น้องหมูเด้ง… เด้ง… เด้ง… ดังหย่ายแล้ว

Naphatw
G-Able
Published in
3 min readSep 20, 2024

น้องหมูเด้ง ถ้าพูดชื่อนี้ ใครไม่รู้จัก ถือว่าเชย ก็แหมๆ น้องเขาดังม้าก มาก ถึงมากที่สุด….ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเราหรอกนะ เมืองนอกเมืองนา ชื่อเสียงน้องเราโด่งดังไปไกลมาก จนเป็นไวรัลพูดกันทั่วบ้านทั่วเมือง แล้วคุณรู้จักน้องหมูเด้ง ดีมากน้อยแค่ไหนค่ะ ขนาดนิตยสาร Time ยังพาดหัวเสียเก๋ไก๋ว่า ‘She’s an Icon, She’s a Legend, and She Is the Moment. Meet Viral Baby Hippo Moo Deng’ ซึ่งเขียนในแง่มุมของความนิยมในอินเตอร์เน็ตทั้งฝั่งยุโรปและเอเชีย

น้องหมูเด้ง เพศเมียอายุ 2 เดือน เกิดจากแม่ชื่อโจนาอายุ 25 ปี และพ่อชื่อโทนี่ อายุ 24 ปี เมื่อวันที่ 10 กรกฎาคม 2567 และยังเป็นน้องของพี่หมูตุ๋น ฮิปโปซุปตาร์ของสวนสัตว์เปิดเขาเขียว ณ สวนสัตว์เปิดเขาเขียว จ.ชลบุรี โดยชื่อ หมูเด้ง นั้นมาจากการเปิดโหวตของสวนสัตว์เขาเขียว โดยมีชื่อให้โหวต 3 ชื่อ คือ หมูเด้ง, หมูแดง และ หมูสับ ปรากฏว่ามีผู้โหวต 20,000 คนเลือกชื่อ หมูเด้ง จนเป็นที่มาของชื่อ น้องหมูเด้ง นั่นเอง (ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ sanook.com)

แว่บแรกที่เห็นน้องหมูเด้งในติ๊กต๊อก สังคมโซเชียลที่เป็นกระแสแรงวันนี้ แว่บแรก
คำถามผุดขึ้นมาในหัวเลยว่า ….เฮ้ยฮิปโปอะไรวะ??? ทำไมตัวมันเล็กจังวุ้ย แล้วทำไมมันวิ่งเด้งดึ๋งๆ ตลอดเวลา ….ทำไมถึงผิวหนังของมันฉ่ำวาว ดูเฉอะแฉะตลอดเวลาเลย …แล้วสีแดงๆ คล้ายเลือดตามตัว มันคือรัย ใครทำร้ายน้อง หรือน้องเป็นแผลเหรอ …..แล้วรู้ไหมเจอภาพที่น้องนอนในน้ำยิ่งอึ้งกิมกี่ เฮ้ย มันหายใจยังไงวะ !!! จึงไปตามล่าหาความจริง และได้คำตอบมาเล่าสู่กันฟัง รู้ไว้ใช่ว่า วันนี้ไม่มีความรู้ฝ่ายบุ๋นมาแบ่งปัน นอกจากความรู้ฝ่ายบันเทิงมาแบ่งปัน ไม่ว่ากันเนอะ จะได้ไม่ตกเทรนด์กันนะ อิ๊อิ๊อิ๊

ฮิปโปแคระ หรือ Pygmy Hippo (Hexaprotodon liberiensis).
Class: Mammalia
Order: Artiodactyla
Family: Hippopotamidae
Genus: Hexaprotodon

ฮิปโปแคระเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดกลาง ออกหากินเวลาพลบค่ำ อาศัยและเกลือกกลิ้งกับโคลนอยู่ในป่าดิบชื้นและหนองน้ำแถบตะวันตกของทวีปแอฟริกา (แถวประเทศเซียร์รา ลีโอน, ลิเบอเรีย, กินี และ ไอวอรี โคสต์) มีส่วนสูงประมาณ 1เมตร ยาว 1.5–2เมตร หนัก 180–275 กิโลกรัม ผิวหนังสีน้ำตาลเทา หูเล็ก อายุขัยประมาณ 30ปี

สถานะปัจจุบันของฮิปโปแคระอยู่ในอันตราย (เหลืออยู่ในป่าธรรมชาติประมาณ 3,000ตัว) เนื่องจากการบุกรุกพื้นที่ป่า และพื้นที่อยู่อาศัยมักตกอยู่ในพื้นที่เขตสงคราม

โดยทั่วไปแล้วฮิปโปแคระเป็นสัตว์ที่อาศัยอยู่ตัวเดียว หรือไม่ก็อยู่กันเป็นคู่ (รวมไปถึงครอบครัวพ่อ แม่ ลูก) แม้ว่าจะยังไม่ทราบแน่ชัดถึงลักษณะการข้าคู่ผสมพันธุ์กัน แต่จากการสังเกตุฮิปโปแคระที่ถึงวัยเจริญพันธุ์(อายุ 3–5ปี) พบว่าตัวผู้จะเดินตามตัวเมียพร้อมกับสะบัดหางเพื่อกระจายสิ่งปฏิกูลที่ขับถ่ายออกมา เพื่อเป็นการเชื้อเชิญตัวเมียให้รับการผสมพันธุ์

หากทั้งตัวผู้และตัวมียยอมรับกันและกันแล้วจะผสมพันธุ์กันบนน้ำหรือบนบกก็ได้ หลังจากนั้นตัวมียจะใช้เวลาตั้งท้อง 6–7เดือน จึงออกลูกมา 1ตัว (ตรงนี้ใช้คำว่า Calf เหมือนลูกวัว) ลูกฮิปโปแคระจะหย่านมเมื่ออายุ 6–12เดือน และจะยังอยู่กับแม่จนกว่าลูกตัวต่อไปจะคลอดออกมา

เกร็ดเล็กเกร็ดน้อย
1. ฮิปโปแคระมีขนาดประมาณ 20% ของฮิปโปทั่วๆไปที่รู้จักกัน
2. ตาของฮิปโปแคระจะอยู่ด้านข้างของศรีษะในขณะที่ตาของฮิปโปธรรมดาจะอยู่ด้านบน
3. ฮิปโปแคระมีกล้ามเนื้อที่สามารถปิดจมูกและหูได้ขณะดำน้ำ
4. เจ้าฮิปโปแคระเองก็มี เหงื่อเลือด เช่นเดียวกันกับฮิปโปปกติ (เหงื่อเลือดนี่คือเป็นีแดงเหมือนเลือดแต่ไม่ใช่เลือดจริงๆนะ)
5. ความสามารถพิเศษอย่างสุดท้ายคือมันสามารถนอนหลับใต้น้ำได้ และจะลอยขึ้นมาหายใจแบบอัตโนมัติ (อันนี้น่าอิจฉา)

ได้คำตอบมาและ โค…ตะ…ระ… มหัศจรรย์ มาก ๆ เลยสัตว์สายพันธ์ุนี้ ก่อนไปดูคำตอบ มาดูภาพสัตว์โลกพิศวงกันก่อน แล้วคุณจะอึ้ง ทึ่ง เสียว 555

ฮิปโปโปเตมัสหายใจใต้น้ำได้หรือไม่?

ฮิปโปเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม และไม่เหมือนกับปลา ฮิปโปไม่มีเหงือกหรือความสามารถในการดึงออกซิเจนจากน้ำเพื่อหายใจ เช่นเดียวกับเรา ฮิปโปใช้ปอดในการหายใจ

เนื่องจากฮิปโปใช้เวลาอยู่ในน้ำเป็นเวลานาน จึงมีวิวัฒนาการทางกายภาพหลายประการที่ทำให้พวกมันมีความได้เปรียบในน้ำ ดังนี้

  1. จมูก ตา และหูของฮิปโปโปเตมัสจะอยู่บนหัว ทำให้สามารถจมร่างกายทั้งหมดลงในน้ำได้ ยกเว้นหัว และยังคงหายใจทางจมูกได้ นอกจากนี้ ฮิปโปโปเตมัสยังมองเห็นและได้ยินสิ่งต่างๆ เหนือน้ำจากตำแหน่งนี้ด้วย
  2. หูและจมูกของฮิปโปมีกล้ามเนื้อหูรูดที่สามารถบีบปิดเพื่อปิดกั้นน้ำได้เมื่อจมลงไปใต้น้ำ

ต้องขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ quora …ได้คำตอบแล้วนะ ทำไมมันนอนแอ้งแม้ง ยังกะตุย ค่อยโล่งอกหน่อย มันเป็นจะอี้นี่เอง

สีแดงเหมือนเลือดตามตัวฮปโป มันคืออะหยังวะ?

สีแดงที่เห็นไม่ได้มาจากเลือด แต่เป็นกลไกอย่างหนึ่งที่ช่วยปกป้องผิวของฮิปโปฯ ไม่ให้แห้งและถูกเผาจากแสงแดด ทั้งยังช่วยควบคุมอุณหภูมิร่างกายของตัวฮิปโปฯ “เหงื่อสีแดง” นี้ผลิตจากต่อมใต้ผิวหนัง มีลักษณะเหนียวหนืด ไม่ระเหยเหมือนเหงื่อของสัตว์อื่น ๆ แต่จะเคลือบอยู่บนผิวของฮิปโปฯ ทำหน้าที่คล้ายครีมกันแดด ปกป้องอันตรายจากแสงแดด และดูดซับรังสีอัลตราไวโอเลต (Ultraviolet Radiation หรือ UV) โดยเริ่มแรกเหงื่อของฮิปโปฯ ไม่มีสี แต่ภายในเวลาไม่กี่นาทีหลังจากหลั่งเหงื่อออกมา เหงื่อจะค่อย ๆ เปลี่ยนเป็นสีแดง จากนั้นโมเลกุลของเม็ดสีหลายโมเลกุลจะมารวมเข้าด้วยกัน (Pigment polymerizes) ทำให้เหงื่อเปลี่ยนเป็นสีน้ำตาลในที่สุด

เมื่อปี พ.ศ. 2547 นักวิทยาศาสตร์พบว่า แท้ที่จริงแล้วเหงื่อสีแดงของฮิปโปฯ ไม่ใช่เหงื่อ แต่เป็นสารประกอบอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอนที่ไม่มีวงเบนซีน (Non-benzenoid aromatic) 2 ชนิด โดยชนิดแรกเป็นสารสีแดง เรียกว่า กรดฮิปโปซูโดริก (Hipposudoric acid) และชนิดที่สอง เป็นสารสีส้ม เรียกว่า กรดนอร์ฮิปโปซูโดริก (Norhipposudoric acid) เคลือบอยู่บนผิวหนัง ที่ไม่เพียงทำหน้าที่ป้องกันแสงแดด แต่ยังทำหน้าที่เป็นยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ยับยั้งการเจริญเติบโตของแบคทีเรียที่ทำให้เกิดโรค รวมถึงบาดแผลของฮิปโปฯ ไม่ให้เกิดการติดเชื้อจนเกิดอันตรายถึงชีวิต เพราะฮิปโปฯ เป็นสัตว์ที่มักต่อสู้อยู่ตลอดเวลา บางครั้งเกิดการบาดเจ็บ และเกิดบาดแผลขนาดใหญ่ที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อทั้งทางอากาศ และน้ำ
(ขอขอบคุณข้อมูลจากเว็บไซต์ thaipbs)

ถึงตอนนี้ พวกเราคงรู้จักน้องหมูเด้งกันไม่มากก็น้อย แต่คงหลงรักหัวปักหัวปำอย่างแน่นอน….โอกาสหน้า ถ้าไปเจอเรื่องเด็ดๆ แปลกๆ จะหาโอกาสมาแอบมาเขียน มาเล่าสู่กันฟังกับเพื่อนๆ อีกนะคะ ….

--

--