7 เทรนด์อนาคตธุรกิจ FinTech จากงาน Singapore FinTech Festival 2018

Turbo Panumarch
Flipay
Published in
5 min readNov 19, 2018

“The Only Thing That Is Constant Is Change.”

Heraclitus

Change หรือ Digital Transformation เป็นข้อความสำคัญที่งาน Singapore FinTech Festival 2018 กำลังพยายามบอกเหล่าธุรกิจ FinTech (Financial Technology) ให้ปรับตัวเพื่อรับกับการเปลี่ยนแปลงอันรวดเร็วจากเทคโนโลยีและความต้องการของผู้บริโภค

งานนี้เป็นงานใหญ่ระดับโลก ที่รวมเอาหน่วยงานและธุรกิจ FinTech จากทั่วโลกมาไว้ด้วยกัน มีผู้บริหารจากทั้ง Ant Financial, Go-Jek, Accenture, Ripple, World Bank, Red Hat, Paypal, Tencent และบริษัทชื่อดังอีกมากมายมาเข้าร่วม ทำให้เราได้เห็นภาพว่าธุรกิจใหญ่ๆ และนักลงทุนเค้ามองว่าอนาคตจะไปทางไหน

ผมกับ Siwakorn Kendo เลยตัดสินใจบินไปสิงคโปร์เพื่อมองหานักลงทุนและ Connection ซึ่งสิ่งสำคัญที่ได้จากงานนี้ ไม่ใช่แค่การฟัง Conference แต่เป็นการพูดคุยกับคนในวงการที่มาจากทั่วทุกมุมโลก ทำให้ตกผลึกและเห็นภาพของ FinTech และอนาคตชัดขึ้น

จากแนวโน้มธุรกิจที่ได้เห็นและพูดคุย ผมพอจะแบ่งเป็นแนวโน้มใหญ่ๆ ได้ 7 กลุ่ม

1. Financial Inclusion จะเป็นสิ่งที่ธุรกิจการเงินมองข้ามไม่ได้

Financial Inclusion เป็นคำที่ได้ยินบ่อยมากๆ ในงาน เพราะในปัจจุบันมีผู้คนมากมายไม่มีแม้แต่บัญชีธนาคาร หรือโอกาสที่จะกู้ยืมเงินเพื่อสร้างฐานะ โดยเฉพาะในแอฟริกา ตะวันออกกลาง และประเทศรอบๆ บ้านเรา

ซึ่งคนกลุ่มนี้หรือที่เรียกว่า Unbanked มีอยู่เกือบ 2 พันล้านคนทั่วโลก

ข้อมูลอัตราการเข้าถึงบัญชีธนาคารจาก World Bank Global Findex

ปัญหาก็คือ ไม่ใช่ว่าสถาบันการเงินใจร้ายไม่ยอมให้ความช่วยเหลือซะทีเดียว เพราะว่าให้บริการกลุ่มที่มีรายได้ต่ำลงมา มาพร้อมกับต้นทุนและความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้น เช่น โอกาสการเบี้ยวหนี้ที่ประเมินยาก เพราะไม่ได้มีหลักฐานทางการเงินที่ชัดเจน

ซึ่งปัญหานี้ก็มาพร้อมกับโอกาสของธุรกิจใหม่ๆ ที่จะใช้ Innovation เพื่อลดต้นทุนเพื่อสร้าง Financial inclusion หรือแม้แต่ Partner กับสถาบันทางการเงินเพื่อไปช่วยลดต้นทุนและเข้าถึงกลุ่มใหม่ๆ

กุญแจสำคัญคือการใช้ Innovation เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการให้บริการ เพื่อเข้าถึงกลุ่มที่ไม่ได้รับบริการทางการเงิน

ตัวอย่างของธุรกิจที่เข้ามาแก้ปัญหา Inclusion ได้อย่างน่าสนใจคือ M-PESA ที่เกิดขึ้นในแอฟริกาซึ่งธนาคารเข้าไม่ถึงครัวเรือน ทำให้คนต้องเดินทางข้ามเมืองเพื่อเอาเงินกลับไปให้ครอบครัว แต่ M-PESA ช่วยให้ผู้ใช้ส่งเงินผ่าน Feature Phone ด้วยระบบ SMS จนมีผู้ใช้นับล้านภายในปีเดียว

source: https://www.vodafone.com/content/index/what/technology-blog/m-pesa-created.html

ในด้านอื่นๆ ก็มีธุรกิจที่ใช้ Innovation มาช่วยในการทำ Credit scoring อย่าง Lenddo ที่ใช้ข้อมูลจากหลายๆ ด้านไม่ว่าจะเป็นพฤติกรรมการใช้งานมือถือ การใช้ Social Network การซื้อสินค้า รวมไปถึงแบบสอบถามทางจิตวิทยา เพื่อวัดความเสี่ยงในการให้กู้ยืมแก่กลุ่มบุคคลที่เข้าไม่ถึงธนาคาร

2. Identity Verification คือโจทย์ที่ต้องแก้ก่อนการก้าวสู่โลก Digital เต็มตัว

ในมุมของธุรกิจการเงินนั้น เกือบทุกอย่างที่เห็นคือการจัดการความเสี่ยง ไม่ว่าจะเป็น…

  • การกรอกข้อมูลต่างๆ ตอนเปิดบัญชีธนาคาร
  • การต้องไปเปิดบัญชีด้วยตัวเอง
  • การกรอกชื่อและเลขไปรษณีย์ก่อนจ่ายเงินด้วยบัตรเครดิต
  • การใช้ OTP บนมือถือเพื่อยืนยันก่อนทำรายการ

ทั้งนี้ความเสี่ยงหนึ่งที่ใหญ่ที่สุดคือการทำธุรกรรมจากบุคคลที่ไม่ใช่เจ้าของ ซึ่งเราสามารถป้องกันได้ด้วย Identity Verification หรือการยืนยันตัวตนว่าเป็นเจ้าของจริง ด้วยช่องทางต่างๆ เช่น Password, Mobile OTP หรือ Biometric อย่างสแกนลายนิ้วมือ แต่ก็ยังไม่ง่ายที่จะบอกว่าผู้ที่ถือ Password หรือแม้แต่บัตรประชาชนเป็นตัวจริง

ในปัจจุบันเราสามารถทำธุรกรรมการเงินได้จากมือถือแล้ว แต่ว่าเรายังต้องไปเปิดบัญชีที่สาขาธนาคารเอง เพราะว่าธนาคารต้องการประเมินลูกค้าก่อนจะให้บริการหรือที่เรียกว่า KYC (Know Your Customer)

และการมีระบบ Identity Verification ที่ดี จะทำให้ทุกฝ่ายมั่นใจที่จะมี e-KYC ซึ่งทำให้เราสามารถเปิดบัญชีผ่านมือถือที่บ้านได้เอง

ในงานจะเห็นได้ว่ามีไม่น้อยกว่า 20 บริษัทที่กำลังทำเรื่องเหล่านี้อยู่ โดยเฉพาะ NEC บริษัท IT Solution ที่ใหญ่มากๆ ในญี่ปุ่นก็ลงมาเล่นเรื่อง Biometric อย่างจริงจัง หรือบริษัท JingKing จากจีนที่นำเสนอตู้ Virtual Bank ที่สามารถเปิดบัญชีและทำธุรกรรมผ่านตู้ได้เลย เพราะมีการสแกนลายนิ้วมือและสามารถ video call กับพนักงานธนาคารได้ถ้าจำเป็น

Onfido ก็เป็นหนึ่งในบริษัทจาก UK ที่มีการใช้ AI มาช่วยเรื่อง Identity Verification เพื่อให้บริการแก่ธุรกิจต่างๆ ในการยืนยันตัวตนลูกค้าตอนสมัครใช้งาน ปัจจุบัน Onfido ก็ได้เงินลงทุนไปกว่า 60 ล้านดอลล่าร์แล้ว

source: https://finovate.com/onfido-to-secure-drivers-for-indias-largest-rideshare-company/

ส่วนในไทยเอง เราก็กำลังพัฒนาระบบ National Digital ID ซึ่งจะช่วยผลักดันให้เกิดการทำธุรกรรม และเปิดบัญชีต่างๆ ได้จากออนไลน์ และไม่ต้องกรอกข้อมูลซ้ำซ้อน หรือใช้เอกสารมากมายอีกต่อไป

3. AI/Machine Learning จะเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของธุรกิจทั้งการบริการหน้าบ้านและระบบหลังบ้าน

AI, Machine Learning, Big Data เป็นคำที่บริษัทต่างๆ นำโดย Google, Microsoft, Deloitte เอามาใช้โฆษณาเพื่อดึงดูดให้ธุรกิจ FinTech ในปัจจุบันหันมาใช้เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อต่อยอดธุรกิจที่มีอยู่ ซึ่งทำได้หลายมุมมากๆ เช่น

Personalization & Engagement

เมื่อมีการแข่งขันมากขึ้น ลูกค้ามีความต้องการที่เปลี่ยนไป การบริการแบบ One size fits all จึงไม่เพียงพออีกต่อไป ซึ่งการใช้ข้อมูลหรือ AI จะช่วยเราสร้างประสบการณ์ที่เหมาะกับลูกค้ารายคนมากขึ้นได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำลง

อย่าง UOB ที่พัฒนาระบบ Digital Advisor ทำให้สามารถเข้าถึงลูกค้ากลุ่มเล็กลงได้ และสามารถช่วยวางกลยุทธการลงทุนที่เหมาะสมกับธุรกิจ จากที่ไปลองมา เราสามารถใส่แผนการใช้เงินในอนาคต และเลือกความเสี่ยงที่ต้องการ ระบบจะจัดพอร์ตการลงทุนให้เราอัตโนมัติ ต่างจากปกติที่เราต้องไปเลือกหากองทุนที่เหมาะสมเอง

Unlock the new values and efficiency

OCBC ได้นำเสนอการใช้ AI เพื่อเปิดความเป็นไปได้ใหม่ๆ อย่างการนำมาใช้ประเมินความเสียหายรถยนต์อัตโนมัติจากการถ่ายรูปเพื่อธุรกิจประกันภัย

ส่วน Microsoft ก็นำเสนอ AI เพื่อช่วยธนาคารจัดการความเสี่ยงจากการบริหารการเงิน และอาชญากรรมแบบ Real-time

4. Blockchain จะเริ่มเข้ามามีบทบาทในการเป็นตัวกลางระหว่าง Enterprise และแทนที่ระบบเดิมๆ ที่เคยมีอยู่

Blockchain เป็นเทคโนโลยีที่เหมือนเรามีระบบฐานข้อมูลไร้ศูนย์กลาง (decentrailized) ที่ไม่มีใครโกงหรือทำอะไรนอกเหนือจากที่กำหนดได้ ซึ่งจะมาช่วยสร้างความน่าเชื่อถือ และตัดตัวกลางออก เพราะเราเชื่อระบบได้โดยไม่ต้องมีตัวกลาง

จากที่เราเคยต้องเชื่อธนาคารในการเก็บรักษาตัวเลขเงินเป็นตัวเลขในระบบ ก็มีทางเลือกใหม่ที่สามารถเก็บรักษาเงินในระบบ blockchain กลางอย่างเช่น bitcoin ที่เป็นสกุลเงินที่สร้างบน blockchain โดยไม่ต้องห่วงว่าใครจะมาแก้ตัวเลขได้ เพราะมีคนหลายคนช่วยกันเก็บรักษาข้อมูลแทนที่จะเป็นธนาคารแต่เพียงผู้เดียว

source: https://blogs.wsj.com/cio/2016/02/02/cio-explainer-what-is-blockchain/

ในงานจะเห็นธุรกิจใหญ่ๆ ทั้ง IBM Hyperledger, R3, Deloitte, HP พยายามผลักดัน Enterprise Blockchain ให้กับสถาบันทางการเงิน ในด้านต่างๆ ซึ่งมี Use case ที่น่าสนใจ เช่น

  • การจัดการเอกสารระหว่างตัวกลางอย่าง Credit Note แทนที่จะต้องใช้กระดาษเซ็นส่งไปมา เพราะไว้ใจใครไม่ได้ ต้องมีการเจอหน้าและเก็บสำเนาเอกสารหลายที่ ก็เปลี่ยนมาใช้ระบบ Blockchain ทำให้เซ็นรับรองทุกอย่างออนไลน์ได้ เพราะหลังจากเซ็นไปแล้ว จะไม่มีใครมาแอบแก้ไขได้ อย่างที่เราได้เห็นธนาคารกสิกรใช้ Blockchain กับหนังสือค้ำประกัน
  • การจัดการ Supply chain ที่ปัจจุบันต้องการตัวกลางหลายคนมาช่วยยืนยันการส่งสินค้าว่าปัจจุบันสินค้าอยู่ที่ใคร ซึ่งติดตามได้ยากและอาจจะเกิดความผิดพลาดได้ง่าย แต่การเปลี่ยนมาใช้ Blockchain ช่วยให้มีระบบที่ทุกฝ่ายเข้าถึงและตรวจสอบสถานะการจัดส่งได้รวดเร็วและแม่นยำขึ้น

5. การลงทุน การส่งเงินข้ามประเทศและ Payment กำลังถูก Disrupt ด้วย Technology ใหม่ๆ

ด้วยเทคโนโลยีใหม่ๆ การบริการด้านการเงินจะราคาถูกลง เร็วขึ้น และสะดวกมากขึ้นเรื่อยๆ ผู้ที่หยุดพัฒนาก็จะไม่สามารถแข่งขันกับรายอื่นได้ทัน

ในวงการของการจ่าย ส่งเงิน และลงทุน เรากำลังได้เห็นเทคโนโลยีใหม่ๆ ที่เข้ามาเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่ได้ดีกว่าเดิมในหลายๆ มิติ โดยมีธุรกิจที่น่าสนใจดังนี้

RippleNet

RippleNet — source: https://ripple.com/ripplenet/source-liquidity/

การส่งเงินข้ามประเทศเป็นตลาดที่ใหญ่มากๆ ปี 2017 มีมูลค่ากว่า $613 billion และมีผู้เล่นใหม่ๆ พยายามเข้ามาตลอดเวลา

RippleNet เป็นเครือข่ายที่ช่วยให้สถาบันการเงินสามารถส่งเงินข้ามประเทศได้ด้วยค่าธรรมเนียมถูกลงมากๆ และใช้เวลาแค่หลักนาที จากที่ต้องมีค่าบริการที่สูงและใช้เวลานับวัน ซึ่งธนาคารไทยพาณิชย์และกรุงศรีอยุธยาได้เคยประกาศการใช้งาน RippleNet ด้วยเช่นกัน

หลักการของ RippleNet โดยคร่าวๆ คือการมีเครือข่าย Liquidity หรือผู้ให้บริการแลกเปลี่ยน Digital asset ประเภทต่างๆ โดยส่วนใหญ่จะเป็น Cryptocurrency เพื่อช่วยในการแปลงสกุลเงินต่างๆ ไปมาและส่งได้อย่างรวดเร็ว ซึ่ง ณ ตอนนี้คงไม่มีเทคโนโลยีใดทำได้ดีไปกว่า Cryptocurrency ในเรื่องการส่งเงินข้ามประเทศ

Robinhood

Robinhood เป็นเจ้าแรกๆ ที่สร้างความแตกต่างในตลาด Broker ด้วยการให้บริการซื้อขายหุ้นแบบไม่มีค่าธรรมเนียม จากปกติจะอยู่ที่ $1 - $7 ใน US โดย Robinhood เลือกที่จะทำกำไรจากการเอาเงินที่ลูกค้าไม่ได้ใช้ ไปลงทุนแทน ทำให้ปัจจุบัน Robinhood มีมูลค่ากว่า $5.6 billion ไปเรียบร้อยแล้ว

6. สถาบันการเงินจะเริ่มเปิดกว้างเพื่อการ Partnership มากขึ้น

“Never underestimate the power of consumer to drive the standard” — Scott Mulin, AWS

ด้วย Innovation ใหม่ๆ การแข่งขันที่รุนแรงขึ้น ความต้องการของผู้ใช้ก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ การที่สถาบันใหญ่จะปรับตัวให้ทัน การร่วมมือกับ Startup หรือธุรกิจที่มีความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านจึงเป็นสิ่งสำคัญ

Open Banking API

ปัญหาใหญ่ของการ Partnership ที่เราจะเห็นจากฝั่ง Startup คือการเข้าถึงระบบธนาคารยาก ทำให้ไม่สามารถต่อยอดระบบที่มีอยู่ได้ ทำให้หลายๆ ครั้งจากไอเดีย ต้องนำไปคุยกับธนาคารถึงความเป็นไปได้ ซึ่งอาจกินเวลานับเดือนกว่าที่จะได้รู้ว่าทำได้หรือไม่

DBS เป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ ของการเปิด Open Banking API ให้เชื่อมต่อธนาคารผ่าน Sandbox (ระบบทดลอง) ทำให้ Startup สามารถมาต่อยอดพัฒนาจากไอเดียเป็นอะไรใหม่ๆ ได้อย่างรวดเร็ว ไม่ว่าจะเป็นการใช้แต้ม การจัดการการกู้ยืม หรือโอนเงิน

https://www.dbs.com/dbsdevelopers/index.html

socash เป็นหนึ่งใน Startup ที่จับมือกับธนาคารเพื่อให้ลูกค้าสามารถถอนเงินจากเซเว่นและร้านค้าได้ฟรีๆ โดยไม่ต้องไปหาตู้ ATM ซึ่งสิ่งที่ socash ได้คือค่าธรรมเนียมจากธนาคาร เพราะว่า socash ไปช่วยลดต้นทุนการขนส่งจัดเก็บเงินสดของธนาคารที่มีมูลค่ากว่า $300 billion ทั่วโลก และช่วยให้ธนาคารไม่ต้องลงทุนมากไปกับการตั้ง ATM อีกด้วย

ส่วนในไทยยังไม่เห็น Open Banking API ที่ออกมา หวังว่าจะได้เห็นเร็วๆ นี้ ซึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้ FinTech innovation พัฒนาไปได้เร็วขึ้นอีกมาก

7. การร่วมมือของธุรกิจกับ Regulators จะทำให้ช่วยผลักดันให้ประเทศได้มีนวัตกรรมใหม่ๆ ที่ดีขึ้น

ในช่วงหลังเราจะเห็นการที่ Regulators ไม่ว่าจะเป็น กลต.​ หรือธนาคารแห่งประเทศไทย เริ่มเข้ามารับฟัง และสนับสนุนเทคโนโลยีใหม่ๆ อย่างเช่นจากงาน SEC FinTech Challenge ที่ผ่านมาก็เป็นตัวอย่างที่ดีจาก กลต.​ ที่พยายามส่งเสริม FinTech ในขณะเดียวกันก็เรียนรู้ที่จะวางนโยบายที่เป็นประโยชน์แก่ประเทศ ผู้บริโภคและธุรกิจใหม่ๆ

ส่วนทางสิงคโปร์ก็ได้มี FinTech Regulatory Sandbox ที่ให้ธุรกิจ FinTech ใหม่ๆ ได้รับการผ่อนผัน เพื่อทดสอบธุรกิจกับตลาดในวงจำกัด ก่อนที่จะได้รับใบอนุญาตจริงๆ เพราะสิ่งสำคัญของ Startup คือการทดสอบตลาดอย่างรวดเร็ว เพื่อนำผลลัพธ์ไปหาเงินทุนหรือพัฒนาต่อไป แต่การต้องรอได้รับใบอนุญาตหลายเดือนก่อนทดสอบตลาดได้นั้น เหมือนการต้องหลับตาเดินไปข้างหน้า ซึ่งโอกาสสำเร็จจะต่ำลงมากๆ

และผมได้มีโอกาสไปคุยกับทีมจาก Consensys ซึ่งเค้ากำลังมองเรื่อง STO หรือ Security Token Offering ที่เชื่อว่าอาจจะมาแทนที่ ICO โดยหลักการคือการสร้าง Digital Asset บน blockchain เพื่อแทนหุ้นส่วนบริษัท แต่ต่างตรงที่สามารถเปิดขายให้คนได้ทั่วโลก และไม่จำเป็นต้องผูกติดอยู่กับตลาดใดตลาดหนึ่ง และตอนนี้กำลังเจรจากับทาง Regulator ของสิงคโปร์เพื่ออนุมัติข้อบังคับใหม่นี้อยู่ ถ้าทางสิงค์โปร์อนุมัติคงได้เห็นอะไรน่าสนใจอีกมาก

Christine Lagarde, IMF Managing Director

ในขณะเดียวกัน IMF ก็กำลังสำรวจและผลักดันในเรื่องของ National Digital Currency ซึ่งเค้ามองว่ามีความเป็นห่วงในภาพรวมของการเงินที่อาจเกิดความไม่แน่นอนของการใช้เทคโนโลยีใหม่ แต่มันก็สามารถจะเป็นอีกตัวเลือกหนึ่งที่ช่วยให้การจ่ายมีราคาถูกลง รวดเร็วขึ้น ลดต้นทุนการจัดการ และยังสามารถทำให้คนใช้เงินออนไลน์แบบไม่สูญเสียความเป็นส่วนตัวเหมือนการใช้เงินสดได้ เป็นมุมมองของ Regulator ที่น่าสนใจมากๆ แนะนำให้อ่าน บทพูดเต็มๆ ของ Christine จาก IMF ดูครับ

ส่วนประเทศไทยเราก็ถือว่ารวดเร็ว มีโครงการ National Digital Currency เหมือนกันในชื่อ อินทนนท์ ⛰ จะออกมาเป็นยังไงก็ต้องติดตามดูกันต่อไป

หลังจากอ่านแล้วมีความเห็นอย่างไรกันบ้าง มองเห็นโอกาสอะไรใหม่ๆ มั้ย มา comment คุยกันครับ 😊

“Technology will change, and so must we. Lest we remain the last leaf on a dead branch, the others having decided to fly with the wind.”

- Christine Lagarde, IMF Managing Director

Our team at Flipay is creating the Borderless world of Banking by building the gateway for people and business to access the power of Cryptocurrency and Digital asset seamlessly.

We are now hiring Software Engineers to join our international team! 🔫 Shoot me the message anytime :)

--

--

Turbo Panumarch
Flipay
Editor for

Builder at Flipay. An Engineer who loves Coding, Product Design and Blockchain. Former VP of Engineering at Omise Payment. 📬 turbo@flipay.co