สัตว์ประหลาด! (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล /2004/ไทย) : การเปลี่ยนรูปของความทรงจำ

Wiwat Lertwiwatwongsa
FILMSICK
Published in
2 min readApr 20, 2019

เริ่มเล่ากันเช่นนี้

เก่งเป็นนายทหารหนุ่ม เขาเพิ่งเสร็จภารกิจเอาศพชายผู้หนึ่งที่ตายท่าประหลาดโดยไม่ทราบสาเหตุอยู่ กลางทุ่ง เขาและพรรคพวกถ่ายรูปกันเป็นที่สนุกสนานก่อนพาศพมาพักไว้ที่บ้านชาวบ้านใน หมู่บ้าน ที่นั่นเขาได้พบกับเก็บอดีตทหารเกณฑ์ลูกชายเจ้าของบ้านที่ตอนนี้ทำงานใน โรงน้ำแข็ง หากยังคงสวมเครื่องแบบทหารออกไปหางานทำในเมือง โต้งกับเก่งต้องชะตากัน พวกเขาเจอกันบนรถโดยสารที่มาจอดเทียบกับรถขนทหาร เก่งพาโต้งไปหัดขับรถ พาไปดูหนัง เล่นเกมออนไลน์ ไปกินดื่มที่ร้านอาหาร พาหมาของโต้งไปรักษา ทั้งคู่พากันไปเที่ยวนั่นนี่ พวกเขาไปวัด เจอป้าสำเริงชาวบ้านแถวนั้นพาไปเที่ยวถ้ำ ป้าสำเริงเล่าเรื่องตำนานโบราณให้ฟังแถมยังพาไปกินเป๊บซี่ ไปเที่ยวโลตัส วันหนึ่งโต้งตื่นมาเดินเข้าไปในห้องเก่ง เห็นรูปถ่ายบางรูปโดยบังเอิญ เรื่องก็สิ้นสุดลงตรงนั้น
แล้วเราก็เริ่มเล่าอีกเรื่องหนึ่ง
นายทหารเดินเท้าเข้าไปในป่า เขาตามล่าสัตว์ร้ายที่ออกมาไล่กินวัวของชาวบ้าน เขาเดินลึกเข้าไปในป่า พบรอยเท้ามนุษย์ที่ค่อยๆกลายเป็นรอยเท้าสัตว์ พบชายเปลือยที่ไล่ล่าเขาจนพลัดตกเขา ศัตรูซึ่งเย้ายวนใจ เขาพบกับลิงพูดได้ที่เตือนให้เขาระวังเรื่องสัตว์ร้าย ผีซึ่งมีชีวิตอยู่ได้ด้วยความทรงจำ ผีที่หากเขาไม่ฆ่ามันเสียเขาจะต้องถูกมันกลืนกิน เขาอยู่ตามลำพังในป่ากลางคืนอันเปล่าเปลี่ยวไม่รู้ทิศ เสียงคร่ำครวญของคนหลงป่า เสียงกระดึงผูกคอวัวที่ตายแล้ว ท่ามกลางเสียงอันไม่รู้ที่มา ท่ามกลางการไหลกลับของเหตุการณ์ วิญญาณลึกลับ และยังมีเสือร้าย ที่เรียกร้องเอาลมหายใจจากเขา

นี่คือเรื่องเล่าสองเรื่องซึ่งเกี่ยวกระหวัดกันและกันผ่านสื่อภาพยนตร์ และยังเชื่อมร้อยเอาเรื่องเล่าเล็กๆรายทางเข้าไปอีกจำนวนมาก โยงใยด้วยสายสัมพันธ์ลึกลับผ่านตำนานที่แนบอยู่กับเนื้อของชีวิต ถักความสัมพันธ์ ระหว่างหมู่บ้าน ผืนป่า วัด บึงน้ำ สวนอาหาร เสือสมิง และเวทีแอโรบิก ทั้งหมดกลายเป็นภาพสะท้อนอันหลากล้นของเขตแดนชนบทนอกกรุงเทพแห่งหนึ่งในประเทศไทยผ่านดวงตาของอภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล

ภายใต้เรื่องเล่าซึ่งแตกแยกออกเป็นสอง อภิชาตพงศ์พาเรากระโดดข้ามไปมาระหว่างเส้นแบ่งอันพร่าเลือนของความจริงกับเรื่องเล่า ครึ่งแรกของหนังดำเนินไปท่ามกลางความสมจริงของภาพชีวิตชนบท ภาพฉายของสถานที่ ทัศนียภาพ บรรยากาศ ซึ่งเป็นจริง และสามัญเสียจนไม่เคยได้รับการถ่ายทอดอย่างซื่อสัตย์ลงบนจอภาพยนตร์บ่อยครั้งนัก ตัวละครหน้าตาบ้านๆ พูดจาชวนประดักประเดิด เที่ยวเล่นไปในสถานที่สามัญพื้นๆ หรือจีบกันด้วยเทปเพลงวงแคลชแถมหัวใจ วิถีที่คนจริงๆเขาอยู่กันไม่ใช่ภาพจัดฉากโลกเฉพาะตัวละคร ในขณะที่ครึ่งหลังเรื่องราวนั้นดำเนินอยู่ในป่า เคลือบคลุมไปด้วยความเหนือจริงของตำนานโบราณ (ผ่านทางข้อความบนจอ ไปจนถึงซับไตเติ้ลภาษาลิง) ภาพของป่าในความมืด เสียงไม่รู้ที่มาซึ่งเสมือนว่าเราเคยได้ยินมาก่อน ความลึกลับของป่า ที่กลายเป็นแดนสนธยาลึกลับ ราวกับเป็นคู่ขั้วตรงข้ามของความเรียบง่ายสามัญในครึ่งแรก

หากในอีกทางหนึ่งเราอาจบอกได้ว่าครึ่งแรกต่างหากที่เป็นส่วนของเรื่อง เล่า ลองพิจารณาเรื่องใหม่โดยปอกเอาเครื่องทรงทางภาพจริงออก เรากลับพบความประดักประเดิดมากมาย ทั้งการที่ตัวละครขัดเขินต่อกล้องต่อหน้ากล้อง เลยเถิดไปจนถึงตัวเรื่องซึ่งคงสถานะ เทพนิยายชาวสีม่วง แบบที่ชวนให้เรานึกถึงเรื่องเล่าเรื่องรักตามหน้านิตยสารตรงคอลัมน์ระบาย ปัญหาอัดอก โลกเทพนิยายที่ชายรักชายได้รับพื้นที่สมบูรณ์โดยไม่ต้องทนต่อสายตาประณาม หยามหมิ่น กระทั่งพ่อ และโดยเฉพาะแม่ของโต้ง ที่รู้ดีเรื่องความสัมพันธ์ของโต้งกับเก่ง เพื่อนทหารของเก่งที่บังเอิญเจอในห้องน้ำโรงหนัง (และอีกครั้งที่ลานแอโรบิค) หรือป้าสำเริงที่ทั้งคู่พบระหว่างไปเที่ยวเล่นกันที่วัด โลกของโต้งกับเก่งในหนังเรื่องนี้เป็นยูโธเปียของเรื่องเล่า ที่แนบสนิทอยู่กับภาพจริง ไม่น่าแปลกใจที่หลายๆคนจะมองว่าหนังเรื่องนี้ช่างสมจริง แต่มันคือความสมจริงของเรื่องเล่า เทพนิยายที่ถูกเล่าแนบไปกับเนื้อของชีวิตหนุ่มชนบท เช่นกัน ท่ามกลางความเหนือจริงของภาพและเสีนงในครึ่งหลัง หนังกลับคว้าจับ รีดเค้นสภาวะ โดดดี่ยวเปลี่ยวแปลกของป่าดงพงพีอย่าง’จริง’ จนผู้ชมแทบจะตื่นตระหนกไปพร้อมๆกับนายทหารยามได้ยินเสียงประหลาด สัมผัสถึงยะเยือกของกลางคืน การคืบคลานของเสือร้าย สกัดเอาความพิลึกพิลั่นของตำนานออก นี่คือหนังซึ่งถ่ายทอดสภาวะของการหลงป่า เผชิญหน้าปีศาจที่ให้อารมณืราวกับเราร่วมอยู่ในเหตุการณ์เอง

การกระโดดข้าเส้นของเรื่องเล่ากับความจริงนี้เองทำให้หนังทั้งสองช่วงล้วนไหลเลื่อนเข้าหากัน ไม่ใช่เพียงภาพแทนของความจริงกับสิ่งฝัน หากเป็น ความจริงในเรื่องเล่า และเรื่องเล่าในความจริง การปะทะสังสรรค์ของข้อเท็จจริง(fact) กับเรื่องเล่า(fiction)ซึ่งเมื่อถึงที่สุดก็ได้กลายเป็นประสปการณ์ใหม่

แต่นี่ไม่ใช่สิ่งใหม่ การล้อเล่นกับเรื่องเล่าในบริบทความจริงเป็นกระบวนการของอภิชาติพงศ์มานับ ตั้งแต่ แม่ย่านาง หรือ ดอกฟ้าในมือมาร หรือบ้านผีสิง (เราอาจเล่าในอีกทางได้เลยว่า ครึ่งแรกของสัตว์ประหลาด! ไม่ได้ต่างอะไรกับหนังสั้น บ้านผีสิงซึ่งเป็นการเอาบทละคร ทองประกายแสด ไปให้ชาวบ้านในหมู่บ้านรับบทบาทตัวละคร แล้วถ่ายทำในหมู่บ้านจริงๆ เวียนเปลี่ยนไปเรื่อยๆ) ในขณะที่ครึ่งหลังก็แทบจะละท้ายอาการ ‘ถ่ายหนังจากเรื่องเล่า’ ที่ปรากฏเป็นร่องรอยอยู่ใน ดอกฟ้าในมือมาร

หากเลยพ้นไปจากนั้น ตัวหนังครึ่งแรกก็ยังยอกย้อนซ้อนกลแอบบอกใบ้คนดูอยู่เป็นนัยๆผ่านทาง ‘รอยยิ้มสยาม’ ที่ฉาบทาใบหน้านักแสดงที่เกิดอาการชะงักค้างหันมาจ้องหน้ากล้องอยู่เป็นระยะ ราวกับรู้ตัวกันอยู่เสมอว่ากำลังอยู่ในหนัง และมีคนดูซุ่มโป่งอยู่กลางความมืดตรงนี้ตรงนั้น ตั้งแต่รอยยิ้มเขินหลบสายตาของเก่งในฉากช่วงเปิดเรื่อง การจ้องมองของโต้งจากโรงน้ำแข็ง นายทหารที่เก่งเจอในโรงหนัง หรือกระทั่งป้าสำเริง พวกเขาล้วนยิ้มเยื้อนให้กับผู้ชมมากกว่าจะยิ้มให้กับตัวละครด้วยกันเสียทุก ครั้งไป (ซึ่งจะว่าไปแล้วในดอกฟ้าในมือมาร อยู่ดีๆกองถ่ายทั้งกองเคยโผล่ออกมากลางเรื่องแล้ว แถมต่อมาในแสงศตวรรษ เสียงกองถ่ายหลังคัท ก็ยังดังลอดออกมาในฉากเปิดเรื่องอย่างจงใจอีกต่างหาก หรือกระทั่งในสัตว์ประหลาดนี้ ฉากรอยต่อสำคัญแสดงตนในฐานะภาพยนตร์อย่างเต็มที่ด้วยอาการในลักษณะแบบฟิล์ม ขาด หรือกล้องถูกบดบัง จนปรากฏสภาพแบบกล้องรูเข็มชั่วแวบ ขณะที่เก่งเปิดดูอัลบั้มของโต้ง) ซึ่งทั้งหมดนั้นตอกย้ำสถานะ เรื่องเล่าสมจริงของมันอย่างยิ่ง ขณะที่ครึ่งหลังของหนังการล้อเล่นหมดไป คนดูตระหนักรู้ได้ว่าเป็นหนัง(เรื่องเล่า)เสียตั้งแต่ประโยคเปิดเรื่องจาก หนังสือของน้อย อินทนนท์เสียแล้ว ไม่พักต้องพูดถึง ลิง หรือหิ่งห้อยแต่อย่างใด หรือหากจะไปให้ไกลกว่านั้น ตลอดหนังทั้งสองเรื่องที่แท้ล้วนยืนพื้นอยู่กับเรื่องเล่าเล็กๆจำนวนมา มุขปาฐะที่เล่าสืบต่อกันเป็นตำนาน ตำนานเสือสมิง ตำนานเณรน้อยกับชาวนา ทุกสิ่งทุอย่างถูกเล่าอย่างผาดเผิน แต่ไหลสืบเนื่องอยู่ในชีวิตของตัวละครซึ่งถึงที่สุดก็เป็นเพียงเรื่องเล่า ชนิดหนึ่ง
กล่าวอย่างง่าย สัตว์ประหลาด!ในหนังเรื่องนี้ ในทางหนึ่งอาจคือตัวภาพยนตร์เองในฐานะของเรื่องเล่า ตัวประหลาดที่กลืนข้อเท็จจริงลงท้องไปพร้อมกับกระดกเรื่องเล่า แล้วคายเอาภาพยนตร์อันพร่าเลือนออกมา
แต่การปะทะสังสรรค์ของข้อเท็จจริงและเรื่องเล่าไม่ได้เป็นเพียงลูกไม้ตื้นๆ ของภาพยนตร์เท่านั้น เพราะในหนังเรื่องนี้ที่แท้ความจริงและเรื่องเล่าได้มีสถานการณ์ดำรงคงอยู่ ในอีกรูปหนึ่งด้วย ทั้งนี้นอกจากภาพยนตร์ ยังมีอีกพื้นที่หนึ่งที่ ข้อเท็จจริงและเรื่องเล่าได้มีโอกาสปะทะกัน เราเรียกพื้นที่นั้นว่าความทรงจำ
ดูเหมือนคำว่า ความทรงจำ มักจะเป็นคำติดปากของอภิชาติพงศ์ (และกลายเป็นคำติดปากของคนทำหนังที่เดินตามหลังเขามา) พื้นที่ทางความทรงจำนั้นพร่าเลือน เป็นส่วนตัวและยากกต่อการแชร์ร่วมกับผู้อื่น มันคือพื้นที่เฉพาะเจาะจง หลุมฝังศพของความจริงที่ประสบพบเจอในอดีต และสวนดอกไม้ของเรื่องเล่าที่ถูกรดน้ำพรวนดินด้วยกาลเวลา
ความทรงจำโอบกอดหนังทั้งเรื่องนี่เอาไว้ เราอาจบอกได้ว่า หากครึ่งแรกคือความจริง ครึ่งหลังก็คือความทรงจำที่เกิดขึ้นหลังการจบสิ้นลงของครึ่งแรก (การค้นพบว่าโต้งอาจมีคนรักมาก่อนหน้าผ่านทางรูปถ่าย) อาการป่วนปั่นของคนที่ตกอยู่ในห้วงความทรงจำของความรักที่ดับสูญลงไปแล้ว ซึ่งถูกถ่ายทอดผ่านแบบจำลองของการเผชิญหน้ากับเสือร้าย ที่มีชีวิตโดยการกัดกินความทรงจำของผู้อื่น

แต่เราอยากจะมองให้มากไปกว่านั้น บางทีที่แท้ หนังทั้งเรื่องคือรอยทรงจำของรักอันลาร้างไปแล้ว ครึ่งแรกคือความทรงจำอันงดงามของเรื่องที่เราทั้งคู่มีร่วมกัน และในเมื่อภาพความทรงจำนั้นงดงามกว่าความเป็นจริงเสมอ มันจึงไม่ได้แปลกอะไรเลยที่มันจะถูกจดจำในฐานะของยูโธเปียแห่งชีวิต เวลากัดกร่อนเรื่องราวเลวร้ายมากหลายออกไป เหลือเพียงที่ที่เราไปด้วยกัน ผู้คนใจดีที่เราพานพบ การหยอกล้อเล่นในกันในความมืดและ ฝุ่นควันถนนสีแดงที่เราสูดเข้าไปพร้อมกัน
ใครบางคนบอกว่า เมื่อความรักจบลงมันก็เหมือนกับบางส่วนในตัวเราได้ตายลงไปด้วย เรากลายเป็นคนใหม่ เป็นคนอื่นซึ่งไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป คำกล่าวนี้ราวแนบสนิทอยู่กับสภาวะในครึ่งหลังของเรื่อง นายทหารหนุ่มเผชิญกับเสือ ผีร้ายที่มีชีวิตอยู่ได้ด้วยความทรงจำ เขามีทางเลือกแค่สองทางคือฆ่ามันเสียปล่อยมันออกจากโลกผี หรือไม่ก็ให้มันกินเสีย ไม่ต่างจากความรัก หากเราไม่ลบลืมมันเพื่อก้าวไปข้างหน้า เราย่อมมีแต่ต้องปล่อยให้มันกลืนกิน และเมื่อความรักกลืนกินเรา เราก็ไม่ได้เป็นคนหรือสัตว์อีกต่อไป หาก ‘เปลี่ยนรูป’ไปสู่สิ่งอื่น ไปเป็นคนคนใหม่ คนที่ในที่สุดถูกความรักทิ้งร่องรอยเอาไว้ในการเติบโต

ดังนี้เสือจึงไม่ใช่คนรัก หากคือความรัก การให้โต้งรับบทเสือในครึ่งหลังไม่ได้เป็นภาพแทนของโต้งในฐานะคนรัก แต่เป็นความรัก ผีซึ่งถูกยวนใจด้วยเสียงจากวิทยุสื่อสารของนายทหาร วิทยุสื่อสารซึ่งในครึ่งแรกทำหน้าที่เป็นสารสื่อใจในการก้อร่อก้อติกของนาย ทหาร(อีกนาย)กับหญิงสาวขณะพวกเขาเดินตัดทุ่ง เช่นเดียวกัน เมื่อนายทหารกอดปล้ำกับผี เขาสัมผัสถึงความเย้ายวนบางอย่างไม่ต่างกันกับในครึ่งแรก ที่เก่งจูบมือของโต้ง แล้วโต้งเลียมือของเก่ง (กล่าวตามสัตย์ ฉากเลียมือในครึ่งแรก และฉากการต่อสู้ในครึ่งหลังมีนัยยะโฮโมอีโรติคที่ระอุกรุ่นมากทั้งในแง่ของ มือแขน แทนลำลึงค์ และการกอดรัดฟัดเหวี่ยงอันเป็นรูปแบบการต่อสู้ใช้กำลังของเพศชาย) นายทหารและผีต่างถูกดึงดูดเข้าหากัน ความรักคือความปรารถนาโหยหา นายทหารในที่สุดถึงกับเคาะกระดึงของวัวที่ตายไปแล้วราวกับเรียกหาผีร้าย เช่นกันฉากหนึ่งเราเห็นผีร้ายเดินไปในป่าทึบเปล่าเปลือยและสะอื้นให้ ราวกับเขาพลัดหลงกับนายทหาร ศัตรูและคู่รักของเขา

กระทั่งในที่สุดพวกเขาได้เผชิญหน้ากัน เสือจะกลืนกินนายทหาร เป็นเรื่องเศร้าที่เรามักยอมให้ความรักกลืนกินเราไป เราตายลงเพื่อถือกำเนิดในร่างใหม่ เหตุการณ์กลายเป็นความทรงจำ เราในวันนี้ ‘เปลี่ยนรูป’มาจากสิ่งอื่น

‘การเปลี่ยนรูป’ดูจะเป็นประเด็นสำคัญอีอย่างหนึ่งในหนังเรื่องนี้ เฉกเช่นเดียวกับภาพยนตร์เปลี่ยนรูปความทรงจำ ความรักเปลี่ยนรูปผู้คน เรามองเห็นร่องรอยของการเปลี่ยนรูปมาเสียตั้งแต่ต้น เริ่มจากฉากเปิดซึ่งเป็นฉากความตายของชายปริศนา เราเห็นสภาพศพเพียงชั่ววินาทีเขานอโก้งโค้งในสภาพเหลือเพียงเสื้อยืดกับ กางเกงใน หลังจากนั้นไม่นานเราได้พบฉากชายคนหนึ่งเดินเปลือยเปล่าอยู่กลางทุ่งราว วิญญาณเร่ร่อน ถ้านั่นเป็นวิญญาณจริงๆ มันก็คือการแปลงร่างครั้งแรกจากมนุษย์(สวมเสื้อผ้า) ไปเป็นวิญญาณเปลือยเปล่าซึ่งไปซ้อนทับกับผีในครึ่งหลังที่เปลือยเปล่าตลอด เรื่อง ตำนานของป้าสำเริง เรื่องของเณรน้อยกับชาวนาที่พวกเขาไปเจอหินที่กลายเป็นทอง แต่พอละโมบไปเอาทองเพิ่มทองก็กลับเป็นกบ ตามด้วยตำนานเสือสมิง ที่หมอผีเขมรแก่กล้าแปลงร่างเป็นสัตว์ได้ และเมื่อเรื่องราว ‘แปลงร่าง’เข้าสู่ครึ่งหลัง (สัญญาณการแปลงร่างนี้ถูกบ่งไว้แล้วตั้งแต่ฉากการเข้าถ้ำ ป้าสำเริงพาโต้งกับเก่งไปที่ปากทางเล็กๆของถ้ำซึ่งทะลุไปที่อีกด้าน ถ้ำซึ่งมี่ตำนานสยองขวัญ โต้งเป็นฝ่ายต้องการเข้าไปหาความมืด ขณะที่เก่ง ปฎิเสธการเข้าถ้ำ แต่ในที่สุดเวลาต่อมาเก่งในรูปนายทหารก็เป็นฝ่าตามโต้งเข้าไปในถ้ำเสียเอง ถ้าในนามของป่าอันมืดมิด ซึ่งบางทีพอถึงกลางทางเทียนก็ดับ อย่าว่าแต่เทียนไฟฉายยังดับ -นี่ป้าสำเริงบอกมา และมาปรากฏเป็นภาพในครึ่งหลัง นอกจากนี้ร่องรอยของป่ายังปรากฏผ่านเพลง วนาลี ที่ทั้งคู่ไปฟังที่ร้านอาหาร โต้งอขเพลงนี้ให้เก่ง เขาขึ้นไปร้องเพลงนี้ด้วยตนเอง เนื้อเพลงบ่งชัดว่า ‘เราจะรักภักดี ร้อยวิญญาณชีวี ที่วนาลีเอย’ ราวกับคำทำนาย เฉกเช่นเดียวกับเพลงก่อนหน้าที่มีเนื้อร้องว่า ‘ขาดเธอฉันขาดใจ’ )

โต้งแปลงร่างเป็นผีร้าย เก่งแปลงร่างเป็นนายทหาร ร่องรอยของการเปลี่ยนรูปแปลงร่างก็ยิ่งกระจ่างชัด นายทหารตามรอยเท้าของคนที่ค่อยๆกลายเป็นเสือ ขาเองระหว่างเดินทางก็พบกับคราบของแมลงที่ถูกลอกทิ้งไว้ (ในเวลาต่อมาเขาพบแมลงอีกชนิดคนละแบบกับคราบที่เคยเห็นมาก่อนหน้า) เขาเองเมื่อเดินทางไป ก็ค่อยๆสลัดชุดทหาร แล้วแปลงร่างด้วยการเอาโคลนมาทาตัว พยายามกลายเป็นป่าที่เขามาอาศัย จนในท้ายที่สุด เขาเคาะกระถึงผูกคอวัว เริ่มก้มลงคลานสี่ขา อย่างสัตว์ เขาเปลี่ยนรูปแปลงร่างอีกครั้ง เปลี่ยนไปเป็นสัตว์ (และแน่นอนเขาอาจเป็นวัว ซึ่งแทนความหมายของการถูกกลืนกิน) กระทั่งเขาพบซากวัวที่แท้ เห็นวิญญาณของวัวที่เปลี่ยนร่างหลังความตายเดินลับไป ที่นั้นเองเขาได้พบกับเสือ (ซึ่งคือร่างแปลงอีกเช่นกัน) การเปลี่ยนรูปแปลงร่าง หัวใจในตำนาน (ซึ่งรู้กันดีว่าถึงที่สุดแล้วตำนานคือการกลายร่างของความจริงผ่านการเล่าปากต่อปากมานานับนาน)

หากการเปลี่ยนรูปที่น่าสนใจที่สุด กลับคือการเปลี่ยนรูปโดยไม่แปลงร่างเป็นสัตว์ แต่คือการเปลี่ยนรูปผ่านทาง ‘เครื่องแบบทหาร’นั่นเอง

เก่งอาจจะเป็นทหาร แต่เมื่อเขาถอดเครื่องแบบออกเขากลายเป็นผู้ชายธรรมดาคนหนึ่งเช่นเดียวกับ เพื่อนทหารที่เมื่อถอดเครื่องแบบออกก็กลายเป็น ผู้นำแอโรบิค การเปลี่ยนรูปนี้ถูกสวนกลับโดยโต้ง ซึ่งเคยเป็นทหาร และหลังจากได้พบกับเก่งเขาสวมชุดทหารออกมาเดินในเมือง ในทางหนึ่งเขาสวมชุดทหารเพื่อกลายร่างจากเด็กหนุ่มธรรมดาให้มาเป็นนายทหาร หนุ่มหวังว่าจะหางานง่ายขึ้น ซึ่งนี่เป็นร่องรอยจางๆทางสังคมที่เจืออยู่ในหนังของอภิชาติพงศ์ ในเวลาต่อมา เขาใส่ฉากหมอ ที่เคยสะท้อนภาพอำนาจของแพทย์อย่างน่าทึ่งมาแล้วในสุดเสน่หาลงมาอีกครั้งใน ฉากที่เก่งกับโต้งพาหมาไปรักษา ฉากนี้หมออธิบายเรื่องมะเร็งของหมาให้นักศึกษาแพทย์ฟังราวกับเป็นชิ้นส่วน สิ่งของ พยักเพยิดมาทางเจ้าของเป็นครั้งคราวในเชิงถามความเห็นแกมบังคับ ยิ่งเมื่อฉากนี้ปิดด้วยการเขียนหนังสือไม่ถูกของโต้งมันยิ่งแสดงภาพไม่ต่าง จากหมอผู้หญิงซึ่งกระทำกับมินอูใน สุดเสน่หา (และประเด็นนี้ถูกเล่าขยายอย่างเต็มประโยชน์ในแสงศตวรรษ)

แต่ในอีกทางหนึ่งมันยังคล้ายคลึงกับการแปลงร่างเป็นคนรักผ่านทางชุดที่สวมใส่อีกด้วย (แม้ในตอนนั้นเขาอาจจะยังไม่ได้รักกัน แต่ก็น่าจะต้องตาต้องใจกันแล้ว) ในครึ่งหลัง ผีไม่สวมเครื่องแบบอีกแล้ว (กระทั่งเสื้อผ้าก็ไม่สวม) การเปลี่ยนรูปจากคนมาเป็นผี (หรือสัตว์) คือการเปลี่ยนเครื่องแบบ เช่นเดียวกับที่นายทหารเองก็ค่อยๆปลดเครื่องแบบออกในที่สุด เอาโคลนมาตัว ลงคลานสี่ขา หลังจากนี้เขาอาจะเป็นศพที่มีแต่กางเกงใน ขณะวิญญาณเปลือยเปล่าเร่ร่อนก็เป็นได้ เครื่องแบบของนายทหารถึงที่สุดไม่ต่างจากรูปเสือแต่อย่างใด สุดท้ายพวกเขาจะไม่ได้เป็นทั้งนายทหารและเสือ หากรปลดร่างเดิมไปสู่ร่างใหม่ซึ่งไม่หลงเหลือร่องรอยใดๆผ่านทางความมืดมิดของความรัก ความทรงจำที่หลงเหลือของเราต่อคนรัก กลืนกินเราช้าๆ และนั่นอาจคือหัวใจทั้งหมดของเรื่องนี้

ในฉากสุดท้ายอขงหนัง ท่ามกลางเสียงมนุษยที่เปลี่ยนไปเป็นเสียงของเสือ เสียงลมพัดทิวไม้ เราได้ยินเสียงเล็กๆซึ่งอาจจะเป็นเสียงรถที่ครั้งหนึ่งเก่งเคยสอในห้โต้งขับ ช่วงเวลางดงามที่เราเคยใช้จ่ายไปด้วยกันไหลทบคืนมา เอาล่ะ…. หยุดหายใจได้แล้ว……….

--

--