เตรียมพร้อมรับการศึกษาฐานสมรรถนะ

Pattranit Somasri
EdVISORY
Published in
2 min readApr 15, 2020

การศึกษาฐานสมรรถนะ เป็นการศึกษาที่มุ่งเน้นผลลัพธ์ที่เกิดกับผู้เรียน นั่นคือ มุ่งเน้นให้ผู้เรียนสามารถแสดงออกเป็นพฤติกรรมได้ ซึ่งพฤติกรรมเหล่านั้นเกิดจากปัจจัยภายในของตัวบุคคล ทั้งความรู้ ทักษะ ความเชื่อ ค่านิยมสังคม แรงจูงใจ รวมไปถึงอุปนิสัย สิ่งที่ผู้เรียนจะได้จากการศึกษาฐานสมรรถนะ คือ การได้ฝึกฝนความเชี่ยวชาญของพฤติกรรมตามความถนัดและความสนใจของตนเอง โดยมีการจัดรูปแบบการเรียนการสอนให้เข้ากับความสามารถ ความถนัด และจังหวะการเรียนรู้ของผู้เรียนแต่ละคน เพื่อให้ผู้เรียนได้พัฒนาศักยภาพของตนเองอย่างเต็มที่ และแสดงออกมาเป็นพฤติกรรมที่สามารถสังเกตและประเมินได้ ซึ่งหัวใจสำคัญของการนำการศึกษาฐานสมรรถนะไปใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพ คือ การกำหนดเป้าหมายของการเรียนรู้ หรือผลลัพธ์ที่คาดหวังต่อผู้เรียนที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย ซึ่งการกำหนดผลลัพธ์ที่ต้องการอย่างชัดเจนจะเป็นสิ่งสำคัญที่นำมาเป็นเกณฑ์ในการจัดทำหลักสูตร การเรียนการสอน และการประเมินผลความสามารถของผู้เรียน

การนำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปใช้ต้องเริ่มต้นจากตรงไหน ?

การนำหลักสูตรไปใช้จริง ต้องคำนึงหลายปัจจัย ตั้งแต่การจัดรูปแบบห้องเรียน การวัดประเมินผล การฝึกผู้สอน การทำความเข้าใจกับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ทั้งผู้บริหารสถานศึกษา ผู้ปกครอง รวมไปถึงผู้ประกอบการธุรกิจต่าง ๆ ซึ่งเริ่มต้นจากการค้นหาผลลัพธ์ที่คาดหวังต่อผู้เรียนร่วมกัน จัดทำได้ทั้งในระดับโรงเรียน ไปจนถึงการร่วมมือกันระดับชาติเพื่อนำมาเป็นฐานในการจัดทำหลักสูตรที่ตอบสนองต่อความต้องการของทุกคน หลังจากพัฒนาหลักสูตรขึ้นมาสิ่งแรกที่ต้องคำนึงถึงในการนำไปใช้งานจริง คือ การทำให้หลักสูตรมีความเข้าถึงได้ง่าย ซึ่งการ “เข้าถึงได้ง่ายนี้” คือ การที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งทางตรงและทางอ้อมตั้งแต่ตัวผู้เรียนไปจนถึงตลาดแรงงานสามารถเข้าถึงและเข้าใจหลักสูตรนี้ได้ ซึ่งการรับรู้จะนำไปสู่การปรับตัวเพื่อรับการเปลี่ยนแปลง

เตรียมรับการเปลี่ยนแปลงเข้าสู่การศึกษาฐานสมรรถนะ

เมื่อการรับรู้นำไปสู่การรับมือการเปลี่ยนแปลง ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกฝ่ายจำเป็นจะต้องเตรียมความพร้อม ผู้เรียนจำเป็นจะต้องเตรียมตัวรับมือกับการเรียนรู้รูปแบบใหม่ ผู้สอนต้องศึกษาหลักสูตรเพื่อพัฒนาแผนการเรียนการสอนของตนเอง ผู้บริหารสถานศึกษาต้องสามารถบริหารจัดการทรัพยากรในการส่งเสริม พัฒนาโรงเรียนและบุคลากรของตนเอง ภาครัฐต้องให้การสนับสนุนการศึกษาในภาคส่วนต่าง ๆ อย่างเท่าเทียม รวมไปถึงผู้ประกอบการธุรกิจก็จะต้องมีวิธีการสื่อสารกับผู้เรียน ผู้สอน และสถานศึกษาถึงความต้องการของตนเองที่อาจจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามยุคสมัย ผู้นำหลักสูตรฐานสมรรถนะไปปรับใช้จำต้องคำนึงถึงปัจจัยสำคัญต่าง ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่อการเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น

การจัดรูปแบบการเรียนการสอน จะต้องมีการออกแบบให้ผู้เรียนได้มากกว่าความรู้จากในตำราเรียน ต้องมีการออกแบบห้องเรียนแบบใหม่ ให้เน้นความสำคัญของผู้เรียนแต่ละคนเป็นหลัก และให้มีกิจกรรมที่ส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพและความเชี่ยวชาญในพฤติกรรมต่าง ๆ ของผู้เรียน อาจมีการออกแบบกิจกรรมให้ผู้เรียนได้แสดงพฤติกรรมของตนเองออกมา โดยใช้ศักยภาพภายในของตนเองในการแก้ไขปัญหาเมื่อเจอกับสถานการณ์ที่ท้าทาย

การวัดประเมินผล จะต้องมีการออกแบบใหม่ ให้สามารถประเมินพฤติกรรมของผู้เรียนที่มีการพัฒนาไประหว่างการศึกษา ตั้งแต่เริ่มต้นจนจบการศึกษา โดยที่ผู้สอนจะเก็บข้อมูลของผู้เรียนแต่ละคนไปเรื่อย ๆ จากการสังเกต พูดคุย การสัมภาษณ์ การให้ทำงานที่ไม่ต้องมีการให้คะแนน เช่น การให้ส่งร่างรายการเพื่อรับผลป้อนกลับ (Feedback) ไปปรับปรุงก่อน การให้วาดแผนภาพแสดงสิ่งที่ตนเองเรียนรู้ในวันนั้น เป็นต้น หรือแม้กระทั่งการให้คำแนะนำ แล้วนำข้อมูลมาวิเคราะห์เพื่อประเมินผล หรือเป็นการประเมินที่เรียกว่า การประเมินเพื่อพัฒนาการ (Formative Assessment) ซึ่งจะสามารถประเมินความเชี่ยวชาญที่เพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยในการออกแบบการประเมินผลต้องครอบคลุมพฤติกรรมที่ส่งผลต่อการใช้ชีวิตของผู้เรียน โดยการออกแบบที่คำนึงถึงกลุ่มสาระการเรียนรู้ (Learning Area) ควบคู่ไปด้วย

การเก็บข้อมูลของผู้เรียน จะต้องมีการจัดระเบียบให้ทุกคนเข้าใจได้เหมือนกัน เพื่อไม่ให้เป็นปัญหาในการนำข้อมูลของผู้เรียนไปใช้ต่อ เช่น การนำไปยื่นเข้าศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น การนำไปสมัครงาน หรือในกรณีที่ผู้เรียนย้ายที่เรียน เป็นต้น เพื่อเป็นประโยชน์ต่อผู้เรียนที่จะสามารถรับรู้และเข้าใจระดับความสามารถของตนเอง เพื่อการพัฒนาตนเองในอนาคต รวมไปถึงผู้ปกครองก็จะสามารถรับรู้และสนับสนุนผู้เรียนได้อย่างตรงจุดและเหมาะสม

วิธีการดังกล่าวจะช่วยให้การจัดการเรียนการสอนฐานสมรรถนะเป็นไปอย่างราบรื่น และเกิดประสิทธิภาพสูงสุดต่อผู้เรียน เพื่อให้ผู้เรียนได้เรียนรู้สมรรถนะที่จำเป็นในการใช้ชีวิตต่อไป

อ้างอิง

เนื้อหาจากโครงการวิจัยเพื่อค้นหาและพัฒนาผลลัพธ์ที่คาดหวังต่อผู้เรียนและกรอบสมรรถนะหลักของผู้เรียน

Curry, Lynn & Docherty, Marcia. (2017). Implementing Competency-Based Education. Collected Essays on Learning and Teaching.

Dragoo, Amie & Barrows, Richard. (2016). Implementing Competency-Based Education: Challenges, Strategies, and a Decision-Making Framework, The Journal of Continuing Higher Education.

Twyman, Janet S. (2014). Competency-Based Education: Supporting Personalized Learning. Connect: Making Learning Personal, Center on Innovations in Learning, Temple University.

ขอบคุณรูปภาพประกอบจาก Inskru

--

--