เด็กน้อยเจ้าบทบาท: การเล่น Role-play กับการเรียนรู้ของเด็ก

K. D.
Globish Education
Published in
3 min readApr 1, 2022

ตอนเด็ก ๆ หลายคนคงเคยผ่านการเล่นบทบาทสมมติหรือ Role-play กันมาก่อน พอโตขึ้นมา การได้ดูเด็ก ๆ ใช้จินตนาการและสวมบทบาทสมมติเป็นอะไรที่น่าสนใจมาก เพราะมันเหมือนเรากำลังมองผ่านบานหน้าต่างสู่ความคิด ความกลัว ความสนใจ และมุมมองต่อโลกของพวกเขา

บทบาทที่เราเห็นเด็กเล่นกันบ่อย ๆ ก็เช่นการเป็นคุณหมอรักษาตุ๊กตา นักร้องนำในคอนเสิร์ต ตำรวจจับโจร หรือคุณครูสอนหนังสือ แต่บทบาทที่เป็นที่นิยมที่สุดคงจะหนีไม่พ้นบทแคชเชียร์หรือเชฟร้านอาหารตามสั่ง ไม่น่าเชื่อเลยว่าตอนเด็ก ๆ เราเคยสนุกกับบทบาทที่ Simple มาก ๆ

มีงานวิจัยศึกษาเรื่องความสัมพันธ์ระหว่างการเล่นบทบาทสมมติกับพัฒนาการของเด็กอยู่จำนวนไม่น้อย งานวิจัยศึกษาทั้งความสัมพันธ์ในด้านจิตใจ พฤติกรรม และการเรียนรู้ของเด็ก ทั้งหมดล้วนนับว่าเป็นส่วนสำคัญของการเติบโตของพวกเขาทั้งนั้น

ในแง่พัฒนาการด้านจิตใจและพฤติกรรม การเล่นบทบาทสมมติช่วยเตรียมพร้อมเด็ก ๆ สู่โลกแห่งความจริง เวลาสวมบทบาทเป็นตัวละครหนึ่ง เด็ก ๆ จะได้ลองสำรวจความรู้สึกและแสดงความคิดเกี่ยวกับบทบาทนั้น ๆ ตามความเข้าใจและจินตนาการได้อย่างอิสระ

การได้ลองเล่นเป็นคนอื่นจึงช่วยสร้างความรู้สึกเห็นอกเห็นใจคนอื่น (Empathy) ขยายกรอบความคิดให้เด็ก ๆ เข้าใจการแสดงพฤติกรรมในสถานการณ์และบริบทต่าง ๆ เช่น ถ้าเป็นแม่ค้าพ่อค้า จะทำอย่างไรถ้าลูกค้าต่อราคาสินค้า ถ้าเป็นคุณหมอ จะต้องดูแลผู้ป่วยอย่างไร

ในแง่การเรียนรู้ การแสดงบทบาทสมมติทำให้เด็ก ๆ ได้มีโอกาสฝึกสมองผ่านจินตนาการ เด็กจะได้ทดลองสร้าง Process ทั้งหมด เหมือนโปรเจกต์ย่อม ๆ เริ่มด้วยการเลือกตัวละครก่อน แล้วก็กำหนดสถานการณ์ หลังจากนั้นก็ได้คิดถึงบทบาทหน้าที่ของตัวละคร (บ้างไปไกลถึงนิสัยของตัวละครนั้น ๆ ด้วยซ้ำ) มีใครอีกที่เกี่ยวข้องกับตัวละครนั้น ไหนจะยังต้องหาอุปกรณ์ประกอบฉากอีก การเล่นบทบาทสมมติครั้งเดียวสามารถกลายเป็นเมกะโปรเจกต์สำหรับเด็กตัวน้อย ๆ เลยก็ได้

นอกจากนี้ ในสถานการณ์สมมติ เด็ก ๆ ยังได้ลองใช้ความคิดสร้างสรรค์และไหวพริบในการรับมือกับสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่คาดคิด ซึ่งเป็นทักษะที่สำคัญมากในชีวิตจริง การได้เห็น Thought Process หรือกระบวนการคิดของเด็กยังช่วยให้คุณพ่อคุณแม่เข้าใจพฤติกรรมและการตัดสินใจของลูกมากขึ้นด้วย

มาถึงในแง่การเรียนภาษา ปัจจุบัน การ Role-play ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย เนื่องจากเป็นรูปแบบการเรียนรู้ที่เด็ก ๆ จะได้นำสิ่งที่เรียนมาใช้จริง ไม่ใช่แค่ท่องจำ การได้ลงมือปฏิบัติและมีส่วนร่วมในบทสนทนาที่หลากหลายและเสมือนจริง ช่วยให้นักเรียนเข้าใจและใช้ภาษาในบริบทต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น แถมยังสนุกอีกด้วย

บางครั้ง Role-play ในห้องเรียน จะเป็นการให้นักเรียนอ่านบทหรือ Script ที่ถูกเขียนมาแล้ว ซึ่งหลายคนอาจจะคิดว่าเด็ก ๆ ไม่ได้ใช้จินตนาการหรือคิดโต้ตอบเอง ทั้งที่จริงแล้วการเรียนแบบนี้ก็มีข้อดีตรงที่เด็ก ๆ จะได้เห็นการใช้ภาษาแบบที่ถูกต้อง ได้ลองใช้คำศัพท์ใหม่ ฝึกการออกเสียง สร้างความมั่นใจ แล้วยิ่งถ้าอินกับบท เด็ก ๆ ก็จะได้ลองใส่อารมณ์เวลาพูด หรือใช้ภาษากายร่วมด้วย สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นเป็นปัจจัยสำคัญในการสื่อสารซึ่งเป็นหัวใจสำคัญของการเรียนภาษา

เมื่อผ่านไปสักระยะ เด็กได้เห็นตัวอย่างการใช้ภาษามากเพียงพอ ความมั่นใจ คลังคำศัพท์ และสำนวนที่สั่งสมมา จะช่วยให้เด็ก ๆ เลือกคำพูดและโต้ตอบเองได้โดยไม่ต้องมีบท เพียงแค่ผู้ปกครองหรือคุณครูกำหนดสถานการณ์สมมติมาให้แบบคร่าว ๆ พวกเขาก็จะต่อบทและสื่อสารได้อย่างเป็นธรรมชาติ ยิ่งเด็ก ๆ ได้ลองใช้ภาษาบ่อยเท่าไหร่ ก็ยิ่งมั่นใจและใช้มันได้คล่องขึ้นเท่านั้น การเล่นบทบาทสมมติแบบนี้ยังช่วยฝึกทักษะการฟังและจับใจความของเด็กอีกด้วย

หากผู้ปกครองต้องการใช้ Role-play เพื่อฝึกภาษาลูกที่บ้าน ลองเริ่มจากการใช้พื้นที่เล่นที่เด็ก ๆ คุ้นเคย แล้วเสริมด้วยตุ๊กตา คอสตูม และอุปกรณ์ประกอบฉากอื่น ๆ ผู้ปกครองอาจจะเล่นเป็นหนึ่งในตัวละครกับเขาด้วย ลองเสนอสถานการณ์และตัวละครสมมติ หยอดคำถามปลายเปิดเพื่อกระตุ้นความคิดสร้างสรรค์ ปล่อยให้เด็กเป็นผู้นำและตามน้ำไป จำไว้ว่า ในฐานะผู้ปกครอง พ่อแม่กำลังสนับสนุนและส่งเสริมการเล่นด้วยการเป็นส่วนหนึ่งของโลกสมมติเขา ไม่ใช่ผู้กำกับ

การที่คนรอบตัวเด็กมีส่วนร่วมกับการเล่นละครพวกนี้ด้วยนั้น ช่วยให้เด็ก ๆ พัฒนาทักษะทางสังคม ผ่านการสื่อสาร รับฟัง แบ่งปัน แก้ปัญหา และทำงานร่วมกัน เป็นการเสริมสร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมให้อนาคตเขานั่นเอง

จะเห็นได้ว่า Role-play เป็นได้มากกว่าการเล่นละคร เราสามารถใช้การเล่นเป็นเครื่องมือฝึกภาษาและพัฒนาทักษะอื่น ๆ ในชีวิตได้ แล้วจริง ๆ การเล่นบทบาทสมมติก็ไม่ได้จำกัดอายุนะ เวลาเราซ้อมพรีเซ้นต์โปรเจกต์หรือสัมภาษณ์งาน เราก็ Role-play เป็นตัวเองอีกบทบาทหนึ่ง มันแฝงอยู่ในชีวิตประวันของทุกคนและช่วยเรามากกว่าที่เราคิด :)

“Fantasy is hardly an escape from reality. It’s a way of understanding.” — Lloyd Alexander

Sources

Dorathy, A. A., & Mahalakshmi, D. S. N. (2011). Second Language Acquisition through Task-based Approach — Role-play in English Language Teaching. English for Specific Purposes World, 11(33). CiteSeerX.

KiddyCharts. (2021, December 19). The importance of pretend play / role play for young children. KiddyCharts. https://www.kiddycharts.com/parenting-tips/the-importance-of-pretend-play-role-play-for-young-children-2/

Maxwell, C. (1997). Role Play and Foreign Language Learning [Reports — Descriptive]. Educational Resources Information Center.

PBC Expo. (n.d.). Reasons why role playing is important for your child. PBC Expo. https://www.pbcexpo.com.au/blog/reasons-why-role-playing-is-important-for-your-child

Rojas, M. A., & Villafuerte, J. (2018, July). The Influence of Implementing Role-play as an Educational Technique on EFL Speaking Development. Theory and Practice in Language Studies, 8(7), 726–732. ResearchGate. 10.17507/tpls.0807.02

Yohana. (2022, February 21). Role Play for Kids — Developmental Benefits and Ideas. Playground Resource. https://playgroundresource.com/role-play-for-kids-developmental-benefits-and-ideas/

--

--