Rejection ≠ No

Turbo Panumarch
Flipay
Published in
1 min readMar 17, 2019

ถ้าพูดถึงสิ่งหนึ่งที่ได้เปลี่ยนไปเยอะมากๆ ตั้งแต่ออกมาเปิดบริษัทเองเลยคงเป็นความแข็งแรงของหัวใจ ❤️ จากการที่เราต้องออกจากความเคยชินเดิมๆ ออกตามหาสิ่งใหม่ๆ และต้องก้าวผ่านการปฏิเสธไม่รู้กี่ครั้งในช่วงเวลาไม่กี่เดือน ซึ่งทำให้เรามีภูมิคุ้มกันและจัดการกับมันได้ดีขึ้น

วันก่อนเมื่อพูดถึงการออกไปเจรจากับคนอื่น เราพูดถึงขึ้นมาว่าเรา “ไม่ค่อยชอบคุย” แต่พอกลับมาคิดดีๆ แล้ว สิ่งที่เราไม่ชอบจริงๆ คือ​ “การถูกปฏิเสธ” มากกว่า

การเจรจาหรือการทำอะไรส่วนใหญ่ ไม่มีอะไรการันตีได้ว่าจะสำเร็จ ในบางครั้งโอกาสของความสำเร็จอาจจะอยู่ที่ 10% เท่านั้นเอง ยกตัวอย่างเช่น การหาคนที่ใช่เข้าร่วมทีมซึ่งเชื่อว่าเป็นหนึ่งในสิ่งที่ยากที่สุดของเจ้าของธุรกิจหรือผู้บริหารทั้งหลาย

พอเราพูดถึงตัวเลขโอกาสสำเร็จ 10% จะว่าไปมันก็ดูน้อย แต่จริงๆ แล้ว จะเรียกว่าเยอะก็ได้ เพราะถ้าลองมองอีกมุมหนึ่งมันคือการที่เราแค่ทำให้ครบ 10 ครั้งก็จะพบกับความสำเร็จ หรือก็คือแค่ผ่านการปฏิเสธไปให้ได้ 9 ครั้ง ซึ่งมันไม่แย่เลย

การถูกปฏิเสธไม่ได้มีอยู่แค่เรื่องของการหาคนร่วมทีม แต่รวมไปถึงหลายๆ ด้านของธุรกิจและในชีวิตอีกด้วย เช่น การขายของ การหาทุน การพัฒนา Product ให้ลูกค้าใช้ การหาแฟน 😂

แต่การหาคนร่วมทีมเป็นสิ่งหนึ่งที่มี “Feedback Cycle” เร็วมากๆ เทียบกับเรื่องอื่นๆ เพราะเราจะมีโอกาสได้คุยหลายครั้ง และก็สามารถรู้ผลลัพธ์ได้ว่าสำเร็จหรือไม่ในเวลาสั้นๆ ทำให้เราเห็นภาพของเรื่องนี้ค่อนข้างชัด (ในกรณีที่วัดความสำเร็จจากการจ้างงานสำเร็จ ไม่ได้นับผลลัพธ์ในการทำงาน)​ ต่างจากสิ่งที่อื่นๆ เช่น การพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่อาจจะใช้เวลาหลายเดือนกว่าจะออกสู่ตลาด และกว่าจะรู้ว่าลูกค้าเค้าจะชอบหรือปฏิเสธ Product ของเราอาจจะกินเวลาได้ถึงครึ่งปี ซึ่งมันคือ “Feedback Cycle” ที่ยาวมากๆ ทำให้เราเรียนรู้ได้ช้า

และสิ่งที่ยากยิ่งกว่าการรับการปฏิเสธ ก็คือการที่เราสามารถถามและเข้าใจว่า “ทำไม” เพื่อเรียนรู้และพัฒนาตนเอง ซึ่งสามารถทำให้เพิ่มโอกาสจาก 10% กลายเป็น 20% ได้ในครั้งต่อๆ ไป

มุมมองหนึ่งที่ผมได้เอามาปรับใช้คือ…

Reject ≠ No

Reject = Not Yet

ถ้าเรามองให้ลึกลงไป การปฏิเสธมันมักจะไม่ได้แปลว่า “ไม่ใช่” แต่แปลว่า “ยังไม่ใช่” ต่างหาก การถูกปฏิเสธในการจ้างงานอาจจะหมายถึง

  • Product บริษัทเรา “ยัง” ไม่ใช่แนวทางที่เค้ามองหาอยู่
  • เรา “ยัง” นำเสนอได้ไม่ดีพอ
  • เค้า “ยัง” มองไม่เห็นโอกาสและความเป็นไปได้ของบริษัทเรา
  • วิธีการทำงานของทีม “ยัง” ไม่เหมาะกับวิธีของทำงานที่เค้าอยากให้เป็น

พอเรามองอย่างนี้ได้แล้ว ทุกการปฏิเสธ มันคือโอกาสของการเรียนรู้และพัฒนาของเรา ถ้าเราเปิดใจและพร้อมเรียนรู้จากผู้ที่ปฏิเสธเรา

จนถึงตอนนี้ก็ไม่ได้ชอบการถูกปฏิเสธ แต่จากประสบการณ์ที่ผ่านมา มันก็สอนให้เรารู้ว่าการถูกปฏิเสธมันเล็กนิดเดียวเอง ถ้าเราเทียบกับเป้าหมายและความสำเร็จในใจที่เราได้มาถ้าเราก้าวข้ามมันไปได้

“If you don’t ask, the answer is always no.” — Nora Roberts

ซึ่งสิ่งที่พูดมาเหล่านี้ไม่จำเป็นว่าต้องเป็นเจ้าของธุรกิจเลย ถึงจะได้มีโอกาสเรียนรู้ แค่บังเอิญว่าการได้มาเปิดธุรกิจ ได้อยู่ในทีมตั้งต้น มันผลักดันเราให้เรียนรู้และก้าวข้ามข้อจำกัดตัวเอง

อย่างไรก็ตาม ก็ต้องขอบคุณเพื่อนร่วมทีมที่ Flipay ครอบครัว และพี่ๆ น้องๆ อีกหลายคนที่ให้กำลังใจกับคำแนะนำมาตลอดทาง และอยากขอบคุณ “การปฏิเสธ” ที่ทำให้หัวใจของเราแข็งแรงขึ้นอีกด้วย 😊

--

--

Turbo Panumarch
Flipay
Editor for

Builder at Flipay. An Engineer who loves Coding, Product Design and Blockchain. Former VP of Engineering at Omise Payment. 📬 turbo@flipay.co