Ownership Bias: ทำไมรู้ทุกอย่างแต่ก็ยังเปลี่ยนไม่ได้

Turbo Panumarch
Flipay
Published in
4 min readAug 19, 2019

หลายครั้งเราติดอยู่กับกับดักความคิดที่ทำให้เราไม่กล้าเปลี่ยนแปลงสิ่งที่มีอยู่ ไม่ว่าจะเป็น…

  • การทำ project มาครึ่งทางแล้ว พบว่าไม่สร้าง value คุณจะทำต่อหรือไม่
  • ซื้อหุ้นมาแล้ว แต่ราคาลง ควรจะถือต่อหรือไม่
  • มีของที่ซื้อมา แต่ไม่ได้ใช้แล้ว ควรจะเก็บไว้อยู่มั้ย
  • มีบ้านที่ซื้อมา แต่กลับสร้างภาระทางการเงินเกินความคุ้มค่า เราจะขายดีมั้ย
ref: https://unsplash.com/photos/8zdEgWg5JAA

การตั้งคำถามแบบนี้มีแนวโน้มจะทำให้เราติดกับดักทางความคิด เพราะว่าเราวาง คำถามเราอยู่ที่การเป็นเจ้าของแล้ว ซึ่งคนเรามีแนวโน้มจะให้คุณค่ากับสิ่งที่มีอยู่แล้วมากเกินไป หรือที่เราเรียกได้ว่า Ownership Bias

ในขณะที่คำถามที่อาจจะดีกว่าคือ ถ้าเราไม่มีของที่ว่าในข้างต้นแล้วต้องมาเลือกใหม่ เราจะเลือกอะไร เราจะซื้อหรือไม่?

กรณีผู้โดยสารโดนลากลงจาก United Airlines

เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้นมาลองนึกถึงกรณีที่เคยเป็นข่าวดังของ United Airlines ที่เค้าใช้กำลังลากผู้โดยสารที่เป็นหมอออกจากเครื่องเพราะผู้โดยสารเกิน ตามในวีดีโอข้างล่าง (ลงวิดีโอให้ดูเผื่อไม่เคยเห็น)

ในกรณีนี้ เราจะไม่พูดถึงการจัดการของสายการบิน (เดี๋ยวยาว 😆) แต่อยากจะให้ลองจินตนาการว่าถ้าเราเป็นหมอคนนี้ แล้วเราขึ้นเครื่องบินและ “นั่ง” ไปแล้ว จากนั้นโดนบอกให้ลง ซึ่งด้วยความจำเป็นหลายๆ อย่าง ไม่แปลกใจถ้าเราจะขัดขืนไม่อยากลง

แต่สมมติว่าถ้า United Airlines เปลี่ยนวิธีหล่ะ ก่อนที่เราจะเดินขึ้นเครื่องบิน พนักงานก็บอกเราล่วงหน้าก่อนว่าคนเกินแล้ว ซึ่งถึงแม้ว่าเราจะไม่พอใจ แต่เชื่อว่าการขัดขืนจะน้อยกว่ามากๆ

เพราะวินาทีที่เรานั่งลงบนเก้าอี้เครื่องบิน เราเกิด Ownership (ความเป็นเจ้าของ)​ กับเที่ยวบินนั้นแล้ว จึงไม่ง่ายเลยที่จะต้องสละที่นั่ง ทั้งๆ ที่จริงๆ แล้ว ผลลัพธ์ปลายทางไม่ต่างกันเลย

การทดลอง Ownership Bias จริงกับปากกา

เมื่อต้นเดือนที่ผ่านมา หมอแก้วเอาเรื่อง Ownership Bias มาเล่าให้ฟัง รู้สึกน่าสนใจมาก และได้นั่งคุยกับจนได้ตกผลึกเรื่องนี้ เลยได้มีโอกาสเอาเรื่องนี้ไปพูดในงาน Agile Thailand 2019

ก็เลยลองเอาการทดลองยอดนิยมของเรื่อง Ownership Bias ไปลองเล่นด้วย จะได้รู้กันไปเลยว่ามันจริงมั้ย

การทดลอง Original เค้าใช้แก้วน้ำ แต่เราจะใช้ปากกาแทน (วิ่งไปซื้อที่เซเว่นมาแพ็คนึงก่อนเริ่ม session 😂)

วิธีที่ดัดแปลงมาใช้ก็คือ แบ่งคนเป็น 3 กลุ่ม โดยเล่นเกมส์ง่ายๆ โดยการทายเลข แล้วกลุ่มที่ทายเลขหาร 3 ลงตัว จะได้ปากกาเป็นรางวัล และที่เหลือก็แบ่งเป็นอีก 2 กลุ่ม และให้ลองประเมินมูลค่าปากกา โดยที่

  • กลุ่มที่ 1 Owners 🖋: ได้ปากกาแล้ว คิดว่าถ้าจะขายปากกานี้จะขายกี่บาท
  • กลุ่มที่ 2 Buyers 💰: ไม่มีปากกา ถ้าจะซื้อ จะซื้อด้วยราคากี่บาท
  • กลุ่มที่ 3 Choosers ❌: ไม่มีปากกา ถ้าให้เลือกระหว่างปากกากับเงินสด ต้องได้เงินสดเท่าไหร่ ถึงจะเลือกเงินสดมากกว่าปากกา

ถ้าลองเดา จะคิดว่าผลลัพธ์เป็นอย่างไร…

คิดตามหลักเหตุและผล ทุกคนเห็นปากกาเหมือนกัน ได้จับเหมือนกัน ต่างแค่บางคนเป็นเจ้าของ และที่สำคัญปากกาลูกลื่นอันนี้เป็นสินค้าที่คนคาดเดาราคาได้ไม่ยาก

แต่…

ผลลัพธ์ที่ได้ก็คือ กลุ่มที่ 1 ที่มีปากกาแล้ว ให้ราคาเฉลี่ยของปากกา มากกว่ากลุ่มที่ 2 ที่ไม่มีถึง 65% ซึ่งเยอะมากๆ เทียบว่าคนส่วนใหญ่น่าจะพอรู้ราคา

ราคาเฉลี่ยที่ให้ของแต่ละกลุ่ม (ตัด Outlier ออกแล้ว)

ทำให้เราเห็นว่าคนที่มีปากกาอยู่แล้ว มีแนวโน้มจะตั้งราคาสูงที่สุด และเชื่อว่ายิ่งเกมส์ที่เล่นยาก มูลค่าที่คนชนะได้ไปจะสูงขึ้นอีก ในขณะที่คนที่ไม่มีปากกาก็จะไม่ได้รับผลนี้

พอลองเทียบกับการทดลอง Original ที่เค้าใช้แก้วน้ำแทน ซึ่งมีความชัดเจนของราคาน้อยกว่าปากกา ทำให้ผลลัพธ์คือ Owners ให้ราคามากกว่า Buyers ถึง 148% 🤯

ในขณะที่มีการตั้งข้อสังเกตว่า Choosers มีแนวโน้มจะประเมินราคาได้ใกล้เคียงราคาจริงที่สุด

การทดลองประเมินราคาแก้วน้ำจากคน 3 กลุ่ม [ref]

การทดลองแก้วน้ำ ☕️ และช็อคโกแลต 🍫

จากการทดลองข้างต้นกับแก้วน้ำ นักวิจัยเค้าก็ยังตั้งข้อสงสัยว่ามีคนบางคนชอบไม่ชอบของที่ได้หรือเปล่า เลยให้ราคาต่างกันไป

เค้าก็เลยตั้งการทดลองใหม่ขึ้นมา แบ่งคนเป็น 3 กลุ่มเช่นกัน

  • กลุ่มที่ 1 Mug Owners ️️☕️: ตอนเข้าห้องไปได้แก้วน้ำ ตอนออกมีคนเสนอให้เลือกเปลี่ยนเป็นช็อคโกแลตได้
  • กลุ่มที่ 2 Chocolate Owners 🍫: ตอนเข้าได้ช็อคโกแลต ตอนออกเลือกแก้วแทนได้
  • กลุ่มที่ 3 Choosers ❌: ได้เลือกว่าอยากได้แก้วหรือช็อคโกแลต

ซึ่งถ้าเราคิดด้วยหลักเหตุและผล ด้วยจำนวนผู้ทดลองที่มากพอ สุดท้ายทุกกลุ่มน่าจะเลือกแก้วและช็อคโกแลตอย่างละครึ่งๆ หรือได้สัดส่วนใกล้เคียงกัน

แต่…

ผลลัพธ์ก็คือ…

ในขณะกลุ่มที่ 3 Choosers มีสัดส่วนแก้วและช็อคโกแลตเกือบจะครึ่งๆ

แต่… 2 กลุ่มแรก มีคนแค่ประมาณ 10% เท่านั้นเอง ที่เลือกที่จะเปลี่ยน! 😱

ref: https://kenthendricks.com/endowment-effect/

Humans are born irrational

จากการทดลองจะเห็นได้ว่า คนเราที่เชื่อว่าตัวเองมีเหตุผล จริงๆ แล้ว การตัดสินใจหลายๆ อย่างมันไม่ได้เป็นเหตุและผลมากนัก เพียงแค่สมองเราเก่งพอที่จะหาเหตุผลมาอธิบายสิ่งที่เราเลือกได้เสมอ ไม่ว่าเราจะเลือกทางใดก็ตาม 🤷‍♂️

ดังนั้น บทความนี้จะพามาลองเอาแนวคิดของ Ownership Bias มาจับกับชีวิตจริงเพื่อหาทางล้าง Bias ซึ่งจะทำให้เรา สามารถตัดสินใจเรื่องต่างๆ ได้อย่างมีเหตุผลมากขึ้น

Thought Experiment #1 ซื้อขายหุ้น

การทดลองนี้ ถึงแม้ว่าจะไม่เคยซื้อขายหุ้นก็เชื่อว่าจะพอเข้าใจได้ แต่ถ้าเคยซื้อขายจะยิ่งเห็นภาพมากยิ่งขึ้น (โดยเฉพาะความเจ็บปวดเมื่อหุ้นลง 😂)

ยกตัวอย่างเช่น เรากำเงินไปซื้อหุ้นด้วยเงิน 200,000 บาท

ปรากฎว่าเมื่อเวลาผ่านไป หุ้นลงรุนแรง มูลค่าพอร์ตเราเหลืออยู่แค่ 160,000 บาท และสมมติว่ามีข้อมูลต่างๆ ที่ทำให้เราเห็นได้ว่าราคาจะลงต่อแน่นอน คำถามก็คือ เราจะขายหรือไม่?

เราอาจจะมีเหตุผลต่างๆ เช่น เดี๋ยวหุ้นก็ขึ้น พื้นฐานดี ไม่มีปัญหา ไม่ขายไม่ขาดทุน ซึ่งอาจจะถูกหรือไม่ถูก แต่ถึงแม้ข่าวจะไม่ดี เราก็อาจจะยังไม่กล้าขาย

คำถามที่ 1 คือ “จะขายหุ้น หรือถือต่อ”

ถ้าลองจินตนาการ และสังเกตตัวเอง เรามีแนวโน้มจะเลือกทางที่ไม่ขาย เพราะคำถามที่กล่าวมา มันไปกระตุ้นต่อม Fear of Loss ทันที่เราขายมันคือการขาดทุน

นึกถึงการทดลองก่อนหน้านี้ คำถามนี้ของเราทำให้เราตกอยู่ในกลุ่มที่ 1 Owners คือมีของอยู่แล้ว และเป็นกลุ่มที่มี Bias อย่างค่อนข้างชัดเจน ดังนั้นมีความเป็นไปได้ว่าเรากำลังตัดสินใจด้วยอารมณ์อยู่มาก

วิธีหนึ่งที่ช่วยให้เราก้าวข้าม Bias เหล่านี้ได้คือการเปลี่ยนหมวก ปรับมุมมอง หรือที่ผมเรียกว่า…

Default ที่ว่าหมายถึงรูปแบบตั้งต้นของเรา จากการที่เราตั้งต้นคำถามด้วยการเป็นกลุ่ม 1 Owners ให้ลองเปลี่ยนหมวกของตัวเองไปอยู่ที่กลุ่ม 2 หรือ กลุ่มที่ 3 ดูบ้าง

ยกตัวอย่างเช่นในกรณีของหุ้นตัวนี้

ลองเปลี่ยนจากคำถามที่ 1 ที่ว่าจะถือต่อหรือขาย ลองลืมต้นทุนที่ผ่านมา เปลี่ยนตัวเองไปอยู่กลุ่มที่ 2 Buyer แล้วตั้งคำถามว่า…

คำถามที่ 2 “ถ้าวันนี้เรามีเงินอยู่ 160,000 บาท เราจะซื้อหุ้น ตัวนี้ หรือไม่”

พอเราเห็นอย่างนี้ เราอาจจะตอบว่าไม่ก็ได้ ถือเงินดีกว่า

สังเกตได้ว่า การตั้งคำถามแบบนี้ มันทำให้เราตัด Fear of Loss ออกไปได้ มันทำให้เราโฟกัสกับอนาคตมากขึ้น เพราะว่า สิ่งสำคัญจริงๆ คือ “ผลตอบแทนในอนาคต” ไม่ใช่ “ต้นทุนในอดีต” แค่บางครั้งเราอาจจะยึดติดกับอดีตมากเกินไป (Ownership Bias)

หรือเราจะลองเปลี่ยนตัวเองเป็นกลุ่มที่ 3 Choosers ดูก็ได้ ซึ่งอาจจะทำให้เราได้มุมมองใหม่ขึ้นอีก จะได้คำถามว่า

คำถามที่ 3 “ถ้ามีคนให้เลือกระหว่างหุ้น กับเงินสดมูลค่า 160,000 บาท เราจะเลือกอะไร”

สรุปคือคำถามทั้ง 3 คำถาม ก็มาจาก Default ที่แตกต่างกัน 3 แบบ มีและไม่มีต่างกันไปตามตารางข้างล่าง ซึ่งช่วยให้เราได้มุมมองใหม่ๆ ในการตัดสินใจได้นั่นเอง

ตารางการเปลี่ยน Default เพื่อตั้งคำถามที่ต่างออกไป

Thought Experiment #2 Project Prioritization

อันนี้จะเหมาะกับคนที่ทำงานมีโอกาสตัดสินใจเลือกลำดับความสำคัญการทำงาน เช่น Project Manager

ซึ่งเหตุการณ์นี้ก็เป็นเหตุการณ์จริงที่ส่วนตัวผมก็เคยเจอความลำบากในการตัดสินใจมาก่อน คือเรามี 3 Projects A, B, C โดยที่ Project A เป็นสิ่งที่จะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับบริษัทมากที่สุด และทีมงานก็ได้พัฒนาไปแล้วครึ่งทาง

แต่แล้ว เหตุการณ์ไม่คาดฝันก็เกิดขึ้น ธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลง (ถ้าไม่เปลี่ยนเลยจะแปลกมาก 😂) ​การประเมินมูลค่าของงานเปลี่ยนไป จากมูลค่าต่อบริษัท 100 เหลือเพียง 20 ซึ่งน้อยมากๆ

พอเราตั้งคำถามกับตัวเองว่า “เราจะพัก Project A นี้ไปก่อนดีมั้ย” มันทำให้เกิดเหตุผลขึ้นมาแย้งเยอะแยะมากมาย เช่น

  • มันน่าจะมีประโยชน์ในอนาคตนะ
  • มันใกล้จะเสร็จแล้วนะ อีกไม่เยอะ
  • ทีมงานที่ทำอาจจะรู้สึกไม่ดีนะ

หรือว่า… เราแค่กำลังหาเหตุผลมาสนับสนุน Fear of Loss ของเรา?

ตอนนั้นพอลองคิดดูดีๆ แล้วคำถามข้างต้นทำให้เราไปอยู่ในกลุ่มที่ 1 นั่นก็คือ Owners คิดได้อย่างนั้น ก็เลยลองเปลี่ยน Default ตัวเองดู

ถ้าเราลองเปลี่ยน Default ไปลองอยู่กลุ่ม 2 และ 3 ดูบ้าง คำถามที่ได้ก็คือ

  • Buyers: “ถ้าเราทำ Project B อยู่ เราจะ ย้ายไปทำ Project A มั้ย”
  • Choosers: “ถ้าเราไม่ได้ทำ Project อะไรอยู่เลย เราจะเลือกทำ Project A หรือ B”

ซึ่งแน่นอนว่า มันไม่ตรงกับสถานการณ์จริงซะทีเดียว แต่ว่ามันทำให้เราได้ลองเปลี่ยนมุมมอง และตัดสินใจเพื่อ “ผลตอบแทนในอนาคต” มากกว่า “ต้นทุนในอดีต” เหมือนกับกรณีของหุ้นข้างต้น

อย่างกรณีเรื่องนี้ที่เจอด้วยตัวเอง ด้วยคำถามของกลุ่มที่ 3 Choosers ก็ทำให้ผมตัดสินใจ หยุด Project A ที่ลังเลอยู่ได้ เพราะเชื่อว่า Project B จะสร้างผลลัพธ์ที่คุ้มค่ากว่ามากๆ ถึงแม้จะมีต้นทุนที่ทำ A ไปแล้วก็ตาม 😇

Netflix’s Keeper Test

ที่ Netflix เค้าก็มีวิธีการจัดการกับ Ownership Bias ในการบริหารคนเช่นเดียวกัน ด้วย Keeper Test เพื่อจัดการปัญหาที่พนักงานไม่ใช่คนที่เหมาะสมกับบริษัท แต่ว่าหัวหน้างานไม่กล้าไล่ออกซึ่งเป็นเรื่องที่ปกติมากๆ

วิธีการก็คือ เค้าจะให้หัวงานตั้งคำถามกับตัวเองว่า

“ถ้าลูกทีมคนหนึ่งมาขอลาออกเพื่อไปทำงานบริษัทอื่น เราจะต่อสู้อย่างที่สุดเพื่อรักษาเค้าไว้หรือไม่”

ถ้าคำตอบคือไม่สำหรับคนใด ก็จงให้เค้าออกพร้อมค่าชดเชย เพื่อให้บริษัทมีตำแหน่งว่างสำหรับคนที่เหมาะสมกว่า

ref: https://unsplash.com/photos/t8SxccV0Agw

นอกจากนี้ วิธีคิดของ Ownership Bias และการล้าง Bias ด้วยการเปลี่ยน Default ของมุมมองเรา สามารถนำไปปรับใช้กับเรื่องอื่นๆ ในชีวิตได้อีกด้วย เช่น

  • มีของ บ้าน ทรัพย์สิน ที่ซื้อมาแล้วไม่ได้ใช้ ไม่กล้าทิ้งหรือขายออก
  • มี Process การทำงานที่มีมานาน ดูไม่มีประโยชน์ แต่ไม่กล้าเปลี่ยน
  • การเปิดธุรกิจใหม่ ที่แตกต่างจากธุรกิจเดิมที่มีอยู่ แต่ไม่อยากเสี่ยง
  • หรือที่ยากที่สุดอย่างหนึ่ง คือไอเดียที่เราเป็น Ownership อันนี้อาจจะไม่ง่ายนักที่จะล้าง Bias ของการยึดถือไอเดียตัวเอง

โดยส่วนตัวแล้ว เชื่อว่าไม่มีคำถามใดจาก 3 กลุ่ม ดีที่สุดในทุกสถานการณ์ การเปลี่ยนหมวก เปลี่ยน Default ปรับมุมมอง มันทำให้เราสามารถลด Ownership Bias และตัดสินใจรับมือกับสถานการณ์ต่างๆ ได้ดีขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อให้เราสามารถเติบโต และสร้างผลตอบแทนสูงสุดในอนาคต มากกว่าการอยู่กับที่ เพราะยึดติดกับต้นทุนอดีตและสิ่งที่มีอยู่แล้ว 😊

“Not Making Decision also is a Decision”

--

--

Turbo Panumarch
Flipay
Editor for

Builder at Flipay. An Engineer who loves Coding, Product Design and Blockchain. Former VP of Engineering at Omise Payment. 📬 turbo@flipay.co