้ไปลดประสิทธิภาพยาอีกตัว หรือ ไปเพิ่ม ทำให้ออกฤทธิมากกเกิน) ที่แย่กว่าคือ มีหลายหมอ และหลายโรงพยาบาล ทำให้ข้อมูลไม่เชื่อมต่อกัน

Pressure ulcer: แผลกดทับ

Photo by Bret Kavanaugh on Unsplash

ปกติคนเราถ้าขยับตัวได้ปกติ ยังไงก็ไม่เกิดแผลกดทับครับ ไม่ว่าเราจะนอนขี้เกียจแค่ไหน ก็ไม่มีใครตื่นมามีแผลกดทับ เพราะระบบประสาทอัตโนมัติ จะตอบสนองให้เราขยับตัวยุกยิกเองอยู่แล้ว แต่หากเป็นผู้ป่วยติดเตียง ที่มีโรคทางสมองเช่น โรคหลอดเลือดสมอง Aka อัมพาต ทำให้อ่อนแรง กลุ่มนี้ถ้านอนโดยไม่ได้เปลี่ยนท่าเลย เกิน 2 ชั่วโมง ผิวหนังบริเวณนั้นจะขาดเลือดไปเลี้ยง ทำให้ตายได้ เกิดเป็นแผลกดทับตามมา

Sleep problem : ปัญหาการนอนหลับ

Photo by Isabella and Louisa Fischer on Unsplash

การนอนหลับเป็น ลาภอันประเสริฐมาก โดยปกติยิ่งเราอายุมากขึ้น คุณภาพในการนอนเราจะลดลงเรื่อยๆ การนอนจะสั้นลง (ตื่นเช้าขึ้น) แล้วก็จะตื่นบ่อยขึ้น หมายถึงการหลับยาวลดลง ส่วนสาเหตุมีหลายอย่าง นอกจากธรรมชาติการเปลี่ยนแปลงตามวัยแล้ว ยังมีเรื่องโรคประจำตัว เช่นต่อมลูกหมากโต ทำให้ปัสสาวะบ่อย โรคสมองเสื่อมทำให้หลงวันเวลา ว่ากลางวันหรือกลางคืน

ภาวะนี้นอกจากจะรบกวนตัวผู้สูงอายุเองแล้ว ยังเป็นภาวะหนึ่งที่ทำให้รบกวนคนในบ้านด้วย

สรุป

จะเห็นว่าโรคของผู้สูงอายุนั้น ไม่ได้เหมือนโรคของผู้ใหญ่ซะทีเดียว เนื่องจากจะมาเป็นเซ็ท เราจึงไม่สามารถรักษาโรคผู้สูงอายุเหมือนผู้ใหญ่ได้ที่ดูเป็นเรื่องๆไป แต่ผู้สูงอายุต้องดูเป็นองค์รวม ถอยออกมาดูหน่อย ให้เห็นหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็น สุขภาพกาย ใจ และสังคม

เชื่อว่าทุกท่าน คงมีคุณพ่อ คุณแม่ที่อายุมากขึ้นทุกวัน อย่าลืมสังเกตอาการกลุ่มนี้ไว้ด้วยนะครับ

ไว้โอกาสหน้าจะมาเขียนเกี่ยวกับแต่ละภาวะละเอียดอีกครั้งนะครับ

ด้วยรักและเคารพ

:->m

--

--