OUTPUT ศิลปะการปล่อยของ

See one/ Do one/ Teach one

Dr.Kanapon Phumratprapin
drtum
2 min readJul 22, 2020

--

ศิลปะของการปล่องของ : ชิออน คาบาซาวะ เขียน, อาศิรา รัตนาภิรัต แปล

Before:

ทำยังไงเราจึงจะอ่านหนังสือได้เยอะที่สุด? หรือ เราต้องอ่านหนังสือให้ได้ XXX เล่มต่อปี! ผมเองก็เป็นคนหนึ่งที่มีความชุดความคิดนี้เหมือนกัน เพราะผมเองก็เชื่อว่า ยิ่งอ่านเยอะ ยิ่งรู้เยอะ เราจะได้พัฒนาตัวเองได้มากๆ

ผมเองพยายามจัดเวลาประมาณ 30–60 นาทีทุกวัน ในตอนเช้าที่จะได้อ่านหนังสือ (ส่วนใหญ่จะเป็น Non-fiction) แต่อยู่มาช่วงหลังเมื่อมองไปที่ชั้นหนังสือ แล้วหยิบหนังสือที่เคยอ่านแล้วขึ้นมา กลับพบว่าจำเกือบไม่ได้เลยว่า เล่มนี้อ่านแล้วได้อะไร ?ทำให้เริ่มรู้สึกว่า….. การเน้นปริมาณการเสพข้อมูลเข้าไปในสมองอาจไม่ใช่แนวทางที่ถูกต้อง

ประจวบกับว่า ผมเห็นเพื่อนๆโพสเกี่ยวกับหนังสือเล่มนี้อยู่ 3–4 ท่าน ว่าเป็นหนังสือที่ดี เมื่อเดินผ่านร้านหนังสือวันก่อน จึงหยิบมาพลิกดู พบกับคำโปรยหลังปกที่ว่า

“คุณคิดว่าคนอ่านหนังสือ 10 เล่ม กับ คนอ่านหนังสือ 3 เล่มคนไหนจะพัฒนาได้มากกว่ากัน”

แล้วอธิบายต่อว่า…..

“การพัฒนาไม่ได้ขึ้นกับ input (จำนวนหนังสือที่อ่าน) แต่ขึ้นกับ OUTPUT ต่างหาก ว่าเราได้ปล่อยของออกมารึยัง”

เมื่อคำโปรยมันโดนใจ ประจวบกับหนังสือทุกเล่มห่อพลาสติกไว้ แกะดูเนื้อหาข้างในไม่ได้ เลยตัดสินใจซื้อมาทันที (ฮา)

After:

What I learn: สิ่งที่ผมได้เรียนรู้

Output คือ….

อะไรที่เอาออกจากสมองเรา ได้แก่ การพูด การเขียน การลงมือทำ
ส่วน Input ก็คือ การฟัง การอ่านนั่นเอง

การเขียนดีกว่าพิมพ์ (Analog first then Digital)

การเขียนด้วยมือ ทำให้เราตกตะกอนได้ดีกว่า (แม้มันจะช้ากว่า) อันนี้ผมเองก็ค่อนข้างเห็นด้วยทีเดียว เพราะผมเองก็ลองจัดการความคิดมาหลายวิธีแล้ว ทั้งเขียนในมือถือ พิมพ์ในคอม แต่ช่วงหลังที่ผมได้อ่านหนังสือเรื่อง Bullet Journal แล้วกลับมาเขียนบันทึกในสมุดอีกครั้ง ผมก็พบว่าสำหรับผมเองแล้วการเขียนด้วยมือ ทำให้เราตกตะกอนสิ่งที่อยู่ในหัวได้ดีสุด

แต่การพิมพ์ก็มีประโยชน์ในอีกแบบเช่น การค้นหา การเก็บ หรือการแบ่งปันที่ง่ายขึ้น (อย่างที่เขียนใน blog นี้)

สัดส่วนที่เหมาะสมคือ Input 30: Output 70

อันนี้คือสัดส่วนที่ผู้เขียนแนะนำ จากการค้นพบของเขา ถ้าตีความคือ เน้นสรุปให้มากกว่าเอาเข้า

ความสม่ำเสมอคือ “หัวใจ”

ผู้เขียนเชียร์ให้เราหมั่นปล่อยของให้สม่ำเสมอ (ผมคิดว่าหนังสือทุกเล่ม ถ้าเป็นอะไรที่เกี่ยวกับการพัฒนาตนเอง “วินัย” คงเป็นธีมหลักที่ทุกคนเขียนเหมือนกัน)

โดยการปล่อยของที่ผู้เขียนแนะนำคือ เขียนบันทึกประจำวัน เขียนลง Social network (Facebook/Twitter) การเขียนลง Blog

กฎ 100:300:1,000

ผู้เขียนบอกว่าตัวเลขนี้คือจำนวนบทความที่จะสร้างความเปลี่ยนแปลง 100 บทความแรกจะทำให้เรามีผู้อ่านประจำ 300 บทความทำให้ Search engine แนะนำ ส่วน 1,000 บทความจะทำให้เราเป็น Blog ยอดนิยม
[อันนี้ผมคิดว่า ถ้าจะเดินทางสาย Blogger/ Reviewer ก็เป็นตัวเลขที่น่าเอาไว้ยึดเหนี่ยว]

See one / Do one / Teach one

อันนี้ไม่ได้มีในหนังสือ แต่เป็นคำที่อยู่ในหัวผม ซึ่งผมคิดว่ามันตรงกับบริบทกับหนังสือเล่มนี้

หลายปีก่อน มีคุณหมอจาก Harvard medical school มาดูงานที่โรงพยาบาลที่ผมทำงานอยู่ แล้วเขาพูดกับผมด้วยประโยคนี้ว่า “ See one/ Do one/ Teach one” เขาบอกว่านี่คือสิ่งที่นักเรียนแพทย์ที่นู่นใช้กัน

See one คือ การที่เราได้เห็นเคส หรือ อ่านหนังสือเกี่ยวกับเคสนั้นๆ เช่น ได้เข้าไปสังเกตการผ่าตัดไส้ติ่ง

Do one คือ การที่เราได้ทำเองกับมือ เช่น เราได้ผ่าตัดไส้ติ่งด้วยตัวเองเป็นมือหนึ่ง

Teach one คือเราได้สอนรุ่นน้องคนอื่นๆ ว่าการผ่าตัดไส้ติ่งเป็นอย่างไร จริงๆแล้วกระบวนการนี้สำคัญมากๆ ถ้าเรายังไม่สามารถสอนใคร หรือยังไม่ได้สอนใครจริงๆ ก็ยากที่เราจะเข้าใจเรื่องนั้นจริงๆ

ถ้ามาคิดดูผมก็คิดว่าจริงทีเดียว สมัยตอนอยู่มัธยม ผมก็สังเกตพบว่า วิชาไหนที่เราได้สอน ได้ติวเพื่อน วิชานั้นเราก็จะทำได้ค่อนข้างดีทีเดียว หรืออะไรที่เราได้พูดแบ่งปันบ่อยๆ เราก็จะรู้สึกจำแม่น เข้าใจมันลึกซึ้งมากขึ้น

หนังสือ Output เล่มนี้ก็นำแนวคิดนี้ มาทำให้เป็นรูปเป็นร่าง แล้วก็ทำให้ผมรู้สึกได้ทบทวนตัวเองอีกครั้ง ว่าเราอย่ามัวแต่ input มากเกินไป จนไม่ได้ output ไม่งั้นเราอาจเสียเวลาเปล่าๆ เหมือนคนอ่านหนังสือวิธีการว่ายน้ำ แต่ไม่ได้ลงว่ายน้ำจริงๆ ก็คงไม่มีประโยชน์อะไร

To Do

เนื่องจากหนังสือเขียนว่า เวลา review ให้แบ่งง่ายๆเป็นสามขั้นตอนดังนี้ “Before-สิ่งที่ได้เรียนรู้- To Do” ซึ่งผมก็ก๊อปเอามาใช้เลย (ฮา)

ซึ่ง To Do นี้ผมก็ตัดสินใจว่าจะลองเขียน Blog ลง Medium นี้ทุกวันให้ได้ 100 Blog ดูละกัน เดี๋ยวมาดูว่าจะเป็นอย่างไรบ้าง

ด้วยรักและเคารพ

:->m

--

--