พรฎ แพลตฟอร์มดิจิทัล โอกาสและความท้าทายของเศรษฐกิจดิจิทัลไทย (1)

Narun Popattanachai
Fintech, Law, and Public Policy
1 min readFeb 27, 2023
Photo by Kseniia Ilinykh on Unsplash

เมื่อวันที่ 23 ธันวาคม 2565 ที่ผ่านมา พระราชกฤษฎีกาการประกอบธุรกิจบริการแพลตฟอร์มดิจิทัลที่ต้องแจ้งให้ทราบ พ.ศ. 2564 หรือ กฎหมายคุมแพลตฟอร์มดิจิทัล ได้รับการประกาศในราชกิจจานุเบกษา และภายในปลายเดือนกรกฎาคม 2566 นี้ กฎหมายฉบับนี้ก็จะมีผลใช้บังคับ เหตุผลที่มีการทอดเวลาการใช้บังคับออกไปก็เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะสำนักงานพัฒนาธุรกรรมทางอิเล็กทรอนิกส์ (ETDA) แม่งานหลักในการบังคับใช้กฎหมายฉบับนี้ มีเวลาในการร่าง รับฟัง และประกาศใช้กฎและประกาศต่าง ๆ ที่จำเป็นต้องออกตามที่บัญญัติไว้ในพระราชกฤษฎีกา แต่ก่อนที่เราจะพูดคุยกันถึงตัวกฎหมายฉบับนี้ ผมอยากเท้าความไปถึงที่มาที่ไปหรือความจำเป็นในการมีกฎหมายเกี่ยวกับเศรษฐกิจแพลตฟอร์มกันสักหน่อยครับ

ตั้งแต่วิกฤติโควิดที่ผ่านมา คนไทยเราพึ่งพาการสั่งซื้อสินค้าและบริการผ่านตัวกลางหรือแพลตฟอร์มออนไลน์เยอะขึ้นเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงมาตรการล๊อกดาวน์เพื่อจำกัดการแพร่ระบาดของไวรัส โดยปี 2564 ข้อมูลจากสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัลหรือดีป้า (DEPA) พบว่า แพลตฟอร์มที่ให้บริการขนส่ง (e-Logistics) โดยเฉพาะบริการสั่งและส่งอาหาร มีการเติบโตมากที่สุดถึง 57% จากปี 2563 นอกจากนั้น กลุ่มแพลตฟอร์มค้าปลีกออนไลน์ หรือ e-Commerce มีการเติบโตสูงเช่นกันถึง 44% ในช่วงเวลาเดียวกัน โดยผู้เชี่ยวชาญจาก DEPA คาดว่า ธุรกิจในกลุ่มนี้จะเติบโตต่อไปเรื่อย ๆ จนในปี 2567 หรือปีหน้านี้เอง จะมีมูลค่าของอุตสาหกรรมดิจิทัลในประเทศไทยรวมกันทั้งหมดกว่า 6.7 แสนล้านบาท เรียกได้ว่าจะเป็นกลุ่มธุรกิจที่มีความสำคัญต่อระบบเศรษฐกิจได้อย่างมากแน่นอน

หากเรามาพิจารณาความสัมพันธ์ทางกฎหมายของผู้ที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการผ่านแพลตฟอร์มจะพบว่าอาจมีประเด็นที่ต้องพิจารณาอยู่พอสมควร ยกตัวอย่างแพลตฟอร์มให้บริการสั่งและส่งอาหารก่อนเลยนะครับ ตัวแพลตฟอร์มเองไม่ใช่ผู้ผลิตสินค้า (ผู้ผลิตสินค้าคือ ร้านอาหาร) และก็ไม่ได้มีความสัมพันธ์ในฐานะผู้ให้บริการส่งอาหารกับผู้บริโภค แต่เป็นเพียงผู้รับคำสั่งซื้อและส่งต่อคำสั่ง และเป็นผู้จัดการคิวการให้บริการส่งสินค้าเพียงเท่านั้น ซึ่งหากท่านผู้อ่านสนใจ อยากให้ลองไปอ่านข้อกำหนดการให้บริการของแพลตฟอร์มสั่งและส่งอาหารในบ้านเรา จะพบว่า มีการกำหนดสถานะของตัวเองไว้อย่างชัดเจนว่า ตนเป็นเพียงคนกลาง ไม่มีความรับผิดชอบใด ๆ ต่อผู้บริโภคในส่วนที่เกี่ยวข้องกับสินค้าที่สั่ง ผู้บริโภคมีความสัมพันธ์ทางกฎหมายโดยตรงกับร้านอาหาร ในส่วนที่เกี่ยวกับการขนส่ง แพลตฟอร์มเกือบทุกรายมักอ้างในสัญญาว่าเป็นเพียงผู้จัดคิวหรือ booking agent สำหรับผู้ให้บริการขนส่งเท่านั้น

ด้วยเหตุที่แพลตฟอร์มส่วนใหญ่ไม่ได้ทำหน้าที่เป็นผู้ขายหรือผู้ส่งโดยตรง จึงมีแนวความคิดที่ว่า รัฐบาลไม่มีความจำเป็นที่จะต้องเข้ากำกับดูแลหรือควบคุมการประกอบธุรกิจ เนื่องจากเป็นเพียง “ตลาด” หรือพื้นที่ให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการเท่านั้นเอง! เอ แล้วมันจริงอย่างที่เขาอ้างกันมั้ยครับ (อย่างไรก็ดี ในต่างประเทศ บางแพลตฟอร์มอาจจะมีการให้บริการขายสินค้าหรือให้บริการขนส่งเองด้วยนะ เช่น Amazon Warehouse และ Amazon Logistics เป็นต้นครับ)

หากพิจารณาแนวทางการประกอบธุรกิจ โดยเฉพาะเทคโนโลยีที่ใช้ประกอบการให้บริการ เราจะพบว่า แพลตฟอร์มส่วนใหญ่เป็นมากกว่าแค่ ตลาด หรือ พื้นที่ให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยน เนื่องจากมีการจัดการส่งเสริมการขายผ่านการควบคุมระบบการค้นหาสินค้า การวิเคราะห์ประวัติการค้นหาหรือซื้อสินค้าและบริการของลูกค้าเพื่อแนะนำสินค้าและบริการที่ลูกค้ารายนั้นอาจจะสนใจ การสร้างนอกจากนั้น ยังอาจมีการควบคุมและคัดเลือกผู้ขายและผู้ให้บริการเพื่อรักษาความได้เปรียบทางการค้าเหนือแพลตฟอร์มคู่แข่งอื่น ๆ เป็นต้น ดังนั้น หากจะกล่าวว่า แพลตฟอร์มเป็นเพียงตลาดหรือพื้นที่เพื่อให้มีการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้ากัน อาจจะเป็นการสรุปที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงเท่าใดนัก

ด้วยบทบาทของแพลตฟอร์มที่มีต่อระบบเศรษฐกิจในลักษณะนี้ หลายประเทศมีการออกกฎหมายใหม่หรืออยู่ในระหว่างการแก้ไขปรับปรุงกฎหมายและกฎระเบียบเดิมเพื่อกำกับดูแลให้แพลตฟอร์มประกอบธุรกิจอย่างมีประสิทธิภาพ มีการแข็งขันที่เสรีแต่เป็นธรรม นอกจากนั้น ยังมีการคุ้มครองผู้บริโภคและผู้ประกอบธุรกิจขนาดเล็กหรือผู้ให้บริการต่าง ๆ ที่พึ่งพาแพลตฟอร์มเหล่านี้ในการทำมาหากินอีกด้วย

ประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งอาจกล่าวได้ว่าเป็นแหล่งกำเนิดของธุรกิจแพลตฟอร์มของโลก เน้นการใช้กฎหมายแข่งขันทางการค้า (Antitrust Legislation) ในการกำกับดูแลแพลตฟอร์มขนาดใหญ่ไม่ให้มีการประกอบธุรกิจในลักษณะให้ธุรกิจใดธุรกิจหนึ่งมีอำนาจเหนือตลาดมากจนเกินไป ซึ่งในปัจจุบัน สภาคองเครส (Congress) กำลังพิจารณาร่างกฎหมายทั้งหมด 5 ฉบับที่เกี่ยวข้องกับการกำกับดูแลไม่ให้แพลตฟอร์มและบริษัทดิจิทัลยักษ์ใหญ่มีอำนาจเหนือตลาดอย่างไม่เป็นธรรม สำหรับกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการปกป้องลูกจ้างหรือผู้ให้บริการ เช่น บริการรับส่งสินค้า โดยเฉพาะกฎหมายแรงงาน ประเทศสหรัฐอเมริกาปล่อยให้เป็นการตัดสินใจของรัฐบาลในแต่ละมลรัฐ โดยรัฐบาลกลางไม่มีส่วนเข้าไปแทรกแซงได้โดยตรง

ในสหภาพยุโรป สภานิติบัญญัติแห่งสหภาพยุโรปเพิ่งผ่านกฎหมายสำคัญในเรื่องนี้สองฉบับได้แก่ กฎหมายว่าด้วยบริการดิจิทัล (Digital Services Act) โดยเมื่อวันวันที่ 17 กุมภาพันธ์ 2566 ที่ผ่านมา ธุรกิจที่อยู่ภายใต้นิยามของคำว่า แพลตฟอร์มออนไลน์ ต้องเปิดเผยจำนวนผู้ใช้งาน (active users) ให้หน่วยงานกำกับดูแลใช้เป็นข้อมูลเพื่อประกาศรายชื่อแพลตฟอร์มที่มีขนาดใหญ่และต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติและกฎระเบียบเป็นการเฉพาะต่อไป นอกจากนั้น ยังมีกฎหมายว่าด้วยตลาดดิจิทัล (Digital Markets Act) ซึ่งเป็นกฎหมายที่กับกับดูแลแพลตฟอร์มที่มีความสำคัญเป็นอย่างมากต่อโครงสร้างพื้นฐานของเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาค หรือ Gatekeepers รัฐบาลสหภาพยุโรป (European Commission) มีอำนาจในการประกาศแพลตฟอร์มที่เป็น Gatekeepers ซึ่งต้องปฏิบัติตามบทบัญญัติของกฎหมายภายในเดือนกันยายน ศกนี้

แล้วประเทศไทยละครับ กฎหมายแพลตฟอร์มบ้านเราที่กำลังจะมีผลใช้บังคับมีบทบัญญัติในลักษณะใดบ้าง ขอให้ทุกท่านติดตามต่อในตอนต่อไปครับ

ติดตามต่อได้ที่เฟสบุคเพจ Narun on Fintech Law

--

--