Transforming Healthcare: Exploring the ‘S-T-A-R’ Tech Trends of 2023

Siravit Trongtranon
G-Able
Published in
4 min readSep 7, 2023
Photo by National Cancer Institute on Unsplash

กว่าทศวรรษที่ผ่านมา เราได้เห็นความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และการเติบโตขององค์ความรู้ในการรักษาและดูแลสุขภาพอย่างก้าวกระโดด

สังคมผู้สูงวัย โรคระบาด ฝุ่นมลพิษ หรือรูปแบบการใช้ชีวิตที่ส่งผลเสียต่อร่างกายมนุษย์ ล้วนทำให้บทบาทของการบริการและบุคลากรที่เกี่ยวข้องกับ Healthcare นั่นมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น

วันนี้ผมจะมาชวนคุยถึง 4 เทคโนโลยีที่คุณควรรู้เกี่ยวกับ Healthcare ในปี 2023 (ซึ่งได้แรงบันดาลใจมาจากประสบการณ์ส่วนตัว การค้นคว้า และการได้มีโอกาสพูดคุยกับบุคลากรที่เกี่ยวข้อง) โดยผู้เขียนขอตั้งชื่อ 4 Tech Trends นี้ว่า S-T-A-R นะครับ 👨‍💻

S : Storage, Accessibility, Data Privacy and Security

T: Telemedicine and Beyond Telemed

A: AI and Automation in Diagnosis & Medicine Dispensing

R: Real-Time Simulation and Digital Twin

เรามาเริ่มกันที่ตัวแรกกันเลย !

Photo by Towfiqu barbhuiya on Unsplash

S : Storage, Accessibility, Data Privacy and Security

ในปัจจุบัน ข้อมูลผู้ป่วยในโรงพยาบาลนั้นมีปริมาณเพิ่มขึ้นมหาศาล แม้ข้อมูลประวัติผู้ป่วยบางโรงพยาบาลมีการถูกลบเมื่อเวลาผ่านไป หากไม่ได้มีการกลับมาใช้บริการเป็นเวลาหลักสิบปี แต่ก็เป็นส่วนน้อย

ไม่เพียงแค่ข้อมูลภายในโรงพยาบาลเท่านั้นครับ ในระดับประเทศ เรายังได้เห็นความพยายามในการทำระบบแลกเปลี่ยนข้อมูลการรักษาของผู้ป่วยในแต่ละโรงพยาบาลให้เชื่อมต่อกันได้ (Health Link: ตามมาตรฐานสากลที่เรียกว่า HL7 FHIR) เพื่อประโยชน์สำหรับบุคลากรทางการแพทย์และตัวคนไข้เอง

และเมื่อไม่นานมานี้ประเทศไทยก็ยังได้มีการเข้าร่วมในกลุ่มประเทศที่ใช้ระบบในการเก็บข้อมูลจัดหมวดหมู่คำศัพท์ต่างๆทางการแพทย์ให้เป็นสากล (ที่เรียกว่า SNOMED-CT อีกด้วย)

💻 ทำให้การวางโครงสร้างระบบ IT การจัดเก็บข้อมูลขนาดใหญ่จากหลายแหล่งให้เป็นระเบียบ และมีระบบการเข้าถึงข้อมูลที่ปลอดภัย จึงมีความสำคัญอย่างมาก

เทคโนโลยีในการจัดเก็บข้อมูล ไม่ว่าจะเป็นการจัดเก็บบนคลาวด์ (Cloud platform) หรือมีการติดตั้งระบบเก็บข้อมูลเองในองค์กร (On-Premise) จึงต้องมีการเลือกสรรอย่างเหมาะสม ออกแบบโดยคำนึงถึงความเสี่ยง และประเด็นสำคัญต่างๆที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นเรื่องปริมาณข้อมูลที่จัดเก็บได้ การ update ข้อมูลลงฐานข้อมูลอย่างถูกต้อง ความเป็นส่วนตัวและการยินยอมในการเข้าถึงข้อมูลต่างๆทั้งจากบุคลากร บริษัทประกัน ภาครัฐ และอื่นๆ

โดยทุกวันนี้ Cloud service provider ที่ใหญ่ที่สุดนั้นมี 3 เจ้าหลักๆได้แก่ Microsoft Azure, AWS และ Google Cloud Platform

นอกจากนี้ ในปัจจุบันได้เริ่มมีเทคโนโลยีทางเลือกในการจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ที่สามารถผสานข้อมูลจากหลายแหล่งไม่ว่าจะเป็นบน Cloud หรือ On-Premise การจัดเตรียมข้อมูล หรือแม้กระทั้งการทำ data analytics และ dashboard ได้อย่างสะดวก และมีราคาที่จับต้องได้ โดยตัวอย่างเทคโนโลยีนี้ เช่น “Blendata Enterprise” Big data platform สัญชาติไทยที่ได้รับการยอมรับในหลากหลายอุตสาหกรรมเลยครับ

Photo by Akshar Dave🌻 on Unsplash

T: Telemedicine and Beyond Telemed

สำหรับผู้ที่ไม่สะดวกเข้าโรงพยาบาล ผู้ป่วยติดเตียง หรือผู้ป่วยที่เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลแล้วต้องการที่จะพูดคุยอัพเดทอาการกับทางคุณหมอผ่านทาง Video call หรือ application เฉพาะ โดยไม่มีความจำเป็นต้องใช้เครื่องมือตรวจมากมาย Telemed ก็เป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่ทำให้ชีวิตประจำวันของคนไข้ทุกวันนี้ง่ายขึ้นไปอีก และไม่เสียเวลาการเดินทางอีกด้วย

โดยเราได้เห็นการนำเทคโนโลยีนี้มาใช้เพิ่มขึ้นในช่วงการแพร่ระบาดของ Covid 19 ที่ผ่านมา รวมไปถึงการนำมาช่วยในเรื่องผู้ที่ต้องการคำปรึกษาสุขภาพใจในช่วงที่ WFH หรือกักตัวอยู่ที่บ้านนานๆนั่นเอง 🏠

ต่อยอดจากแค่ Telemedicine ที่เน้นการพูดคุยปรึกษากับคุณหมอนั้น

ทุกวันนี้เริ่มมีบริการครบวงจร ที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนไข้มากขึ้น เช่น สามารถปรึกษาคุณหมอได้ 24 ชม. ผ่าน application แล้วหากพบว่าต้องมีการเจาะเลือด จ่ายยา หรือตรวจเพิ่มเติม ก็จะมีบริการ delivery ส่งตรงบุคลากรทางการแพทย์ถึงบ้าน ซึ่งสามารถเรียกว่า Beyond Telemed, Beyond Telehealth หรือ Virtual hospital ก็ได้ฮะ

Photo by National Cancer Institute on Unsplash

A: AI and Automation in Pre-Screening Diagnosis and Medicine Dispensing

การนำ AI และ Automation มาช่วยในงานด้านการแพทย์นั้น นับว่าเป็นเครื่องมือที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง เรามาเริ่มจากตัวอย่างการใช้ AI ก่อน

ถ้าให้นิยามแบบง่ายๆ AI (Artificial Intelligence) คือ การป้อนข้อมูลจำนวนมากเพื่อสอนให้คอมพิวเตอร์เรียนรู้ pattern ของข้อมูล จนสามารถ คิด จำแนกแยกแยะและตอบคำถามได้เอง

ตัวอย่างเคส เช่น การป้อนข้อมูลต่างๆของคนไข้ และปัจจัยที่เกี่ยวข้องในโรค Covid 19 และโรคไข้หวัดอื่นๆที่คล้ายกัน เพื่อให้ระบบนั้นเรียนรู้ หลังจากได้โมเดลการทำนายมาใช้งาน เราสามารถป้อนข้อมูลในคนไข้ที่ยังไม่ได้รับการวินิจฉัย เพื่อให้โมเดล AI นั้นทำนายว่าจะมีโอกาสจะเป็นโรคใดมากที่สุด

โดยสามารถประยุกต์ใช้กับโรคใดก็ได้ ที่มีข้อมูลที่มีคุณภาพ มีความสัมพันธ์ และมีปริมาณที่มากเพียงพอที่จะหา pattern และจำแนกโรคได้ ซึ่งมีประโยชน์อย่างมากในการ Pre-screening อาการป่วยเบื้องต้น และช่วยในการตรวจวินิจฉัยจากแพทย์ได้อีกด้วย

อีกตัวอย่างจะเป็นการนำ AI มาช่วยวินิจฉัยภาพถ่าย X-rays เช่น ภาพถ่ายสมองว่าอาจมีเนื้องอกในสมองหรือไม่ โดยให้ AI ทำการเรียนรู้รูปภาพที่มีเนื้องอกและรูปภาพที่ไม่มีเนื้องอกในสมอง 🧠 ซึ่งหากยิ่งมีการเรียนรู้ได้แม่นยำมากก็จะยิ่งเป็นประโยชน์ต่อวงการแพทย์ได้เป็นอย่างมาก

ในส่วนของ Automation นั้น ทุกวันนี้ในโรงพยาบาลหลายแห่งจะมีการใช้ ระบบ Automation หรืออาจมองว่าเป็น Robot ในการรับคำสั่งยาจากแพทย์ เพื่อให้ Robot ไปจัดยาให้ถูกต้องตาม order และให้แผนกจ่ายยาส่งยาต่อให้กับผู้ป่วยนั่นเอง

Photo by Adhy Savala on Unsplash

R: Real-Time Simulation and Digital Twin: Advancing Organ monitoring and Queuing processes

มาถึงหัวข้อนี้หลายคนอาจจะงงๆ ว่ามันคืออะไรและเกี่ยวข้องกับ Healthcare ยังไงบ้าง เดี๋ยวผมจะค่อยๆเล่าให้ฟังทีละขยักแล้วกันครับ

ขยักแรกขอเกริ่นถึง Definition กันก่อน

Queuing process (Queuing system/Queuing theory: ระบบแถวคอย) คือการจำลองระบบการรอคิวต่างๆในแต่จะจุดของระบบ นำคณิตศาสตร์และสถิติมาคำนวณเพื่อประเมินประสิทธิภาพของระบบ ดูคิวที่เกิดขึ้น หา bottle neck หรือคอขวดของระบบ จากนั้นจึงทำการปรับปรุงและวางแผนจัดระบบใหม่ให้ flow ของสิ่งต่างๆนั้นไหลได้ดีขึ้น มีคิวน้อยลง ไม่ว่าจะเป็น flow การเดินของคนในสวนสนุกตามจุดต่างๆ flow การเคลื่อนที่ของสินค้าในโรงงาน หรือจะเป็น flow การเดินเข้ามาใช้บริการในจุดต่างๆของผู้มาโรงพยาบาล

Simulation คือการจำลองระบบหรือกระบวนการสักอย่างหนึ่ง โดยใช้ข้อมูลที่เก็บมา เพื่อดูพฤติกรรมของระบบนั้นๆ เช่น จำลองระบบแถวคอยรอคิวที่อธิบายด้านบน โดย Interface ของโปรแกรมก็จะมีหน้าตาเป็นหลายๆ Block แสดงจุดต่างๆในระบบที่เราสนใจ โปรแกรมอาจมีในรูปแบบ 2 หรือ 3 มิติก็ได้ อาจใส่รูป animation คนเดิน 🚶 รูปเครื่องจักทำงาน เข้าไปได้ด้วย (ตัวอย่างโปรแกรม เช่น Arena, Simul8) โดยเราจำลองไว้ใช้เพื่อตัดสินใจปรับปรุงกระบวนการในระบบจริง

ส่วน Digital Twin นั้นมี concept คือเป็น model ที่สะท้อนวัตถุจริง (Physical object) และ วัตถุในโลกเสมือน (digital/virtual object) ในโปรแกรมคอมพิวเตอร์ โดยถ้าวัตถุจริงมีการเปลี่ยนแปลงก็จะส่งข้อมูลการเปลี่ยนแปลงมายังวัตถุในโปรแกรมโลกเสมือนด้วย และเรายังสามารถป้อนคำสั่งในโลกเสมือนเพื่อให้วัตถุจริงเปลี่ยนแปลงกลับได้อีกด้วย เราเลยเรียกมันว่า twin ยังไงล่ะ ซึ่งโดยปกติแล้วมันก็จะต้องมี Sensor ที่วัตถุจริงเพื่อรับข้อมูลจากวัตถุจริงด้วยนั่นเอง

สรุปแล้วมันต่างกันยังไงนะ ? 5555

Simulation คือการเอาข้อมูลในอดีตมาจำลองระบบผ่านโปรแกรมคอมพิวเตอร์ เพื่อวางแผนสิ่งที่ยังไม่เกิด ส่วน Digital twin คือการจำลองระบบในปัจจุบันเพื่อตัดสินใจปรับปรุงกระบวนการในปัจจุบันหรืออนาคตเลย โดยมักใช้ข้อมูล Real time ผ่าน sensor (ซึ่งก็เรียกได้ว่าเป็น IOT: Internet of thing รูปแบบหนึ่ง)

(ขยักถัดมา) แล้วมันเอามาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ยังไงได้บ้างล่ะ 👩‍⚕️

สำหรับ Simulation นั้น เราสามารถนำข้อมูลการเข้าใช้บริการสถานพยาบาลในจุดต่างๆในอดีตมาเพื่อจำลองระบบแถวคอย ดูจำนวนคิวที่เกิดขึ้น เวลารอเฉลี่ย ทั้งตามจุดต่างๆ และโดยรวมของระบบ แล้วจึงมาทำการวางแผน เช่น จัดจุดกรอกประวัติ ห้องต่างๆ ห้องฉุกเฉิน เตียงผู้ป่วยต่างๆ ให้เหมาะสม หรือวางแผนเพิ่มบุคลากรในบริเวณต่างๆ เพื่อให้คิวและคอขวดลดลง เพิ่มประสิทธิภาพในการรักษาและสร้างประสบการณ์ที่ดีให้แก่ผู้มาใช้บริการ

ส่วน Digital twin นั้นก็สามารถจำลองและ Re-process ของระบบ ได้คล้ายๆกับการทำ Simulation แต่สามารถจำลองและแก้ปัญหาได้อย่าง Real-time มากกว่า ตัวอย่างการใช้ อาจเป็นการเก็บข้อมูลผ่าน sensor (หรือกล้อง CCTV) เพื่อดูจำนวนคิวผู้ใช้บริการ และทรัพยากรที่ทางสถานพยาบาลมีให้บริการ ไม่ว่าจะเป็นบุคลากร อุปกรณ์ เตียง ในจุดต่างๆ แล้วทำการปรับแผนกลยุทธเพื่อให้มีระดับการบริการที่ดีขึ้น ซึ่งหากสามารถทำได้อย่างรวดเร็วและเหมาะสม จะสามารถลด waste เพิ่ม utilization ใน process และยกระดับ Operational Efficiency ในโรงพยาบาลนั้นได้เป็นอย่างมาก 🏥

นอกจากนี้ยังมีประโยชน์ในกระบวนการผ่าตัด รวมไปถึงการรักษาผู้ป่วย โดยมีการประยุกต์ concept ของ digital twins ในการใช้ wearable device มาช่วย monitor การทำงานของอวัยวะต่างๆในร่างกาย การเต้นของหัวใจ ความดัน

เมื่อผสานรวมข้อมูลที่เป็นประโยชน์อื่นๆไม่ว่าจะเป็นพันธุกรรม ยีน หรือข้อมูลพฤติกรรมของผู้ป่วย จะเพิ่มประสิทธิภาพของ AI ในการเรียนรู้ข้อมูล ทำให้สามารถคาดการณ์หรือป้องกันโรคหรืออาการต่างๆที่อาจจะเกิดขึ้นได้ทันท่วงที โดยข้อมูลเหล่านี้มีประโยชน์ต่อยอดในเทคโนโลยีการรักษาทางไกล (Beyond Telemed/ Virtual Hospital) อีกด้วยเช่นกัน

Conclusion

นี่เป็นเพียง 4 ตัวอย่าง use cases (S-T-A-R) สำหรับ Healthcare ที่ผมได้ยกมาเล่าให้ฟังในบทความนี้ ซึ่งมีทั้ง Technology ที่มีการนำมา adopt ใช้อย่างแพร่หลายแล้ว เช่น การจัดเก็บระบบข้อมูลต่างๆ 💾 การพบแพทย์โดยไม่ต้องไปโรงพยาบาลอย่าง Telemedicine 📱 ซึ่งก็มีการใช้งานที่ง่ายและ social impact ที่ดีมากในไม่กี่ปีที่ผ่านมา

ในส่วนของการใช้ AI, Automation, Simulation, Digital twins นั้น แม้จะยังไม่ได้มีการใช้อย่างแพร่หลายอันเนื่องมาจาก Limitation ในด้านต่างๆ แต่ก็อยู่ในขั้นการวิจัยและพัฒนา use case และองค์ความรู้ในด้านนี้เพื่อให้มีความเข้าถึงได้ง่ายขึ้น ราคาที่จับต้องได้มากขึ้น มีความน่าเชื่อถือและคุ้มค่าในการใช้งานมากขึ้น 💸

Bonus !!! นอกจากนี้ยังมีมุมอื่นๆของการนำ Technology และ Data Analytics มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในบริบทของ Healthcare อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็น

ขอขอบคุณผู้อ่านทุกคนที่อ่านมาจนถึงย่อหน้าสุดท้ายนะครับ บทความนี้ผมเขียนขึ้นด้วยความตั้งใจ หวังว่าจะเป็นประโยชน์ไม่มากก็น้อยกับผู้อ่านทุกท่าน หากผิดพลาดประการใดสามารถคอมเม้นเพื่อติชม หรือแนะนำได้เลยนะครับ ขอให้มีความสุขกับโลกของเทคโนโลยีฮะ :3

References and Further Reading:

--

--

Siravit Trongtranon
G-Able
Writer for

Lifelong learner | Surfskating Enthusiast | Volunteering Lover | Data & Analytics Engineer