วงการเกมส์ กับบล็อคเชน

Kendo
Flipay
Published in
2 min readDec 11, 2018

คุณจำการ์ดเกมส์เหล่านี้ได้ไหม สมัยเด็กๆที่เราต้องเสี่ยงดวงสุ่มซื้อการ์ดยูกิ ในความคาดหวังว่าจะได้การ์ดที่หายาก หรือมีพลังพิเศษ เพื่อที่จะได้นำมาใช้เล่นแข่งกับเพื่อน ผมเป็นคนหนึ่งที่เคยสะสมการ์ดเหล่านี้ ปัจจุบันก็ยังเก็บอยู่ในตู้ไม่หายไปไหน จะนำมาเล่นใหม่เมื่อไหร่ก็ได้ ในขณะเดียวกัน ผมก็เคยเล่นเกมส์การ์ดยูกิใน Playstation 1 การ์ดต่างๆก็ผูกอยู่กับเกมส์ ผมเอามาเล่นกับเพื่อนก็ไม่ได้ เซฟเก็บไว้ในหน่วยความจำ เมื่อหน่วยความจำถูกลบ ทุกอย่างก็หายไป จะเห็นว่าเราไม่ได้เป็นเจ้าของการ์ดยูกิจริงๆ และสิ่งนี้ก็เกิดขึ้นกับสิ่งของออนไลน์อื่นๆก็ด้วยเช่นกัน ซึ่งทุกอย่างกำลังจะเปลี่ยนไปเพราะบล็อคเชน

การเกิดขึ้นของบิตคอยน์ ส่งผลให้เราเป็นเจ้าของเงินดิจิตอลด้วยตัวเองจริงๆเป็นครั้งแรก โดยไม่ต้องเชื่อมั่นในสถาบันการเงิน สมมุติเรามีเงินในธนาคาร แล้วเราเปิดดูใน แอพมือถือ มีเงินอยู่ 5,000 บาท ถ้าระบบของธนาคารมีปัญหา แล้วธนาคารบอกเราว่าเรามีเงินเหลืออยู่ 2,000 บาท เราก็ต้องลำบากไปคุยกับธนาคาร หรือกระทั่งไปขึ้นศาล ตรวจสอบว่าเงินเราหายไปไหนจากระบบของธนาคาร แต่ในกรณีที่เราถือบิตคอยน์ เราเป็นเจ้าของจริงๆ เหมือนเราถือธนบัตรในกระเป๋าสตางค์ของเรา ไม่ต้องพึ่งพิงใคร

เช่นเดียวกันเทคโนโลยีบล็อคเชนยังสามารถทำให้เราเป็นเจ้าของสิ่งของออนไลน์จริงๆเป็นครั้งแรก โดยไม่ต้องยึดติดกับองค์กรใดที่คอยบอกว่าเราเป็นเจ้าของสิ่งของออนไลน์ชิ้นไหนอยู่ ยกตัวอย่างเช่น หากบริษัทผู้ให้บริการเกมส์ปิดตัวไป ทำให้สิ่งที่เราสร้างไว้ในเกมส์ ไม่ว่าจะเป็นเลเวล หรือดาบฆ่ามังกรที่ตามหามาอย่างยากลำบาก หายสาบสูญไปพร้อมๆกับการปิดตัวของเกมส์ หลายๆครั้งที่เกมส์ถูกนำกลับมาให้บริการใหม่ จะดีกว่าไหมถ้าเราสามารถเล่นต่อเนื่องจากครั้งก่อนได้เลย สิ่งที่เกิดขึ้นคือเราต้องเริ่มเล่นใหม่จากศูนย์

ใครที่นึกภาพไม่ออกว่าการเป็นเจ้าของของออนไลน์จริงๆจะเป็นอย่างไร ลองดูภาพด้านล่างประกอบ อันนี้คือแอพ wallet เหมือน Truemoney ในบ้านเรา คือนอกจะเก็บเงินบาท เก็บเหรียญคริปโตแล้ว ก็จะเก็บสิ่งของออนไลน์ต่างๆด้วย จะเห็นว่ามันไม่ผูกติดกับตัวเกมส์อีกต่อไป แอพ wallet ไม่ได้ถูกสร้างด้วยผู้พัฒนาเกมส์ นอกจากนั้นเรายังนำสิ่งของดิจิตอลเหล่านี้ไปขายหรือส่งให้คนอื่นต่อได้โดยไม่ต้องผ่านตัวเกมส์

ตัวอย่างการเก็บสิ่งของจากเกมส์ใน Enjin Wallet

Vitalik Buterin ผู้สร้าง Ethereum โปรเจคบล็อคเชนชื่อดัง เคยให้สัมภาษณ์ ในงาน Techcrunch Disrupt ว่าในระหว่างปี 2007–2010 เขาเล่นเกมส์ World of Warcraft อย่างมีความสุข อยู่มาวันหนึ่งผู้สร้างเกมส์ Blizzard ตัดสินใจยกเลิกส่วนการสร้างความเสียหายของคำสาป Siphon Life ที่เขารัก จนทำให้เขาเสียใจมาก และร้องไห้หลับไป วันนั้นทำให้เขาตระหนักถึงความย่ำแย่ของระบบที่ต้องพึ่งพาตัวกลาง

ผู้สร้าง Ethereum ให้สัมภาษณ์ในงาน Techcrunch Disrupt

เกมส์แรกๆที่เกิดขึ้นด้วยเทคโนโลยีบล็อคเชนคือ CryptoKitties เป็นเกมส์สำหรับคนรักแมว เกมส์นี้คือเราสามารถสะสมแมวได้ แมวแต่ละตัวจะไม่เหมือนกันเลย อาจจะมีลายไม่เหมือนกัน สีคนละสี ตาแป๋ว ตาสองชั้น เป็นต้น ซึ่งเราสามารถซื้อและขายแมวเหล่านี้ได้ตามที่เราต้องการ สามารถนำสองตัวมาผสมพันธ์ุกัน และคลอดลูกออกมาเพิ่มได้ด้วย

ตัวอย่างแมวจากในเกมส์ Cypto Kitty

ความน่าสนใจของเกมส์นี้ก็คือ เราเป็นเจ้าของแมวดิจิตอลนี้จริงๆ ทำให้เราสามารถนำแมวตัวนี้ไปใช้นอกเหนือจากเกมส์นี้ได้ เช่น ผมอาจจะสร้างเกมส์ขึ้นมาใหม่เป็นเกมส์แข่งวิ่งแมว โดยผู้เล่นสามารถนำแมวของตัวเองที่ได้จากเกมส์ CryptoKitties มาเป็นผู้เข้าแข่งขัน โดยผมผู้สร้างเกมส์วิ่งแข่งไม่ต้องตกลงกับผู้สร้างเกมส์ CryptoKitties เลย นี่คือตัวอย่างของเกมส์ที่นำแมวจาก CryptoKitties ไปเล่นได้

Kitty Battles เกมส์ที่ผู้เล่นสามารถใช้แมวที่ได้จาก CryptoKitties

Enjin ทีมก็เป็นอีกหนึ่งความพยายาม ในการสร้างแพรตฟอร์มที่ให้ นักพัฒนาเกมส์สามารถนำเทคโนโลยีบล็อคเชนเข้าไปผูกกับเกมส์ได้ง่ายๆ โดยสิ่งของต่างๆในเกมส์จะต้องมี Enjin coin เป็นวัตถุดิบเพื่อหลอมมันขึ้นมา หรือในทางกลับกันหากผู้เล่นต้องการเลิกเล่นเกมส์ ผู้เล่นมีตัวเลือกที่จะนำสิ่งของที่หามาอย่างยากลำบากไปขายต่อเลย หรือเปลี่ยนสิ่งของเหล่านั้นกลับเป็น Enjin coin ก่อน แล้วค่อยนำไปขายต่อก็ได้

4 อุปสรรค สำหรับเกมส์ที่สร้างบนบล็อคเชน ต้องก้าวข้ามไปให้ได้

  1. ความเร็วในการใช้งาน เนื่องจากบล็อคเชนในปัจจุบันทำงานค่อนข้างช้า ทั้งนี้มีหลายๆทีมที่พยายามแก้ไขปัญหานี้อยู่ เช่น โปรเจค Efinity จากทีม Enjin ที่จะสร้าง layer two solution เหมือน Lighting Network ของบิตคอยน์ หรือ Loom Network ที่สร้าง sidechain ด้วยหลักการ Plasma Cash
  2. ประสบการณ์ในการใช้งาน (User Experience) เพราะการมีปฏิสัมพันธ์กับ Decentralized Network ในปัจจุบันมีความยุ่งยากพอสมควร เช่น คุณต้อง ติดตั้ง Chrome Extension แล้วทำการโอนเหรียญคริปโตจาก Exchange เข้าไปเพื่อนำไปใช้จ่ายต่างๆ
  3. ขัดแย้งกับผลประโยชน์ของผู้สร้างเกมส์บางประเภท กล่าวคือ เกมส์บางประเภทสร้างรายได้จากการขายสินค้าภายในเกมส์ หากผู้เล่นมีสิทธิขาดในสิ่งของเหล่านั้นจริงๆ ผู้เล่นสามารถไปซื้อขายสินค้าเหล่านั้นระหว่างกันภายนอกเกมส์ได้
  4. เหตุผลมีน้ำหนักน้อยไป การได้เป็นเจ้าของสิ่งของออนไลน์เหล่านั้นจริงๆ ไม่ใช่เหตุผลที่มีน้ำหนักพอสำหรับเกมส์ในปัจจุบัน คนคงไม่มานั่งคิดตอนเลือกเกมส์ที่จะเล่น ว่าจะเลือกเกมส์ไหนดีน้า เพราะเหตุผลนี้ แต่คนจะมาเห็นประโยชน์ของมันก็ต่อเมื่อตอนเลิกเล่นเกมส์ หรือบริษัทเกมส์ปิดตัวลงมากกว่า

อ้าวแล้วเล่ามาทั้งหมดนี้ทำไม…?

“ผมเชื่อว่ามันเพิ่งเริ่มต้น”

เรายังอยู่ในช่วงแรกๆของเทคโนโลยีมากๆ เหมือนอินเตอร์เน็ตในช่วงแรกที่ต้องใช้ Command Line หรือเขียนโปรแกรมในการเข้าถึง เวลามีความเป็นไปได้ใหม่ๆเกิดขึ้น อย่างการได้เป็นเจ้าของสิ่งของในเกมส์จริงๆ เป็นสิ่งที่ทำให้ผมตื่นเต้นมากๆ เพราะเราไม่รู้ว่าต่อไปจะมีสิ่งน่าสนใจอะไรเกิดขึ้นมาบ้าง นวัตกรรมเกิดขึ้นจากการลองผิดลองถูกของนักพัฒนา และผมเชื่อว่ายังมีอีกหลายอย่างที่เรายังไม่ค้นพบ เกมส์ที่ประสบความสำเร็จจะไม่ใช่เกมส์ที่มีอยู่ในปัจจุบันแล้วไปเชื่อมต่อกับบล็อคเชน แต่เป็นเกมส์ที่แตกต่างอย่างสิ้นเชิงจากเกมส์ในปัจจุบัน และจะมีโมเดลธุรกิจที่แตกต่างออกไป

หนึ่งในเกมส์ที่ผมคิดว่าน่าจะเป็นตัวอย่างของการใช้ประโยชน์บล็อคเชนอยากเต็มที่ คือ เกมส์จากหนังเรื่อง Ready Player One ซึ่งเป็นหนัง Sci-fi ที่แสดงให้เห็นถึงอนาคตได้น่าสนใจมาก (ใครที่ไม่เคยดูแนะนำให้ไปดูซะ) คือ คนจะไปใช้ชีวิตในโลกของเกมส์ Digital ซึ่งสิ่งของทุกอย่างเป็นดิจิตอลหมดเลย ในหนังจะเห็นว่าเจ้าของเกมส์ควบคุมทุกอย่างในเกมส์ได้หมดเลย ซึ่งหากเจ้าของเกมส์ต้องการทำตามอำเภอใจก็สามารถทำได้ ซึ่งสิ่งนี้สามารถแก้ไขได้โดยการใช้บล็อคเชน ทุกคนที่อยู่ในเกมส์จะได้อยู่ในกฎเกณฑ์เดียวกัน ไม่มีใครมีสิทธิพิเศษเหนือใคร

บล็อคเชนเทคโนโลยียังเป็นเทคโนโลยีที่ยังใหม่ หลายๆอุตสาหกรรมพยายามนำมันไปใช้ประโยชน์ วงการเกมส์ก็เช่นกัน ไม่ใช่ทุกปัญหาที่แก้ได้ด้วยบล็อคเชน หลายๆอย่างไม่จำเป็นต้องใช้บล็อคเชนเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นควรเลือกนำไปใช้อย่างเหมาะสมครับ

ที่อ่านมาทั้งหมดมีใครตื่นเต้นเหมือนผมบ้างครับ คิดว่าเกมส์แบบไหนที่บล็อคเชนน่าจะนำไปใช้ประโยชน์ได้เต็มที่ ร่วมแชร์กันในคอมเมนต์ได้เลยครับ

(ผู้เขียนไม่ได้ถือเหรียญคริปโตหรือได้รับการสนับสนุนกับ Enjin หรือ Loom Network แต่ประการใด)

--

--

Kendo
Flipay
Editor for

Cryptocurrency Believer, Manga Lover, Education Supporter and Product Builder @flipayHQ