สรุป The Impact of Innovative Finance and Blockchain Technology จากงาน IYA Forum 2017

Turbo Panumarch
Flipay
Published in
5 min readNov 30, 2017

เนื่องจากวันเสาร์ที่ 25 พฤศจิกายนที่ผ่านมา มีงาน IYA Forum ซึ่งย่อมากจาก Intania Young Alumni ซึ่งเน้นกลุ่มศิษย์เก่าวิศวกรรมศาสตร์จุฬาฯ ที่เป็นคนรุ่นใหม่ โดยงานนี้ก็จัดขึ้นเป็นครั้งแรก Speaker แต่ละคนก็จัดว่าไม่ธรรมดา โดยจะแบ่งเป็น 4 ห้องคือ Finance, Entrepreneur, Startup และ Corporation น่าเข้าทั้งนั้นเลย แต่เลือกได้ห้องเดียว ผมเลยเลือกห้อง Finance ละกัน!

สำหรับห้อง Finance ที่ผมเข้าไปมี Speaker อยู่ 4 ท่านกับ 4 หัวข้อคือ

  1. Blockchain & E-Payment โดยคุณพุธ CEO Enter Corporation & Blockchain.fish
  2. Fintech โดยคุณต๋อม จาก KBANK / Beacon VC
  3. Going forward with E-Payment โดยคุณนก CEO SEA Thailand (Garena)
  4. National E-Payment โดยดร.อู๊ด ที่ปรึกษาคณะทำงาน National E-Payment

ปิดท้ายด้วย Panel Discussion ที่มานั่งคุยกัน ถามตอบคำถามต่างๆ อย่างเข้มข้นเลยทีเดียว เลยอยากมาสรุปเนื้อหาที่ได้ฟังไว้ครับ

1. Blockchain & E-Payment

โดยคุณพุธ CEO Enter Corporation & Blockchain.fish

  • ธนาคารจดบันทึกบัญชีให้เรา แต่ถ้าเกิดว่าวันหนึ่งล่มข้อมูลก็หายหมด
  • Bitcoin เข้ามาช่วยแก้ไขปัญหานี้โดยการกระจายบัญชี ช่วยกันบันทึกหลายๆ คน
  • Bitcoin ทำให้เกิด Blockchain (เทคโนโลยีภายใต้ Bitcoin) และตามมาด้วย Cryptocurrency (การประยุกต์ใช้ Blockchain สร้างสกุลเงิน Digital ใหม่)
  • Ripple เป็นตัวอย่างหนึ่งของ Blockchain ที่ธนาคารเอาไปใช้ ทำให้สามารถส่งเงินข้ามประเทศในเวลาไม่นาน
  • TenX เป็น E-Wallet ที่ทำให้เราสามารถซื้อกาแฟด้วย Bitcoin ผ่านบัตรของ TenX ได้
  • N26 เป็นธนาคารสมัยใหม่ที่ไม่มีสาขาจริงแม้แต่สาขาเดียว แต่ก็มีผู้ใช้กว่า 5 แสนรายทั่ว 17 ประเทศ

2. Fintech

โดยคุณต๋อม จาก KBANK / Beacon VC

  • ว่ากันว่า fintech รุ่งเรืองหลังจากยุคที่ Banker ตกงานจากวิกฤต Hamburgur ทำให้พวกเค้าออกมาสร้างวิธีใหม่ๆ ที่จะจ่าย ส่ง กู้ยืม และลงทุน
  • ธนาคารยุคหลังไม่ได้แข่งกันเองแล้ว แต่กำลังแข่งกันหนีตายจากการเข้ามาของ Fintech และ 21 เดือนที่ผ่านมา ธนาคารในไทยได้ปิดไปกว่า 220 สาขาแล้ว
  • ประเทศไทยได้มี Fintech ผุดขึ้นมา 59 บริษัทแล้ว
  • AirBnB, Uber, Netflix และ Amazon เป็นตัวอย่างที่ดีของ Startup ใหม่ที่มา disrupt ธุรกิจเดิม เช่น AirBnB ไม่ได้ฆ่าธุรกิจโรงแรม แต่เป็นโรงแรมที่ทำตัวเองด้วยการจำกัดจำนวนห้องและตัวเลือกของราคา
  • Technology โดยตัวมันเองไม่ได้มาล้มธุรกิจเดิม สิ่งที่ทำให้ธุรกิจล้มคือการไม่มีแนวคิดของ customer centric ต่างหาก
  • เดี๋ยวนี้เราเป็นยุค Mobile First แล้ว พวกเราออกจากบ้านลืมกระเป๋าตังได้ แต่ลืมมือถือไว้ไม่ได้
  • Banking is necessary, banks are not - Bill Gate
  • เคยมีประสบการณ์พบปัญหาใน AirPay ผ่านไป 2 สัปดาห์ก็แก้เรียบร้อยแล้ว ถ้าเป็นแอพธนาคารคงใช้เวลา 9 เดือน
  • Banking Basic ประกอบด้วย Store, transfer และ access value
  • ทุกวันนี้ iPhone พวกเราเก็บข้อมูลเรากว่า 1 แสน factors ซึ่งข้อมูลพวกนี้มีประโยชน์มากๆ กับการทำ credit scoring ให้กู้ยืม
  • มีธุรกิจเจ้าหนึ่ง ให้เครื่อง POS กับร้านค้าฟรีๆ เลย แต่มีติดกล้อง ทำให้เห็นการเข้าออกของลูกค้า เห็น cash flow และเอาไปทำ credit scoring ได้อีกเช่นกัน
  • ข้อมูลนั้นมีค่ามากๆ ในยุคนี้ แต่เรายังหาทางเอาไปใช้ไม่ได้มาก

3. Going forward with E-Payment

โดยคุณนก CEO SEA Thailand (Garena)

  • SEA เป็นชื่อใหม่ของบริษัท Garena Online ซึ่งมีธุรกิจเกมส์ (Garena), Payment (AirPay) และ E-Commerce (Shopee)
  • ตอนนี้ประเทศจีนมีอัตราการใช้เงินสดเพียง 25% และมีการรับรู้ถึง E-Payment ถึง 83%
  • แม้แต่ในตลาดสดหรือขอทานที่จีนก็ยังใช้ smartphone เพื่อใช้จ่าย
  • การเติบโตของ E-Payment ของจีน ถูกผลักดันมาจากธุรกิจเอกชน 3 รายใหญ่ คือ Baidu, Alibaba และ Tencent พร้อมด้วยการสนับสนุนจากรัฐบาลจีน
  • Wechat (Tencent) เริ่มแรกเป็นเพียง messaging application แต่เมื่อมีผู้ใช้มหาศาล การเพิ่มความสามารถจ่ายเงินก็เข้าถึงคนหลายร้อยล้านคนในทันที ปัจจุบันมีผู้ใช้กว่า 1 พันล้านคน เป็นผู้ใช้ Wechat Pay 800–900 ล้านคน
  • Alipay มีผู้ใช้ 450 ล้านคน ในขณะที่ Baidu wallet ก็มีผู้ใช้อยู่ 100 ล้านคน
  • Singapore ก็เป็นที่หนึ่งที่มีการเติบโตของ Fintech ที่สูงมากเพราะว่ากฎหมายที่เอื้อต่อการทำธุรกิจ
  • การสร้าง Cashless society นั้นต้องได้รับการผลักดันจากรัฐบาลและธุรกิจเอกชนด้วยกัน
  • ใน ASEAN ยังมีผู้คน 34.2% ที่ไม่ได้รับการบริการจากธนาคาร

4. National E-Payment

โดยดร.อู๊ด อนุชิต ที่ปรึกษาคณะทำงาน National E-Payment

  • การจะทำให้ Fintech เกิดได้นั้น เราต้อง Focus กับการพัฒนา Infrastructure (โครงสร้างพื้นฐาน) ของประเทศก่อน ซึ่งดร. บอกว่าผลักดันมาเป็น 10 ปีแล้ว​​ยังไม่เกิด
  • Easy pass เกิดมา 10 กว่าปีแล้ว ยังมีช่องทางการรับชำระไม่ครบทุกทางเลย
  • ถ้าเราจะมัวแต่ทำ Local road ทำไป 10 ปีมันก็ไม่ทั่วประเทศหรอก เราต้องตัดทางทำ High way
  • การมี Infrastructure ที่พร้อม มันจะทำให้เราก้าวไปข้างหน้าได้ไวมากๆ เช่นระบบจ่ายเงิน ถ้าทุกธนาคารพร้อมใจกัน เราสามารถทำให้จ่ายผ่าน QR Code หรือ Email ในวันรุ่งขึ้นได้เลย ซึ่งการจะทำได้ มันอยู่ที่การออกแบบเพื่อ Scalability
  • การมี Any ID (ที่ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น PromptPay) นั้นก็เพื่อเชื่อมโยงทุก platform เข้าด้วยกัน สามารถจ่ายเงินให้ใครก็ได้ผ่านระบบ Digital
  • ระบบปัจจุบันระบุผู้รับไม่ได้ งบผู้สูงอายุหลายแสนล้านบาท ต้องถูกกระจายไปยัง อบต.​ เอาไปส่งต่อมือต่อมือ เงินก็หล่นหายระหว่างทางมากมาย แถมใครมีชีวิตหรือตายแล้วก็ไม่รู้
  • ประเทศจีนเกิดปัญหาพิมพ์แบงค์ไม่ทัน เลยต้องเปลี่ยนแปลงมาใช้ระบบเงินออนไลน์ ถ้าบังเอิญประเทศจีนระบบพิมพ์แบงค์ดีมากๆ คงไม่ได้ไปไหน
  • ส่วนประเทศไทยลงทุนกับ ATM และเงินสดมากๆ จนคนเสียนิสัย ต้นทุนแฝงในการผลิตและเคลื่อนย้ายเงินสดนั้นมหาศาลมากๆ
  • คนจีนมีข้อดีคืออย่างพ่อค้าแม่ค้าเค้าก็กล้าลองกล้าใช้กล้าเสี่ยงใช้ของใหม่ แต่คนไทยพอ PromptPay มากลัวกันไม่ยอมใช้
  • PromptPay ปัจจุบันมียอดการใช้งานกว่า 200,000 ล้านบาท และมีการเติบโตกว่า 50% ต่อเดือน นอกจากนั้นยอดนี้ยังไม่ได้ไปกินยอดที่เคยมีอยู่ด้วย
  • ประเทศไทยมีปัญหาของ infrastructure ที่สำคัญที่ต้องแก้อยู่ 6 อย่าง
    1. Payment
    2. Digital ID
    3. Network & Security
    4. Logistic & Location ต่อให้มีรถไร้คนขับ มาประเทศไทยก็ไม่รอด วิ่งขึ้นฟุตบาทหมด AI ต้องฉลาดมากๆ
    5. Data หน่วยงานต่างๆ เอาแต่ห่วงข้อมูล ไม่มีการแชร์กัน ไปไหนไม่ได้ จะทำ Peer-to-peer lending (การกู้ยืมระหว่างบุคคล) ก็ไม่ได้ ไม่มีข้อมูล ต้องมานั่งขอ Statement ทุกครั้ง
    6. Human Capability
  • วิกฤตประเทศไทยจะมาในอีก 10 ปีข้างหน้า ถ้าไม่ช่วยกันจะลำบาก

5. Panel Discussion

เป็นช่วงที่ Speaker ทุกคนจะมานั่งรวมกันและถกปัญหาในประเด็นต่างๆ บางคำถามก็มาจากผู้ฟัง

ความท้าทายของ E-Payment

  • ผู้คนยังมีความกลัวกับการใช้ E-Payment ในขณะที่ยังมีโอกาสใหญ่ที่คนจำนวนมากยังเข้าไม่ถึงบริการธนาคาร
  • ในกรณี AirPay ที่เติบโตได้ดีในเมือง แต่ในชุมชนหรือต่างจังหวัดกลับพบปัญหาที่คนไม่เชื่อถือในแบรนด์เพราะไม่ค่อยรู้จัก onboard ยาก
  • การมาของ PromptPay ก็ช่วยเพิ่ม awareness ให้กับคนไทยเรื่อง E-Payment ได้พอสมควร

เราจะสร้าง Payment Innovation ได้อย่างไร

  • Fail fast, succeed sooner. ทดสอบให้เร็ว การใช้แค่คนข้างๆ ตัวเราอาจจะไม่พอ มี false positive หรือ false negative เยอะ ลองจริงดีกว่า เช่น ลองทำผลิตภัณฑ์ออกมา 10 แบบแล้วไปวางใน IKEA เลย ดูว่าคนจะซื้ออันไหน
  • อย่าไปยื้อเกินไป บางบริษัทก็ไม่ยอมตัดขาดทุนในผลิตภัณฑ์ที่ไม่มีอนาคต
  • เริ่มจากเล็กๆ อย่าเริ่มใหญ่

มี Blockchain ที่ถูกเอาไปใช้ทำ Payment อย่างไรบ้าง

  • มี Ripple ซึ่งสามารถ list ทรัพย์สินใดๆ ได้ เช่น เงินบาท และสามารถส่งเงินจากไทยไปยังอเมริกาได้ ซึ่ง blockchain พวกนี้จะเป็น infrastructure ที่สำคัญสำหรับการใช้จ่าย

เราเอา Blockchain ไปใช้กับ Nation E-Payment ได้อย่างไร

  • Technology ใหม่ๆ มักจะไปมาระหว่าง Hype กับ Reality อย่างรวดเร็ว เราเชื่อว่ามันจะทำอะไรได้มากมาย แต่ในความเป็นจริงก็ไม่ได้อย่างที่คิด
  • Blockchain เป็น Distributed Ledger แต่ว่าเป็น Centralized Trust
  • คนเรามีความเข้าใจที่ไม่ถูกคิดว่า “เงิน” คือธนบัตรที่เราใช้กันอยู่ เงินคือระบบเศรษฐกิจ ถ้าเปรียบเป็นระบบเงินในบ่อน ในประเทศไทยก็เหมือนมีแบงค์ชาติเป็นเจ้าของบ่อน ซึ่งถ้าเงินแค่เปลี่ยนมือก็มีแต่คนได้เสีย เศรษฐกิจไม่ไปไหน ระบบเงินจึงต้องมี Money Creation Process ซึ่งก็คือการที่เงินหมุนเวียนแล้วเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ เช่น จากดอกเบี้ย ทำให้เกิดความเชื่อถือในมูลค่าของเงิน
  • ถ้าใช้ Blockchain เป็นวงแคบไม่กี่กลุ่มไม่คุ้มหรอก ใช้ระบบ Centralized ธรรมดาก็พอ
  • ถ้า Cryptocurrency (สกุลเงิน Digital บน blockchain) ขาด Use case หรือความต้องการ มันก็จะเป็น Store of value ไม่ได้
  • Bitcoin ก็เหมือนทอง ยังมี Use case น้อย ถ้า Use case หรือ demand ตามราคาไม่ทัน ก็จะเกิดการ crash (ราคาร่วง)
  • เทียบได้กับวิกฤตทิวลิปสมัยก่อน ที่ราชวงศ์นิยมซื้อทิวลิปจนราคาสูงมาก คนประมูลดอกทิวลิปกันตั้งแต่เป็นหัว ขายกันราคาเท่าบ้าน แต่มันไม่ได้มี Intrinsic value (มูลค่าที่แท้จริง) ​เลย value ของมันก็มีแค่การเก็งกำไร สุดท้ายก็ crash กลับมาเป็นทิวลิปเหมือนเดิม

ธนาคารจะอยู่รอดในยุคนี้ได้อย่างไร

  • ธนาคารยังนั่งทับ Data อยู่ สิ่งสำคัญคือการใช้ข้อมูล
  • มีเทคโนโลยีใหม่ๆ เกิดขึ้นมา พฤติกรรมใหม่ก็ตามมา เช่น เด็กนักเรียนสมัยนี้เปิด Google Docs ช่วยกันจด Lecture
  • อย่างญี่ปุ่นก็มีระบบข้อมูลที่ดีมากๆ ตอนเกิดสึนามิที่เซ็นได บริษัทประกันยังสามารถตามหาคนเพื่อจ่ายเงินให้ได้

5 ปีต่อไป เราจะเห็นอะไร

  • ธุรกิจจะเน้น technology & human interaction มากขึ้น ไม่ว่าเทคโนโลยีจะไปไกลแค่ไหน มนุษย์เราก็ยังขาดการปฏิสัมพันธ์ไม่ได้
  • อย่าง Amazon Go ที่มีธุรกิจ Online ยิ่งใหญ่แล้ว แต่ก็ยังเปิดร้าน Physical เพราะเค้าเชื่อว่าคนเรายังไงก็อยากสัมผัสของจริง แค่ Amazon จะช่วยให้ประสบการณ์ซื้อราบรื่นที่สุด ล่าสุด Amazon ก็ได้ซื้อ Wholefood ไปแล้ว

Startup ประเทศไทยกับต่างประเทศต่างกันอย่างไร

  • Startup ประเทศไทย เน้นเทคโนโลยีมากเกินไป ยังขาดความเข้าใจธุรกิจ ทำให้ไม่สามารถเชื่อมต่อกับระบบธนาคารได้ดี ต่างกับ Startup รายหนึ่งจากออสเตรเลีย ที่ผู้ก่อตั้งมาจากสายงานธนาคาร มีความเข้าใจระบบธนาคารอย่างดี ทำให้เชื่อมต่อกันได้ราบรื่นกว่า
  • ดังนั้น Startup ไทยควรทำการ Research มากกว่านี้ ทดสอบให้เร็ว
  • Startup ไทยมอง scale เล็กไป มองแค่ประเทศไทยหรือกรุงเทพคนใช้เยอะแค่ไหนก็ได้แค่ 70 ล้านคน ต่างกับอินโดนีเซียที่แค่มองในประเทศก็ได้ 250 ล้านคนแล้ว
  • แต่ถ้าเราสามารถเป็นอันดับ 1 ของหมวดหมู่ในประเทศได้ เราก็สามารถไปต่อต่างประเทศได้

แนวโน้มของ Digital Asset จะเป็นอย่างไร

  • Digital asset ไม่ใช่แค่ Cryptocurrency แต่หุ้น ทอง กองทุนต่างๆ ที่เราซื้อขายกันก็ล้วนแต่เป็น Digital asset
  • ยุคนี้ทุกอย่างล้วนเป็น Digital Asset การขนส่งทางเรือ ก็มีการซื้อขายค่าระวางเรือ (อัตราค่าขนส่ง) เป็นระบบ Digital จะมองว่าเป็น Digital asset ก็ได้

ในประเทศไทย ได้มีการประยุกต์ใช้ Blockchain อย่างไรบ้าง

  • ธนาคารกสิกรใช้ Blockchain ชื่อ Hyper Ledger สำหรับการทำหนังสือค้ำประกันรัฐบาล โดยปัญหามาจากการทำธุรกิจกับรัฐบาล ต้องมีการเซ็นเอกสารและแก้หลายครั้งมากๆ ต้องใช้ messenger ส่งไปมาหลายรอบ แถมบางครั้งทางรัฐก็โทรกลับมา confirm ตัวเลขกับธนาคารอีก ซึ่ง Hyper Ledger จะช่วยให้เรื่องพวกนี้ทำผ่านระบบออนไลน์ได้
  • ระบบ Digital ID ของประเทศไทยก็มีแผนจะใช้ Blockchain เป็นเหมือนตัวกลางช่วยยืนยันตัวตนประชาชน

สรุปของเนื้อหางานก็จบไปแล้วดังข้างต้น session เพียงแค่ 3 ชั่วโมง แต่ว่าเนื้อหาแน่นมากจริงๆ ยังไม่ได้รวมเนื้อหาของอีก 3 ห้องที่เหลือด้วย ซึ่งหลังจาก session ทางผู้จัดงานก็มีเตรียมงานเลี้ยง พร้อมทั้งอาหารอย่างดีมาให้ผู้ร่วมเข้างานอีกด้วย ของกินอร่อยมากๆ กินไปคุยไป และได้ทำความรู้จักคนใหม่ๆ นับได้ว่างานนี้ ได้ทั้งความรู้ ได้เพื่อน และได้ความอร่อยครบเลย 😆

ต้องขอบคุณ Speakers และผู้จัดมากๆ รวมทั้งขอบคุณ​ Ranatchai Ch. ที่ชวนไปร่วมงานด้วยครับ

ถ้าสนใจ ติดตามข่าวสารของกิจกรรมครั้งต่อๆ ไปได้ที่ Facebook Intania Young Alumni เลยครับ

--

--

Turbo Panumarch
Flipay
Editor for

Builder at Flipay. An Engineer who loves Coding, Product Design and Blockchain. Former VP of Engineering at Omise Payment. 📬 turbo@flipay.co