ผลกระทบต่อการแข่งขันและการพัฒนานวัตกรรมในระบบการธนาคารไทย : อ่านระหว่างบรรทัดกฎเกณฑ์การรับสมัครและการกำกับดูแลแบงค์ไร้สาขา (Virtual Bank) (4)

Narun Popattanachai
Fintech, Law, and Public Policy
2 min readMay 6, 2024

สรุปใจความสำคัญ

- Virtual Bank คือ ธนาคารพาณิชย์รูปแบบใหม่ที่สามารถเปิดให้บริการแก่ลูกค้าได้โดยไม่ต้องมีสาขาทางกายภาพ (physical branch) เน้นการให้บริการด้วยระบบดิจิทัลผ่านสื่อออนไลน์เป็นหลัก

- ธนาคารแห่งประเทศไทยเริ่มเปิดรับคำขออนุญาตเพื่อประกอบธุรกิจ Virtual Bank ตั้งแต่วันที่ 20 มีนาคม ถึง 19 กันยายน 2567

- การประกอบธุรกิจ Virtual Bank ในประเทศไทยเป็นวิวัฒนาการของระบบการธนาคาร (evolution) ที่มีจุดประสงค์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของการให้บริการ ไม่ได้ต้องการให้เกิดการแข่งขันอย่างรุนแรงระหว่างธนาคารจนเกิดการอุบัติใหม่ของระบบการธนาคาร (disruptive revolution)

ผู้ที่น่าจะได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจ Virtual Bank ในประเทศไทยไม่น่าเป็นกลุ่มวิสาหกิจเริ่มต้น (startup) แต่เป็นการรวมตัวของกลุ่มทุนที่มีความเชี่ยวชาญในด้านต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องและจะส่งเสริมให้การประกอบธุรกิจเป็นไปได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด

ด้วยเหตุปัจจัยต่าง ๆ ที่ได้อธิบายมาในซีรี่ย์ของบทความที่เผยแพร่ก่อนหน้านี้ ทำให้เราพอจะคาดการณ์ได้ว่าการพัฒนานวัตกรรมทางการเงินในการประกอบธุรกิจ Virtual Bank จะเป็นอย่างไร โดยจะเห็นว่าหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องส่งผลให้ผู้สมัครขอใบอนุญาตเกิดจากการรวมตัวกันของกลุ่มผู้มีความเชี่ยวชาญในภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อเข้ายื่นความประสงค์ของรับใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Virtual Bank อย่างน้อยตามรูปแบบดังนี้

กลุ่มธุรกิจที่มีความได้เปรียบด้านความเข้าใจและความเชี่ยวชาญด้านการเงินการธนาคาร รวมถึงการปฏิบัติตามกฎหมาย กฎเกณฑ์และกฎระเบียบต่าง ๆ ของหน่วยงานกำกับดูแลได้แก่ กลุ่มธนาคารพาณิชย์ในประเทศ ซึ่งหากร่วมมือกับผู้ประกอบธุรกิจ Virtual Bank จากต่างประเทศจะสามารถนำเอาเทคโนโลยีที่ใช้อยู่ในการให้บริการ Virtual Bank ในประเทศนั้นมาปรับใช้กับประเทศไทยได้ ซึ่งในกรณีที่เป็นการนำเสนอบริการหรือผลิตภัณฑ์ทางการเงินดิจิทัลรูปแบบใหม่ที่มีกรณีศึกษาแล้วในต่างประเทศ น่าจะเป็นแนวทางที่สร้างความสบายใจให้แก่หน่วยงานกำกับดูแล โดยเฉพาะ ธปท. ได้ในระดับหนึ่ง นอกจากนั้น แบงค์พาณิชย์ของไทยอาจพิจารณาสร้างพันธมิตรกับธุรกิจเครือข่ายการค้าหรือผู้ประกอบการด้านสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของประเทศด้วยการสนับสนุนของกลุ่มผู้เชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีการเงินและการลงทุน ในกรณีนี้ กลุ่มธุรกิจดังกล่าวจะได้ประโยชน์จากนโยบายของ ธปท. ที่สนับสนุนให้ในการใช้ประโยชน์จากข้อมูลแบบเปิด (open data) หมายความว่า Virtual Bank ของกลุ่มธุรกิจนี้สามารถใช้ประโยชน์จากฐานข้อมูลลูกค้าจากเครือข่ายการค้าหรือโครงสร้างพื้นฐาน เช่น ระบบเครือข่ายการค้าปลีก การให้บริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง การให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือธุรกิจพลังงาน เป็นต้น ทั้งนี้การนำข้อมูลของลูกค้ามาใช้เพื่อสร้างข้อมูลเชิงลึก (insight) เพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์หรือบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์พฤติกรรมการดำรงชีวิตหรือประกอบธุรกิจของคนไทยต้องเป็นไปภายใต้บังคับของกฎหมายและกฎเกณฑ์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งรวมถึงกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลด้วย

อย่างไรก็ดี ผมเชื่อว่า เราอาจจะเห็น Virtual Bank ที่ไม่ได้มีความเกี่ยวข้องหรือเชื่อมโยงกับธนาคารพาณิชย์ของไทยเลยก็ได้ ซึ่งรูปแบบที่เป็นไปได้คือ กลุ่มธุรกิจที่เกิดจากการรวมตัวกันของ Virtual Bank ที่ประกอบธุรกิจอยู่แล้วในต่างประเทศกับธุรกิจเครือข่ายการค้าหรือสาธารณูปโภคหลักของประเทศ หากมีการรวมตัวกันของกลุ่มธุรกิจในรูปแบบนี้ เราน่าจะได้เห็นนวัตกรรมทางการเงินที่เกิดจากการนำเทคโนโลยีทางการธนาคารที่มีใช้อยู่แล้วในต่างประเทศมาปรับใช้โดยได้รับประโยชน์จากฐานข้อมูลลูกค้าขนาดใหญ่ที่ทำให้ Virtual Bank นอกจากนั้น ยังสามารถใช้ฐานธุรกิจที่มีอยู่แล้วในประเทศในการต่อยอดเพื่อนำเสนอบริการทางการเงินสำหรับกลุ่มลูกค้าที่ ธปท. ต้องการเปิดโอกาสให้สามารถเข้าสู่ระบบการเงินของประเทศไทยเพิ่มขึ้นได้ด้วย

ข้อสังเกตสำคัญอีกประการหนึ่งคือ เมื่อพิจารณาจากแนวทางการอนุญาตและการกำกับดูแล Virtual Bank ข้างต้นแล้ว โอกาสที่วิสาหกิจเริ่มต้น (startup) จะเสนอตัวเข้ามาเป็นผู้ประกอบธุรกิจ Virtual Bank ในประเทศไทยคงเกิดขึ้นได้ยาก เพราะไม่สามารถปฏิบัติตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขของการขอใบอนุญาตและการประกอบธุรกิจได้ โดยเฉพาะ การระดมทุนเพื่อให้มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านบาทในช่วงแรกและ 10,000 ล้านบาทหลังจากพ้นระยะแรกของการประกอบธุรกิจ แนวโน้มการพัฒนาระบบการธนาคารดังกล่าวนี้สอดคล้องกับทิศทางการพัฒนาอุตสาหกรรมการธนาคารในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ แต่แตกต่างจากแนวทางการพัฒนาผู้ให้บริการเทคโนโลยีทางการเงินในสหรัฐอเมริกาหรือสหภาพยุโรปซึ่งมักจะเกิดจากผู้เล่นรายเล็กที่ได้รับการสนับสนุนด้านการเงินผ่านกระบวนการระดมทุน แต่อาจถูกกำกับดูแลเพื่อให้การขยายตัวของธุรกิจเป็นไปได้อย่างยั่งยืน

ความเห็นส่งท้าย

เราคงยังไม่สามารถสรุปได้ว่าการอนุญาตให้มีธนาคารพาณิชย์ไร้สาขาหรือ Virtual Bank จะส่งผลให้เกิดการพัฒนาของระบบการเงินการธนาคารไปในแนวทางที่ ธปท. คาดหวังไว้หรือไม่ ทั้งนี้จำเป็นต้องรอจนกว่า Virtual Bank ทั้งสามรายแรกของไทยจะเริ่มให้บริการ ทั้งนี้ผู้สนใจสามารถยื่นคำขออนุญาตได้ระหว่างวันที่ 20 มีนาคม ถึง 19 กันยายน 2567 และเราน่าจะได้เห็นการประกาศรายชื่อผู้ที่ได้รับความเห็นชอบเพื่อเตรียมความพร้อมขอรับใบอนุญาตประกอบกิจการ Virtual Bank ในช่วงกลางถึงปลายปี 2568 อย่างไรก็ดี การศึกษาวิเคราะห์ประกาศกระทรวงการคลัง เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขในการขอใบอนุญาตและการออกใบอนุญาตประกอบธุรกิจ Virtual Bank และร่างแนวทางการกำกับดูแล Virtual Bank รวมทั้งการรับฟังคำชี้แจงของ ธปท. ในเรื่องนี้ทำให้พอจะมั่นใจได้ว่า การพัฒนาระบบการธนาคารของไทยจะยึดการพัฒนาแบบค่อยเป็นค่อยไป (evolution) มากกว่าการส่งเสริมสนับสนุนให้เกิดการปฏิวัติแบบก้าวกระโดด (evolution) และจะเน้นการยกระดับประสิทธิภาพการให้บริการให้ประชาชนและผู้ประกอบธุรกิจได้ประโยชน์มากขึ้นจากการลดต้นทุนในการทำธุรกรรมทางการเงิน ถือว่าเป็นก้าวที่สำคัญของการพัฒนาทางเศรษฐกิจของประเทศที่ทุกคนควรให้ความสนใจเป็นอย่างยิ่ง

--

--