“กลยุทธ์” นายเป็นใครกันแน่นะ ?! (What is Strategy?)

เล่าเท่าที่รู้
G-Able
Published in
3 min readOct 6, 2023

เปิดใหญ่สไตล์ซีรีย์เกาหลีแบบนี้ เนื่องจากได้ยินหลายต่อหลายครั้งจากหลายต่อหลายคน ถึงหัวข้อเกี่ยวกับ “กลยุทธ์” บ้างก็ถามหาความหมายและอรรถประโยชน์ของมัน บ้างก็บอกว่าตัวเองเข้าใจและมีกลยุทธ์แล้ว แต่พอนำไปใช้จริงกลับไม่ได้ผลลัพธ์ตามต้องการ

แม้กระทั่ง บางคนเกิดความเข้าใจผิดและนำไปใช้แบบผิดๆ แต่คำว่า “กลยุทธ์” มันเป็นคำที่ดูงงๆ แต่เท่ห์ดี ก็ขอใช้ให้มันมีอยู่ในประโยคการสนทนากันบ้างละ !

จะบอกว่า ไม่มีใครผิดไม่มีใครถูกเลย หากจะหาความหมายแบบถูกต้อง 100% ก็คงยาก เนื่องจากทุกคนผ่านประสบการณ์ที่แตกต่างกัน องค์ความรู้ความเข้าใจก็ต่างกัน ความเชื่อก็ยังต่างกันอีก

แต่…สิ่งที่สำคัญกว่าคือ ถ้าความถูกต้องสัก 70% — 80% มันเพียงพอสำหรับการนำไปต่อยอด หรือนำไปพัฒนาต่อได้ นั่นก็เพียงพอแล้วสำหรับการนำ “กลยุทธ์” ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้…

จริงไหมครับ ?

มาสมมติโจทย์ของวันนี้กันครับ

ถ้ามีใครสักคนต้องการให้ผมอธิบายเรื่อง “Strategy” อย่างจริงจัง ผมคงต้องอธิบายด้วยการเพิ่มอีก 2 คำเข้ามาประกอบให้ครบองค์ประชุม เพื่อให้ได้ความหมายที่ชัดมากขึ้นและเข้าใจง่ายขึ้น

ซึ่งนั่นก็คือ คำว่า “Tactic” และคำว่า “Action Plan”

Strategy -> Tactic -> Action Plan (กลยุทธ์ ยุทธวิธี แผนดำเนินงาน)

พอลองเอาทั้งสามคำนี้มาแปลไทยแล้วรู้สึกจั๊กจี้นิดหน่อย (พิมพ์ๆ ลบๆ แก้ๆ อยู่ 3–4 ครั้ง) ดังนั้น ขออนุญาตใช้เป็นภาษาอังกฤษแทนแล้วกันนะครับ

ขอลองอธิบายด้วยภาษาทางการตามตำราที่เคยร่ำเรียนมา

“กลยุทธ์ (Strategy) คือแนวทางหรือแผนการที่กำหนดเป้าหมายระยะยาวขององค์กร โดยมุ่งหวังให้บรรลุผลลัพธ์ ยุทธวิธี (Tactic) คือการวางแผนและการกระทำในระยะสั้นเพื่อสนับสนุนกลยุทธ์ แผนการดำเนินงาน (Action Plan) คือขั้นตอนและกิจกรรมที่ดำเนินการในระยะเวลาที่กำหนด เพื่อให้ยุทธวิธีที่ได้รับการปฏิบัติอย่างมีประสิทธิภาพ

เราสามารถพูดถึงความสัมพันธ์ระหว่างสามองค์ประกอบนี้ว่ากลยุทธ์กำหนดทิศทางและเป้าหมายให้กับองค์กร ยุทธวิธีเป็นทางเลือกที่ใช้ในการก้าวไปสู่เป้าหมายนั้น ๆ และแผนการดำเนินงานเป็นขั้นตอนที่ช่วยให้เราแปลงยุทธวิธีเป็นการกระทำในความเป็นจริง เราควรใช้สามสิ่งนี้ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อบรรลุความสำเร็จในวัตถุประสงค์ของเราได้ด้วยความเป็นไปได้ที่สูงสุด”

เป็นยังไงบ้างครับ ? คำอธิบายนี้พอไหวไหมครับ ?

ถ้ายังไม่หนำใจ ลองหาอ่านเพิ่มเติมได้จากตำราเรียนด้านบริหารธุรกิจ ซึ่งแต่ละตำรามีประโยชน์และมีกรณีตัวอย่างให้ศึกษาเพื่อให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น สามารถนำมาปรับใช้ในงานได้เป็นอย่างดี

อย่างไรก็แล้วแต่ ผมขอลองยกตัวอย่างการอธิบายด้วยเรื่องใกล้ตัวมากขึ้นอีกหน่อย อาจจะทำให้ผู้อ่านได้เห็นภาพในบริบทและสามารถประยุกต์ใช้ได้ง่ายขึ้น

มาลดน้ำหนักกันเถอะ !

ตัวอย่างเช่น สมมติให้ผมตั้งเป้าหมายกับตัวเองไว้ว่า ในอีกสามเดือนข้างหน้า ผมต้องไปตรวจสุขภาพประจำปี และอยากให้ผลตรวจออกมาดี (โดยเฉพาะน้ำหนัก เพราะตอนนี้อ้วนเกินไปส่งผลให้สุขภาพไม่ดี)

ดังนั้น เป้าหมายของผมคือ “อยากลดน้ำหนักเพื่อให้สุขภาพดีขึ้นในอีกสามเดือนข้างหน้า”

และแน่นอนว่าสามารถวัดผลได้อย่างเป็นกิจลักษณะ จากการไปตรวจสุขภาพประจำปี

ผมได้เป้าหมาย (Goal) เรียบร้อยแล้ว คราวนี้ เรามาลองเข้าสู่ขั้นตอนต่อไปกัน

“Strategy” จะเข้ามามีบทบาทตรงนี้ โดยบอกกับเราว่า หากอยากทำเป้าหมายให้สำเร็จ ต้องมีการวางแผนอย่างไร มีแนวทางอย่างไร ที่ทำให้เราได้ผลตามต้องการ

ซึ่งในโจทย์นี้ หลังจากลองพิจารณาในหลายๆ มุม สรุปได้ว่า “แคลอรี่” คือปัจจัยสำคัญ ซึ่งหากจัดการกับเจ้าตัวนี้ได้ น้ำหนักควรจะลงและควรจะส่งผลต่อค่าวัดอื่นๆ ให้ดีขึ้นได้ด้วย โดยหากอยากให้แคลอรี่ลง จำเป็นต้องทำให้ แคลอรี่สุทธิต่อวันเป็นลบ หรืออธิบายง่ายๆ คือ ในหนึ่งวัน แคลอรี่ที่เข้าไปในร่างกาย ต้องน้อยกว่าแคลอรี่ที่ออกจากร่างกายให้ได้

ดังนั้น “Strategy” ของผมคือ “แคลอรี่ออกต้องมากกว่าแคลอรี่เข้า”

หลังจากนี้คือการมองหากิจกรรมที่หากทำแล้วจะมีผลโดยตรงทำให้แคลอรี่สุทธิเป็นลบ ซึ่งกิจกรรมเหล่านั้นต้องมีความสัมพันธ์โดยตรงต่อ Strategy ของเรา (หมายถึง หากทำ Tactic หรือกิจกรรมนี้แล้ว จะไม่ได้ผลลัพธ์เป็นอย่างอื่นที่นอกเหนือจาก Strategy ของเรา)

ที่สำคัญ Tactic เหล่านี้ นอกจากต้องกำหนดเฉพาะสำหรับ Strategy นั้นๆ แล้ว จะต้องเหมาะสมกับผู้ลงมือปฎิบัติด้วย เป็นวิธีของเราเองที่สอดคล้องการพฤติกรรมและการดำเนินชีวิตได้ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำ Tactic เหล่านี้ให้สำเร็จจริง และส่งผลต่อความสำเร็จของ Strategy ด้วย

จากโจทย์ ผมคิดว่า Tactic ของผม ควรจะมี 4 เรื่องด้วยกัน คือ 1.การควบคุมการนับแคลอรี่ (ควบคุมปริมาณที่กิน) 2. การควบคุมประเภทอาหาร (เลือกกินเฉพาะอาหารที่แคลอรี่ต่ำ) 3. การออกกำลังกายที่เหมาะสม หรือ 4. การทำ IF

สุดท้ายผมจะต้องสร้างแผนการลงมือปฎิบัติ หรือ Action Plan อย่างละเอียด ให้เห็นทุกกระบวนการขั้นตอนและต้องสอดคล้องกับ Tactic ที่ผมกำหนดเอาไว้ เช่น ผมต้องมีตารางการกินในหนึ่งวันอย่างละเอียดชัดเจน เพื่อให้รู้ว่ามื้อไหนเรากินอะไรเข้าไปเท่าไหร่ และสามารถนับแคลอรี่ที่กินเข้าไปได้ (Tactic ข้อ 1 และ ข้อ 2)

นอกจากนี้ ผมต้องวางแผนในการเอาแคลอรี่ออกด้วย ซึ่งก็คือการออกกำลังกายตามความเหมาะสมในแต่ละวัน หรือในแต่ละช่วงเวลา โดยต้องสัมพันธ์กับแผนการกินของผมในหนึ่งวัน (Tactic ข้อ 3)

สุดท้าย หากทำไประยะหนึ่งแล้วยังไม่เห็นผลลัพธ์ตามต้องการ ผมอาจต้องเพิ่มตารางการทำ IF เข้าไปด้วย (Tactic ข้อ 4) เพื่อให้มั่นใจว่าผมจะทำได้ตาม Strategy ที่วางไว้ หรือ ทำให้แคลอรี่ขาออกมากกว่าขาเข้าตามกำหนด

ผมสรุปให้เห็นภาพอีกสักครั้งครับ

Goal: อยากลดน้ำหนักเพื่อให้สุขภาพดีขึ้นในอีกสามเดือนข้างหน้า

Strategy: แคลอรี่ออกต้องมากกว่าแคลอรี่เข้า

Tactic: ควบคุมการนับแคลอรี่ ควบคุมประเภทอาหาร ออกกำลังกายที่เหมาะสม ทำ IF

Action Plan: ตารางการกินในหนึ่งวัน ตารางออกกำลังกาย ตาราง IF แบบละเอียด

สิ่งสำคัญคือ ต้องแยก Strategy กับ Tactic ให้ออก เพราะจะทำให้การกำหนด Action Plan เพี้ยนไปได้ หรืออาจไม่ตอบโจทย์ Goal ที่เรากำหนดไว้เลยด้วยซ้ำ

ลองคิดว่าหากสลับเอา การทำ IF ขึ้นมาเป็น Strategy อย่างแรกที่ต้องตอบให้ได้ก่อน คือ การทำ IF ตอบโจทย์ “Goal” ที่เรากำหนดไว้ได้อย่างแท้จริงหรือเปล่า สำหรับบางคน วิธี IF อาจไม่ตอบโจทย์วิถีการใช้ชีวิต หรือร่างกายไม่เหมาะสมกับการทำ IF แต่กลับเหมาะสมกับการออกกำลังกายมากกว่า เป็นต้น

อีกข้อสังเกตคือ หาก Tactic ถูกทำสำเร็จทั้งหมด ผลลัพธ์จะมุ่งไปสู่จุดเดียวกันคือการตอบโจทย์ Strategy และส่งผลต่อไปยัง Goal ที่ตั้งเอาไว้ด้วย มองอีกมุม ระหว่าง Strategy กับ Tactic ก็มีความคล้ายกับ OKR อยู่เล็กๆ (Objective — Key Results)

บทสรุป

หลายความหมาย หลายคำนิยามของ Strategy อาจทำให้เกิดความสับสนได้ แล้วพอสับสน คราวนี้ก็ว้าวุ่นกันเลย ซึ่งสำหรับผมแล้ว Strategy คือ การเปลี่ยนแปลง การทำสิ่งใหม่ รวมทั้งการ แลกเปลี่ยน (Trade off)

เราคงไม่เคยได้ยินบริษัทไหนบอกว่า กลยุทธ์ปีหน้าของบริษัทเรา คือ การทำทุกอย่างเหมือนเดิมใช่ไหมละครับ ! โดยการเปลี่ยนแปลงแต่ละครั้ง นั่นหมายถึงการที่เราเลือกที่ทำอะไรบางอย่าง และเลือกที่จะไม่ทำอะไรบางอย่างด้วย

แน่นอนว่าความเข้าใจความหมายของ “Strategy” เป็นสิ่งสำคัญ เพื่อจะได้นำมันไปใช้ให้เกิดประโยชน์ได้สูงสุด อย่างไรก็ตาม ตัว Strategy เองก็มีการพัฒนาและถูกปรับปรุงอยู่เสมอ ผู้ใช้เองก็ต้องศึกษาเพิ่มเติมด้วย อาจทดสอบตัวเองโดยการนำไปประยุกต์ในการงานที่ทำอยู่ปัจจุบัน หรือใช้ในกิจวัตรประจำวันก็ยังได้

ผมคิดว่ากระบวนการกำหนด “Strategy - Tactic - Action Plan” แบบนี้ จะทำให้มุมมองการวางแผนงานของผู้อ่านมีแนวทางที่ชัดเจนขึ้น ทั้งนี้ ผมไม่ได้อธิบายในส่วนของการกำหนด “Goal” เพราะเป็นเรื่องใหญ่ มีรายละเอียดและเงื่อนไขพอสมควร ต้องขอเป็นบทความอื่นแยกออกไปแทน

หากผู้อ่านมีความเข้าใจ “Strategy” ในแบบอื่น ที่มีประโยชน์ ยินดีเป็นอย่างยิ่งหากจะสามารถแบ่งปันความรู้ให้ผมด้วย

หวังว่าคงจะมีประโยชน์กับผู้อ่านไม่มากก็น้อย ด้วยความหวังดีนะครับ

แล้วพบกันใหม่บทความหน้าครับ

--

--