‘แม่พิมพ์ของชาติ’ ในภาวะล้นตลาด แต่หลายพื้นที่ยังขาดครู
19 มกราคม 2021
ภาพยนตร์เรื่อง ครูบ้านนอก เข้าฉายในประเทศไทยเมื่อปี พ.ศ. 2521 โดยมี ปิยะ ตระกูลราษฎร์ นำแสดงในบทบาทคุณครูผู้ถูกบรรจุอยู่ ณ โรงเรียนอันห่างไกลความเจริญ สาธารณูปโภคพื้นฐานแทบจะเข้าไม่ถึง นักเรียนกับเพื่อนร่วมอาชีพจำนวนน้อยนิด สะท้อนภาพการเรียนการสอนที่ยากลำบากจนแทบจะกลายเป็นภาพจำของวงการการศึกษาไทย ขณะที่ยุคปัจจุบันงบการศึกษาในแต่ละปีพุ่งสูงขึ้นพร้อมๆ กับอัตรากำลังข้าราชการครูทั้งที่ได้รับการบรรจุแล้วและยังไม่ได้รับการบรรจุ คำถามที่น่าสนใจจึงอยู่ที่ว่า เพราะเหตุใดครูจำนวนมากมายมหาศาลที่มีอยู่ในประเทศไทย รวมถึงครูที่ผลิตขึ้นมาในแต่ละปีนั้น จึงยังไม่เพียงพอต่อโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกล
“แม้ว่านักเรียนทั้งโรงเรียนจะมีแค่ 44 คน แต่มีห้องเรียนถึง 8 ห้อง จำนวนครูก็มีแค่ 4 คน ทั้งงานสอนและงานอย่างอื่นรวมกันก็ไม่ไหวนะ ยิ่งถ้าวันไหนครูคนอื่นติดภารกิจต้องไปอบรมหรือมีประชุม เราแทบจะต้องปล่อยให้วันนั้นทั้งวันเสียเปล่าเป็นคาบว่างไปเลย”
ธีราภรณ์ ธนะคำดี ครูโรงเรียนบ้านโคกแก้ว จังหวัดสกลนคร กล่าวถึงสภาพความรุนแรงของปัญหาการขาดแคลนบุคลากรครูในโรงเรียนบ้านโคกแก้วที่ถูกจัดอยู่ในสถานะโรงเรียนขนาดเล็กที่มีระดับชั้นตั้งแต่อนุบาล 2 ไปจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 โดยเล่าถึงวิธีการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียนที่จำเป็นต้องให้ครูแต่ละคนช่วยกันวนสอนในหลายวิชา และบางครั้งยังต้องนำนักเรียนในแต่ละระดับชั้นมาเรียนคละกัน ซึ่งยิ่งสร้างความท้าทายให้กับการจัดรูปแบบการเรียนการสอนของครูยิ่งขึ้น ซ้ำเติมด้วยการที่งบประมาณด้านการศึกษาปีล่าสุดในส่วนของพนักงานการสอนที่ไม่ใช่ข้าราชการครูถูกตัด จนทำให้เหล่าพนักงานการสอนต้องพากันย้ายไปสอนที่อื่นหมด การเป็นครูในโรงเรียนขนาดเล็กสำหรับธีราภรณ์จึงต้องใช้ทั้งพลังกายและพลังใจประหนึ่งยอดมนุษย์ที่ทำได้ทุกอย่าง
สาเหตุของสภาพปัญหาที่เกิดขึ้นกับโรงเรียนขนาดเล็กทั่วประเทศ ครูธีราภรณ์มองว่า เป็นเพราะวิธีการจัดสัดส่วนครูต่อนักเรียนที่นับเอาตามจำนวนหัว หากนักเรียนน้อย-ครูน้อย นักเรียนเยอะ-ครูเยอะ โดยไม่ได้คำนึงถึงรายละเอียดว่านักเรียนมีกี่ระดับชั้น กี่ห้องเรียน รวมถึงการจัดวางตำแหน่งข้าราชการครู พนักงานครูอัตราจ้าง หรือพนักงานการสอนอื่นๆ ก็ไม่ได้คำนึงถึงบริบทสภาพความยากลำบากของแต่ละพื้นที่หรือแต่ละโรงเรียน ทำให้ครูจำนวนมากถูกนำไปกองรวมกันในโรงเรียนขนาดใหญ่ที่มีทรัพยากรและบุคลากรสมบูรณ์พร้อม จนเกิดเหตุการณ์คาบว่าง (สำหรับครู) นั่งเหงากันในห้องพักครูอยู่บ่อยครั้ง ขณะที่โรงเรียนขนาดเล็กไม่ได้รับการเหลียวแลและถูกหลงลืม ปล่อยให้ครูตัวเล็กๆ ไม่กี่คนทำหน้าที่ทุกอย่างเพื่อให้เด็กทุกคนได้รับการเรียนรู้ที่เหมาะสมเท่าที่จะทำได้
เธอฝากความเห็นทิ้งท้ายเอาไว้ว่า ภาครัฐควรให้ความสำคัญต่อโรงเรียนขนาดเล็กเพื่อใช้เป็นโอกาสในการพัฒนาพื้นที่ชนบทโดยรอบ เพราะหากมีการสนับสนุนโรงเรียนขนาดเล็กอย่างถูกทิศทาง สังคมชุมชนโดยรอบอาจจะดีขึ้นก็เป็นได้
ถอยกลับออกมาจากโรงเรียนขนาดเล็กไปดูโรงเรียนที่มีขนาดใหญ่ขึ้นมาบ้าง อย่างโรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคู เทศบาลนครขอนแก่น จังหวัดขอนแก่น ครูชุตินธร หัตถพนม ในฐานะรองผู้อำนวยการโรงเรียน ก็ได้ให้แง่มุมที่น่าสนใจถึงประเด็นปัญหาที่กำลังเกาะกุมระบบการศึกษาและหน้าที่ในการสอนเยาวชนของชาติที่คล้ายคลึงกันในบางมิติ
“การปรับปรุงสภาพแวดล้อมและโครงสร้างโดยรอบของโรงเรียนนั้นเป็นสิ่งสำคัญ เพราะหากระบบการศึกษาไม่สามารถทำให้จุดนี้ดีขึ้นได้ นักเรียนก็ไม่อยากจะมาเรียน ส่วนครูก็จะถูกสถานการณ์บีบให้ต้องย้ายไปบรรจุในที่ที่เขาสามารถใช้ศักยภาพจัดการเรียนการสอนได้อย่างเต็มที่”
ถึงแม้โรงเรียนเทศบาลคุ้มหนองคูจะมีนักเรียนถึง 240 คน มีผู้บริหาร 2 คน ข้าราชการครู 14 คน และครูอัตราจ้างอื่นๆ อีก 4 คนก็ตาม แต่การจัดการเรียนการสอนก็ยังเป็นปัญหา เนื่องจากครูต้องแบกภาระอื่นๆ ที่มากเกินกว่าการสอนหนังสือ ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมการประเมิน การจัดทำโครงการ การอบรม รวมไปถึงการส่งต่อภาระงานจากส่วนกลางอย่างกระทรวง กรม หรือเทศบาล ทำให้ครูถูกผลักออกจากห้องเรียนมากขึ้น ประหนึ่งโรงเรียนตามต่างจังหวัดต้องคอยถูกตรวจสอบและไม่ไว้วางใจให้จัดการอะไรหลายอย่างด้วยตนเอง
ครูชุตินธรกล่าวเสริมอีกว่า การไม่กระจายอำนาจและการไม่ไว้ใจโรงเรียนในต่างจังหวัดจากส่วนกลาง มีผลทำให้การจัดสรรกำลังคน การจัดสรรภาระงาน ไปจนถึงขอบข่ายอื่นๆ ที่เกี่ยวข้องกับครูทั่วประเทศมีปัญหา หากโรงเรียนระดับเทศบาลยังประสบปัญหา ก็แทบไม่ต้องพูดเลยว่าโรงเรียนขนาดเล็กจะต้องรับมือกับปัญหานี้อย่างหนักหน่วงขนาดไหน
“การควบรวมโรงเรียนขนาดเล็กเข้ากับโรงเรียนอื่นอาจจะเป็นทางออกหนึ่ง เช่นเดียวกับการลดภาระงานที่ไม่เกี่ยวข้องกับการสอน เพราะการศึกษาควรมุ่งความสนใจไปที่การพัฒนามนุษย์ ไม่ใช่การรอคอยให้ถูกตรวจสอบและใช้งานไปในด้านอื่นที่ดึงเอาความสนใจของครูออกไปจากนักเรียน”
จากการพูดคุยกับครูทั้งสองที่ได้รับผลกระทบทางตรงจากปัญหาดังกล่าวนี้ สอดคล้องกับข้อค้นพบจาก ‘งานวิจัยพัฒนานวัตกรรมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของการศึกษาระดับประถมในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร’ (2563) จัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ซึ่งให้ข้อมูลว่า ปัจจุบันโรงเรียนที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนครูมีจำนวนถึง 1,594 โรงเรียน และกำลังจัดการศึกษาให้กับนักเรียนที่ด้อยโอกาสจำนวนกว่า 100,000 คนทั่วประเทศ
ปัญหาด้านการจัดการอัตรากำลังคนของข้าราชการครูจึงไม่ใช่การมีครูไม่เพียงพอต่อระบบ แต่เป็นการจัดวางตำแหน่งแห่งที่ของบรรดาข้าราชการครูที่ขาดความละเอียดรอบคอบในการรับมือกับสภาพบริบทจริงของประเทศ และกลายเป็นรูโหว่ขนาดใหญ่ของความเหลื่อมล้ำและเสมอภาคทางการศึกษาของโรงเรียนทั้งหมด
รากฐานของปัญหาใหญ่ที่กำลังเกิดขึ้นในการศึกษาของประเทศไทยตามงานวิจัยระบุเอาไว้ว่า เป็นเพราะการกระจายจำนวนครูออกไปทั่วประเทศนั้นเบาบางกว่าที่ควรจะเป็น ทั้งที่จำนวนโรงเรียนขนาดเล็ก จำนวนห้องเรียน ไปจนถึงจำนวนนักเรียนต่อหนึ่งห้องเรียนมีเป็นจำนวนมาก การใช้สัดส่วน ‘นักเรียนน้อย-ครูน้อย’ ‘นักเรียนมาก-ครู’ จึงไม่สามารถทำให้ประสิทธิภาพในการสอนดีขึ้นอย่างที่ควรจะเป็นได้ หรือแทบจะเรียกได้ว่ามายาคติ ‘ห้องเรียนขนาดเล็ก แต่ทรงประสิทธิภาพ’ ซึ่งใช้ไม่ได้ผลในไทย
งานวิจัยชี้ด้วยว่า หากไม่มีการปรับปรุงระบบภาพรวมทั้งหมดของเครือข่ายโรงเรียนจะทำให้ประเทศไทยต้องเพิ่มจำนวนการผลิตครูพร้อมบรรจุมากขึ้นถึง 76,000 กว่าตำแหน่ง ซึ่งเป็นทางออกที่ไม่มีเหตุผลในเชิงนโยบายเป็นอย่างมากสำหรับการเพิ่มจำนวนการผลิตครูอย่างเกินตัว เพราะการแก้ไขปัญหาด้วยการจัดการทรัพยากรที่มีให้ถูกที่ถูกทาง ย่อมดีกว่าการผลิตครูเพิ่มเพื่อวิ่งตามปัญหาโดยไม่แก้ไขที่ต้นเหตุ
ข้อเสนอและทางออกของงานวิจัยชิ้นนี้พยายามชี้ให้เห็นถึงความเป็นไปได้ในการอุดช่องว่างระหว่างจำนวนข้าราชการครูในโรงเรียนขนาดเล็กและโรงเรียนขนาดใหญ่ ด้วยการเสนอให้เพิ่ม ‘รายได้พิเศษให้แก่ครูที่เลือกบรรจุในโรงเรียนขนาดเล็ก’ (Special Hardship Allowance: SHA) โดยเฉพาะโรงเรียนในพื้นที่ห่างไกลและทุรกันดาร เนื่องจากปัจจุบันอัตราเงินเดือนของข้าราชการครูยังใช้เกณฑ์เดียวกันทั้งประเทศ โดยมองข้ามปัจจัยด้านสภาพภูมิประเทศที่ต้องลงไปบรรจุ อย่างการเข้าถึงโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เพื่อสร้างแรงจูงใจให้แก่ข้าราชการครูในการจะเลือกบรรจุในโรงเรียนที่กำลังประสบปัญหาดังที่กล่าวมาแล้วข้างต้น และจะเป็นการแก้ไขปัญหาเรื่องอัตรากำลังของครูที่ไม่เพียงพอต่อการจัดการสอนให้มีประสิทธิภาพในโรงเรียนห่างไกลขนาดเล็กทั้งหลาย
ทางออกนี้ตรงกับคำให้สัมภาษณ์ของครูชุตินธรว่า “การจะทำให้ครูอยากบรรจุอยู่ต่อไปในพื้นที่ห่างไกลนั้น จำเป็นต้องให้เขารู้สึกว่าสิ่งที่เขาทำมันมีคุณค่าและสามารถงอกเงยได้ เกิดความผูกพันและสมเหตุสมผลเพียงพอที่จะไม่ทำให้เขาย้ายไปที่อื่น”
ดังนั้นจึงถือได้ว่า ข้อเสนอจากงานวิจัยสอดคล้องกับสิ่งที่กำลังจะเกิดขึ้นบนโลกความเป็นจริงนอกเหนือจากตัวหนังสือเป็นอย่างมาก และอาจเป็นทางออกสำคัญที่ภาครัฐควรเอาใจใส่ให้มากขึ้น
อีกหนึ่งแนวทางที่น่าสนใจที่งานวิจัยนำเสนอ คือการปฏิรูประบบโรงเรียนเครือข่ายทั้งหมด โดยเป็นการควบรวมโรงเรียนที่ถูกจัดประเภทว่าเป็น ‘Affiliated School’ เข้ากับโรงเรียนที่ถูกจัดประเภทว่าเป็นศูนย์กลาง หรือ ‘Hub School’ ซึ่งจะทำให้จำนวนโรงเรียนทั่วประเทศทั้งหมด 29,466 โรงเรียน หดตัวเหลือเพียง 12,346 และจำนวนชั้นเรียนจาก 337,513 ชั้นเรียน เหลือเพียง 262,094 ชั้นเรียน
การควบรวมนี้เองจะทำให้จำนวนครูต่อนักเรียน และสัดส่วนครูกับนักเรียนต่อหนึ่งห้องเรียนมีความสมเหตุสมผลมากขึ้น เป้าหมายเพื่อทำให้ประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการศึกษาของนักเรียนออกมาดีที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยไม่มีอุปสรรคอย่างเรื่องจำนวนครูต่อชั้นเรียนไม่เพียงพอเข้ามาขัดขวาง
งานวิจัยชิ้นนี้ได้สรุปข้อมูลออกมาว่า ภายหลังการควบรวมโรงเรียน จะมีนักเรียนจำนวน 1,228,836 คน ที่เดินทางไปโรงเรียนได้ใกล้ขึ้น (27.3 เปอร์เซ็นต์) มีนักเรียนจำนวน 2,268,297 คน ที่เดินทางในระยะเท่าเดิม (50.5 เปอร์เซ็นต์) และมีนักเรียน 996,687 คน ที่จะต้องเดินทางไปโรงเรียนด้วยระยะทางที่ไกลขึ้นจากเดิม (22.2 เปอร์เซ็นต์)
จากสกลนครถึงขอนแก่น จากเสียงของข้าราชการครูถึงเสียงของรองผู้อำนวยการโรงเรียน และจากข้อมูลตัวหนังสือในงานวิจัยสู่สภาพปัญหาบนโลกความเป็นจริง คงไม่สามารถปฏิเสธได้เลยว่า ประเทศไทยกำลังเผชิญกับปัญหาระบบการศึกษาทั้งระบบที่มีรากฐานมาจากการจัดสรรทรัพยากรที่เหลื่อมล้ำและไม่เสมอภาค การแก้ไขปัญหาด้วยการทุ่มงบประมาณเพิ่มหรือเพียงแค่ลงไปพัฒนาโรงเรียนตัวอย่างไม่กี่โรงเรียน คงไม่สามารถแก้ไขปัญหาภาพใหญ่ทั้งระบบได้ หากแต่ความเปลี่ยนแปลงจะมาถึงก็ต่อเมื่อมีความคิดริเริ่มในการแก้ไขปัญหา เพื่อนำพาเสียงของครูทั่วประเทศขึ้นไปวางบนโต๊ะของผู้กำหนดนโยบาย
เมื่อแม่พิมพ์ของชาติกำลังส่งเสียงร้องถึงปัญหาต่อผู้จัดการโรงพิมพ์ ก็ได้แต่หวังเพียงว่าเสียงเหล่านั้นจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบาย หาไม่แล้วภาพจำของโรงเรียนขนาดเล็กทุรกันดารในภาพยนตร์เรื่อง ครูบ้านนอก ก็คงจะดำรงอยู่อย่างขื่นขมต่อไป
อ้างอิง:
- โครงการงานวิจัยพัฒนานวัตกรรมเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาของการศึกษาระดับประถมในพื้นที่ห่างไกลทุรกันดาร’ (2563) จัดทำโดยสถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (วสศ.) ภายใต้การสนับสนุนของกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.)
- Final Report: Thailand Advice on Narrowing the Learning Gaps between Schools, World Bank and the Equitable Education Fund Research Institute (EEFI) (2020)
- ระบบสารสนเทศเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (Information system for Equitable Education: ISEE) จัดทำโดย กสศ.