จัดการเวลาง่าย ๆ ด้วยเทคนิคมะเขือเทศ
ใครหลาย ๆ คนน่าจะคุ้นเคยกับการนั่งทำงานแล้วรู้สึกไม่มีสมาธิ ถูกขัดจังหวะด้วยสิ่งรอบตัวต่าง ๆ และทำงานได้อย่างไม่เต็มประสิทธิภาพ หรืออาการเหล่านี้อาจจะเกิดขึ้นในขณะที่บางคนกำลังอ่านหนังสือ ทำกิจกรรม หรือเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ ทางหน้าจอคอมพิวเตอร์ จนทำให้รู้สึกท้อและหมดกำลังใจ จึงหยุดทำสิ่งนั้นไปเสียดื้อ ๆ เป็นเหตุให้เป้าหมายที่ตั้งไว้ไม่สำเร็จ เช่น ทำงานไม่เสร็จ อ่านหนังสือไม่จบตามที่คิดไว้ หรือไม่ตั้งใจเรียนจนจบคลาสเพราะหลุดโฟกัสและไม่มีสมาธิ
ในปัจจุบัน “Pomodoro Technique” หรือ “เทคนิคมะเขือเทศ” เป็นอีกหนึ่งตัวเลือกที่ได้รับความนิยม และช่วยในการบริหารจัดการเวลาของทุกคนให้ดีขึ้น หากใครเคยท่องโลกออนไลน์แล้วเจอกับคอนเทนต์ในรูปแบบของคลิปวิดีโอ หรือ การไลฟ์สดในชื่อ “Study with Me” ที่ชวนคนที่สนใจมานั่งอ่านหนังสือ เรียน หรือทำงานไปด้วยกัน โดยเหล่าคอนเทนต์ครีเอเตอร์ก็มักจะมีคำว่า “Pomodoro” พ่วงท้ายชื่อคอนเทนต์มาด้วย นั่นหมายความว่า พวกเขาใช้ “Pomodoro Technique” หรือ “เทคนิคมะเขือเทศ” เพื่อเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการเวลาในการเรียน อ่านหนังสือ หรือการทำงานให้ดียิ่งขึ้นนั่นเอง
Pomodoro Technique คืออะไร?
“Pomodoro Technique” หรือ “เทคนิคมะเขือเทศ” ได้ถูกคิดค้นและพัฒนาในช่วงปลายปี ค.ศ.1980 โดยนักศึกษามหาวิทยาลัยชาวอิตาลีคนหนึ่งมีชื่อว่า ฟรานเชสโก เซอริลโล ในช่วงที่เขากำลังเรียนและทำแบบฝึกหัดอยู่นั้น เขารู้สึกไม่มีสมาธิ ไม่สามารถจดจ่อกับสิ่งที่อยู่ตรงหน้าได้ ด้วยความรู้สึกที่อยากจะยอมแพ้ แต่ก็ต้องทำต่อให้สำเร็จ เขาจึงสัญญากับตัวเองว่าจะตั้งใจ และมีสมาธิจดจ่อกับการเรียนเป็นเวลา 10 นาที ด้วยเหตุนี้ เพื่อให้มีกำลังใจในการเรียนและการทำแบบฝึกหัดมากยิ่งขึ้น เขาจึงต้องหาสิ่งที่ท้าทายตัวเองมาเป็นแรงผลักดัน โดยเขาได้ไปเจอนาฬิกาจับเวลารูปทรงมะเขือเทศเข้า และนี่คือจุดเริ่มต้นของ “Pomodoro Technique” หรือ “เทคนิคมะเขือเทศ” นั่นเอง
“Pomodoro Technique” หรือ “เทคนิคมะเขือเทศ” คือ เทคนิคที่ใช้ในการบริหารจัดการเวลาให้เป็นประโยชน์สูงสุด โดยสามารถนำมาปรับใช้กับการทำงาน การเรียน หรือการอ่านหนังสือได้ หลักการทำงานของ Pomodoro Technique คือ ใน 25 นาทีแรกนั้น จำเป็นจะต้องมีสมาธิจดจ่อกับการทำงาน การเรียน หรือการอ่านหนังสือให้ได้มากที่สุด โดยที่ไม่สนใจสิ่งรอบตัวหรือสิ่งที่เข้ามาขัดจังหวะ เมื่อครบเวลา 25 นาทีแล้ว จึงจะสามารถพักได้เป็นเวลา 5 นาที แม้จะเป็นเพียงเวลาสั้น ๆ แต่ก็เป็น 5 นาทีที่คุ้มค่า เพราะเป็นเวลาที่สมองและร่างกาย จะได้ผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้า ซึ่งจะช่วยให้กลับมาทำงาน เรียน หรืออ่านหนังสือต่อได้อย่างมีประสิทธิภาพนั่นเอง
มีงานวิจัยหนึ่งพบว่า การพักเป็นเวลาสั้น ๆ นั้น จะช่วยให้มีสมาธิ และสามารถยืดเวลาการทำงานออกไปได้อีก ศาสตราจารย์ Alejandro Lleras ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ได้อธิบายไว้ว่า “เมื่อกำลังเจอกับงานที่ค่อนข้างใหญ่และยาวนาน เช่น การเรียนเพื่อสอบปลายภาค ควรกำหนดเวลาพักให้แก่ตนเอง เพราะเมื่อสมอง จิตใจ และร่างกายได้พักผ่อนจากความเหนื่อยล้า จะช่วยให้เราสามารถโฟกัสกับงานที่อยู่ตรงหน้าได้มากขึ้น”
การนำ “Pomodoro Technique” หรือ “เทคนิคมะเขือเทศ” มาเป็นตัวช่วยในการบริหารจัดการเวลา ผู้ใช้สามารถแบ่งงาน บทเรียน หรือหนังสือที่จะต้องอ่านออกเป็นส่วนย่อย ๆ ได้ โดยมะเขือเทศหนึ่งลูกเท่ากับเวลา 25 นาที พอทำครบหนึ่งลูกแล้ว สามารถให้เวลาตนเองพักได้ 5 นาที หลังจากนั้นกลับมาทำต่อจนครบมะเขือเทศสี่ลูก แล้วจึงจะสามารถพักได้นานขึ้นเป็นเวลา 15–20 นาที
Pomodoro 6 ขั้นตอน
- เลือกงานหรือสิ่งที่ต้องการจะทำ
- จับเวลา 25 นาที โดยใช้เทคนิค Pomodoro
- ทำงานไปจนกว่าจะครบ 25 นาที
- จดเช็คลิสต์สิ่งที่ทำเสร็จ
- พักเป็นเวลา 5 นาที
- ทำจนครบมะเขือเทศสี่ลูก และพัก 25–30 นาที
หากใครกำลังต้องการตัวช่วยในการบริหารจัดการเวลาให้ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อาจจะลองนำ “Pomodoro Technique” หรือ “เทคนิคมะเขือเทศ” มาปรับใช้ในการทำงาน การเรียน หรือการอ่านหนังสือ แล้วจะพบว่าเทคนิคนี้ช่วยให้การบริหารจัดการเวลาในการทำสิ่งต่าง ๆ ของใครหลาย ๆ คนดีขึ้น การกำหนดเวลาให้ตัวเองได้พักจะช่วยให้มีกำลังใจในการทำงาน การเรียน หรือการอ่านหนังสือ รู้สึกมีพลัง มีสมาธิจดจ่อมากขึ้น นอกจากนี้การที่สมองได้ผ่อนคลายจากความเหนื่อยล้า ยังเป็นสิ่งที่ช่วยเสริมสร้างประสิทธิภาพในการกลับมาทำสิ่งเหล่านั้นให้สำเร็จอีกด้วย
References
(n.d.). Pomodoro Timer Online — Pomofocus. Retrieved May 11, 2022, from https://pomofocus.io/
Ariga, A., & Lleras, A. (2011). Brief and rare mental “breaks” keep you focused: Deactivation and reactivation of task goals preempt vigilance decrements. Cognition, 118(3), 439–443.
Boogaard, K. (n.d.). The Pomodoro Technique Really Works for Productivity. The Muse. Retrieved May 11, 2022, from https://www.themuse.com/advice/take-it-from-someone-who-hates-productivity-hacksthe-pomodoro-technique-actually-works
Cirillo, F. (n.d.). The Pomodoro Technique® — proudly developed by Francesco Cirillo | Cirillo Consulting GmbH. Francesco Cirillo. Retrieved May 11, 2022, from https://francescocirillo.com/pages/pomodoro-technique
Henry, A. (2019, July 12). The Pomodoro Technique 101. Lifehacker. Retrieved May 11, 2022, from https://lifehacker.com/productivity-101-a-primer-to-the-pomodoro-technique-1598992730
Memon’s, M. (2019, April 2). The science behind the pomodoro technique and how it helps supercharge your productivity. Focus Booster. Retrieved May 13, 2022, from https://www.focusboosterapp.com/blog/the-science-behind-the-pomodoro-technique/
The Pomodoro Technique — Why It Works & How To Do It. (n.d.). Todoist. Retrieved May 11, 2022, from https://todoist.com/productivity-methods/pomodoro-technique#what-is-the-pomodoro-technique