กลยุทธ์การเติบโตในหน้าที่การงาน (Career strategy)

เล่าเท่าที่รู้
G-Able
Published in
2 min readApr 6, 2023

เคยสงสัยกันไหมครับ?

ทำไมเพื่อนบางคนในที่ทำงานของเราถึงได้เจริญเติบโตในหน้าที่การงานแบบก้าวกระโดด แต่บางคนกลับทำงานแบบเดิม ในตำแหน่งเดิมมานับสิบปี
คำตอบ อาจเป็นเพราะพวกเขาได้ค้นพบพื้นที่ปลอดภัยของตัวเองแล้ว จึงไม่มีเหตุจำเป็นต้องพยายามทำอะไรเพิ่มเติมให้ยุ่งยากมากขึ้น (ปัจจุบันก็งานเยอะมากอยู่แล้ว)

หรืออาจเป็นเพราะเงื่อนไขส่วนตัว เช่น ความจำเป็นทางครอบครัว สังคม สุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ทั้งสิ้น แถมไม่ใช่เรื่องผิดที่ต้องมาตัดสินเปรียบเทียบกันให้เสียเวลาอีกต่างหาก

แต่ถ้าสมมติ เราลองพิจารณาเฉพาะกลุ่มพนักงานที่ต้องการเติบโตในหน้าที่การงาน ต้องการได้ตำแหน่งที่สูงขึ้น งานที่ท้าทายขึ้น รวมถึง รายได้และผลตอบแทนที่มากขึ้นกว่าเดิม เท่านั้นล่ะ

มันมีเงื่อนไขอะไร ที่ทำให้เกิดความแตกต่างระหว่างพนักงานที่เติบโตเร็วและเติบโตช้า?

สิ่งที่อาจเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้พนักงานธรรมดาคนหนึ่งสามารถพัฒนาตัวเองจนกลายเป็นพนักงานที่มีผลงานโดดเด่นและก้าวไปสู่ตำแหน่งที่สูงขึ้นได้ ก็คือ การวางแผนที่เรียกว่า

“กลยุทธ์การเติบโตในหน้าที่การงาน”

แน่นอนครับ ว่าพนักงานที่ประสบความสำเร็จและเติบโตอย่างรวดเร็ว อาจไม่คิดด้วยซ้ำว่าเป็นผลมาจากการที่พวกเขาวางแผนการเติบโตเอาไว้หรือเปล่า หรือบางคนอาจมองเป็นเรื่องโชคไปเลยก็ได้

แต่ประเด็นที่สำคัญยิ่งกว่าการมองหาเหตุผลพวกนั้นก็คือ หากเราต้องการที่จะเติบโตในหน้าที่การงาน เราควรจะมีแนวคิดหรือวิธีปฏิบัติอย่างไรที่จะช่วยให้เราประสบความสำเร็จได้ตามต้องการ

เรามาเริ่มต้นกันด้วย ทำความเข้าใจคำว่า กลยุทธ์ ให้มากขึ้นอีกหน่อยครับ

ความหมายของคำว่า “กลยุทธ์”

ผู้เชี่ยวชาญด้านกลยุทธ์ หรือแม้กระทั่งผู้บริหารที่มากประสบการณ์มาหลายสิบปี ก็อาจให้นิยามความหมายของคำว่ากลยุทธ์แตกต่างกันออกไปตามองค์ความรู้และประสบการณ์ที่มี

สำหรับความเข้าใจที่ง่ายและพบเจอได้บ่อย ก็คือ กลยุทธ์ หมายถึง แนวคิดหรือแนวปฏิบัติที่ทำให้ผู้ที่นำกลยุทธ์นั้นไปใช้สามารถประสบความสำเร็จได้ตามที่ตั้งเป้าหมายเอาไว้

ในทางธุรกิจ เราอาจเคยได้ยินว่ากลยุทธ์ที่ได้รับความนิยมเป็นอย่างมาก คือแนวคิดของ Michael Porter ที่เน้นเรื่องการสร้างความได้เปรียบทางธุรกิจผ่าน 3 มุมมอง คือ Cost leadership, Differentiation, และ Focus ซึ่งถูกคิดค้นมานานมากแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1985 จนในปัจจุบันนี้เรายังเห็นหลายบริษัทชั้นนำก็ยังคงประยุกต์ใช้แนวคิดนี้อยู่

กลยุทธ์การเติบโตในหน้าที่การงาน (Career strategy)

ถ้าเราลองนำแนวคิดเรื่องกลยุทธ์มาใช้เพื่อวางแผนการเติบโตในหน้าที่การงานดูบ้าง ก็คงเป็นเรื่องที่น่าสนใจไม่น้อย ซึ่งการตั้งเป้าหมายที่ชัดเจนนั้น เป็นรากฐานสำคัญในการวางแผนกลยุทธ์เติบโต

ในบทความนี้ เราไม่ได้เน้นเรื่องการตั้งเป้าหมาย ดังนั้น จึงขอใช้มุมมองร่วมกันง่ายๆ โดยสมมติให้ทุกคนต้องการเติบโตในหน้าที่การงาน เราควรจะมีการวางแผนกลยุทธ์อย่างไร มาลองดูตัวอย่างกลยุทธ์ที่น่าสนใจกันครับ

กลยุทธ์ที่ 1: ตั้งเป้าหมายของตัวเองให้สอดคล้องกับเป้าหมายของบริษัท

เป็นเรื่องสำคัญมากที่พนักงานจะต้องรู้ว่าบริษัทที่ตนเองทำงานอยู่ มีเป้าหมายอะไรในการทำธุรกิจ เพราะนี่จะเป็นจุดเริ่มต้นให้พนักงานเข้าใจบทบาทหน้าที่ของตัวเองที่มีต่อการเติบโตของบริษัท ซึ่งเมื่อบริษัทต้องการเติบโต แน่นอนว่าบริษัทจะต้องให้ความสำคัญกับพนักงานที่สร้างผลงานได้ตอบโจทย์และตรงกับเป้าหมายของบริษัทก่อน

ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อเป้าหมายของเราตรงกับเป้าหมายของบริษัท ย่อมส่งผลให้งานทุกงานที่เรารับผิดชอบจะเป็นสิ่งที่บริษัทต้องการ ผลงานของเราก็จะมีโอกาสอยู่ในสายตาของผู้บริหาร อีกทั้งยังเป็นการเพิ่มมูลค่าให้กับงานของเราอีกด้วย

กลยุทธ์ที่ 2: เป็นคนกลุ่มแรกที่ยอมรับและปรับตัวได้กับความเปลี่ยนแปลง

การตั้งเป้าหมายให้ชัดเจนเป็นเรื่องดีเสมอ แต่การยอมรับและปรับตัวได้กับความเปลี่ยนแปลง ถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยสำคัญที่แบ่งกลุ่มพนักงานที่เติบโตช้าและเติบโตเร็วออกจากกัน เพราะในการดำเนินธุรกิจ บริษัทต้องพบเจอกับความเปลี่ยนแปลงอยู่บ่อยครั้ง ดังนั้น กลุ่มคนที่สามารถตอบสนองความต้องการของบริษัทที่มีต่อการเปลี่ยนแปลงนี้ได้เร็วที่สุด ย่อมได้เปรียบมากที่สุด ซึ่งอาจส่งผลให้ได้รับความไว้ใจและความเชื่อมั่นจากบริษัทมากที่สุดเช่นกัน

กลยุทธ์ที่ 3: เน้นสร้าง Relationships ไม่เน้นสร้าง Connections

การสร้างความสัมพันธ์ (relationship) เป็นระดับที่ลึกและแข็งแรงกว่าการทำความรู้จักกันแบบทั่วไป (connection) หัวใจสำคัญคือ ความต่อเนื่องสม่ำเสมอ ซึ่งต้องใช้เวลาในการสร้าง และในระยะยาวความสัมพันธ์แบบ relationship จะสร้างมูลค่าได้มากกว่าแค่คนรู้จักกันที่อาจเจอกันเพียงไม่กี่ครั้งเท่านั้น

ประโยชน์ของการสร้างความสัมพันธ์นี้ คือ เป็นการเปิดโอกาสและเส้นทางใหม่ในอนาคต ซึ่งรวมถึง การสร้างแรงสนับสนุนในการเติบโตในหน้าที่การงานด้วย (ลองคิดดูว่าเราจะเลือกสนับสนุนคนที่แค่รู้จักกันหรือคนที่เรามีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ถ้าทั้งคู่มีความสามารถและผลงานพอๆ กัน)

นอกจากนี้ การรู้จักคนมากขึ้นทั้งภายในบริษัทและภายนอกบริษัท ทำให้เราได้มีโอกาสเรียนรู้สิ่งใหม่ ได้ประสบการณ์ใหม่ และได้ข้อมูลสำคัญที่เป็นประโยชน์ก่อนคนอื่น จากทุกความสัมพันธ์ที่เราสร้างเอาไว้ด้วย

บทสรุป

ทั้ง 3 กลยุทธ์นี้เป็นเพียงตัวอย่างในการวางแผนการเติบโตในหน้าที่การงานเท่านั้น เพื่อเป็นแนวทางให้กับเพื่อนพนักงานที่อยากจะก้าวหน้าและได้พัฒนาตัวเองต่อไป โดยเฉพาะพนักงานที่มีประสบการณ์ทำงานไม่มากนัก (ประสบการณ์ไม่เกิน 5 ปี) จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งเนื่องจากเป็นช่วงที่กำลังเรียนรู้สิ่งใหม่รอบตัวและมองหาแนวทางการทำงานของตัวเอง

สุดท้ายแล้วการวางแผนกลยุทธ์ในการเติบโตในการทำงาน จะต้องมีพื้นฐานมาจากความชอบและความต้องการเฉพาะของแต่ละบุคคลด้วย ซึ่งจะเป็นจุดตั้งต้นในการกำหนดเป้าหมายในการทำงาน ก่อนที่จะเริ่มสร้างกลยุทธ์ต่อไป

แล้วพบกันใหม่บทความหน้าครับ

--

--