How will you measure your life?

ปัญญาวิชาชีวิต กับ 3 คำถามสำคัญที่เราควรตอบให้ได้

Dr.Kanapon Phumratprapin
drtum
Published in
2 min readAug 15, 2020

--

นี่เป็น 1 ในหนังสือที่ผมชอบส่งมอบให้ผู้คนในชีวิต

ไม่รู้ทำไม ผมชอบซื้อหนังสือให้กับผู้คน อาจเป็นเพราะผมชอบอ่านหนังสือ หรือ อาจเป็นเพราะผมมักดีใจเวลาคนมอบหนังสือให้ เลยคิดเอาเองว่าคนอื่นๆ คงรู้สึกดีใจเช่นกัน

หนังสือเล่มนี้ผมได้มีโอกาสอ่านทั้งภาษาไทย และ ภาษาอังกฤษ แต่กลับพบว่าสิ่งที่คุณภิญโญได้เขียนเป็นเกร็ด การจัดวางที่อ่านง่าย ทำให้ผมออกจะชอบเวอร์ชั่นนี้ที่สุด

ถ้าจะสรุปว่า หนังสือเล่มนี้ ให้อะไรกับเรา ผมคิดว่ามันคือ คำถาม 3 ข้อที่เราควร Pause เพื่อหาคำตอบให้กับตัวเอง ก่อนจะกดปุ่ม Play เพื่อไปต่อ

คำถามข้อที่ 1 : เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่าเราจะมีความสุขกับอาชีพการงาน

เราใช้เวลาในการทำงาน เป็นส่วนใหญ่ของชีวิต หากเราไม่มีความสุข คงเป็นเรื่องที่น่าเศร้าไม่ใช่น้อย

เมื่อเราได้มองใน Social เราก็พบกับคนจำนวนมากที่พร่ำบ่นถึงงานที่ตนเองต้องทำ

อะไรคือหลักประกันว่าเราเลือกงานที่ “ใช่”

หลายครั้งที่ผมได้มีโอกาสพบปะ รุ่นน้องที่กำลังอยู่ในวัยแสวงหา วัยแห่งความทะเยอทยาน ชีวิตควรวิ่งไปทางไหน เราควรทำงานบริษัทใหญ่ หรือบริษัทเล็ก เราควรมีเงินเดือนเท่าไหร่ จะหางานที่ตรงกับ Passion ได้อย่างไร ?

เงินสำคัญ แต่มันไม่ใช่แรงจูงใจที่ดี

หากใครบอกว่า เงินไม่สำคัญ เขาคนนั้นคงหลอกตัวเอง เขาอาจจะไม่อยู่บนโลกแห่งความเป็นจริง หรือ เขาอาจจะมีคนรับผิดชอบภาระให้ (หรือ เขาไม่ได้รับผิดชอบตัวเอง หรือ ใครก็ตาม)

เราต้องยอมรับว่าเงินสำคัญ แต่ในมุมของ ปัจจัยพื้นฐาน เพื่อดูแลชีวิตของเรา และคนอื่นๆรอบตัวเรา ส่วนจำนวนเงินที่เพียงพอ คงเป็นคำตอบที่ยาก เพราะจุดเหมาะสมของเราไม่เท่ากัน (แน่นอน ยิ่งน้อยกว่า ยิ่งได้เปรียบ)

แต่เมื่อเรามีเงินจำนวนหนึ่ง เพื่อตอบปัจจัยพื่นฐานแล้ว มันไม่ใช่แรงจูงใจที่ดี

Purpose สำคัญกว่า Passion

ไลฟ์โค้ชมากมาย บอกให้เราทำตาม Passion แต่สิ่งนั้นเป็นเพียงอารมณ์ เป็นสิ่งไม่คงที่ อีกทั้งเมื่อเราโตขึ้นเราก็จะรู้ว่า มันไม่มีอะไรที่ทำโดยไม่มีช่วงที่น่าเบื่อ

สิ่งที่เราควรตามหาไม่ใช่ Passion แต่เป็น Purpose ของชีวิต อะไรที่เป็นเป้าหมายในชีวิต อะไรที่เราคิดว่าในวันสุดท้ายของชีวิต เมื่อเรามองย้อนกลับมาแล้วเราจะไม่เสียใจ

ในหนังสือไม่ได้เขียนไว้ แต่ผมพบว่าการหา Purpose ของชีวิต ไม่ใช่การเริ่มต้นจากตัวเราเป็นแน่ มันไม่ได้เริ่มจากว่าเราอยากได้อะไร หากคุณหาไม่เจอว่า Purpose ในชีวิตของคุณคืออะไร บางทีคุณอาจแค่เริ่มผิดที่

ความสัมพันธ์ การสร้างคุณค่าให้กับคนอื่น ต่างหากที่ให้ความหมายที่แท้จริงกับชีวิต

ถ้าจะมี Check list ว่างานที่คุณทำนั้นมันจะมอบความสุขให้คุณหรือไม่ ลองตอบว่า

  1. Opportunity to learn : งานที่เราทำ มอบโอกาสให้เราได้เรียนรู้ ได้เติบโตหรือไม่ เราทำงานไปวันๆ หรือเราเก่งขึ้นทุกวัน
  2. Grow in Responsibility: ความรับผิดชอบที่งอกงามตามมา ถ้าแปลให้ง่ายขึ้นคือ เราเองได้รับความไว้วางใจที่มากขึ้น
  3. Contribute to others: สิ่งที่เราทำมีประโยชน์กับผู้อื่น อย่างน้อยก็ใครซักคน
  4. Recognized for Achievements: ได้ชื่นชม ภูมิใจในผลงานที่เราทำ

คำถามข้อที่ 2 : เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า ความสัมพันธ์กับคู่ชีวิต ครอบครัว จะเป็นต้นธารแห่งความสุขมิขาดสาย

คนที่ประสบความสำเร็จในการงานมากมาย กลับเสียใจในชีวิตบั้นปลาย เพราะความสัมพันธ์ในครอบครัวที่ล้มเหลว เหตุใดจึงเป็นเช่นนั้น

Long term VS Short term

เรามักชอบทำอะไรที่เห็นผลเร็ว เราทำงานดี สิ้นไตรมาสได้รับการประเมิน แต่หากเราใส่ใจเลี้ยงลูกดี กว่าจะเห็นผล อาจจะตอนเขาเรียนจบ หรือมีครอบครัว

ทรัพยากรมีจำกัด?

การบริหารจัดการครอบครัว ก็ไม่ต่างจากการจัดการบริษัท เรามี time-talent-energy ที่จำกัด บริษัทที่ดีคือการใช้ทรัพยากรที่จำกัดได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

กับครอบครัวก็เช่นกัน เราจัดสรรมันอย่างไร

หน้าเศร้าที่ ผู้คนมักให้ทรัพยากรน้อยกว่า กับสิ่งที่ครั้งหนึ่งพวกเขาเคยกล่าวว่า สำคัญล้ำค่าที่สุดในชีวิต

(ไม่เชื่อลองย้อน Timeline ในวันแต่งงาน หรือ วันที่บุตรน้อยได้คลอดออกมาวันแรก)

เฉพาะคนที่เข้าใจการลงทุนระยะยาวเท่านั้น ถึงจะประสบความสำเร็จในเรื่องนี้
เราอาจต้องถามตัวเองว่า สิ่งสำคัญในชีวิตของเราในเวลานี้คือสิ่งใด

คำถามข้อที่ 3 :เราจะมั่นใจได้อย่างไรว่า เราจะไม่จบชีวิตอย่างเดียวดายในคุก

ข้อนี้น่าจะเป็นคำถามที่ดูตลกที่สุด “เพราะ ใครจะไปติดคุกหว่า” แต่ผู้เขียนได้บอกว่า เพื่อนร่วมรุ่น (Harvard MBA) มีสองคน ใน 52 คน ที่ต้องติดคุก คนที่โด่งดังก็คือ เจฟฟ์ สกิลลิ่ง แห่ง Enron

ไม่มีใครเริ่มต้น อยากทำความผิดอะไรแย่ๆที่ต้องไปติดคุก แต่ทุกคนนั้นเริ่มต้นด้วยประโยคเดียวนั่นคือ

“ครั้งเดียว ไม่เป็นไรหรอก”

ประโยคนี้เรียบง่าย น่าดึงดูด มันคงไม่เป็นไร มันคงไม่มีใครเห็น นิดหน่อยเอง แต่แท้จริง มันกลับดึงเราออกจากทางหลักไปได้แสนไกล เหมือนการเบี่ยงผิดองศาตอนต้น แต่พาไปคนละที่ในตอนจบ

Decide what you stand for and then stand for it all the time ; Clayton M. Christensen

การทำอะไร 100% ง่ายกว่า 98% เสมอ

ส่งท้าย

ผมได้นั่งอ่านหนังสือ เล่มนี้รวดเดียวจบในวันนี้ พร้อมได้ทบทวนถึงสามคำถามนี้ ว่าเราได้มีคำตอบที่เราพอใจ หรือทำให้เรามั่นใจได้หรือยัง

ถ้าใครอ่านถึงบรรทัดนี้ ก็อย่าลืมลองหยุดถามตัวเองซักนิด ว่าเรามีคำตอบ หรือ เราได้วัดความสำคัญในชีวิตเราจากมาตรวัดที่ถูกต้องหรือยัง

ด้วยรักและเคารพ

:->m’26

--

--