Nomadland (2020, Chloé Zhao, US)

Wiwat Lertwiwatwongsa
FILMSICK
Published in
2 min readAug 6, 2024

สถานที่เหล่านั้นเป็นลานว่างโล่ง ผู้คนจะมาเช่าพื้นที่ น้ำไฟในบางกรณีเพื่อจอดรถแวนของพวกเขา พวกเขามีทุกอย่างในรถคันเล็กเหล่านั้นบรรจุ ที่นอน อุปกรณ์ประกอบอาหาร ของประดับเล็กน้อย ตู้บานพับหลายแบบที่กางออกเป็นโต๊ะ เก้าอี้พับ ชุดจานชาม อัลบั้มรูป ตู้เสื้อผ้า ไปจนถึงสุขา อุปกรณ์ทุกอย่างถูกจัดวางให้เข้าไปอยู่ในรถให้เต็มประสิทธิภาพของพื้นที่ขนาดเล็กหนึ่งคนนอน

พวกเขาเหล่านั้น พานพบกันบนถนน บนลานจอดรถ จากตลาดแรงงานรับจ้างชั่วคราวราคาถูกที่หนึ่งไปสู่ที่หนึ่ง ผลัดเปลี่ยนไปตามฤดูกาล ล้อมวงผิงไฟเล่าเรื่อง เต้นรำกันในผับเล็กๆ เมื่อหมดงานพวกเขาก็แยกย้ายกันไป บางคนเคยมีการมีงานที่ดีแต่ก็เลือกที่จะใช้ชีวิตเช่นนี้ บางคนเดินทางเพื่อหลบหนีอดีต บางคนมาเพื่อสั่งลาชีวิตของตน บางคนก็แค่เร่ร่อนไปเรื่อยๆ หาทางอยู่รอดไปวันๆ

เฟิร์นจอดรถของเธอในลานจอด มันเป็นฤดูหนาวปลายปี เธอติดต่อเจ้าหน้าที่และได้พบกับลินดา เมย์ มิตรสหายวัยชราที่เคยพบกันแล้วหลายครั้ง ทั้งคู่เตรียมพร้อมเข้างานในช่วงคริสมาสต์ปีใหม่ในฐานะพนักงานชั่วคราวสำหรับแพคของของบริษัทแอมะซอนในช่วงเทศกาลที่ผู้คนจับจ่ายซื้อของขวัญให้ตัวเองและคนที่รัก คนอย่างเฟิร์น ลินดา เมย์ และเพื่อนๆ หน้าใหม่ที่มาจากที่ต่างๆ กันทำงานควบกะ จัดการหีบห่อให้ถึงมือผู้รับ ฉลองคริสมาสต์และปีใหม่ในลานจอดรถโดยลำพัง เดินเล่นในตอนเช้าหนาวเหน็บดูแสงที่ขอบฟ้า ไปทำงานและกลับมานอนหนาว พองานหมดพวกเขาก็แยกย้ายไปทีอื่นต่อ บอกลาโดยไม่บอกลา พรากจากเพื่อพบกันใหม่

เฟิร์นอยู่ในวัยใกล้เกษียณเต็มที เธอเคยใช้ชีวิตอยู่กับที่ยาวนานในเมืองเล็กๆ ที่เป็นส่วนหนึ่งของโรงงานขนาดยักษ์ชื่อ ‘อาณาจักร’ (The Empire) ซี่งเช่นเดียวกับภูผาหรือมหาสมุทร มันมีวันล่มสลายได้ และเมื่อจู่ๆ สถานที่แห่งนี้ปิดกิจการ สามีของเธอจู่ๆ ตายลง เธอก็ไม่เหลืออะไรนอกจากชีวิตเปล่าเปลือยของตน อดีตภรรยา เสมียน และครูผู้ช่วยเก็บข้าวของเท่าที่เหลือใส่รถแวนของสามี และออกพเนจรไปทั่วอเมริกา ไม่ใช่เพื่อท่องเที่ยวแต่เพื่อหางานทำประทังชีวิต ผ่อนคลายด้วยการนั่งเล่นตามสวนสนุกในห้าง หรือผิงไฟกับกลุ่มคนเหมือนๆ กัน เฝ้าฟังคำสอนจากศาสดาที่ก็เป็นมิตรสหายผู้เร่ร่อนเพื่อต่อต้านความบ้าคลั่งของทุน

Nomadland ติดตามหนึ่งปีในการพเนจรของเฟิร์น ผู้คนที่เธอพานพบ พูดคุย พลัดพราก เพื่อพบกันใหม่ หรือไม่พบกันอีก การใคร่ครวญชีวิตที่ไม่เหลืออะไรให้ใคร่ครวญของเธอ

หนังสร้างจากหนังสือสารคดี Nomadland: Surviving America in the Twenty-First Century ที่เล่าเรื่องหลายชีวิตของผู้คนบนหนทางพเนจรในอเมริกา คนเร่ร่อนแบบใหม่ที่เป็นผลพวงจากเศรษฐกิจตกต่ำ แรงงานไร้หลักประกันที่การอยู่ในรถบ้านมีราคาถูกกว่าการปักหลักอยู่ที่ไหนสักแห่ง Chloe Zhao ผู้กำกับหยิบหนังสือเล่มนี้มาดัดแปลงเป็นบท โดยก่อนหน้านี้เธอกำกับ The Rider หนังที่ว่าด้วยชีวิตของคาวบอยหนุ่มที่พยายามจะทำตามความฝันในแวดวงกีฬาโรดิโอ และทำเพื่อครอบครัวไปในเวลาเดียวกัน เล่าอย่างเรียบง่ายและจับใจอย่างยิ่ง อีกครั้งที่เธอกลับไปยังคนชายขอบของอเมริกา ทอดตามองพวกเขาอย่างเพื่อน และเล่าเรื่องของพวกเขาออกมา ตัวละครหลายๆ ตัวในหนังเป็นชนเผ่าเร่ร่อนร่วมสมัยตัวจริง (และปรากฏในหนังสือต้นทางจริงๆ) มาเล่นโดยใช้ชื่อของตัวเองและเรื่องของตัวเอง

เราอาจแบ่งหนังได้เป็นสองระดับ โดยไม่มีอย่างใดอย่างหนึ่งมากหรือน้อยไป ในระดับแรก นี่คือหนังทีเล่าเรื่องของความยากจนประจำศตวรรษปัจจุบัน จำเพาะเจาะจงอย่างยิ่งในอเมริกา มันว่าด้วยการจ้างงานแบบใหม่ที่เข้ามาแทนที่การผลิตแบบเดิม

The Empire คือโรงงานยิปซัมในเนวาดาที่ก่อตั้งขึ้นกลางทะเลทรายตั้งแต่ช่วงทศวรษ 1920’s มันเป็นทั้งโรงงานขนาดใหญ่ และชุมชน มีบ้านพักคนงาน โรงเรียน ร้านค้า มีกระทั่งรหัสไปรษณีย์เป็นของตนเอง การหลั่งไหลของคนงานเหมืองยิปซัมทำให้เมืองข้างเคียงก็เติบโตไปด้วย *1

หาก The Empire ปิดตัวลงในปี ค.ศ.2011 ด้วยพิษเศรษฐกิจผู้คนย้ายออกไปเกือบหมด จนเมืองซบเชา โรงเรียนต้องดิ้นรนหานักเรียนมาเปิดกิจการให้ดำรงอยู่ โรงงานและชุมชนกลายเป็นซากร้าง และแน่นอน รหัสไปรษณีย์ถูกยึดคืน การล่มสลายของ The Empire เป็นภาพแทนของการล่มสลายของการผลิตแบบฟอร์ดแบบดั้งเดิม อันหมายถึงการสร้างการผลิตแบบสายพานในโรงงานขนาดใหญ่ที่มุ่งผลิตผลิตภัณฑ์แบบเดียวในปริมาณมากอย่างมีมาตรฐานในราคาถูก โรงงานผลิตแบบสายพานต่อเนื่องจากหัวถึงท้าย ใช้แรงงานจำนวนมากในการประกอบชิ้นส่วนต่อเนื่องกันไป นี่คือรูปแบบยุคต้นศตวรรษที่แล้วในโรงงานรถฟอร์ด ซึ่งได้กลายเป็นรูปแบบการผลิตที่สำคัญที่สุดรูปแบบหนึ่งในการขับเคลื่อนทุนนิยมตลอดศตวรรษที่ผ่านมา

อย่างไรก็ดี แนวคิดการผลิตดังกล่าวนำมาซึ่งความคับข้องของแรงงาน ด้วยค่าแรงถูกและความรู้สึกแปลกแยกจากงานที่ทำ ทำให้ฟอร์ดและ เทย์เลอร์คู่หูของเขา คิดค้นการจ้างงานแบบใหม่ที่ให้ค่าแรงสูงแก่แรงงานเหล่านี้ ค่าจ้างถูกแบ่งออกเป็นสองส่วนคือค่าจ้างจริงๆ รายชั่วโมง กับค่าจ้างที่ได้รับเมื่อประพฤติตัวดี อยู่ในทำนองคลองธรรมโดยมีทีมตรวจสอบ สิ่งเหล่านี้ขยายออกไปสู่สวัสดิการแรงงาน การสร้างที่พักอาศัย ชุมชนในโรงงานเพื่อให้แรงงานเป็นแรงงานที่มีประสิทธิภาพสมบูรณ์ (2) อย่างไรก็ดีในอีกทางหนึ่งมันอาจ ไม่ได้เป็นไปในฐานะของการมองแรงงานในฐานะมนุษย์ แต่เพื่อให้ควบคุมสอดส่องชีวิตของแรงงานได้ง่ายขึ้น เวลาทั้งในและนอกเวลางานกลายเป็นเวลางานในการควบคุมตัวเอง

การผลิตแบบฟอร์ดทรงประสิทธิภาพมากจนแรงงานสามารถกลายเป็นผู้บริโภครถฟอร์ดเสียเอง ทำกำไรมหาศาล เกิดขึ้นตั้งอยู่และดับไป ถูกแทนที่ด้วยการผลิตแบบใหม่ๆ ที่เน้นตลาดเฉพาะ สินค้าหรูหราราคาแพง ผลิตปริมาณน้อย รวมไปถึงการแทนที่แรงงานด้วยหุ่นยนต์ เทคโนโลยี และอินเตอร์เน็ต

เราอาจจะกล่าวได้ว่า เฟิร์นเป็นภาพแทนของคนที่ถูกคัดทิ้งจากทุนนิยมที่เปลี่ยนโฉมหน้าไป ภายในเวลาไม่กี่ปีเธอเสียสามีและบ้าน กลายเป็นแรงงานแบบเก่าตกสมัยของการผลิตแบบฟอร์ด(ที่ยังคงดำรงอยู่)ในยุคหลังการผลิตแบบฟอร์ด โรงส่งของในแอมะซอน กลายเป็นภาพของสายพานการผลิตไม่รู้จบที่ต้องการแรงงานเป็นครั้งคราวเท่านั้น เพราะเกือบทั้งหมดถูกแทนที่ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ พวกเธอย้ายจากงานอุตสาหกรรม ไปสู่แรงงานภาคบริการ ด้วยการเป็นแม่บ้านในแคมป์(ซึ่งพวกเธอก็อาศัยอยู่ที่นั่นด้วยในฤดูท่องเที่ยว) เข้าสู่ภาคการเกษตรด้วยการเป็นแรงงานในการเก็บผลิตผลของบีทรูทตามฤดูกาล

โดยปราศจากสวัสดิการใดๆ คนอย่างเฟิร์น ลินดา เมย์ และเพื่อนๆ ไม่ต่างจากคนขับรถอูเบอร์ หรือแกร็บฟู้ด ที่ต้องรับผิดชอบตนเอง เปลี่ยนจากแรงงานแบบเดิมที่ภักดีต่อองค์กร เติบโตพร้อมกัน ไปเป็นสิ่งไม่มีหน้าตา อย่างฟรีแลนซ์ หรือ พาร์ตเนอร์ชิป หรือผู้ประกอบการ (entrepreneur) ที่ผู้จ้างไม่ต้องรับผิดชอบชีวิตส่วนตัว การดิ้นรนและความยากจนส่วนตัว ไม่ต้องสนใจว่าการมีชีวิตที่ดีจะเพิ่มประสิทธิภาพของงาน มีพวกเธออยู่มากมายให้เลือกสรรใครทำไม่ไหวก็ถูกคัดออกไปเปลี่ยนชิ้นส่วนแรงงานใหม่เข้าแทนที่ได้ตลอดเวลา กิจการที่เธอประกอบก็คือการเสนอแรงงานตนเท่านั้นเอง

ในแง่นี้ Nomadland จึงกลายเป็นภาพฉายชีวิตของแรงงานร่วมสมัยที่ ‘เป็นนายตัวเอง’ พอๆ กับเป็น ‘อะไหล่ที่สลัดทิ้งได้ง่ายๆ’ การผลิตของโลกหลังการผลิตแบบฟอร์ดที่สายพานยังคงอยู่ แต่แรงงานประจำสาบสูญไป อิสรภาพกลายเป็นข้อจำกัดที่แท้จริง

ในอีกระดับหนึ่ง หนังไม่ได้เพียงฉายภาพรวมของแรงงาน หากจับจ้องพวกเขาในฐานะผู้คน หนังฉายภาพของมนุษย์ที่พยายามจะเอาตัวรอด และมีชีวิตเท่าที่จะมีได้ในโลกที่พวกเขาไม่ได้เป็นส่วนหนึ่งอีกต่อไป ความงดงามคือการที่หนังไม่ได้ทำหน้าที่แค่วิพากษ์สังคม หากเพ่งจ้องเข้าไปในปัจเจก สอดส่องรายละเอียดของชีวิตโดยไม่สั่งสอน เพียงเฝ้ามองและให้ชีวิตนั้นโอบกอดผู้ชม

หนังพาเราเข้าไปดูชีวิตของหญิงชราที่กำลังจะตาย เธอจึงอยากเห็นโลกเป็นครั้งสุดท้าย ชีวิตของคนที่มีคนที่รักอยากล่องเรือ ซื้อเรือมาวางไว้ในบ้าน และตายก่อนเกษียณเพียงไม่กี่วันซึ่งมันทำให้เธอได้ฉุกคิด มีคนที่ออกมาอยู่บรถเพราะค่าเช่าบ้านแพงกว่าการเร่ร่อน มีคนที่หนีมาจากชีวิตสุขสบายเพราะรู้สึกมีบาปผิดติดตัวราวกับว่าการเร่ร่อนจะเป็นการลงโทษตัวเองที่สาสมที่ไม่เคยเป็นพ่อที่ดี หรือคนที่สูญเสียลูกชายไปจนคิดว่าการอยู่บนถนนเจ็บปวดน้อยกว่าการมีชีวิตแบบปกติสุขต่อไป ในขณะเดียวกันหนังฉายภาพพาฝันของสังคมอุดมคติแบบใหม่ที่เปลือยเปล่ากว่าเดิม สังคมที่สมาทานซากความฝันของบุปผาชนมาสร้างหนทางใหม่ๆ ผู้คนหลีกหนีทุนนิยมมาใช้ชีวิตโดยไม่สะสมสิ่งใด อยู่กับลมกับฟ้า ราวกับว่าดินแดนแห่งเสรีภาพสุดท้ายที่เหลืออยู่ในประเทศนี้คือลานจอดรถ พวกเขาใช้การแลกเปลี่ยนข้าวของระหว่างกันแทนการซื้อขาย แจกจ่ายสิ่งของที่เหลือใช้เมื่อสิ้นสุดการเดินทาง ล้อมวงกันแลกเปลี่ยนข้างกองไฟ และจากกันโดยไม่เคยร่ำลาอย่างแท้จริง เพราะพวกเขามักใช้คำว่า แล้วพบกันใหม่ที่ไหนสักแห่ง (แปลตามอำเภอใจจาก See You Down The Road)

และเมื่อทอดตามองกลับไปในชีวิตของเฟิร์นซึ่งบอกได้ว่าเมื่อเทียบกับมิตรสหายรายทาง เธอมีชีวิตที่เลือกได้มากกว่า เธอมีน้องสาวที่อยากให้เธออยู่ด้วย เธอมีมิตรสหายชายเฒ่าที่ตัดสินใจหยุดเดินทางหลังจากพบว่าตัวเองมีหลาน เขาออกจะชอบพอเธอ ขอให้เธอไปเยี่ยม และขอให้เธอไปอยู่ แต่ดูเหมือนเธอไม่ได้เป็นของใครหรือของที่ไหนอีกแล้ว

หนังเล่าบางๆ ว่าเธอออกจากบ้านติดตามชายหนุ่มไม่มีหัวนอนปลายเท้าคนหนึ่งไปสุดขอบโลก ชายหนุ่มที่ไม่มีครอบครัว ไม่มีใครจดจำเขาได้นอกจากเธอ พวกเขาไม่มีลูก เธออยู่เป็นเพื่อนจนเขาตาย และออกเดินทาง ตลอดเรื่องเราอาจเห็นเธอโดดเดี่ยวในทัศนียภาพไพศาล ภูเขาหิน ริมขอบของมหาสมุทร ในทุ่งโล่งร้าง หรือต่อหน้ารูปปั้นไดโดนเสาร์กลางทะเลทราย ต่อหน้าทัศนียภาพกว้างกว่ากว้างเธอตัวเล็กแต่ไม่หดลีบ กลืนเป็นหนึ่งกับสิ่งนั้น แต่เรากลับพบว่าเธอตัวเล็กจ้อยบที่สุดเมื่อเธออยู่ในห้องนอนของบ้านคนรู้จัก หนาวเหน็บจนต้องลงไปนอนในรถ หรือขณะเธอยืนอยู่ตรงปากทางเข้าบ้านตัดสินใจว่าจะอยู่หรือไปต่อถูกครอบครองหรือละทิ้งไป

หนังยังพาเราไปเจอบรรดาคนหนุ่มสาวเลื่อนลอยเร่ร่อนที่ไม่สามารถเป็นส่วนหนึ่งกับยุคสมัย เด็กหนุ่มคนที่เดินทางไปเรื่อยๆ ไม่มีหน้าหลัง เขาบอกกับเฟิร์นว่ามีคนรักอยู่ทางเหนือและติดต่อเธอผ่านทางการเขียนจดหมาย เฟิร์นแลกแซนด์วิชกับเบียร์ พูดคุยกับเด็กหนุ่ม และสอนให้เขาเขียนบทกวีแทน ประกายเล็กๆ ของตัวเธอในฐานะของหญิงสาวคนหนึ่งวูบขึ้นและมอดลงเชื่องช้าเมื่อยามค่ำคืนมาถึง เด็กหนุ่มและเธอต่างก็เดินทางแยกย้ายกันไป

หนังพูดถึงความตายอย่างงดงามและอ่อนโยน เฟิร์นแบ่งปันประสปการณ์ความตายของสามีกับแสวงกี้ หญิงชราผู้ชื่นชอบก้อนหินที่เงียบใบ้และมั่นคง ผู้ซึ่งปรารถนาจะมองฝูงนกบินรอบตัวเธอก่อนตาย เฟิร์นแบ่งปันกับบ๊อบผู้ซึ่งเป็นศาสดาของนักเดินทาง ที่สูญเสียลูกชายไปตลอดกาล สำหรับพวกเขาและเธอการเดินทางคือการไม่บอกลา การจากกันไปคือการรอคอยการพบกันใหม่ มันจึงง่ายกว่าที่จะไปเสียจากบ้านเพื่อให้ความหวังว่าจะพบกันอีกดำรงคงอยู่ ความหวังข้างหน้าและความทรงจำที่บรรจุในภาพถ่ายเก่าๆหรือจานลายฤดูใบไม้ร่วงของพ่อเป็นเครื่องหล่อเลี้ยงชีวิต โดยไม่ต้องถูกสั่งสอนให้กลับเข้าสู่คุณค่าของสังคมเดิมทั้งงานทมี่มั่นคงหรือครอบครัวที่อบอุ่นที่ผลักดันทุนิยมและการผลิตให้ไปข้างหน้า หล่อเลี้ยงเราให้อิ่มเต็มและขณะเดียวกันหน่วงเหนี่ยวเราไว้

Frances Mcdormand ในฐานะทั้งผู้อำนวยการสร้างและนักแสดง ให้การแสดงที่น่าจดจำอย่างถึงที่สุดอีกครั้งในชีวิตของเธอในบทของเฟิร์น การใช้เธอมารับบทนี้ทำให้การลงลึกในเรื่อวราวของตัวละครฉายแสงขึ้น ในขณะที่ตัวละครอื่นๆที่รายรอบให้ภาพกว้างของคนพเนจรประจำศตวรรษ ตัวละครหลักจูงเราลงไปในที่ลึกเพื่อมองดูประวัติศาสตร์ส่วนตัวผ่านดวงตา ร่างกาย ทรงผม และกิริยาของเธอโดยไม่ต้องเล่ามันออกมาทั้งหมด

ในฉากจบของหนังเฟิร์นเดินกลับเข้าไปในความตายของเมืองที่เธอเคยใช้ชีวิต ความตายที่ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นความตายของยุคสมัยหนึ่ง วิถีชีวิตแบบหนึ่ง มันอาจไม่ใช่การมีอยู่ที่น่าจดจำ ไม่ใช่การสูญเสียที่ยิ่งใหญ่ มันเป็นแค่ความเปลี่ยนผ่านอย่างหนึ่ง และในทุกการเปลี่ยนผ่านมีผู้คนจำนวนหนึ่งเสมอทที่ถูกทิ้งไว้ข้างหลัง หนังทอดมองเข้าไปในเรื่องช่วยไม่ได้เหล่านี้ ในผู้คนเหล่านี้ซึ่งก็เข้าใจดีว่านี่ไม่ใช่ความอยุติธรรมใดๆ มากไปกว่าสิ่งที่มันต้องเป็น แต่ความเข้าใจก็ไม่อาจยับยั้งความเศร้า เฟิร์นเดินคนเดียวไปในเมืองร้าง อันกลายเป็นเช่นเดียวกับทัศนียภาพอื่นๆ ที่ผ่านพบ เธอเดินออกไปทางหลังบ้าน ไปในทะเลทรายเวิ้งว้าง และเราก็บอกลากัน

จนกว่าเราจะพบกันใหม่ที่ไหนสักแห่ง

First Published : NOMADLAND : ในโลกทุนนิยมที่ทิ้งใครหลายคนไว้ข้างหลัง

--

--