Transformation ต้องใช้เวลา

Shakrit Chanrungsakul
FireOneOne
Published in
Mar 23, 2022

มีข่าวว่าญี่ปุ่นเขาวางแผนให้รถยนต์บนถนนของเขาจะเป็นพลังงานไฟฟ้าทั้งหมดภายใน 15 ปีข้างหน้า ดังนั้นนโยบายการหยุดขายรถใหม่ที่ใช้พลังงานน้ำมันในปี 2030 จึงเกิดขึ้น … ฟังดูเป็นเรื่องน่ายินดีและควรทำทันที บางคนอาจจะไม่เข้าใจว่าทำไมต้อง 15 ปี? ทำไมถึงไม่สั่งหยุดในวันนี้เลย?

เพราะรัฐบาลญี่ปุ่นเข้าใจดีว่านโยบายนี้จะส่งผลกระทบโดยตรงกับอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ทั้งอุตสาหกรรม ซึ่งปัจจุบันมีการจ้างงานกันภายในประเทศเกือบ 1 ล้านคน

Pixelperfektion Unsplash

ถ้าโรงงานเดิมจะต้องเริ่มต้นกระบวนการ Downsizing ลงไปเรื่อย ๆ เพื่อค่อย ๆ ข้ามไปที่สายการผลิตใหม่ที่จะผลิตสินค้าใหม่ด้วยทักษะใหม่และระบบใหม่ที่ใช้คนน้อยกว่าเดิม บริษัทต่าง ๆ จะจัดการกับการเลิกจ้างคนปีละห้าหมื่นถึงหกหมื่นคนอย่างไร … ประเมินกันว่าดีที่สุดก็คือครึ่งนึงของคนที่ทำงานอยู่ในตอนนี้จะต้องตกงานแน่นอน ส่วนแย่ที่สุดก็คือการไม่เปลี่ยนแปลงอะไร บริษัทรถยนต์ญี่ปุ่นก็จะสู้จีนไม่ได้และค่อย ๆ ล้มตายไปในไม่กี่ปีเช่นกัน

ไม่ใช่แค่ที่ญี่ปุ่นเท่านั้น
สถานการณ์นี้กำลังเกิดขึ้นที่เยอรมันด้วย

รองรับสถานการณ์คนเปลี่ยนงาน

ฝ่ายนโยบายของทั้งสองประเทศตัดสินใจแล้วว่าจะเปลี่ยนการผลิตของประเทศไปทางไหน และจะต้องเกิดขึ้นเมื่อไหร่ ซึ่งก็ต้องเตรียมแผนรองรับแรงงานครึ่งล้านคนที่ต้องทยอยหางานใหม่จากตอนนี้จนถึงสิบปีข้างหน้า รวมกับคนจบใหม่ที่เดิมทีเคยไหลเข้าอุตสาหกรรมนี้ได้ปีละหลายหมื่นคนก็จะต้องหาทางเลือกใหม่เช่นกัน … นอกนั้นยังมีผลกระทบต่อผู้ประกอบการชิ้นส่วน, อะไหล่, วัสดุอุปกรณ์ทั้งหลายตั้งแต่ไฮเทคมาก ๆ จนผู้ผลิตกระดาษและอุตสาหกรรมอื่นที่เกี่ยวข้องที่จะได้รับผลกระทบไปพร้อมกัน

เราจะเห็นว่าการเปลี่ยนโลกให้ทันสมัยขึ้นนั้นสามารถส่งผลกระทบต่อผู้คนจำนวนมากทั้งด้านดีและด้านไม่ดี … พอพูดถึงรถยนต์ไฟฟ้าที่จะไม่ปล่อยคาร์บอนในแต่ละวันนั้นก็เป็นแนวคิดที่ดีมาก แต่ก็ต้องคิดถึงทั้งกระบวนการที่จะได้สิ่งนี้มาว่าจะกระทบกับใครอย่างไรบ้าง … การทำ Transformation จึงต้องเข้าใจสิ่งที่จะเกิดขึ้นในทุกด้านและประเมินความเสียหาย, เตรียมแผนรองรับ (ถ้าใส่ใจ?) และเตรียมวางแผนเรื่องการเงินให้ดีก่อนที่จะเริ่มลงมือเปลี่ยนแปลง … หลายครั้งที่ตั้งใจดีว่าจะเปลี่ยนแต่ส่งผลถึงขั้นเจ๊งก่อนก็มีเพราะระหว่างที่ลดของเก่าลง ของใหม่ก็ยังไม่ดีพอที่ลูกค้าจะซื้อ

การเริ่มต้นจากศูนย์จึงไม่ต้องแคร์อะไรมาก
ยิ่งเป็นจีนด้วยยิ่งง่ายเพราะไม่มีเดิมพันเก่าให้ต้องใส่ใจ

แต่การเริ่มต้นเปลี่ยนแปลงสิ่งเดิมที่มีอยู่นั้นต้องเข้าใจทั้งแรงต้านที่เกิดมาจาก “ผลกระทบต่อชีวิต” ของพวกเขา และเข้าใจสิ่งที่กำลังจะต้องเดินหน้าไปด้วยความจำเป็นต้องอยู่ให้รอดเช่นกัน … งานที่ต้องทำจึงมีมากขึ้นอีกหลายด้าน

ไม่ใช่แค่รถยนต์ แต่สินค้าและบริการใหม่ในอุตสาหกรรมอื่น ๆ ก็กำลังเริ่มทยอยเข้าไปทดแทนสินค้าเดิมในตลาดบ้างแล้วเช่นกัน ดังนั้นการผลิตแบบใหม่ก็กำลังเกิดขึ้นไม่ว่าจะด้วยแนวคิดของโรงงานผลิตขนาดใหญ่ยักษ์ (GigaFactory) หรือแนวคิดของการสร้างโรงงานผลิตขนาดเล็กจิ๋ว (MicroFactory)ทั้งสองแนวคิดนี้ตั้งอยู่บนกระบวนการใหม่ เป็นสายการผลิตแบบใหม่ที่มีมนุษย์อยู่น้อยมากเพื่อปรับเปลี่ยนได้ตามความต้องการที่สูงขึ้น

จีนสร้างโรงงานอัตโนมัติขนาดล้านตารางเมตรได้ในไม่กี่เดือน

อังกฤษ, สหรัฐ, และอีกหลายประเทศสร้างโกดังให้เป็นโรงงานอัตโนมัติได้ภายในไม่กี่สัปดาห์ … และพวกเขาจะไม่ได้หยุดอยู่ในประเทศของเขาแน่นอน

แผนปรับตัวสำคัญพอ ๆ กับวิสัยทัศน์

การที่ประเทศของเรา (หรือบริษัทของเรา) จะอยู่ตรงไหนใน New Economy จึงต้องเกิดจากวิสัยทัศน์ และเราจะเริ่มกระบวนการ Transform ทั้งประเทศอย่างไร (หรือทั้งองค์กรอย่างไร?) ถึงเวลาไหนจะต้องทำอะไรบ้างจึงต้องเป็นนโยบายที่ชัดเจนที่ทำให้ Operation ทำงานได้ตามแผนโดยสร้างความลำบากในชีวิตให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

ทั้งหมดนี้บอกเราว่า เราอยู่แบบเดิมไม่ได้แล้ว
เริ่มคิดตอนนี้ก็ดูจะช้าไป แต่ก็ยังดีกว่ายังไม่เริ่มไปอีกปี

การ “คิดช้า” ของเราในสิบปีที่ผ่านมาส่งผลกระทบรุนแรงแล้ว
การ “ยังคิดไม่ได้” ของเราใน 1–2 ปีข้างหน้านี้จะรุนแรงยิ่งกว่า

--

--

Shakrit Chanrungsakul
FireOneOne

CEO FireOneOne ทำงานด้านนวัตกรรมทางธุรกิจ ชื่นชอบเทคโนโลยีและดีไซน์ดี ๆ … สร้าง LivingLab, FoodLab เพื่อศึกษาและพัฒนาสิ่งใหม่ที่มีคนเชื่อว่าโลกจำเป็นต้องใช้