อนาคตของเงิน (บาท) ท่ามกลางการอุบัติของเงินดิจิทัลเอกชน (2)
สำหรับบทความในตอนนี้ ผมจะขอนำเสนอแนวคิดของเงินดิจิทัลเอกชนในมุมมองของหลักนิติเศรษฐศาสตร์ เพื่อให้ท่านผู้อ่านเข้าใจว่า เมื่อเราพูดกันถึงเงินดิจิทัลเอกชน เราหมายถึงอะไรกันแน่ครับ
หากพิจารณาเงินที่เราใช้อยู่กันในประเทศในปัจจุบัน ได้แก่ เงินบาท จะพบว่า ประชาชนมีความมั่นใจในเงินบาทและสมัครใจจะใช้กันอย่างแพร่หลายเพราะเงินบาทเป็นเงินที่ออกโดยรัฐ บทบาทของรัฐในเรื่องนี้มีอย่างน้อยสองส่วน ดังนี้
1. เงินของรัฐ (เงินบาท) ช่วยให้ประชาชนลดต้นทุนของทำธุรกรรมทางการเงิน เพราะไม่ต้องเสียเวลาและทรัพยากรไปกับการคำนวนมูลค่าของสินค้าและบริการเพื่อเปรียบเทียบกับสินค้าหรือบริการอื่นที่ต้องการซื้อขายแลกเปลี่ยน การมีหน่วยเงินกลาง (common unit of account) จึงเป็นหัวใจสำคัญของระบบเศรษฐกิจในปัจจุบัน
2. รัฐสนับสนุนกลไกและสถาบันทางกฎหมายของรัฐในการช่วยระงับข้อพิพาทได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ โดยในหลายกรณี รัฐเข้าแทรกแซงในธุรกรรมระหว่างเอกชนมากกว่าแค่การบังคับสัญญาทางแพ่งให้เป็นไปตามข้อตกลงและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เช่น หากมีผู้ประกอบธุรกิจให้บริการชำระเงินแต่ไม่ได้ขออนุญาตให้ถูกต้องตามกฎหมาย มาตรา 44 และ 45 แห่งพระราชบัญญัติระบบการชำระเงิน พ.ศ. 2560 บัญญัติทั้งโทษปรับและจำคุกไว้สำหรับผู้กระทำความผิดดังกล่าว หรือในกรณีที่มีการชำระหนี้ด้วยเช็ค ประเทศไทยเคยมีมาตรฐานกำหนดโทษทั้งอาญาและปรับแก่ลูกหนี้ที่ออกเช็คเพื่อชำระหนี้โดยมีเจตนาหรือพฤติกรรมทุจริตบางประการ หากจะเปรียบเทียบกับกรณีของเงินดิจิทัลที่อยู่ในรูปแบบของสินทรัพย์ดิจิทัล กฎหมายไทยไม่มีบทบัญญัติปกป้องผู้เสียหายจากการใช้บริการผู้ให้บริการชำระราคาด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล หรือช่วยเหลือเจ้าหนี้ที่รับชำระหนี้ด้วยตราสารที่สั่งจ่ายด้วยสินทรัพย์ดิจิทัล
จากบทบาทของรัฐดังกล่าวข้างต้น ท่านผู้อ่านจะเห็นว่า การที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งจะกลายเป็นเงินนั้น ไม่ได้ถูกสร้างขึ้นบนความมั่นใจหรือเชื่อใจของคนในสังคมเพียงอย่างเดียว แต่ต้องมาพร้อมกับการสนับสนุนจากภาครัฐด้วย จนอาจสรุปเป็นสมการอย่างง่าย ๆ ได้ว่า
เงินของรัฐ (state money) = ความเชื่อใจของประชาชน (trust) + การสนับสนุนจากรัฐ (state)
จากเวทีสนทนาของธนาคารแห่งประเทศไทย (BOT Symposium 2022) เมื่อวันที่ 29 กันยายน ที่ผ่านมา มีการพูดกันถึง การใช้เงินอื่น เช่น บิทคอยน์ USDT หรือ BNB เป็นต้น เพื่อเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการในลักษณะเดียวกับการใช้เงินโดยทั่วไปนอกจากเงินบาท โดยสินค้าและบริการที่ซื้อขายกัน มีทั้งสินค้าที่จับต้องได้ เช่น รถยนต์หรูหรืออสังหาริมทรัพย์ หรือสินค้าและบริการในโลกดิจิทัล เช่น งานศิลปะในรูปของ NFT หรือ Non-Fungible Token กล่าวคือ เป็นการใช้เงินดิจิทัลอย่างแพร่หลาย แม้ว่าจะไม่มีการรับรองหรือกำกับดูแลโดยหน่วยงานของรัฐ ในกรณีดังกล่าว จะเห็นว่า เงินอื่นดังกล่าวที่เป็นเงินดิจิทัลที่สร้างโดยเอกชนมีลักษณะอย่างน้อย 4 ประการดังนี้
1. เป็นสิ่งที่เอกชนกลุ่มหนึ่งกลุ่มใดร่วมกันใช้ด้วยความสมัครใจให้เป็นเงิน (private arrangement)
2. เนื่องจากเป็นความสมัครใจร่วมใช้ จึงอาจจะมีเอกชนกลุ่มอื่นที่ไม่เห็นพ้องด้วยหรือไม่ได้สมัครใจใช้เงินดิจิทัลดังกล่าวเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ (non-inclusivity)
3. รัฐไม่จำเป็นต้องมีส่วนเกี่ยวข้องในการผลิตหรือบริหารจัดการอุปสงค์หรืออุปทานของเงินนั้น (no state sponsorship)
4. หากมีปัญหาหรือความขัดแย้งที่เกิดจากการใช้เงินดิจิทัล เอกชนที่ตกลงใช้เงินดังกล่าวต้องหาหนทางในการระงับข้อพิพาทเอง โดยรัฐจะเข้าแทรกแซงเฉพาะในส่วนของความสัมพันธ์ที่เป็นนิติกรรมสัญญาตามกฎหมายเท่านั้น (private dispute settlement)
อาจจะสรุปเป็นสมการในลักษณะเดียวกับเงินของรัฐข้างต้นได้ว่า
เงินดิจิทัลเอกชน (private digital money) = ความเชื่อใจของประชาชน (trust)
คำถามสำคัญต่อไปคือ หากไม่มี การสนับสนุนจากรัฐในสมการแล้ว เงินดิจิทัลเอกชนจะยังสามารถทำหน้าที่เป็นเงินสกุลหลักแทนเงินที่ผลิตและบริหารจัดการโดยรัฐ เช่น เงินบาท ได้หรือไม่ ขออนุญาตทิ้งท้ายบทความในตอนนี้ไว้เพียงเท่านี้นะครับ แล้วพบกันใหม่ตอนหน้าครับ
ติดตามต่อได้ที่เฟสบุคเพจ Narun on Fintech Law