เมื่อ EdVISORY ลงพื้นที่แม่ฮ่องสอน

Au Jakkarin Burananit
EdVISORY
Published in
3 min readMay 13, 2020

EdVISORY ได้รับโจทย์จากทาง UNICEF ให้เข้าไปช่วยออกแบบกระบวนการเพื่อพัฒนา “แผนพัฒนาการศึกษาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน” โดยที่ผ่านมา UNICEF ได้ทำงานระดับพื้นที่อยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโครงการส่งเสริมให้เกิดคุณครูจากพื้นที่ ห้องสมุดเคลื่อนที่ แต่ที่ผ่านมาเป็นการทำงานแต่เพียงระดับเขตพื้นที่ ทาง UNICEF ต้องการขยายผลไปสู่ระดับจังหวัด ดังนั้นจึงต้องการภาพทิศทางของจังหวัดที่ต้องการไปต่อ ที่เป็นคำตอบจากคนในพื้นที่เอง เพื่อส่งต่อให้ทาง UNICEF ทำแผนการลงทุนด้านการศึกษา (Investment case) ต่อไป

กระบวนการ

  1. เข้าใจบริบท (Context)
  2. เข้าใจผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder)
  3. ถอดบทเรียนสรุปข้อมูล (Analyze)
  4. ออกแบบกระบวนการ (Planning)

1. เข้าใจบริบท (Context)

พวกเราลงพื้นที่ไปกับทาง UNICEF เจอผอ. คอยรอต้อนรับพวกเราอยู่แล้ว เพื่อเดินทางไปยังโรงเรียนเขตพื้นที่ ซึ่งเป็นความพิเศษในการจัดการของโรงเรียนในจังหวัดแม่ฮ่องสอนที่มีความท้าทายหลากหลาย ทั้งภูมิประเทศเป็นป่าเขา (87% ของพื้นที่) มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ ส่งผลให้มีภาษาแม่ที่หลากหลาย อีกทั้งยังต้องเผชิญกับความท้าทายของโรงเรียนขนาดเล็กอีกด้วย

โรงเรียนเขตพื้นที่ถือเป็น นวัตกรรมที่ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอน ใช้ในการจัดการปัญหาโรงเรียนขนาดเล็ก ที่นับวันโรงเรียนจะมีจำนวนนักเรียนน้อยลงเรื่อย ๆ เนื่องจากอัตราการเกิดน้อยลง หลายพื้นที่ในประเทศไทย ใช้วิธีการปิดและยุบโรงเรียน และเลือกที่จะแก้ปัญหาที่การเดินทางของนักเรียนแทน แต่ทางจังหวัดแม่ฮ่องสอนไม่อาจจะทำเช่นนั้นได้ เนื่องจากพื้นที่เป็นป่าเขา การเดินทางยากลำบาก หากยุบโรงเรียน นักเรียนไม่สามารถไปโรงเรียนถัดไปได้ง่ายนัก หรือแม้กระทั่งการให้นักเรียนไปอยู่หอ สำหรับเด็กเล็กแล้วการใช้เวลาช่วงประถมวัย กับพ่อแม่ถือเป็นเรื่องที่สำคัญเช่นกัน

ทางจังหวัดจึงใช้วิธีการเปลี่ยน โรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนน้อยลง ให้กลายเป็นห้องเรียนขนาดใหญ่ ที่กระจายอยู่ตามพื้นที่ และใช้วิธีการบริหารจัดการโดยมีผอ. คนเดียว โรงเรียนที่เราเดินทางไป เป็นหนึ่งในห้องเรียนของโรงเรียนเขตพื้นที่ ที่มีทั้งหมด 7 ห้องเรียนกระจายอยู่ใน 4 เขต และคนขับรถพาเราไปในวันนี้คือ ผอ. ที่ดูแลโรงเรียนเขตพื้นที่แห่งนี้

พอพวกเราไปถึงโรงเรียนคุณครูก็บอกว่าเด็ก ๆ กำลังซ้อมการแสดงอยู่ เราต่างคิดว่าคงมีงานของโรงเรียน เด็กต่างแต่งหน้าแต่งตาพร้อมกันหมด พอพวกเรานั่งลงการแสดงก็เริ่มต้นขึ้น

การแสดงที่เด็กในโรงเรียนเตรียมต้อนรับพวกเรา

หลังจากการแสดงจบเราก็ได้พูดคุยกับผอ. และคุณครู จึงรู้ว่าไม่ค่อยจะมีใครแวะขึ้นมาที่นี้เท่าไรนัก ดังนั้นการมาของพวกเราจึงเป็นการมองเห็น ที่คุณครูและเด็กเหล่านี้รับรู้ และเตรียมตัวการแสดงนี้ให้เรา ตัวผมเองกลับมองย้อนถึงกิจกรรมนักศึกษา ที่มักลงพื้นที่ไปสอนเด็กบนดอย แต่กลับพบว่ามีโรงเรียนอีกหลายแห่งที่ถูกลืมไป โรงเรียนบางแห่งก็ถูกให้ความสนใจจนมากเกินไป

หลังจากการแสดงรับประทานอาหารที่ทางโรงเรียนเตรียมไว้ ดูเด็ก ๆ เข้าเรียนวิชาทักษะชีวิต เราก็เริ่มเก็บข้อมูล พูดคุยกับนักเรียน และคุณครู เราเลยได้มองเห็นมุมมองที่ไม่สามารถมองเห็นได้ หากอ่านเพียงรายงาน และตัวเลข หรือการคาดเดาอย่างเดียว

ความสำคัญของโรงเรียนเขตพื้นที่ โดยเฉพาะโรงเรียนประถมศึกษา คือการอ่านออกเขียนได้ ความท้าทายคือการที่ต้องสอนภาษาไทย ผ่านภาษาแม่ของพวกเขาที่เป็นภาษาถิ่น ซึ่งคุณครูที่อยู่ในพื้นที่เป็นกำลังที่สำคัญมาก โดยเฉพาะคุณครูที่สามารถสื่อสารกับเด็ก ๆ ได้ด้วยภาษาแม่

สื่อการเรียนการสอนภาษาถิ่น

ในโรงเรียนจะมีความเฉพาะในการสอนภาษา จะมีการเขียนคำอ่านภาษาไทยและภาษาอังกฤษ ด้วยเสียงที่เด็กคุณเคยและสามารถออกเสียงได้ใกล้เคียงที่สุด

คุณครูต้องทำมากกว่าการสอน และมากกว่าที่คุณครูในเมืองทำ ทั้งการทำอาหาร ซ่อมแซมโรงเรียน เพราะว่าในโรงเรียนที่ถูกเรียกว่าเป็นห้องเรียนแห่งนี้ ลำพังเพียงมีคุณครูจำนวนเพียงพอ ก็ถือว่าลำบากมากแล้ว ดังนั้นจึงไม่มีเจ้าหน้าที่ทำตำแหน่งอื่น ๆ คอยช่วยเหลือ

2. เข้าใจผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง (Stakeholder)

พวกเราลงพื้นที่ไปพูดคุย ศึกษาธิการจังหวัด (ศธจ.) สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) และสมาคมพัฒนาการศึกษาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน เพื่อเข้าใจผู้ที่มีส่วนขับเคลื่อนการศึกษาทั้งหมด ได้เห็นมิติมุมมองที่แตกต่างกัน

— ศึกษาธิการจังหวัดแม่ฮ่องสอน

หลังจากที่เราได้เข้าไปหารือ พบว่าทางศธจ. แม่ฮ่องสอน เพิ่งจะเริ่มตั้งคณะทำงานกันใหม่ แล้วมองแผนในเรื่องของการทำข้อมูลเป็นหลัก ทางศธจ. มองในเรื่องของการเข้าถึงการศึกษาและการประกอบอาชีพ จึงสนใจที่จะทำสัมภาษณ์นักเรียนที่ไม่ได้เรียนต่อและไม่ได้ทำงาน

จากข้อมูลที่ลงลึกเพิ่มเติมถึง โครงการเกี่ยวกับเรื่องการฝึกอาชีพ ก็พบว่าโครงการพอมีบ้าง แต่ขาดงบสำหรับอุปกรณ์และการเดินทางที่ค่อนข้างลำบาก รวมถึงไม่ตรงความสนใจของนักเรียน หลักสูตรไม่มีความหลากหลายพอ สถานที่จัดอบรมอยู่ไกลพื้นที่ที่นักเรียนจะเข้าถึงได้

พวกเราถามต่อในทิศทางข้างหน้า ว่าทางศธจ. มองเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจอย่างไร ซึ่งศธจ.มองในเรื่องของการพัฒนาการท่องเที่ยว โดยมีนักเรียนเป็นล่าม เพราะว่า ภาษาถิ่นนั้นมีโครงสร้างภาษาใกล้ภาษาอังกฤษ ซึ่งนักเรียนในแม่ฮ่องสอนจะเรียนรู้ง่ายกว่าภาษาไทย อีกทั้งมีอัตลักษณ์เฉพาะของคนในพื้นที่

— สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาจังหวัดแม่ฮ่องสอน

ในมิติของสพป. ที่มีหน้าที่ดูแลโรงเรียนแทบทั้งหมดของจังหวัด จุดเน้นที่ทางสพป. สนใจจะเป็นเรื่อง อัตรากำลังของคุณครู เนื่องจากภูมิศาสตร์ที่เป็นป่าเขา จึงไม่สามารถจัดการกำลังครูเหมือนพื้นที่อื่นได้ (ในความหมายคือการยุบรวมโรงเรียน) มองว่าคุณครูสำคัญที่สุด

ซึ่งทางสพป. มองเรื่องเดียวกับทางโรงเรียน คือภาษาเป็นเรื่องสำคัญ และให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า โรงเรียนบางโรงเรียนมีหลายชนเผ่าเรียนร่วมด้วยกัน ซึ่งในจังหวัดมีชนเผ่าหลากหลายมาก และแต่ละชนเผ่าครอบครัวให้ความสำคัญกับการศึกษาไม่เท่ากัน

ซึ่งทางสพป. สนใจทำโครงการที่เกี่ยวกับเรื่องของภาษา ทำอย่างไรให้เด็กที่มาจากชนเผ่าที่แตกต่างกัน เรียนรู้การออกเสียภาษาไทยได้ มีสื่อการสอน มีคุณครูชาติพันธุ์ที่มาช่วยเรื่องการออกเสียง ความท้าทายที่ห้องหนึ่งห้องไม่ได้มีภาษาเดียว แอปพลิเคชันที่จะช่วยทางนี้ก็ไม่มี รวมไปถึงอินเตอร์เน็ต ที่แม้จะไปทั่วแต่สัญญาณไม่แรงเพียงพอกับการใช้งานได้

ทางสพป. ต้องการให้การเรียนรู้ของนักเรียนบนเขา มีคุณภาพทัดเทียมนักเรียนบนพื้นราบ โดยมองที่คุณครูที่มีคุณภาพ ซึ่งหาได้ยากเพราะว่า ถ้าไปที่อื่นได้เงินมากกว่าหรือเท่ากันก็จะไป ดังนั้นจึงมองคุณครูที่มีใจเป็นหลัก และทำการพัฒนาคุณครูเหล่านั้น

— สมาคมพัฒนาการศึกษาของจังหวัดแม่ฮ่องสอน

เป็นการรวมตัวกันของคนที่สนใจด้านการศึกษา มีคุณครู สภาเด็ก อาจารย์มหาลัย หน่วยงานต่าง ๆ เพื่อพยายามขับเคลื่อนการศึกษาในจังหวัด หลังจากที่ได้ฟังและพูดคุย พบว่ามีความสนใจที่หลากหลายมาก เพราะเป็นการรวมกลุ่มกันของคนที่หลากหลาย

ทักษะชีวิต การทำนโยบายสาธารณะด้านการศึกษา ครูรักถิ่น ความยากจน ผู้สูงวัย การศึกษาในระดับอุดมศึกษา … ค่อนข้างมีหลายประเด็น แล้วก็เป็นคนที่ขับเคลื่อนการศึกษาในหน้างาน

3. ถอดบทเรียนสรุปข้อมูล (Analyze)

จากที่ทำการสรุปกับทาง UNICEF เห็นตรงกันว่าเรื่องภาษาเป็นเรื่องหลัก ที่จะโยงทุกภาคส่วนให้มาทำงานร่วมกัน ทั้งคุณครู ผอ. เองกำลังเผชิญกับความท้าทายในเรื่องนี้ และเป็นจุดเริ่มต้นของการเรียนรู้ต่อ หรือทำงานต่อทั้งหมด

จุดต่อไปคือการวางคนให้ครบ พอได้เห็นพื้นที่และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมดแล้ว เราก็พบว่า แต่ละคนมีมุมมองต่างกัน และหน้าที่ที่ตัวเองสนใจแตกต่าง และเสริมกันได้พอดี ทางศธจ. สนใจในเรื่องของการทำข้อมูล ทางสพป. สนใจเรื่องของคุณครูและการสอนภาษา ทางสมาคมพัฒนาการศึกษา พร้อมที่จะลงมือทำ เพียงแค่ให้แหล่งทุนและการสนับสนุน

จะเห็นว่าทุกอย่างมีแล้ว เพียงแค่ต้องการคนที่จะเหนี่ยวนำ ให้เกิดการพูดคุย วางแผน และขับเคลื่อน เสริมเรื่องกลไก การสนับสนุนให้ทุนต่อ ซึ่งทางทีมมองว่า กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) หรือแหล่งทุนอื่นสามารถมาเป็นตัวปล็ดล็อคตรงนี้ได้

ในมิติของด้านเศรษฐกิจและอาชีพ ถ้าเชื่อมโยงกับทางหอการค้า จะทำให้เกิดการพัฒนานักเรียนได้ตอบโจทย์ และทำให้พวกเขาเหล่านี้มีงานทำ ยังมีบางกลุ่มที่คิดเรื่องการพัฒนาทักษะช่าง แต่ทางทีมก็ไม่แน่ใจ เนื่องจากสถานประกอบการในจังหวัดที่รองรับนั้นไม่มีมากนัก หากเน้นไปทางช่าง จะต้องเดินทางไปทำงานต่างจังหวัด จึงเป็นเรื่องที่น่าจะลงลึกต่อไป ในเรื่องของตลาดแรงงาน

และเราได้เห็นทุนในชีวิตของนักเรียน ทั้งเรื่องภาษา วัฒนธรรม ธรรมชาติ ที่ทุกคนในจังหวัดต่างเห็นตรงกันในจุดเดียวกัน จะทำอย่างไรให้เกิดการสร้างคุณค่าจะสิ่งที่มีให้ได้มากที่สุด เป็นสิ่งที่ต้องระดมความคิดต่อไป

4. ออกแบบกระบวนการ (Planning)

หลังจากการเดินทาง ทีมงานได้ทำการสรุปผลและมองการทำงานต่อ และมองว่าหน่วยงานที่น่าจะเกี่ยวข้องกับ การวางแผนพัฒนาการศึกษาของจังหวัดจะประกอบไปด้วย สธจ. สพป. สมาคมพัฒนาการศึกษา หอการค้า กสศ. และ UNICEF ที่จะทำงานร่วมกัน

เพื่อให้การขับเคลื่อนไปพร้อมกับภาพใหญ่ที่ทางสำนักปลัดกระทรวงศึกษาธิการ กำลังเดินหน้าเรื่อง แผนพัฒนาการศึกษาที่ยั่งยืน (SDG4) นั้นจะต้องมองเรื่องของข้อมูลและตัวชี้วัดที่จะเป็นตัวตั้งต้นสำหรับ โจทย์ที่เรามองว่าเป็นความสนใจของคนในจังหวัด

เพื่อที่จะตอบโจทย์ปลายทางที่ให้ ทางจังหวัดสามารถเกิดแผนการพัฒนาการศึกษา จากคนในพื้นที่เองได้ ทางทีมได้ออกแบบกระบวนการแสดงความคิดเห็นอย่างมีส่วนร่วม การจัดให้มีการแบ่งปันความรู้ และการฟังเสียงจากความสนใจของแต่ละคนจริง ๆ ให้ออกมาเป็นรูปแบบของการประชุม ที่ทุกคนจะมีส่วนร่วมได้ทั้งหมด

EdVISORY เราให้ความสนใจกับการแก้ปัญหาด้วยความเข้าใจ เพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างยั่งยืน โดยทำงานร่วมกับหลายภาคส่วน เพื่อให้เกิดการขับเคลื่อนไปพร้อมกัน

--

--

Au Jakkarin Burananit
EdVISORY

Co-Founder&CTO at EdVISORY, Alumni of Teach for Thailand. Education|Technology|Design